บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง  “การประเมินระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับ” โดยเป็นโครงการวิจัยระยะเวลา 18 เดือน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำชุดตัวชี้วัดระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงาน ที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาในประเทศไทย และสามารถสะท้อนผลกระทบของอุตสาหกรรมพลังงานต่อผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายสำคัญ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสถานประกอบการ

โครงการวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ 10 แห่ง ประกอบไปด้วย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) บริษัท ปตท. จำกัด (PTT) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) โดยอ้างอิงจากมูลค่าตลาดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรวม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. หรือ EGAT) ในฐานะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบการผลิตไฟฟ้าในประเทศด้วย

คณะวิจัยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกได้ดำเนินการประเมินระดับความครบถ้วนของข้อมูลในรายงานความยั่งยืน (sustainability report) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่บริษัทพลังงานส่วนใหญ่ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้ในการเปิดเผยระดับความรับผิดชอบ โดยเลือกมาตรฐานการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) มาเป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณา เนื่องจากเป็นมาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในโลก โดย 9 จาก 10 บริษัทพลังงานที่ศึกษาในครั้งนี้ ก็ใช้มาตรฐาน GRI เป็นเกณฑ์ในการจัดทำรายงานความยั่งยืน

สำหรับช่วงที่สอง คณะวิจัยดำเนินการสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่กังวลและประเด็นที่คาดหวังว่าบริษัทพลังงานควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นไปได้ที่ผู้มีส่วนได้เสียอาจให้ความสำคัญกับประเด็นที่อยู่นอกมาตรฐานสากลอย่าง GRI และการประเมินระดับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยไม่ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ช่วงที่สาม คณะวิจัยนำผลการสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับผลการสัมภาษณ์บริษัท และผลการประเมินรายงานความยั่งยืนในช่วงแรก มาสร้างชุดตัวชี้วัดระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนมุมมองของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย และสุดท้าย นำชุดตัวชี้วัดดังกล่าวมาทดสอบประเมินระดับความรับผิดชอบของแต่ละบริษัท โดยใช้ข้อมูลปี 2557 เป็นฐาน ซึ่งได้ผลลัพธ์ดังนี้

ชุดดัชนีชี้วัด 6 หมวดและเกณฑ์การให้คะแนน

ชุดตัวชี้วัดระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงาน 10 แห่งแบ่งได้เป็น 6 ประเด็น คือ 1. ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยเรื่องมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน 2. ประเด็นด้านชุมชน-ผลกระทบ ทั้งในเรื่องของเสียงรบกวน การแย่งใช้น้ำ ปัญหาสังคม อุบัติภัย โครงการซีเอสอาร์ การรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยา 3. ประเด็นด้านชุมชน-การป้องกันผลกระทบ อันได้แก่ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การซ้อมรับมืออุบัติภัย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ 4. ประเด็นด้านผู้บริโภค เรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ในราคาเป็นธรรม ไม่หลอกลวงหรือเอาเปรียบผู้บริโภค 5. ประเด็นแรงงาน ในเรื่องของการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกจ้างเหมาช่วง (sub-contract) และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ 6. ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

สำหรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนนั้น คณะวิจัยได้แบ่งความรับผิดชอบในแต่ละประเด็นออกเป็นสามระดับ ได้แก่ “สูงกว่าปานกลาง” (2 คะแนน) “ปานกลาง” (1 คะแนน) และ “ต่ำกว่าปานกลาง” (0 คะแนน) โดยประเด็นใดก็ตามที่เกณฑ์ GRI กำหนดให้เปิดเผยข้อมูล แต่บริษัทไม่เปิดเผย จะถือว่าระดับความรับผิดชอบในประเด็นนั้นๆ “ต่ำกว่าปานกลาง” โดยอัตโนมัติ ส่วนประเด็นที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และไม่มีบริษัทใดละเมิดกฎหมาย เช่น รายงานอีไอเอ บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายจัดเป็น “ปานกลาง” ส่วนระดับ “ดีกว่าปานกลาง” กำหนดจากระดับการจัดการหรือการเปิดเผยข้อมูลที่ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด

สำหรับประเด็นที่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน และระบุอยู่ในเกณฑ์ตัวชี้วัด GRI แต่บริษัทเปิดเผยไม่ครบถ้วน เช่น มลพิษทางอากาศ บริษัทที่เปิดเผยข้อมูล แต่ไม่ครบตามข้อกำหนดที่กฎหมายและตัวชี้วัด GRI มีร่วมกัน จัดเป็น “ปานกลาง” ส่วนระดับ “ดีกว่าปานกลาง” กำหนดจากระดับการจัดการหรือการเปิดเผยข้อมูลที่ครบตามข้อกำหนดที่กฎหมายและเกณฑ์ GRI มีร่วมกัน ขณะที่ประเด็นที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน เช่น งบประมาณกิจกรรมซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility: CSR) การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการจัดการขยะด้วยวิธี Recycle, Reuse, Recover จะใช้วิธีเปรียบเทียบแต่ละบริษัทกับบริษัทอื่นอีก 9 แห่ง โดยกำหนดให้บริษัทที่ดีที่สุด 3 อันดับ “ดีกว่าปานกลาง” สามอันดับรองลงมา “ปานกลาง” และสี่อันดับสุดท้าย “ต่ำกว่าปานกลาง”

ส่วนประเด็นที่ถูกหยิบยกโดยผู้มีส่วนได้เสียที่มีประสบการณ์ตรง เช่น เสียงรบกวน การซ้อมอุบัติภัย แบ่งช่วงคะแนนโดยใช้สัดส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ระบุว่าได้รับผลกระทบ สำหรับประเด็นที่ผู้มีส่วนได้เสียหยิบยกว่าคาดหวังจากบริษัทพลังงาน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน แบ่งช่วงคะแนนโดยใช้การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเป็น “ค่าปานกลาง” และการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนเป็น “สูงกว่าปานกลาง” สุดท้ายประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในบริษัทและตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน คณะวิจัยเห็นว่าประเด็นนี้จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในไทยตามกระแสการพัฒนาโลก จึงกำหนดการให้คะแนน “ปานกลาง” เท่ากับ “การจัดทำการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน” หรือ Human Rights Risk Assessment

ผลการทดสอบการประเมินระดับความรับผิดชอบ โดยใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2557

ดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ก๊าซเรือนกระจก ขยะไม่อันตราย ขยะอันตราย และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน บริษัทที่ได้คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ BCP และ RATCH (ร้อยละ 66.7 ของคะแนนเต็มเท่ากัน) TOP และ IRPC (ร้อยละ 58.33 เท่ากัน)

ดัชนีชี้วัดชุมชน-ผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ เสียงรบกวน การแย่งใช้น้ำ ปัญหาสังคม อุบัติภัยสารเคมี กิจกรรมซีเอสอาร์ การรับเรื่องร้องเรียนและเยียวยา บริษัทที่ได้คะแนนด้านนี้สูงที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ RATCH (คิดเป็นร้อยละ 100) โดยได้คะแนนเต็มในทุกตัวชี้วัด EGCO, BCP และ EGAT (ได้คะแนนเท่ากันคือร้อยละ 75)

ดัชนีชี้วัดชุมชน-การป้องกัน ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ รายงานอีไอเอ การซ้อมรับมืออุบัติภัย การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ บริษัทที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ BCP (คิดเป็นร้อยละ 87.5) โดยได้คะแนนเต็ม 3 จาก 4 ด้าน ส่วน TOP และ PTT ทำคะแนนได้เป็นอันดับสอง (ร้อยละ 75) โดยตัวชี้วัดที่บริษัทต่างๆสามารถทำคะแนนได้ดีคือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ ซึ่งมี 4 บริษัทได้คะแนนเต็ม

ดัชนีชี้วัดผู้บริโภค ประเมินจากการให้รางวัลสถานีบริการน้ำมันระดับ “ทอง” และ “เงิน” ในโครงการ “ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ” ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในหมวดนี้จึงมีเพียง 4 บริษัทที่ได้รับการประเมิน ได้แก่ BCP, IRPC, PTT และ ESSO เนื่องจากดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมัน โดยบริษัทที่ทำคะแนนได้เต็มคือ IRPC และ PTT

ดัชนีชี้วัดแรงงาน ประกอบด้วยตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อลูกจ้างรับเหมาช่วง (sub-contract) และการมีส่วนร่วมของแรงงาน มีเพียงสองบริษัทที่ได้คะแนนด้านแรงงานร้อยละ 50 ได้แก่ PTT และ EGAT โดย PTT เป็นบริษัทเดียวที่ได้คะแนนด้านการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อ sub-contract และ EGAT เป็นบริษัทเดียวที่ได้คะแนนเต็มด้านการมีส่วนร่วมของแรงงาน

ดัชนีชี้วัดสิทธิมนุษยชน สำหรับตัวชี้วัดนี้ ไม่มีบริษัทใดเปิดเผยว่ามีการจัดทำการทบทวนหรือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (human rights review/ human rights risk assessment) จึงไม่มีบริษัทใดได้คะแนน

วิถีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นอกจากการแสดงความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานตามดัชนีชี้วัด 6 หมวดแล้ว คณะวิจัยพบว่าตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียหลายรายยังคาดหวังว่าบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ควรดำเนินการในระดับ “วิถีปฏิบัติอันเป็นเลิศ” (best practice) .ในบางประเด็นอีกด้วย โดย EGAT และ PTT ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญในนโยบายพลังงานระดับชาติ ควรเป็นผู้นำในการผลักดันนวัตกรรมพลังงานที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ควรอธิบายถึง “ความจำเป็น” ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ และ “ทางเลือก” ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างชัดเจน รวมถึงควรเพิ่มบทบาทในการเสนอให้รัฐทบทวนระดับพลังงานสำรองของชาติ ซึ่งยังสูงกว่าสถิติการใช้จริง และรัฐมักใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ

นอกจากนี้บริษัทพลังงานยังควรยกระดับการแสดงความรับผิดชอบด้วยการติดตั้งหรือแจกจ่ายเครื่องมือแบบพกพา เช่น เครื่องวัดมลพิษทางอากาศ ที่ชาวบ้านสามารถใช้ติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเองได้ มากกว่าแค่ติดตั้งป้ายแสดงค่าการปล่อยมลพิษต่างๆ ที่หน้าโรงไฟฟ้าหรือโรงกลั่น หรือการให้ข้อมูลตามกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และควรประกาศนโยบายว่า บริษัทจะยึดตามมาตรฐานที่ดีที่สุดเวลาไปลงทุนในต่างแดน เพื่อแสดงความรับผิดชอบในระดับสูง หรือแสดงเจตนารมณ์ว่าบริษัทจะไม่ฉวยโอกาสใช้มาตรฐานที่ต่ำกว่าที่ใช้ในประเทศไทย เมื่อเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีกลไกคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้อยกว่าไทย อาทิ ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา รวมถึงควรแสดงความ “ก้าวหน้า” ของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสมัครใจเปิดเผยข้อมูลมลพิษและสารอันตรายต่อสาธารณะ ตามหลัก Pollutant Release and Transfer Register (PRTR) สำหรับบริษัทพลังงานที่ประกอบกิจการในพื้นที่ใกล้เคียงกันก็ควรร่วมมือกันจัดการในกรณีที่เกิดผลกระทบขึ้น

ข้อเสนอแนะจากคณะวิจัย

ประการแรก บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยเฉพาะตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และผู้บริโภค เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นกังวล ความต้องการ และความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากสภาพปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียจึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ประการที่สอง คณะวิจัยพบว่า การกำหนดและเปิดเผยนโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน โดยตั้งต้นจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ประกอบกับการประเมินความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับระดับความรับผิดชอบของบริษัท

ประการที่สาม ทุกบริษัทควรปรับปรุงนโยบายและกระบวนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยอาจเริ่มต้นจากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (human rights risk assessment) ทั้งในองค์กรและตลอดสายห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นพื้นฐานของมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม และมีแนวโน้มที่ผู้มีส่วนได้เสียจะให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สี่ บริษัทส่วนใหญ่ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการป้องกันผลกระทบต่อชุมชน โดยเฉพาะกลไกการมีส่วนร่วมเชิงรุก เช่น การซ้อมอพยพอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง การสื่อสารผลกระทบด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อบรรเทาความกังวลของชาวบ้านและเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน

ประการที่ห้า บางบริษัทพึงตระหนักว่าการได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ CSR Award หรือการได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกของ Dow Jones Sustainability (DJSI) โดยมากมิใช่ “ข้อพิสูจน์” ถึงระดับความยั่งยืนหรือระดับความรับผิดชอบของบริษัท หากแต่เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้บริษัทพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจการของบริษัท ส่วนระดับความยั่งยืนหรือระดับความรับผิดชอบที่แท้จริงของบริษัทนั้นควรวัดจากผลการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย การประเมินความเสี่ยง การกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ประการที่หก ทุกบริษัทในรายงานชิ้นนี้สามารถท้าทายองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ระดับ “ก้าวหน้า” ในทัศนะของผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยการริเริ่มโครงการอย่างเช่น การผลักดันนวัตกรรมพลังงาน การส่งมอบเครื่องมือให้ชาวบ้านในชุมชนใช้ติดตามผลกระทบด้วยตนเอง การเปิดเผยรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อสาธารณะ หรือการผลักดันภาครัฐในการทบทวนทางเลือกต่างๆ ในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ เป็นต้น

ดาวน์โหลดเอกสารสรุปสาระสำคัญของงานวิจัยได้จากด้านล่าง:

สไลด์นำเสนอสรุปผลการวิจัย: