ทุนนิยมธรรมชาติ (Natural Capitalism) คือกระบวนทัศน์ใหม่ที่สังเคราะห์โดย พอล ฮอว์เคน (Paul Hawken) เจ้าของร้านเครื่องมือทำสวนที่ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนทัศน์นี้มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากกระบวนทัศน์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเดิม ที่มองว่า “เงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง” และ “ตลาดเสรีดีที่สุดสำหรับมนุษย์” โดยมองทุนว่ามีแค่ 3 ชนิดคือทุนมนุษย์ เงินทุน และสินค้าทุนเท่านั้น ไม่เคยสนใจ “ทุนธรรมชาติ” มาก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากระบบทุนนิยมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทรัพยากรธรรมชาติที่ดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น ส่วนความสมดุลของระบบนิเวศก็ดูยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ได้ คนส่วนใหญ่เพิ่งจะมาตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งใน “ต้นทุน” ของการพัฒนาที่มองไม่เห็นแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง “ใช้” เมื่อไม่นานมานี้เอง
ฮอว์เคนเชื่อว่ามนุษย์สามารถสร้างโลกที่น่าอยู่กว่าเดิมได้ด้วยระดับเทคโนโลยีปัจจุบัน ส่วนความเชื่อที่ว่า นักธุรกิจไม่มีวันสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เพราะ “เทคโนโลยีสีเขียว” สมัยใหม่ไม่เพียงแต่ “สะอาด” กว่าเดิมเท่านั้น แต่ยังให้ผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงกว่าเทคโนโลยีเดิมอีกด้วย
ฮอว์เคนเสนอว่า หากเราเปลี่ยนความคิดใหม่ เอา “ทุนธรรมชาติ” เป็นตัวตั้งในฐานะทุนที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต กระบวนทัศน์แบบ “ทุนนิยมธรรมชาติ” ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะสำคัญๆ ดังต่อไปนี้:
1. สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงต้นทุนระดับรองในการผลิต หากเป็นระบบอันซับซ้อนที่หุ้มห่อ หล่อเลี้ยง และรักษาเศรษฐกิจทั้งโลก ดังนั้น ข้อจำกัดที่แท้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจคือ ความอุดมสมบูรณ์ของ “ทุนธรรมชาติ” โดยเฉพาะระบบนิเวศต่างๆ ที่ไม่สามารถทดแทนได้และยังไม่มีมูลค่าตลาด
2. ระบบธุรกิจที่ถูกออกแบบมาไม่ดี อัตราการเติบโตของประชากร และพฤติกรรมการบริโภคแบบทิ้งขว้าง เป็นสาเหตุหลักของการบั่นทอนทุนธรรมชาติ ปัญหาทั้งสามข้อนี้ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน (sustainable economy)
3. ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ดีที่สุดในระบบตลาดเสรีที่เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงกระบวนการจำหน่ายสินค้า เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับทุนทุกชนิด ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนที่เป็นตัวเงิน ทุนที่มนุษย์ผลิต และทุนธรรมชาติ
4. กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การใช้แรงงาน เงิน และสิ่งแวดล้อมให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างก้าวกระโดด
5. วิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ของมนุษย์ คือการปรับปรุงคุณภาพของบริการต่างๆ ที่มนุษย์ต้องการ (คือเน้น “คุณค่า”) ไม่ใช่สักแต่เพิ่ม “มูลค่า” รวมของบริการเหล่านั้น
6. ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้และฐานะ ในระดับโลก
7. สิ่งที่จะสร้างบรรยากาศที่ดีที่สุดในระยะยาวสำหรับการค้าขาย คือระบบธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการของภาคธุรกิจ
กลยุทธ์หรือหลักการในการใช้ “ทุนนิยมธรรมชาติ” อย่างได้ผลในโลกแห่งความเป็นจริง มี 4 ประการ ได้แก่
1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร หลักการของกลยุทธ์นี้คือ ทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนสามารถทำงานหรือให้ผลผลิตเท่าเดิมโดยใช้วัตถุดิบและพลังงานน้อยลง
2. การเปลี่ยนไปสู่ “เศรษฐกิจบริการ” (service economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่แปรรูปสิ่งที่ผู้บริโภคซื้อ จาก “สินค้า” ให้กลายเป็น “บริการ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการหันมาเน้นประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากบริการแต่ละชนิด ส่งผลให้ลูกค้าได้รับความพอใจมากขึ้น ประสิทธิภาพของบริการดีขึ้น เนื่องจากต้องพัฒนาวิธีการบริการให้โดนใจลูกค้า และท้ายที่สุดทุนธรรมชาติก็ถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองน้อยลง “เศรษฐกิจบริการ” นี้เป็นแนวคิดที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ หรือ “win-win situation” เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองแบบเล็กน้อยแต่ลึกซึ้ง จาก “สินค้า” มาเป็น “บริการ” ที่สินค้านั้นเคยนำเสนอ เท่านี้ก็เป็นการ “ปลดล็อค” ข้อจำกัดที่เคยยึดติดอยู่กับตัวสินค้า เปิดความคิดสร้างสรรค์ของบริษัทต่างๆ ให้โลดแล่นได้อย่างเสรี และสามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม
3. การลอกเลียนแบบธรรมชาติ (biomimicry) ให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรและเกิดของเสียน้อยที่สุด วิธีการนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงต่าง ๆ โดยเฉพาะเภสัชกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม
4. การลงทุนในทุนธรรมชาติ เนื่องจากทุนธรรมชาติกำลังร่อยหรอลงเรื่อย ๆ จึงต้องลงทุนในทุนธรรมชาติเพื่อให้มีพอที่จะรองรับการเติบโตของประชากรโลกได้ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังช่วย “คืนทุน” ให้กับธรรมชาติ ด้วยต้นทุนที่ต่ำและตั้งอยู่บนหลักการ “ปราศจากของเสีย” (zero waste) ช่วยให้ขยะของโลกลดลง