Extractive Industries Transparency Initiative (EITI) หรือ “เครือข่ายองค์กรเพื่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ” เป็นแนวร่วมและมาตรฐานสากลของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุให้สาธารณชนได้รับรู้ มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศนอร์เวย์ มีคณะกรรมการ EITI ระหว่างประเทศทำหน้าที่กำหนดและทบทวนมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันโครงการ EITI มีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 48 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบของรัฐและบริษัท ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวโดยสรุป EITI เป็นกลไกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ ไม่มีบทลงโทษ เน้นการสร้างความโปร่งใสและการกระตุ้นการมีส่วนร่วมจากประชาชน

สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลได้เริ่มกระบวนการผลักดันให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกโครงการ EITI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ซึ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย EITI โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้แทนรัฐบาล หรือ “EITI Champion” ในการเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ และให้จัดตั้งคณะทำงานในกระทรวงพลังงานขึ้นชุดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน (National Coordinator) ในเบื้องต้น โครงการ EITI จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลในธุรกิจการสกัดเชื้อเพลิงจากฟอสซิล  เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ข้อมูลสำคัญที่จะให้ความสำคัญในช่วงแรกมีอาทิ รายได้จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม ปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ถูกผลิตและขาย เป็นต้น

กลไกที่ขาดไม่ได้ของ EITI ระดับประเทศ คือ “แนวร่วม” ของตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยทั้งสามฝ่ายจะต้องร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน” (Multi-stakeholder Group) หรือ คณะกรรมการ MSG เสียก่อน โดยองค์กรภาคประชาสังคมจะร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ คุณสมบัติ และคัดเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมในคณะกรรมการ MSG

ถึงแม้จะมีความคืบหน้ามาเป็นระยะในปีแรก กระบวนการ EITI ของประเทศไทยประสบความล่าช้าในการดำเนินงานนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมที่มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ คุณสมบัติ และการคัดเลือกสมาชิกนั้น ยังขาดความหลากหลายและไม่สะท้อนบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามประเด็นพลังงานในไทยเท่าที่ควร โดยเฉพาะองค์กรหรือกลุ่มชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบ จึงสมควรดำเนินโครงการวิจัยในลักษณะ action research เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในโครงการ EITI ประเทศไทย นับเป็นก้าวแรกสู่การจัดตั้งคณะกรรมการ MSG และให้ประเทศไทยโดยรัฐบาลสามารถสมัครเป็นสมาชิก EITI ต่อไป

บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมของตัวแทนภาคประชาสังคม ในโครงการ Extractive Industries Transparency Initiative (EITI) ประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ ได้แก่

1. เพื่อศึกษาแนวทางและทดลองปฏิบัติเพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม (อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนท้องถิ่น) ที่มีความตื่นตัวและแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกระบวนการคัดเลือกตัวแทน EITI

2. เพื่อกำหนดโครงสร้างและกระบวนการเลือกตั้งตัวแทน EITI ภาคประชาสังคมที่เหมาะสม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเข้าร่วมกลไก MSG สำหรับ EITI ประเทศไทย

งานวิจัยดังกล่าวแล้วเสร็จและเผยแพร่สู่สาธารณะในไตรมาสแรก ปี พ.ศ. 2562 ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ และสไลด์สรุปผลการวิจัยได้จากที่นี่:

Tags: