(For a free download of full research report “Mapping Shrimp Feed Supply Chain in Songkhla Province”, please scroll down to the bottom of this page.)
ทางรอดประมงไทย อยู่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ผลวิจัย “การจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานความยั่งยืนในการผลิต” พบ 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำประมงที่ยั่งยืนในประเทศไทยคือ การใช้ปลาเป็ดเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาป่นโดยขาดประสิทธิภาพในการตรวจสอบที่มาทั้งของผู้ผลิตปลาป่นและผู้ผลิตอาหารสัตว์ กฎหมายที่ล้าหลังและการบังคับใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการขาดกลไกมาตรฐานความยั่งยืนที่ดี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินแก้
งานวิจัยชิ้นนี้ริเริ่มโดยอ็อกแฟม ประเทศไทย เพื่อศึกษาและสร้างแผนที่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมผลิตปลาป่น ศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลาป่นที่มีต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในสงขลา และเพื่อกระตุ้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ให้เกิดการสนทนา ร่วมกันพัฒนาระบบการผลิตและยกระดับมาตรฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น
ผลจากการลงสำรวจพื้นที่ การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลาป่นและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ การศึกษากฎหมายและมาตรฐานที่มีอยู่ คณะวิจัยจากบริษัท ป่าสาละ จำกัด นำทีมวิจัยโดย สฤณี อาชวานันทกุล ได้ข้อสรุปว่า โรงงานผลิตปลาป่นในสงขลายังรับซื้อ “ปลาเป็ด” (trash fish) ซึ่งปัจจุบันไม่ได้หมายถึงปลาที่ตลาดไม่ต้องการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลูกปลาชนิดต่างๆ และปลาขนาดเล็กที่ชาวประมงจับโดยลากอวนไปบนพื้นทะเล ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งไว้จนเน่าเปื่อยใต้ท้องเรือจนกว่าเรือจะเทียบท่า ไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์
การใช้ปลาเป็ดนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน เพราะสร้างแรงจูงใจให้การจับปลาเกินขนาดจากการใช้อวนลากและอวนรุนตาถี่ยังคงดำเนินต่อไป ข้อมูลจากการลงพื้นที่จังหวัดสงขลาพบว่า อวนลากที่ใช้ส่วนใหญ่มีขนาด 20 มิลลิเมตร อวนรุนอยู่ที่ขนาด 10 มิลลิเมตร ขณะที่ขนาดอวนที่เหมาะสมซึ่งแผนแม่บทการจัดการทะเลไทยแนะนำไว้คือ 40 มิลลิเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่การสัมภาษณ์เรือประมงพบข้อมูลว่า การออกเรือแต่ละเที่ยวจะได้ปลาเศรษฐกิจกลับมาราว 4 ตัน แต่ได้ปลาเป็ดถึง 6.5 ตัน หรือร้อยละ 62 ของสัตว์น้ำทั้งหมดที่จับได้ โดยปลาเป็ดจะถูกเก็บไว้ใต้ท้องเรือ 1-2 สัปดาห์ จนกว่าเรือจะเทียบท่า ทำให้ปลาเหล่านี้เน่าเสีย ผู้รับซื้อจึงนำไปผลิตเป็นปลาป่นเกรดต่ำ
นอกจากนี้ การที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่รับซื้อปลาป่นโดยพิจารณาแต่เรื่องคุณภาพในการกำหนดราคารับซื้อ คือดูเพียงค่าโปรตีน ความสด และกลิ่น แต่ไม่สนใจวิธีการจับปลามาเป็นวัตถุดิบผลิตปลาป่น ก็ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระบบนิเวศและชุมชนเช่นกัน เพราะเมื่อปลาป่นที่ผลิตจากปลาเป็ดที่ถูกจับมาด้วยอวนลากและอวนรุนที่ขูดพื้นทะเลและทำลายระบบนิเวศต่างๆ ยังคงขายได้ โดยปลาเป็ดทั้งหมดราว 25,000 ตันต่อปีที่เทียบท่าที่สงขลา สามารถขายให้ผู้ผลิตปลาป่นทั้งในและนอกจังหวัดได้ทั้งหมด เรือประมงจำนวนไม่น้อยจึงยังคงจับปลาอย่างไม่ยั่งยืนต่อไป
ยิ่งกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายและมาตรฐานเกี่ยวกับการทำปลาป่นที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกต้นตอสำคัญของปัญหาการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน เริ่มจาก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ที่ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้ เช่น กำหนดว่าต้องจับกุมผู้กระทำความผิดได้ซึ่งหน้า ทำให้เกิดความยากลำบากในการจับกุม แม้ว่าจะมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะที่ระบบรับรองปลาป่น ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านความยั่งยืนชุดแรกและมาตรฐานเดียวของไทยเกี่ยวกับการผลิตปลาป่น ก็เป็นระบบแบบสมัครใจ มิได้มีการบังคับจากภาครัฐ และมีช่องโหว่คือเป็นระบบการรับรองตัวเอง ชาวประมงเป็นผู้บันทึกข้อมูลประเภทของปลาที่จับได้ แหล่งที่มา ประเภทของอุปกรณ์ที่ใช้ลงในสมุดบันทึกการทำประมงด้วยตัวเอง เพื่อให้โรงงานผลิตปลาป่นนำไปใช้ โดยกรมประมงทำหน้าที่เพียงตรวจสอบความถูกต้องในการบันทึกเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลได้ เพราะขาดแคลนเครื่องมือตรวจสอบ เช่น เครื่องมือระบุพิกัดผ่านดาวเทียม ที่จะช่วยบอกได้ว่าเรือประมงจับปลาตรงจุดที่รายงานจริงหรือไม่
ปัจจุบันมีผู้ผลิตอาหารสัตว์เพียงรายเดียวคือ ซีพีเอฟ ที่เข้าร่วมระบบมาตรฐานรับรองปลาป่นของไทย โดยมีมาตรการให้ค่าพรีเมียมกิโลกรัมละ 3 บาทสำหรับปลาป่นที่มีเอกสารตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบได้อย่างถูกต้อง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปลาป่นเข้าร่วมมาตรฐานนี้
วัตถุดิบหลักในการผลิตปลาป่นในสงขลาคือเศษปลาที่ได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น โรงงานซูริมิ โรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา คิดเป็น 79,965 ตันหรือ 80% ของวัตถุดิบทั้งหมด วัตถุดิบที่เหลือเป็นปลาเรืออีก 20% หรือ 20,250 ตัน รับซื้อจากเรือประมงหรือพ่อค้าคนกลางจากทั้งในสงขลาเองและจังหวัดอื่นๆ โดยจากปริมาณปลาเรือ (ปลาที่ไม่ได้ขนาด) ทั้งหมด มีประมาณ 7,641 ตัน หรือ 38% ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนที่เหลืออีก 12,609 ตันหรือ 62% มาจากสงขลาเอง ในจำนวนนี้เป็นปลาเป็ด 5,760 ตัน
เมื่อผลิตปลาป่นเสร็จแล้ว ทีมวิจัยพบว่าผลผลิตปลาป่นทั้งจังหวัดถูกขายต่อไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 10% โบรกเกอร์ 24% และโรงงานอาหารสัตว์ 66% โดย บ.ซีพีเอฟเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ที่สุดในบรรดาโรงงานอาหารสัตว์ โดยรับซื้อ 29.7% ของผลผลิตทั้งจังหวัด รองลงมาได้แก่ บ.เบทาโกร 11.5% บ.ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ 7.2% บ.ลีพัฒนาอาหารสัตว์ 5.9% และ บ.กรุงไทยอาหารสัตว์ 2.1%
จากปลาเป็ด 5,760 ตันที่เข้าสู่โรงงานปลาป่นสงขลาในแต่ละปี นำไปผลิตปลาป่นเกรด 3 ได้ราว 1,527 ตัน ในจำนวนนี้ บ.ซีพีเอฟรับซื้อไป 37.6% หรือ 575 ตัน พ่อค้าคนกลาง 42.7% หรือ 652 ตัน และฟาร์ม 19.7% หรือ 300 ตัน
ในภาพรวมของผลผลิตปลาป่นจากสงขลา บ.เบทาโกรและ บ.กรุงไทยอาหารสัตว์ รับซื้อปลาป่นที่ตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบได้ 100% ส่วน บ.ซีพีเอฟตรวจสอบได้ 81% บ.ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ตรวจสอบได้ 47% และ บ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรวจสอบได้ 36%
จากการศึกษาประวัติศาสตร์การทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศเปรูซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค ทีมวิจัยพบว่าให้บทเรียนอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยในการก้าวไปสู่การทำประมงอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากการแก้ไขและบังคับใช้มาตรฐานที่สามารถกำกับดูแลผู้มีส่วนได้เสียได้ทุกฝ่าย อย่างเช่นในเปรูที่มีการใช้ส่วนผสมระหว่างกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมง ทั้งในเรื่องการกำหนดโควตาการจับปลาของเรือแต่ละลำ ขนาดตาอวน กฎระเบียบการจับปลา การปิดพื้นที่ตามฤดูกาล และสิทธิในการตกปลา ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมและการกำกับดูแลกันเองของอุตสาหกรรมอย่างทั่วถึง เช่น การให้อุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการกำหนดโควตาการจับปลาและแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืนและมีการบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลเปรูมี IMARPE หน่วยงานวิจัยทางทะเลสำคัญ ช่วยเหลือในการค้นคว้าวิจัยเพื่อประกาศระดับการจับปลาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ระบบนิเวศ และโควตาการจับปลาในแต่ละปี นอกจากนี้เรือประมงพาณิชย์ทุกลำในประเทศเปรูยังต้องติดตั้งเครื่องติดตามผ่านดาวเทียมบนเรือ เพื่อให้สามารถตรวจสอบปริมาณการจับปลาได้ว่าเป็นไปตามโควตาที่กำหนดหรือไม่ รวมทั้งสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการละเมิดกฎการปิดพื้นที่จับปลาตามฤดูกาลเพื่อการพื้นฟูสัตว์น้ำหรือไม่
ที่สำคัญก็คือ กรณีของเปรูชี้ว่า ถ้าหากการทำประมงอย่างยั่งยืนมี “เหตุผลทางธุรกิจ” ที่ชัดเจน จะยิ่งทำให้ผู้เล่นมีแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐานและระบบที่ยั่งยืนมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดโควตาการจับปลาของเรือแต่ละลำในเปรูทำให้เรือประมงต้องวางแผนการออกเรือให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เพื่อให้เรือประมงสามารถจับปลาและนำขึ้นเทียบท่าได้ในขณะที่ปลายังคงความสด สามารถนำไปผลิตปลาป่นคุณภาพสูง ซึ่งทั้งช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดน้ำมันและทำให้ขายได้ราคาดี จึงมีกำไรสูงขึ้น
หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการทำประมงในประเทศไทยทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันเร่งพัฒนาลดช่องว่างต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงมีการควบคุมและตรวจสอบที่รัดกุม ระบบนิเวศทางทะเล ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากในประเทศไทย
สไลด์นำเสนอผลการวิจัย:
สรุปผลการวิจัย (ภาษาไทย) และ Executive Summary:
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ : Full Research Report :