บริษัทหลายแห่งยังไม่เชื่อว่าถึงเวลาต้องทำอะไรที่มากไปกว่ากิจกรรมแสดงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคม (ซีเอสอาร์) หลายแห่งมองว่าการปรับตัวให้ “เขียว” จะกระทบผลกำไรมากเกินไป ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งก็มองว่าไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะปรับตัว ส่วนบริษัทที่สนใจในธุรกิจที่ยั่งยืนก็ต้องศึกษาจากกรณีศึกษาของต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีบริบททางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เนื่องจากกรณีศึกษาที่มีคุณภาพของไทยมีไม่เพียงพอ ในขณะที่บริษัทที่พยายามดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในไทยกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

บริษัท ป่าสาละ จำกัด จึงร่วมมือกับโครงการ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ ภายใต้ มูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประจำประเทศไทย ถอดบทเรียนธุรกิจเขียวในประเทศไทย 8 แห่ง 8 ธุรกิจหลายขนาด เพื่อลดความสงสัยและความเข้าใจผิด รวมถึงร่วมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภาพ (productivity) สีเขียวและนวัตกรรม (innovation) สีเขียวที่แท้จริงออกสู่สาธารณะ

กรณีศึกษาแปดบริษัทมีดังต่อไปนี้

1. แดรี่โฮม รอยเท้าเล็ก ธุรกิจยั่งยืน

โมเดลการเลี้ยงโคนมอินทรีย์ ที่ขายได้ราคาดีกว่า และมีต้นทุนในการเลี้ยงต่ำกว่า ทำให้เกษตรกรจึงมีรายได้สูงขึ้น ได้กลายเป็นความสำเร็จของแดรี่โฮมในการส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการเลี้ยงโคนมทั่วไปมาเป็นเลี้ยงโคนมอินทรีย์ เมื่อดำเนินกิจการได้ 5 ปี แดรี่โฮมได้ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจเมื่อพบว่าอาจจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันครั้งใหญ่ จากการที่รัฐบาลไทยเปิดเสรีการค้ากับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่มีต้นทุนในการเลี้ยงโคนมต่ำกว่าเมืองไทย

การเปลี่ยนมาทำผลิตภัณฑ์จากน้ำนมอินทรีย์ในครั้งนั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อทั้งโค เกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้ “แดรี่โฮม” ธุรกิจนมเล็กๆ มีที่ยืนอยู่ในตลาด ท่ามกลางผู้เล่นยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ

อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

2. แปลนทอยส์ เข้าหาลูกค้าเขียว ในภาวะแข่งขันสูง

ก่อนที่กระแสสีเขียวและการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจะเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้าง บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตของเล่นไม้ “แปลนทอยส์” ได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำธุรกิจมาตลอด 33 ปีที่ ไม่ว่าจะคำนึงถึงต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ สุขภาพของเด็กๆ และคนทำงานในกระบวนการผลิต จนเกิดเป็นนวัตกรรมสีเขียวมากมาย เมื่อผนวกกับความแข็งแกร่งด้านการออกแบบ ของเล่นแปลนทอยส์จึงประสบความสำเร็จในการส่งออกไปทั่วโลก แต่หลังจากการเปิดประเทศก้าวขึ้นสู่เวทีการค้าโลกของประเทศจีน การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและต้นทุนวัตถุดิบ แปลนทอยส์ก็เริ่มตระหนักว่าความยั่งยืนทางธุรกิจมีมิติมากกว่าหัวใจ แปลนทอยส์จึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อพาตัวเองออกมาจากวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

3. ชีวาศรม ความ “ใจถึง” กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจโรงแรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability ดูจะเป็นคู่ตรงข้าม เพราะโรงแรมเป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล เริ่มต้นตั้งแต่การก่อสร้างตึก ห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใส่เข้าไป เมื่อเปิดบริการก็ต้องใช้ทรัพยากรมากมายสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับแขกที่มาพัก น้ำเสียจากโรงแรมก็มักกลายเป็นภาระหนักของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่รวมขยะ ของเสียต่างๆ ที่ต้องกำจัดอีกจำนวนมาก แต่ทุกอย่างมีข้อยกเว้น เพราะตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ให้บริการมา บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ แอนด์ รีสอร์ต จำกัด เจ้าของ “ชีวาศรม” รีสอร์ตสุขภาพระดับโลก ได้พิสูจน์ให้เห็นตั้งแต่เริ่มต้นว่า ธุรกิจโรงแรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ การปรับปรุงอาคารให้ “เขียว” ขึ้น การบำบัดน้ำเสีย 100% และทางเลือกที่ยั่งยืนอื่นๆ มาตลอด 19 ปี

อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

4. มิตรผล จากของเหลือทิ้งสู่พลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน

ในอดีตชานอ้อยถือว่าเป็นของเหลือที่กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ต้องกำจัดทิ้ง เช่นเดียวกับกากน้ำตาล แต่การตัดสินใจขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าเมื่อปี 2545 ชานอ้อยได้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญของโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะที่กากน้ำตาลก็ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลในปี 2548 เมื่อบวกกับความใส่ใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม มิตรผลได้ทำให้อ้อยกลายเป็นวัตถุดิบของพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เคียงคู่ไปกับการเติบโตทางธุรกิจน้ำตาล และเป็นเส้นทางการทำธุรกิจที่สร้างประโยชน์ทั้งต่อบริษัทและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

5. ปูนลำปาง Semi-open cut mining ก้าวไกลด้วยนวัตกรรมสีเขียวต้นแบบ

ต้นทางของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คือการทำเหมืองหินปูน ซึ่งถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามของความยั่งยืน เพราะแม้ว่าปูนซีเมนต์ที่ผลิตได้จะกลายเป็นบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างที่มีความแข็งแรงและอยู่ได้ยาวนาน แต่ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองปูน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง ความสั่นสะเทือน ฝุ่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิทัศน์ ก็ทำให้ภาพของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนกับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไม่อาจจะบรรจบกันได้ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายแรกและรายใหญ่ของประเทศไทย จึงคิดหานวัตกรรมการทำเหมืองรูปแบบใหม่เพื่อมุ่งสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และเกือบ 20 ปีแล้วที่การทำเหมืองแบบ semi-open cut mining method ซึ่งเอสซีจีได้เริ่มใช้ที่เหมืองปูนภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด หรือปูนลำปาง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด แต่สามารถก้าวเดินไปด้วยกันได้ หากให้ความสำคัญกับ Triple Bottom Line คือทั้งเรื่องเศรษฐกิจ (ผลลัพธ์ในการดำเนินธุรกิจ) สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

6. เลมอนฟาร์ม วิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาพและความยั่งยืน

ธุรกิจค้าปลีกเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันรุนแรง ทั้งจากการขยายตัวทั่วหัวระแหงของร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ การผุดโครงการใหม่ๆ ของศูนย์การค้าสารพัดยี่ห้อ แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด เลมอนฟาร์ม ร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพ กลับยืนหยัดอยู่ได้ด้วยจุดแข็งที่แตกต่างจากร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ภายใต้แนวคิดการทำธุรกิจค้าปลีกที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคที่ใส่ใจกับเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีวิถีเกษตรอินทรีย์เป็นแกนนำด้านการตลาด อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

7. ปัญญ์ปุริ ก้าวข้ามจุดขายความเป็นธรรมชาติ สู่ออร์แกนิค

ในตลาดเครื่องสำอางระดับสูง ซึ่งมีสินค้าแบรนด์เนมระดับหรูที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมากมาย ปัญญ์ปุริ เลือกชูจุดขายการดูแลร่างกายและจิตใจตามปรัชญาตะวันออก โดยมีส่วนผสมจากธรรมชาติเป็นจุดขายแรก ก่อนที่จะขยับขึ้นไปเป็นส่วนผสมจากพืชพรรณที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิค ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์แตกต่างอย่างโดดเด่นทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก

อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่:

8. อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง ใส่นวัตกรรมเขียว แปลงขยะเป็นความยั่งยืน

กระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตกะทิสำเร็จรูปยูเอชทีตราชาวเกาะ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกและผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เคยก่อให้เกิดขยะมากมาย เพราะมะพร้าวที่เข้าสู่โรงงานวันละหลายแสนลูก เมื่อถูกคั้นออกมาเป็นกะทิแล้ว ของเหลือหรือของเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว กะลามะพร้าว เปลือกมะพร้าว กากมะพร้าว น้ำเสียจากการทำความสะอาดเครื่องจักรที่มีไขมันปนเปื้อน ก็กลายสภาพเป็นของเสียที่หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งย้อนกลับมาเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของบริษัท แต่หากกำจัดหรือบำบัดก็เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล กลายเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่อาจจะทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน การจัดการของเสียในช่วงต้นของอำพลฟูดส์จึงทำไปตามความจำเป็น จนกระทั่งปี 2548 เมื่ออำพลฟูดส์เจอวิกฤตต้นทุน จากการขึ้นราคาของน้ำมันเตา เช่นเดียวกับการขยับตัวของค่าแรง อำพลฟูดส์จึงเริ่มมองหาทางออกจากวิกฤต และได้พบว่ามีนวัตกรรมเขียวต่างๆ มากมายสามารถช่วยเปลี่ยนของเสียที่บริษัทเคยมองว่าเป็นขยะให้กลายเป็นความยั่งยืนได้ เพราะนอกจากจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหากับชุมชนรอบๆ โรงงานแล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดขายและกำไรให้กับบริษัทได้อีกด้วย จนกลายเป็นวิถีการทำธุรกิจที่ยั่งยืนสไตล์อำพลฟูดส์ที่น่าศึกษา อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษาฉบับเต็ม (PDF) ได้จากที่นี่: