“การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม” (Just Energy Transition) หมายถึง การเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในทางที่กระจายประโยชน์และต้นทุนของการเปลี่ยนผ่านอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม คำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเสริมสร้างประชาธิปไตยพลังงาน (energy democracy) และให้ความสำคัญกับการแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

วิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานจะเกิดขึ้นอย่าง “เป็นธรรม” โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น การลด-ละ-เลิกการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยปราศจากแผนการเปลี่ยนทักษะหรือยกระดับทักษะแรงงาน (reskill & upskill) รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยา อาจส่งผลให้แรงงานรายได้น้อยจำนวนมากประสบปัญหา, โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อาจอ้างว่า “เขียว” เพียงเพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งที่สร้างผลกระทบมหาศาลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม, โครงการผลิตไฟฟ้าจาก LNG นำเข้าอาจอ้างว่ายังคง “จำเป็น” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งที่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าและราคาถูกกว่า LNG (ดังนั้นจึงแบ่งเบาภาระผู้บริโภคได้มากกว่า) เป็นต้น

เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมควรเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และภาคการเงินการธนาคารมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม ในฐานะฟันเฟืองหลักที่จัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ ในปี 2023 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จึงริเริ่มโครงการจัดตั้ง “เครือข่ายนักการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม” เพื่อสร้างเครือข่ายของบุคลากรในภาคการเงินที่เห็นตรงกันถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม และต้องการขับเคลื่อนบทบาทของภาคการเงินตามหลักการดังกล่าว

ระยะเวลาโครงการ: ตั้งแต่ มกราคม 2566