บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “มาตรฐานการเคารพสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชน” เพื่อเสนอแนวทางในการจัดทำมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคเอกชนไทยที่มีแนวปฏิบัติชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ในประเทศไทย หลักสิทธิมนุษยชนมักถูกใช้เฉพาะกับภาครัฐ ส่วนภาคเอกชนจำนวนมากมักอ้างว่าตนเองได้ปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ทั้งที่กฎหมายเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ตาม อย่างไรก็ดี การที่บริษัทต่างๆ มีแนวโน้มสนใจประเด็นทางสังคมผ่านกรอบคิดเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable business) โดยรับมาตรฐานสากลด้านนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ก็นับเป็นโอกาสดีที่จะมีการปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจในประเทศไทย
การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ สังเคราะห์ความรู้จากเอกสาร ประกอบการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง สำหรับกรอบในการวิเคราะห์คือ การอ้างอิงแนวปฏิบัติสำหรับธุรกิจซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน และเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและองค์กรธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลกจำนวน 8 มาตรฐาน ซึ่งแต่ละมาตรฐานมีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้
- ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ริเริ่มใช้ในปี 2542 เพื่อเชิญให้องค์กรภาคธุรกิจทั้งภายในประเทศและบรรษัทข้ามชาตินำข้อตกลง 10 ประการภายใต้ข้อตกลงฯ ไปปรับใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นบรรษัทที่มีความรับผิดชอบในสังคมโลก ข้อตกลง 10 ประการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 4 ประเด็นหลัก คือ สิทธิมนุษยชน (Human Rights) แรงงาน (Labor) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption) (United Nations, 2004) โดยองค์กรที่เข้าร่วมต้องจัดทำรายงานประจำปีที่แสดงว่าได้นำเอาหลักการทั้ง 10 ข้อไปใช้ในการดำเนินงานอย่างไร ข้อตกลงนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากขาดกลไกการบังคับใช้และติดตามผล บริษัทเข้าร่วมโครงการเพราะต้องการประโยชน์ในแง่ภาพลักษณ์
- หลักการกำกับกิจการที่ดี (OECD Principles of Corporate Governance) เป็นกฎเกณฑ์ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) เริ่มใช้ในปี 2531 และปรับปรุงใหม่ในปี 2547 เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตาม มีเนื้อหาเกี่ยวกับ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
- หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ (Guiding Principles on Business and Human Rights) ริเริ่มใช้ในปี 2554 เป็นเอกสารที่จัดทำและเผยแพร่โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) โดยมี ศาสตราจารย์ John Ruggie จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้จัดทำ หลักการนี้วางอยู่บนหลัก 3 ประการ คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) โดยรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) โดยองค์กรภาคธุรกิจ และการเยียวยา (Remedy) อย่างเหมาะสม ด้วยการนำเสนอหลักการและวิธีการที่บริษัทสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ ไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าบริษัทต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยลำพังได้
- แนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” (OECD Guidelines for Multinational Enterprises) ริเริ่มใช้ครั้งแรกในปี 2519 และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในปี 2522, 2525, 2527, 2534, 2543 และ 2555 เป็นแนวปฏิบัติในการประกอบธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมซึ่งรัฐบาลของหลายประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันที่จะนำไปเผยแพร่ และสนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติหรือบรรษัทภายในประเทศของตนนำไปปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ เนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมประเด็นสำคัญ แต่การบังคับใช้จะจำกัดอยู่เฉพาะประเทศสมาชิกของ OECD เท่านั้น สาระสำคัญของแนวปฏิบัตินี้ประกอบด้วย การเปิดเผยข้อมูล สิทธิมนุษยชน การจ้างงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการติดสินบน การชักจูงให้รับสินบน และการขู่กรรโชก สิทธิผู้บริโภค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแข่งขัน และภาษี
- มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืน (Standards on Environmental and Social Sustainability) เป็นหลักเกณฑ์เพื่อผลักดันสำนึกใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารโลก มาตรฐานนี้เป็นส่วนสำคัญของหลักการ “อีเควเตอร์” (Equator Principles – EPs) ที่เป็นกรอบในการดำเนินการปล่อยเงินกู้สีเขียวหรือการปล่อยเงินกู้ให้โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเข้าร่วมหลักการนี้โดยสมัครใจ 80 แห่ง จาก 35 ประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อหลัก IFC คือ ไม่มีกลไกบังคับทางกฎหมาย ไม่กำหนดบทลงโทษ รวมทั้งไม่ผูกมัดกับระบบใดๆ ของรัฐบาล หลักการนี้จึงถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ หรือเป็นความพยายามในการรักษาชื่อเสียงต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้นมากกว่า
- มาตรฐาน Global Reporting Initiative (GRI) ริเริ่มในปี 2540 โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Coalition for Environmentally Responsible Economies (CERES) และสถาบัน Tellus ด้วยความสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) GRI ทำหน้าที่ประเมินและจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ว่าได้ให้ความสำคัญและมีกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันมีบริษัทต่างๆ มากกว่า 2,500 บริษัท ในกว่า 70 ประเทศที่ใช้ชุดหลักเกณฑ์ของ GRI ในการจัดทำรายงานของตัวเอง (Self-Report) เกณฑ์ของ GRI ได้ระบุการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ เช่น แรงงาน เด็ก ชุมชน ไว้เป็นดัชนีชี้วัดด้วย
- ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจ (Human Rights Indicators for Business) จัดทำขึ้นโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเดนมาร์ก มีดัชนีด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจในฐานข้อมูลกว่า 1,000 ตัวชี้วัด เพื่อให้บริษัทต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ สามารถประเมินนโยบายของบริษัท กระบวนการ และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนได้ เป็นดัชนีชี้วัดที่ธุรกิจเอกชน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 70 แห่ง และนักวิจัย 35 หน่วยงาน ร่วมกันดำเนินการและให้คำแนะนำ ตัวชี้วัดดังกล่าวเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2548 ในปี 2557 ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาของตัวชี้วัดให้ทันสมัยขึ้น เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งเป็น 8 ด้านหลักคือ (1) การบริหารจัดการ (2) ทรัพยากรบุคคล (3) ความปลอดภัยและสุขภาวะในที่ทำงาน (4) คุณภาพของผลิตภัณฑ์และการตลาด (5) ผลกระทบต่อชุมชน (6) การจัดการด้านความปลอดภัย (7) กิจการที่เกี่ยวกับกฎหมายและรัฐบาล (8) ผู้รับเหมาและห่วงโซ่อุปทาน
- มาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works : CSR-DIW) เป็นมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคมของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ริเริ่มใช้เมื่อปี 2008 โดยปรับปรุงและพัฒนาจากมาตรฐานสากล ISO 26000 หัวข้อหลักของมาตรฐานประกอบด้วย การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน ปัจจุบันมีสถานประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ นำมาตรฐานไปประยุกต์ใช้มากกว่า 660 รายทั่วประเทศ ข้อจำกัดสำคัญของมาตรฐาน CSR-DIW คือ ไม่มีการติดตามผล และความต่อเนื่องของการประเมิน เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของบริษัท
จากการศึกษาพบว่าแนวปฏิบัติทั้ง 8 มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจเอกชนที่กล่าวไปข้างต้นมีลักษณะร่วมสำคัญคือ เป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับทางกฎหมาย แต่มีความแตกต่างกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น สถาบันทางการเงิน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม บรรษัทข้ามชาติ รวมถึงตัวชี้วัดที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบทบาทขององค์กรที่กำหนดมาตรฐาน เช่น องค์การสหประชาชาติ หน่วยงานรัฐ และความเป็นมาของมาตรฐานดังกล่าว อาทิ บางมาตรฐานมีการระบุให้มีกลไกการเยียวยาที่ชัดเจน และต้องสื่อสารเกี่ยวกับการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ (ตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจของเดนมาร์ก) ส่วนเรื่องความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้น มี 6 มาตรฐานที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน ยกเว้นข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ และหลักการกำกับกิจการที่ดี
อุปสรรคการใช้มาตรฐานในบริบทไทย
ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจโดยตรงและเป็นระบบ อย่างไรก็ดี จากสถิติการร้องเรียนต่อ กสม. ระหว่าง พ.ศ.2552-2558 สามารถสรุปภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจไทยได้ 3 ประเภทสำคัญ ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสิทธิชุมชน โดยการละเมิดสิทธิแรงงานมักเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในโรงงาน เสรีภาพในการรวมกลุ่มต่อรอง การเลือกปฏิบัติ การใช้สัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม สำหรับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติสามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ 1.สิทธิแรงงานทั่วไป เช่น ค่าจ้าง วันหยุด วันลาที่ไม่ตรงตามกำหนดไว้ 2.การยึดเอกสารเดินทางของลูกจ้าง เพื่อไม่ให้คนงานหนี 3.การทำร้ายร่างกาย การละเมิดทางเพศ และอุบัติเหตุจากการทำงาน ส่วนการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากภาคธุรกิจ มักเกิดจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขุดเจาะก๊าซปิโตรเลียม การขุดเจาะเหมืองแร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้
จากการศึกษากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของมาตรฐานทั้ง 8 มาตรฐานข้างต้น ซึ่งมีลักษณะร่วมสำคัญคือเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ดังนั้นแม้ว่าบริษัทมีการรับมาตรฐานเหล่านี้มาใช้ แต่ก็สามารถเลือกได้ว่าจะรายงานประเด็นใด หรือเลือกรับแต่มาตรฐานที่บริษัทมองว่าตนสามารถปฏิบัติตามได้มาใช้
นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญของการใช้มาตรฐานในบริบทไทยยังรวมถึงเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจของบริษัทหลายแห่งเกี่ยวกับความสำคัญของการวางระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิผล และการขาดการบูรณาการกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับระบบประเมินความเสี่ยงของบริษัท ส่วนข้อจำกัดสำคัญของมาตรฐานทั้ง 8 มาตรฐานที่ศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ การขาดแคลนกลไกตรวจสอบและติดตามผล โดยในบรรดามาตรฐานทั้งหมดที่ศึกษาในรายงานชิ้นนี้ มีเพียงแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติของ OECD และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนของ IFC เท่านั้นที่มีกลไกการตรวจสอบ ติดตามผล และรับเรื่องร้องเรียนว่า บริษัทผู้รับมาตรฐานได้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริงหรือไม่เพียงใด
ด้วยข้อจำกัดด้านกลไกตรวจสอบและติดตามผลของมาตรฐานเชิงสมัครใจต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้มาตรฐานเหล่านี้สามารถถูกใช้กล่าวอ้างโดยธุรกิจได้ง่าย เช่น กล่าวถึงการ “ได้” มาตรฐาน ประหนึ่งหมายความว่าตนได้ “ปฏิบัติตาม” มาตรฐานแล้ว ทั้งที่สองประเด็นนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะลำพังการประกาศว่าตนรับมาตรฐานย่อมมิได้หมายความว่าบริษัทปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นๆ อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากการทบทวนโครงสร้าง เนื้อหา และการบังคับใช้มาตรฐาน 8 มาตรฐานในงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบกับกรณีศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสีย คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังต่อไปนี้
- ปัจจุบันมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจมีครอบคลุมและเพียงพอ กสม. ไม่จำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานใหม่
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนถือเป็นส่วนสำคัญของหลักการ แนวปฏิบัติ และมาตรฐานทุกชุดที่รณรงค์ส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม (ซีเอสอาร์) ตั้งแต่ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) เป็นต้นมา ตลอดจนมาตรฐานระดับอุตสาหกรรม อาทิ Equator Principles (สถาบันการเงิน) Extractive Industries Transparency Initiative (อุตสาหกรรมขุดเจาะ) Bonsucro (น้ำตาล) Marine Stewardship Council (อาหารทะเล) ฯลฯ ซึ่งบริษัทไทยให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ว่าการดำเนินงานของบริษัทได้มาตรฐานสากล ดังนั้นปัญหาอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจที่ผ่านมาจึงมิใช่การขาดความตระหนักต่อมาตรฐานเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจในภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะ วิธีการ และ ระบบ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพ
- กสม. ควรจัดทำคู่มือตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) จัดการอบรม เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวต่อภาคธุรกิจ และติดตามตรวจสอบการดาเนินงานตามคู่มือเป็นระยะๆ
หัวใจของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจอยู่ที่การตรวจสอบและประเมินสถานะขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence) ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์มาตรฐานภายในและนอกประเทศจำนวน 8 มาตรฐาน พบว่าทุกมาตรฐาน ยกเว้นข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ และหลักการกำกับกิจการที่ดีของ OECD (ซึ่งทั้งสองมาตรฐานเป็นหลักการ (principles) กว้างๆ มากกว่าแนวปฏิบัติ) กำหนดให้บริษัทที่รับมาตรฐานจัดทำและดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) วางองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ สำหรับภาคธุรกิจในการจัดทำกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านได้ ได้แก่
1) การประกาศนโยบายและหลักการของบริษัทที่ว่าด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยบูรณาการเข้ากับระบบประเมินความเสี่ยงของบริษัท (ข้อ 17)
2) การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหรือมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบริษัท (ข้อ 18)
3) การบูรณาการข้อผูกมัดเชิงนโยบายเข้ากับการประเมิน รวมถึงกลไกควบคุมภายในและภายนอก (ข้อ 19) และ
4) การติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน (ข้อ 19 และ 20)
กสม. ควรมีบทบาทในการจัดทำ อบรม และเผยแพร่คู่มือตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ในฐานะ “เครื่องมือ” สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่ตนรับแล้วอย่างแท้จริงและวัดผลได้ โดยในการออกแบบคู่มือดังกล่าว กสม. สามารถบูรณาการเนื้อหาจากมาตรฐานต่างๆ ตามระดับที่เหมาะสม เข้ากับองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนของกระบวนการตรวจสอบ จากนั้นเมื่อเผยแพร่คู่มือแล้ว กสม. ก็สามารถมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบบริษัทว่าได้ปฏิบัติตามกระบวนการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง
3. กสม. ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในประเทศไทย ในการเผยแพร่คู่มือ และสร้างแรงจูงใจให้เอกชนนำคู่มือไปปฏิบัติและเชิญ กสม. มาติดตามหรือประเมินการปฏิบัติตามคู่มือ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นมีดังต่อไปนี้
1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย – กำกับบริษัทจดทะเบียน ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ GRI
2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) – กำกับบริษัทจดทะเบียน ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ GRI
3. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) – กำหนดเงื่อนไขการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ
4. กรมโรงงานอุตสาหกรรม – ออกใบรับรองและพัฒนามาตรฐาน CSR-DIW
5. สมาคมธนาคารไทย – สมาคมของธนาคาร
6. ธนาคารแห่งประเทศไทย – กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
7. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย – สมาคมของบริษัทอุตสาหกรรม มีสายงานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม
8. สภาหอการค้าไทย – สมาคมของผู้ประกอบการ
อ่านและดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้จากลิงก์ด้านล่าง: