เอ็นรอน (Enron) เป็นบริษัทค้าพลังงานชั้นนำของโลก ในปี พ.ศ. 2543 เคยติดอันดับที่ 7 ของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกของ Fortune 500 โดยมียอดขายปีละ 101,000 ล้านเหรียญดอลลาร์อเมริกัน (USD) (ครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศไทย) ก่อตั้งโดย นาย เคนเน็ธ เลย์ (Kenneth Lay) ซึ่งต่อมาร่วมมือกับนาย เจฟฟรีย์ สกิลลิ่ง (Jeffrey Skilling) CEO ของบริษัท ฉ้อฉลสร้างหลักฐานปลอมบัญชีบริษัทให้มียอดกระแสเงินสดถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไร 1 พันล้านเหรียญ ทั้งที่ความจริงแล้วมียอดกระแสเงินสดเพียง 153 ล้านเหรียญเท่านั้น
บัญชีของเอ็นรอนมีกลไกการซ่อนภาระหนี้สินมหาศาล และหลังจากตกแต่งบัญชีบริษัทแล้ว นายเลย์และนายสกิลลิ่งก็แอบขายหุ้นของตนเองเอาเงินเข้ากระเป๋า นอกจากนี้ยังร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาทางด้านบัญชียักษ์ใหญ่ Arthur Andersen ตกแต่งบัญชีหลอกลวงว่าบริษัทมีกำไร ก่อนที่ราคาหุ้นจะตกจาก 90 เหรียญเหลือเพียงหุ้นละ 15 เซนต์ เมื่อข้อมูลปรากฏแก่สาธารณะว่าบริษัทขาดทุนและใกล้จะล้มละลาย ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2544
การล้มละลายของเอ็นรอนส่งผลให้ผู้ถือหุ้นสูญเสียเงินกว่า 60,000 ล้านเหรียญ ลูกจ้างบริษัทที่ได้หุ้นแทนเงินตอบแทนหลังเกษียณอายุต้องสูญเงินกว่า 2,000 ล้านเหรียญ และลูกจ้างกว่า 5,600 คนต้องตกงาน นายเลย์ถูกศาลตัดสินว่าผิดในคดีหลอกลวงผู้ถือหุ้นและลูกจ้าง และอีก 6 คดีซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 165 ปี ส่วนนายสกิลลิ่งถูกตัดสินว่าผิดใน 28 คดี ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 185 ปี นับว่าเป็นการตัดสินคดีฉ้อโกงที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา จนกระทั่งมีผู้เปรียบเทียบกรณีการฉ้อโกงของบริษัทเอ็นรอนว่า เป็นเหตุการณ์ 9/11 ของตลาดการเงิน
การล้มละลายของเอ็นรอน แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบธรรมาภิบาล ขาดความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและสังคมของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในระบบการกำกับดูแล (regulatory system) ให้เข้มแข็งและจริงจังมากขึ้น และระบบกฎหมายมลรัฐที่เรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชนแสดงงบการเงินที่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งเพิ่มบทบาทความรับผิดให้กับหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงิน กรรมการบริษัท และผู้สอบบัญชีของบริษัทให้มากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญที่บริษัทควรมีคือ จริยธรรมทางธุรกิจ ส่วนผลพลอยได้จากการกวาดล้างการฉ้อโกงของเอ็นรอนครั้งนี้ คือการลงโทษ CEO ที่ฉ้อโกงของบริษัทต่าง ๆ อีกกว่า 10 บริษัท และการปฏิรูปโครงสร้างการกำกับดูแลให้เข้มแข็งขึ้น