humanright

บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “มาตรฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชน” เพื่อเสนอแนวทางในการจัดทำมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคเอกชนไทยที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

 

ในประเทศไทย หลักสิทธิมนุษยชนมักถูกใช้เฉพาะกับภาครัฐ ส่วนภาคเอกชนจำนวนมากมักอ้างว่าตนเองได้ปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ทั้งที่กฎหมายเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ตาม อย่างไรก็ดี การที่บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มสนใจประเด็นทางสังคมผ่านกรอบคิดเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable business) โดยรับมาตรฐานสากลด้านนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ก็นับเป็นโอกาสดีที่จะมีการปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจในประเทศไทย

การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ สังเคราะห์ความรู้จากเอกสาร ประกอบการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง สำหรับกรอบในการวิเคราะห์คือ การอ้างอิงแนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและองค์กรธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลกจำนวน 8 มาตรฐาน ซึ่งแต่ละมาตรฐานมีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้

  1. ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ริเริ่มใช้ในปี 2542 เพื่อเชิญให้องค์กรภาคธุรกิจทั้งภายในประเทศและบรรษัทข้ามชาตินำข้อตกลง 10 ประการภายใต้ข้อตกลงฯ ไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นบรรษัทที่มีความรับผิดชอบในสังคมโลก ข้อตกลง 10 ประการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 4 ประเด็นหลัก คือ สิทธิมนุษยชน (Human Rights) แรงงาน (Labor) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption) (United Nations, 2004) โดยองค์กรที่เข้าร่วมต้องจัดทำรายงานประจำปีที่แสดงว่าได้นำเอาหลักการทั้ง 10 ข้อไปใช้ในการดำเนินงานอย่างไร ข้อตกลงนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากขาดกลไกการบังคับใช้และติดตามผล บริษัทเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการประโยชน์ในแง่ภาพลักษณ์
  2. หลักการกำกับกิจการที่ดี (OECD Principles of Corporate Governance) เป็นกฎเกณฑ์ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) เริ่มใช้ในปี 2531 และปรับปรุงใหม่ในปี 2547 เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตาม มีเนื้อหาเกี่ยวกับ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  3. หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ (Guiding Principles on Business and Human Rights) ริเริ่มใช้ในปี 2554 เป็นเอกสารที่จัดทำและเผยแพร่โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) โดยมี ศาสตราจารย์ John Ruggie จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้จัดทำ หลักการนี้วางอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) โดยรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) โดยองค์กรภาคธุรกิจ และการเยียวยา (Remedy) อย่างเหมาะสม ด้วยการนำเสนอหลักการและวิธีการที่บริษัทสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ ไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าบริษัทต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยลำพังได้
  4. แนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (OECD Guidelines for Multinational Enterprises) ริเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2519 และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในปี 2522, 2525, 2527, 2534, 2543 และ 2555 เป็นแนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันที่จะนำไปเผยแพร่ และสนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติหรือบรรษัทภายในประเทศของตนนำไปปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ เนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมประเด็นสำคัญ แต่การบังคับใช้จะจำกัดอยู่เฉพาะประเทศสมาชิกของ OECD เท่านั้น สาระสำคัญของแนวปฏิบัตินี้ประกอบด้วย การเปิดเผยข้อมูล สิทธิมนุษยชน การจ้างงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการติดสินบน การชักจูงให้รับสินบน และการขู่กรรโชก สิทธิผู้บริโภค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขัน และภาษี
  5. มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน (Standards on Environmental and Social Sustainability) เป็นหลักเกณฑ์เพื่อผลักดันสำนึกใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารโลก มาตรฐานนี้เป็นส่วนสำคัญของหลักการ “อีเควเตอร์” (Equator Principles – EPs) ที่เป็นกรอบในการดำเนินการปล่อยเงินกู้สีเขียวหรือการปล่อยเงินกู้ให้โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเข้าร่วมหลักการนี้โดยสมัครใจ 80 แห่ง จาก 35 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อหลัก IFC คือ ไม่มีกลไกบังคับทางกฎหมาย ไม่กำหนดบทลงโทษ รวมทั้งไม่ผูกมัดกับระบบใดๆ ของรัฐบาล หลักการนี้จึงถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ หรือเป็นความพยายามในการรักษาชื่อเสียงต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้นมากกว่า
  6. มาตรฐาน Global Reporting Initiative (GRI) ริเริ่มในปี 2540 โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Coalition for Environmentally Responsible Economies (CERES) และสถาบัน Tellus ด้วยความสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) GRI ทำหน้าที่ประเมินและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ว่าได้ให้ความสำคัญและมีกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีบริษัทต่างๆ มากกว่า 2,500 บริษัท ในกว่า 70 ประเทศที่ใช้ชุดหลักเกณฑ์ของ GRI ในการจัดทำรายงานของตัวเอง (Self-Report) เกณฑ์ของ GRI ได้ระบุการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ เช่น แรงงาน เด็ก ชุมชน ไว้เป็นดัชนีชี้วัดด้วย
  7. ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจ (Human Rights Indicators for Business) จัดทำขึ้นโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเดนมาร์ก มีดัชนีด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจในฐานข้อมูลกว่า 1,000 ตัวชี้วัด เพื่อให้บริษัทต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถประเมินนโยบายของบริษัท กระบวนการ และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนได้ เป็นดัชนีชี้วัดที่ธุรกิจเอกชน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 70 แห่ง และนักวิจัย 35 หน่วยงาน ร่วมกันดำเนินการและให้คำแนะนำ ตัวชี้วัดดังกล่าวเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2548 ในปี 2557 ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของตัวชี้วัดให้ทันสมัยขึ้น เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งเป็น 8 ด้านหลักคือ (1) การบริหารจัดการ (2) ทรัพยากรบุคคล (3) ความปลอดภัยและสุขภาวะในที่ทำงาน (4) คุณภาพของผลิตภัณฑ์และการตลาด (5) ผลกระทบต่อชุมชน (6) การจัดการด้านความปลอดภัย (7) กิจการที่เกี่ยวกับกฎหมายและรัฐบาล (8) ผู้รับเหมาและห่วงโซ่อุปทาน
  8. มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works : CSR-DIW) เป็นมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคมของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ริเริ่มใช้เมื่อปี 2008 โดยปรับปรุงและพัฒนาจากมาตรฐานสากล ISO 26000 หัวข้อหลักของมาตรฐานประกอบด้วย การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน ปัจจุบันมีสถานประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ นำมาตรฐานไปประยุกต์ใช้มากกว่า 660 รายทั่วประเทศ ข้อจำกัดสำคัญของมาตรฐาน CSR-DIW คือ ไม่มีการติดตามผล และความต่อเนื่องของการประเมิน เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของบริษัท

จากการศึกษาพบว่าแนวปฏิบัติทั้ง 8 มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจเอกชนที่กล่าวไปข้างต้นมีลักษณะร่วมสำคัญคือ เป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับทางกฎหมาย แต่มีความแตกต่างกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น สถาบันทางการเงิน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม บรรษัทข้ามชาติ รวมถึงตัวชี้วัดที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบทบาทขององค์กรที่กำหนดมาตรฐาน เช่น องค์การสหประชาชาติ หน่วยงานรัฐ และความเป็นมาของมาตรฐานดังกล่าว อาทิ บางมาตรฐานมีการระบุให้มีกลไกการเยียวยาที่ชัดเจน และต้องสื่อสารเกี่ยวกับการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ (ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจของเดนมาร์ก) ส่วนเรื่องความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้น มี 6 มาตรฐานที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ยกเว้นข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ และหลักการกำกับกิจการที่ดี

อุปสรรคการใช้มาตรฐานในบริบทไทย

ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจโดยตรงและเป็นระบบ อย่างไรก็ดี จากสถิติการร้องเรียนต่อ กสม. ระหว่าง พ.ศ.2552-2558 สามารถสรุปภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทยได้ 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสิทธิชุมชน โดยการละเมิดสิทธิแรงงานมักเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในโรงงาน เสรีภาพในการรวมกลุ่มต่อรอง การเลือกปฏิบัติ การใช้สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม สำหรับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติสามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ 1.สิทธิแรงงานทั่วไป เช่น ค่าจ้าง วันหยุด วันลาที่ไม่ตรงตามกำหนดไว้ 2.การยึดเอกสารเดินทางของลูกจ้าง เพื่อไม่ให้คนงานหนี 3.การทำร้ายร่างกาย การละเมิดทางเพศ และอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่วนการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากภาคธุรกิจ มักเกิดจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขุดเจาะก๊าซปิโตรเลียม การขุดเจาะเหมืองแร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

จากการศึกษากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของมาตรฐานทั้ง 8 มาตรฐานข้างต้น ซึ่งมีลักษณะร่วมสำคัญคือเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ดังนั้นแม้ว่าบริษัทมีการรับมาตรฐานเหล่านี้มาใช้ แต่ก็สามารถเลือกได้ว่าจะรายงานประเด็นใด หรือเลือกรับแต่มาตรฐานที่บริษัทมองว่าตนสามารถปฏิบัติตามได้มาใช้

นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญของการใช้มาตรฐานในบริบทไทยยังรวมถึงเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจของบริษัทหลายแห่งเกี่ยวกับความสำคัญของการวางระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิผล และการขาดการบูรณาการกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับระบบประเมินความเสี่ยงของบริษัท ส่วนข้อจำกัดสำคัญของมาตรฐานทั้ง 8 มาตรฐานที่ศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การขาดแคลนกลไกตรวจสอบและติดตามผล โดยในบรรดามาตรฐานทั้งหมดที่ศึกษาในรายงานชิ้นนี้ มีเพียงแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติของ OECD และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนของ IFC เท่านั้นที่มีกลไกการตรวจสอบ ติดตามผล และรับเรื่องร้องเรียนว่า บริษัทผู้รับมาตรฐานได้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริงหรือไม่เพียงใด

ด้วยข้อจำกัดด้านกลไกตรวจสอบและติดตามผลของมาตรฐานเชิงสมัครใจต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้มาตรฐานเหล่านี้สามารถถูกใช้กล่าวอ้างโดยธุรกิจได้ง่าย เช่น กล่าวถึงการ “ได้” มาตรฐาน ประหนึ่งหมายความว่าตนได้ “ปฏิบัติตาม” มาตรฐานแล้ว ทั้งที่สองประเด็นนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะลำพังการประกาศว่าตนรับมาตรฐานย่อมมิได้หมายความว่าบริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นๆ อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

จากการทบทวนโครงสร้าง เนื้อหา และการบังคับใช้มาตรฐาน 8 มาตรฐานในงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบกับกรณีศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังต่อไปนี้

  1. ปัจจุบันมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจมีครอบคลุมและเพียงพอ กสม. ไม่จำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานใหม่

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนถือเป็นส่วนสำคัญของหลักการ แนวปฏิบัติ และมาตรฐานทุกชุดที่รณรงค์ส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (ซีเอสอาร์) ตั้งแต่ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เป็นต้นมา ตลอดจนมาตรฐานระดับอุตสาหกรรม อาทิ Equator Principles (สถาบันการเงิน) Extractive Industries Transparency Initiative (อุตสาหกรรมขุดเจาะ) Bonsucro (น้ำตาล) Marine Stewardship Council (อาหารทะเล) ฯลฯ ซึ่งบริษัทไทยให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ว่าการดำเนินงานของบริษัทได้มาตรฐานสากล ดังนั้นปัญหาอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจที่ผ่านมาจึงมิใช่การขาดความตระหนักต่อมาตรฐานเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะ วิธีการ และ ระบบ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ

  1. กสม. ควรจัดทำคู่มือตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) จัดการอบรม เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวต่อภาคธุรกิจ และติดตามตรวจสอบการดาเนินงานตามคู่มือเป็นระยะๆ

หัวใจของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจอยู่ที่การตรวจสอบและประเมินสถานะขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence) ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์มาตรฐานภายในและนอกประเทศจำนวน 8 มาตรฐาน พบว่าทุกมาตรฐาน ยกเว้นข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ และหลักการกำกับกิจการที่ดีของ OECD (ซึ่งทั้งสองมาตรฐานเป็นหลักการ (principles) กว้างๆ มากกว่าแนวปฏิบัติ) กำหนดให้บริษัทที่รับมาตรฐานจัดทำและดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) วางองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ สำหรับภาคธุรกิจในการจัดทำกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านได้ ได้แก่

1) การประกาศนโยบายและหลักการของบริษัทที่ว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยบูรณาการเข้ากับระบบประเมินความเสี่ยงของบริษัท (ข้อ 17)

2) การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบริษัท (ข้อ 18)

3) การบูรณาการข้อผูกมัดเชิงนโยบายเข้ากับการประเมิน รวมถึงกลไกควบคุมภายในและภายนอก (ข้อ 19) และ

4) การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน (ข้อ 19 และ 20)

กสม. ควรมีบทบาทในการจัดทำ อบรม และเผยแพร่คู่มือตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ในฐานะ “เครื่องมือ” สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่ตนรับแล้วอย่างแท้จริงและวัดผลได้ โดยในการออกแบบคู่มือดังกล่าว กสม. สามารถบูรณาการเนื้อหาจากมาตรฐานต่างๆ ตามระดับที่เหมาะสม เข้ากับองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนของกระบวนการตรวจสอบ จากนั้นเมื่อเผยแพร่คู่มือแล้ว กสม. ก็สามารถมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบบริษัทว่าได้ปฏิบัติตามกระบวนการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

hr-dd-chart

3. กสม. ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในประเทศไทย ในการเผยแพร่คู่มือ และสร้างแรงจูงใจให้เอกชนนำคู่มือไปปฏิบัติและเชิญ กสม. มาติดตามหรือประเมินการปฏิบัติตามคู่มือ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย – กำกับบริษัทจดทะเบียน ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ GRI
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) – กำกับบริษัทจดทะเบียน ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ GRI
3. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) – กำหนดเงื่อนไขการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ
4. กรมโรงงานอุตสาหกรรม – ออกใบรับรองและพัฒนามาตรฐาน CSR-DIW
5. สมาคมธนาคารไทย – สมาคมของธนาคาร
6. ธนาคารแห่งประเทศไทย – กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
7. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย – สมาคมของบริษัทอุตสาหกรรม มีสายงานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม
8. สภาหอการค้าไทย – สมาคมของผู้ประกอบการ

อ่านและดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จากลิงก์ด้านล่าง: