สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้รับการอนุมัติการจัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีใน ปี พ.ศ. 2546 ก่อนจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งให้เป็นองค์การมหาชนในปี พ.ศ. 2552 เพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เป็นห่วงโซ่มูลค่า (value chain) บนฐานความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความสำคัญที่จะทำให้ “นวัตกรรม” หรือ “การใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อก่อให้เกิดคุณค่า” เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ความเป็นผู้ประกอบการ ความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนช. มีแนวทางการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) โดยการนำองค์ความรู้จากหน่วยงานวิชาการมาประยุกต์ใช้ และร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งผ่านเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรม เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่ออุตสาหกรรมของประเทศ
นอกเหนือจากการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์แล้ว สนช. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทางสังคม โดยมุ่งหวังให้นวัตกรรมดังกล่าวแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม และขยายผลต่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมได้ โดยในปี พ.ศ. 2560 สนช. ได้กำหนดยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคมขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ และแบ่งโจทย์ด้านสังคมเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่
1) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
2) ความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน
3) การศึกษา
4) การเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม
5) เกษตรกรรมยั่งยืน
6) ความเป็นเมือง
7) สุขภาพ
8) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ
9) การจัดการภัยพิบัติ
ในปี พ.ศ. 2560 สนช. มอบหมายให้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษากระบวนการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (social impact assessment) และตัวชี้วัดทางสังคม (social indicators) ที่เหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการพิจารณาการตัดสินให้ทุนสนับสนุนนวัตกรรมทางสังคม การติดตามโครงการ การปรับปรุงการสนับสนุนโครงการ และการรายงานผลของโครงการต่อผู้ให้งบประมาณ และเพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมของกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อสังคม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ Opendream ได้รับมอบหมายให้แปลงผลการวิจัยดังกล่าวเป็นเครื่องมือเรียนรู้เรื่องผลลัพธ์ทางสังคมออนไลน์ เครื่องมือดังกล่าวได้ถูกออกแบบและเผยแพร่ต่อสาธารณะในปี พ.ศ. 2562
ผู้สนใจสามารถเข้าไปใช้ได้ที่เว็บไซต์ Social Impact Explorer