ธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย
Sustainable Banking Thailandทุกวันนี้แนวคิด “ความยั่งยืน” ได้เข้าสู่กระแสสำนึกของภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก และกำลังได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่า หมายถึงวิถีปฏิบัติทางธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (sustainable development) แต่ในประเทศไทย แนวคิดความยั่งยืนอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลายและขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินในฐานะตัวกลางที่ขาดไม่ได้ในเศรษฐกิจสมัยใหม่ น้อยคนที่จะเห็นภาพว่าธนาคารนั้นสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะก้าวสู่ความ “ยั่งยืน” ได้อย่างไร และมีประโยชน์ทางธุรกิจอะไรที่น่าสนใจสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถี “การธนาคารที่ยั่งยืน”
บริษัท ป่าสาละ จำกัด ดำเนินการภายใต้ทุนวิจัยจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้จัดทำงานวิจัยและงานสัมมนา“เหตุผลทางธุรกิจของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย” (Business Case for Sustainable Banking in Thailand) เพื่อสร้างความตระหนักและลดความสงสัยในวิถีธนาคารที่ยั่งยืน ถอดบทเรียนธนาคารที่ยั่งยืนจากต่างประเทศทั่วโลก และนำเสนอ “เหตุผลทางธุรกิจ” ที่น่าสนใจสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในการก้าวสู่ความยั่งยืน
ในวันที่ 25 มีนาคม 2558 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท 24 เวลา 09.00-15.00 น.
วิทยากร:
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
คุณ สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
คุณ ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่ายธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
คุณ ปริพันธ์ เอื้อวิทยา
เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
คุณ สฤณี อาชวานันทกุล
กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ดำเนินรายการโดย คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์
แนวคิด “การธนาคารที่ยั่งยืน” เพิ่งตกผลึกอย่างชัดเจน ในปี ค.ศ. 2007 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) องค์กรในเครือธนาคารโลกที่ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชน สรุปในรายงาน “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Banking for Sustainability) ว่า “ความยั่งยืน” สำหรับภาคธนาคารนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วนด้วยกัน คือ การจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และในการปล่อยสินเชื่อ และการค้นหาโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงินในสาขาใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
องค์ประกอบแรกของการธนาคารเพื่อความยั่งยืนนั้นพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการผนวกรวมความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไปเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ เช่น ชุดหลักอีเควเตอร์ (Equator Principles: EPs) ซึ่งถูกออกแบบมาเป็นมาตรฐานสำหรับการปล่อยสินเชื่อโครงการใหญ่ที่รับผิดชอบ โดยจะผนวกรวมผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการกลั่นกรอง
ส่วนองค์ประกอบที่สองว่าด้วยการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ส่งเสริมกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด ไมโครไฟแนนซ์ บริการทางการเงินที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มสตรี และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โมเดลธุรกิจซึ่งตอบโจทย์เหล่านี้กำลังสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่และตลาดใหม่ และช่วยให้สถาบันการเงินสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เสริมสร้างชื่อเสียงในสายตาของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียรายสำคัญ เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ และสร้างความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ธนาคารที่ยั่งยืนซึ่งถือปฏิบัติตามแนวคิดความยั่งยืน นอกจากจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้แล้ว ยังพบว่าการดำเนินการอย่างยั่งยืนได้สร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจ ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่า ผลประกอบการทางการเงินของธนาคารมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติกับกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้กิจกรรมดังกล่าวยังมีค่าสหสัมพันธ์เชิงลบกับสัดส่วนหนี้เสีย และธนาคารยังมีความผันผวนของอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในกระแสหลักที่มีความสำคัญระดับโลก (Global Systemically Important Financial Institutions: GSIFIs)
หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย ต้องยอมรับว่าวงการธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังค่อนข้างล้าหลังในบริบทของความยั่งยืน แต่คณะวิจัยพบว่า ธนาคารพาณิชย์ที่นำวิถีปฏิบัติของธนาคารที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจหลายประการในสามมิติใหญ่ของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” ได้แก่ การปล่อยสินเชื่อธุรกิจอย่างรับผิดชอบ, การปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างรับผิดชอบ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความสนใจของธนาคารหลายแห่งที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำภายหลังการเปิดตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการบุกตลาดผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้สมาร์ทโฟนและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
หากพิจารณาการให้สินเชื่อรายใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมยังไม่เข้าใจแนวคิดหรือวิถีปฏิบัติของการปล่อยสินเชื่อ “ที่รับผิดชอบ” สำหรับลูกค้าธุรกิจ แต่จะเน้นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลเท่านั้น
ผลกระทบซึ่งจะปรากฎในอนาคตของการให้สินเชื่อในการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว จากธนาคารไทย 6 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 115,000 ล้านบาท คาดว่าจะกลายเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของการให้สินเชื่อโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีถูกนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจะคัดค้านอย่างหนัก โดยยกเหตุผลว่าการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีมีแนวโน้มจะก่อหายนะทางระบบนิเวศ และปัญหาข้ามพรมแดนที่ยากจะเยียวยา จากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำ กีดขวางเส้นทางขยายพันธุ์ของปลาหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนการพิจารณาให้สินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะมีการควบคุมดูแลโดยหลายหน่วยงาน แต่โดยรวมกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินในไทยยังด้อยกว่ามาตรฐานสากลในบางมิติ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความรู้เรื่องทางการเงินของธนาคารโลก (World Bank Good Practices for Consumer Protection and Financial Literacy) พบว่าธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่คำนวณราคาจริงที่ลูกค้าต้องจ่ายเฉลี่ยรายปี (Annual Percentage Rate: APR) ไม่มีการมอบระยะเวลาที่ลูกค้ารายย่อยสามารถเปลี่ยนใจยกเลิกบริการทางการเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ (cooling-off period) และใบสมัครสินเชื่อยังไม่มีมาตรฐานที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน เปิดช่องให้ธนาคารหลายแห่งไม่แจกแจงการคำนวณอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ช่องว่างเหล่านี้ส่งผลให้การเปิดเผยเงื่อนไขการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความลักลั่นแตกต่างค่อนข้างมาก
จากสถิติการร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฉายภาพให้เห็นปัญหาหนี้สินเกินตัว และการขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการหนี้ สอดคล้องกับข้อมูลเชิงมหภาคซึ่งแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับร้อยละ 82 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2556 ส่งผลให้ไทยติดกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงสุดในเอเชีย ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ กลุ่มประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่มีระดับรายได้ต่อหัวสูงกว่าไทย
สถิติและสถานการณ์ภายในประเทศเหล่านี้สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ทางธุรกิจได้จากการปรับปรุงวิถีการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าออมเงินและลดภาระหนี้ และการผนวกผสานการให้การศึกษาหรือความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) เข้าไปในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
เมื่อหันมาดูสถานการณ์การเข้าถึงบริการทางการเงิน พบว่าปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบค่อนข้างสูง แต่เข้าถึงบริการเงินฝากมากกว่าสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญ แต่โดยรวม ธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่เจาะตลาดผู้มีรายได้น้อย ทั้งในตัวเมืองและชนบท ปล่อยให้ตลาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
จากพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยประกอบกับสถานการณ์ในตลาดสินเชื่อปัจจุบัน พบว่าตลาดยังเปิดกว้างอยู่มากสำหรับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะตลาดสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 12,000 บาทต่อเดือน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ถึง 28 ต่อปี โมเดลธุรกิจที่น่าสนใจในการเจาะตลาดนี้มีอาทิ การจับมือกับองค์กรการเงินฐานรากให้ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทนการปล่อยกู้และติดตามหนี้” แทนธนาคาร และโมเดลการธนาคารผ่านมือถือที่สามารถแปลงเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ให้เป็นเงินสดได้ตามต้องการ
แนวความคิด “ธนาคารที่ยั่งยืน” จึงเป็นเรื่องที่นายธนาคารในประเทศไทยควรจับตามอง เพราะเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจในการสร้างผลกำไร และยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางการเงินและการธนาคาร