แม้ว่า “ข่าวปลอม” (ในความหมาย “ข่าวลวง” ที่ใช้กันทั่วไป มีสามชนิดได้แก่ ข้อมูลที่ผิด หรือ misinformation ข้อมูลบิดเบือน หรือ disinformation และข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย หรือ malinformation)  จะปรากฎในสังคมมาโดยตลอด แต่จากการเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้การแพร่กระจายของข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก ผลกระทบที่เกิดจากข่าวปลอมย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดจากข่าวปลอมหนึ่งที่ชัดเจนในช่วงปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 คือ ข่าวปลอมเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่วนในประเทศไทยเอง นับตั้งแต่การระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา มีข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ระบาดตามมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะการระบาดรอบที่ 2 ในช่วงปลายปี 2563 พบว่าข่าวปลอมมีความรุนแรงและอาจกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นจากความหวาดกลัวของประชาชนที่มีต่อโควิด-19

ระหว่างเดือน มกราคม-มิถุนายน 2564 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้รับมอบหมายจาก Bangkok Post ให้ดำเนินโครงการวิจัย “ผลกระทบทางสังคมของข่าวปลอม: กรณีศึกษาช่วงโควิด-19” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาข่าวปลอมช่วงโควิด-19 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับข่าวปลอมในช่วงการระบาดของโควิด-19 และศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้อง ด้วยการจัดทำกรณีศึกษาผลกระทบจากข่าวปลอม 1 กรณี ในจังหวัดเชียงราย และกรณีศึกษาผลกระทบจากข่าวจริง 1 กรณี ในจังหวัดสมุทรสาคร ข้อสรุปของงานวิจัยมีดังต่อไปนี้

ผลการทบทวนวรรณกรรม

ผลการทบทวนวรรณกรรมพบว่า มีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ศึกษาข่าวปลอมในช่วงโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น Alias et al. (2020) สำรวจและวิเคราะห์งานวิจัย 41 ชิ้นที่เกี่ยวกับ ‘fake news’ และ ‘Covid-19’ และแบ่งผลกระทบจากข่าวปลอมในช่วงโควิด-19 ออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

  1. ผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact) เป็นผลจากความเชื่อบางอย่างในสังคมว่าสามารถใช้ป้องกันโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคน้ำร้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผึ้ง ปัสสาวะ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ผลกระทบด้านสุขภาพอาจเกิดขึ้นจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งทำให้ประชาชนสับสนและชีวิตตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น
  2. ผลกระทบด้านการบริหารของรัฐบาล (Governance Impact) เป็นผลกระทบที่นอกจากรัฐบาลจะต้องรับมือกับการระบาดของโรค ซึ่งรวมถึงการกระจายข่าวหรือแนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้องต่อประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลกลับต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากไปกับการค้นหาและรับมือกับข่าวปลอมที่สร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนในวงกว้าง
  3. ผลกระทบด้านสังคม (Social Impact) เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากความหวาดกลัวต่อเชื้อชาติ (Xenophobia) โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนหรือเอเชียในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ส่วนในกรณีของประเทศไทย คณะวิจัยพบตัวอย่างว่าการแสดงออกถึงความรังเกียจดังกล่าวเกิดขึ้นกับบุคคลที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัด ทั้งที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว หรืออาจเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แทนการรังเกียจต่อเชื้อชาติอย่างในประเทศตะวันตก
  4. ผลกระทบด้านการเมือง (Political Impact) เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระจายข่าวปลอมที่กระทบกับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น มีการใช้ข่าวปลอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำให้เสียชื่อเสียง ระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา
  5. ผลกระทบด้านกฎหมาย (Legal Impact) เป็นผลกระทบที่นำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐพยายามออกกฎหมายมารับมือกับข่าวปลอม

ผลการประเมินผลกระทบทางสังคม

สำหรับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของข่าวปลอมในกรณี จ. เชียงราย และข่าวจริงในกรณี จ.สมุทรสาคร คณะวิจัยใช้วิธีเขียนแบบจำลองตรรกะ (logic model) เพื่อกำหนดสมมุติฐานเกี่ยวกับเส้นทางผลกระทบของข่าวปลอม ที่อาจทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากนั้นออกแบบและดำเนินการกระจายแบบสอบถามออนไลน์เพื่อทดสอบสมมุติฐานดังกล่าว ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 รวมถึงดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

ผลการจัดทำกรณีศึกษา จ.เชียงราย และ จ.สมุทรสาคร สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ข่าวที่ส่งผลให้ผู้รับสารตื่นกลัว ไม่ว่าจะเป็น “ข่าวปลอม” หรือ “ข่าวจริง” สามารถส่งผลให้ผู้รับสารเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเมื่อผู้รับสารจำนวนมากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ข่าวดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีเส้นทางผลกระทบ (impact chain) ที่ใกล้เคียงกัน ดังที่คณะวิจัยค้นพบจากกรณีศึกษาข่าวปลอมใน จ.เชียงราย และกรณีศึกษาข่าวจริงใน จ.สมุทรสาคร พูดอีกอย่างได้ว่า ตราบใดที่ผู้รับสาร “เชื่อ” ว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับเป็นความจริง (ไม่ว่าข้อมูลที่ได้รับมาจะเป็นข้อเท็จจริงจริงๆ หรือไม่) ผู้รับสารก็จะมีปฏิกิริยาต่อข่าวนั้นๆ ในทิศทางเดียวกันและคาดหมายได้
  2. สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจของข่าวปลอมในกรณีศึกษา จ.เชียงราย และข่าวจริงในกรณีศึกษา จ.สมุทรสาคร คณะวิจัยประเมินว่าประกอบด้วย มูลค่าการใช้จ่ายที่ลดลงของคนในจังหวัด และมูลค่าการใช้จ่ายของผู้มาเยือนที่หายไปเนื่องจากผู้มาเยือนส่วนหนึ่งตัดสินใจยกเลิกการเดินทาง โดยคณะวิจัยประเมินมูลค่าการใช้จ่ายของคนในจังหวัดที่ลดลง ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ข่าวแพร่หลาย ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากข่าว (คนเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่น้อยลง) ไว้ว่า น่าจะมีมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 367-724 ล้านบาท ในกรณีของเชียงราย และไม่เกิน 754-1,487 ล้านบาท ในกรณีของสมุทรสาคร สำหรับผลกระทบจากการตัดสินใจยกเลิกการเดินทางเข้าจังหวัด คณะวิจัยประเมินว่ามูลค่าการใช้จ่ายของผู้มาเยือนที่หายไปน่าจะมีขนาดสูงสุดราว 28 ล้านบาท ในกรณี จ.เชียงราย และ 7 แสนบาท ในกรณี จ. สมุทรสาคร
  3. สำหรับผลกระทบทางสังคมของข่าวปลอมในกรณีศึกษา จ.เชียงราย และข่าวจริงในกรณีศึกษา จ.สมุทรสาคร คณะวิจัยพบว่า ผลกระทบของข่าวทั้งสองกรณีไม่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขในสาระสำคัญมากนัก เนื่องจากมีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 12 ใน จ.เชียงราย และร้อยละ 30 ใน จ.สมุทรสาคร ที่ตอบว่า “เดินทางไปตรวจโควิด-19” หลังจากที่ได้รับข่าวสารดังกล่าว อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในสองจังหวัดโดยรวมมองว่า ระบบสาธารณสุขในจังหวัดประสบปัญหาทรัพยากรทางการแพทย์ขาดแคลนอยู่ก่อนหน้าที่จะเกิดข่าวดังกล่าวแล้ว และในช่วงที่เกิดข่าวดังกล่าว ผู้ป่วยในจังหวัดที่เดินทางมารับการตรวจโควิด-19 และผู้ที่กลับจากทั้งสองจังหวัดแล้วมารับการตรวจโควิด-19 จากโรงพยาบาลนอกจังหวัด ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในสาระสำคัญ ผลกระทบจากข่าวดังกล่าวหลักๆ น่าจะเป็นการที่ผู้ป่วยทั่วไปถูกเลื่อนนัดจากโรงพยาบาล ซึ่งคณะวิจัยไม่มีข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามมากพอที่จะทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม
  4. การจำแนกแยกแยะผลกระทบ ระหว่างผลกระทบที่เกิดจาก “ข่าว” ในกรณีศีกษา กับผลกระทบที่เกิดจาก “ปัจจัยอื่น” ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ที่ข่าวนั้นแพร่หลาย เช่น ข่าวชิ้นอื่น มาตรการของภาครัฐ ฯลฯ เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากข่าวทุกชิ้นมิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ ในภาวะที่ไม่มีข้อมูลข่าวสารชิ้นอื่นๆ เลย แต่เกิดขึ้นท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมมากมายและข้อมูลข่าวสารอีกหลายชิ้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนบ่อยครั้งไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่า เกิดจากข่าวปลอม หรือเกิดจากข่าวจริงก่อนหน้านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีศึกษาข่าวปลอม จ.เชียงราย ตัวแทนสมาคมโรงแรมฯ มองว่าข่าวจริงเรื่องการลักลอบเข้ามาของผู้ติดเชื้อจากเมียนมาส่งผลกระทบให้ยอดจองที่พักลดลงมากอยู่แล้ว ก่อนที่ข่าวปลอมซึ่งตามมาติดๆ จะส่งผลให้ยอดจองลดลงไปอีก การแยกผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข่าวทั้งสองชิ้นแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันและเกี่ยวข้องกันโดยตรง
  5. เป็นไปได้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากข่าวปลอมในช่วงโควิด-19 จะมีชนิดและขนาดชนิดลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะผู้ประกอบการและประชาชนล้วนมีการปรับตัวหลังจากที่เกิดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 มาอย่างต่อเนื่องแล้วก่อนที่จะได้รับรู้ข่าวเหล่านี้ หรือพูดอีกอย่างคือ เกิดความ “ชาชิน” กับสถานการณ์การระบาด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีศึกษาข่าวจริง จ. สมุทรสาคร คณะวิจัยพบว่า ผู้ประกอบการครึ่งหนึ่งปรับตัวด้วยการเลิกจ้างพนักงาน ลดค่าจ้าง หรือลดชั่วโมงการทำงาน ทั้งแรงงานชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก่อนหน้าข่าวในกรณีศึกษา

ผลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กรณีศึกษา จ. เชียงราย และ จ.สมุทรสาคร สรุปได้ในแผนภาพสองแผนภาพด้านล่าง โดยกล่องสีเขียวแสดงผลกระทบตามสมมุติฐานในแบบจำลองตรรกะที่คณะวิจัยพบข้อมูลจากแบบสอบถาม ตัวเอน แสดงข้อค้นพบหลักๆ ของหัวข้อนั้นๆ จากแบบสอบถาม และกล่องสีส้มแสดงผลการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลจากแบบสอบถาม ประกอบกับสถิติรายจังหวัดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ผลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กรณีข่าวปลอม จ.เชียงราย

ผลการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม กรณีข่าวจริง จ.สมุทรสาคร

สำหรับงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับข่าวปลอมในอนาคต คณะวิจัยเสนอว่าควรมีการออกแบบแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้รับสารทันทีที่เกิดและกระจายข่าวปลอมขึ้น เนื่องจากข่าวปลอมมี “อายุขัย” ค่อนข้างจำกัดเพียงไม่กี่วันก่อนที่คนจะได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง และผลกระทบของข่าวปลอมแยกยากจากปัจจัยอื่นๆ

สำหรับการนำเสนอในรูปแบบ visualization ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูผลการศึกษาได้ที่หน้าเว็บ Bangkok Post — Gone Viral: COVID-19 and “fake news” in Thailand