ขอเชิญทุกท่านพบกับงานเสวนาประจำปีครั้งแรกของป่าสาละ เราจะมาลองจุดประกายและชวนเพื่อนๆ คิดกันว่า “ในฐานะคนตัวเล็กๆ เราจะทำอะไรดีๆ ให้โลกได้บ้าง”
มาร่วมกันหาคำตอบกับบุคคลจากหลากหลายอาชีพที่ลงมือเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนด้วยวิถีของพวกเขาเอง ในงานเสวนาที่จะกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นความยั่งยืน DIB TALK (Do It Better Talk) ครั้งที่ 1 – “Do it Yourself, Do it Together, Do it Better”
ที่มาที่ไป
วิถี “การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน” หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดวิกฤตินานัปการ
ต้นศตวรรษที่ 21 เราประสบตั้งแต่วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาจากการพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนและส่งผลกระทบถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามแนวความคิดด้าน “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability ยังเป็นประเด็นใหม่ในประเทศไทยและมีความเข้าใจต่อความหมายของ “ความยั่งยืน” ที่จำกัดหรือคลาดเคลื่อน
ป่าสาละต้องการเผยแพร่องค์ความรู้และจุดประกายให้คนรุ่นใหม่และผู้บริโภคตระหนักถึงประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และวิธีแก้ปัญหาที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรืออาชีพใด เราต้องการให้ DIB TALK เป็นเวทีที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและร่วมสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาที่เราแต่ละคนสามารถ DO IT BETTER หรือทำให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเริ่มจากตัวเราเอง กับคนรอบข้าง หรือคนทั้งสังคม เพื่อสร้าง”ความยั่งยืน” ให้มากขึ้นในประเทศไทย
ผู้บรรยายรับเชิญภายในงาน
นักสิ่งแวดล้อม DIB
อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
นักธรณีวิทยาและนักอนุรักษ์ผู้ปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมและร่วมคัดค้าน EHIA (Environment and Health Impact Assessment) ที่ไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาจารย์ใช้หัวใจและเท้าเดินรณรงค์กว่า 300 กม. และ Facebook เป็นอาวุธในการ คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์
วิดีโอ
สถาปนิก DIB
คุณยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกชุมชน
สถาปนิกผู้ใช้ทักษะทางการออกแบบมาพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การออกแบบของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามเป็นหลัก แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การออกแบบพื้นที่ในสลัมใหม่เพื่อให้คนในชุมชนรวมตัวกันมากขึ้น คุณยรรยงสนใจว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขนส่งในกรุงเทพได้อย่างไร จึงเสนอโครงการเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนแบบรางกับคลอง (Hybrid Canal-Rail connectivity)ที่ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพและคนหันมาใช้มากขึ้น
วิดีโอ
นักปั่นจักรยานในเมือง DIB
ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
นักสิ่งแวดล้อมที่รณรงค์ให้คนกรุงเทพฯ ปั่นจักรยานตั้งแต่ยุคที่ยังไม่กลายเป็นแฟชั่นสุดฮิตอย่างทุกวันนี้ โดยผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ เช่น งาน “ปั่นเมือง” Bangkok Car-Free Day และการทำแผนที่เส้นทางจักรยาน รวมทั้งสื่อสารว่านอกเหนือจากการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว จักรยานยังเป็นการเดินทางที่ “ยั่งยืน” ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมประชาธิปไตย
วิดีโอ
เกษตรกร DIB
คุณลลนา ศรีคราม ผู้ก่อตั้ง บ.ไร่ทอง ออร์แกนิกส์ จำกัด
คนรุ่นใหม่ที่เติบโตจากครอบครัวชาวนา จ.ศรีสะเกษ ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการทำนาของที่บ้านให้เป็นแบบอินทรีย์ ก่อนลงมือสร้างกิจการเพื่อสังคมที่เชื่อมช่องว่างระหว่างเครือข่ายเกษตรกรออแกนิกส์เข้ากับผู้บริโภคในเมืองใหญ่ ภายใต้ชื่อ “CSA Munching Box” และหาวิธีส่งเสริมการทำเกษตรในเมือง (Urban Farming) เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางอาหาร
วิดีโอ
นายแพทย์ DIB
นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจและนักอนุรักษ์
“หมอหม่อง” เชื่อว่าหน้าที่แพทย์และการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปเพราะทุกสิ่งในระบบนิเวศมีความเชื่อมโยงกัน สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วย ในเวลานอกราชการ หมอหม่องไม่ได้ประจำโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน แต่กลับเลือกไปอยู่ตามป่าเขา โดยเฉพาะบนดอยภาคเหนือที่เขามักจะพาเด็กๆ จากชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาไปศึกษาธรรมชาติ
วิดีโอ
วัน เวลาและสถานที่จัดงาน
วันเสาร์ ที่ 18 ตุลาคม 2557 เวลา 13.00-18.00 น.
ณ ห้องประชุมวิวัฒนไชย A ตึกไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ (MRT เพชรบุรี)
บัตรราคา 250 บาทต่อที่นั่ง รับฟรีหนังสือ “รู้แล้วเปลี่ยน” โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล มูลค่า 280 บาท
รับหนังสือได้ที่งาน DIB Talk