RakPaNan6-1

การปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชัน อ.สันติสุข จ.น่าน (มิถุนายน 56) 

                ใครตัดป่าน่าน ?

                คำถามนี้หลายคนคงตอบได้ไม่ยากว่าผู้ที่ตัดป่าน่านทางกายภาพคือ‘ชาวบ้าน’ ที่ถางพื้นที่สูงชันและเปลี่ยนป่าเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อยังชีพ

                คำตอบข้างต้นนั้นไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกต้องครบถ้วนเสียทีเดียว เพราะหากพิจารณาห่วงโซ่อุปทานและแรงจูงใจในการทำลายป่าอย่างถี่ถ้วน ‘เรา’ ชาวกรุงเทพฯ ที่แม้จะอยู่ห่างจากจังหวัดน่านกว่า 500 กิโลเมตร ก็อาจมีส่วนในการถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดในทางอ้อม เพราะมื้ออาหารที่ผ่านมา อาจมีส่วนประกอบของ ‘ป่าน่าน’ เป็นวัตถุดิบ

                สายพานการผลิต ได้แปลงข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ ป้อนเข้าสู่ฟาร์มก่อนจะผลิตเป็นเนื้อสัตว์และส่งต่อมายังผู้บริโภค โดยเฉพาะไก่ ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ ที่ตามสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2555 ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ระบุว่าจำเป็นต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละกว่า 4.7 ล้านตัน ยังไม่รวมที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสุกร ซึ่งรวมๆ แล้วในหนึ่งปี มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถูกป้อนเข้าสู่ฟาร์มกว่า 6.2 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                ความต้องการข้าวโพดในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผืนป่าน่านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

                จากข้อมูลปี พ.ศ. 2543 – 2552 พบว่า พื้นที่ป่าไม้น่านลดลงจากร้อยละ 77.8 เป็นร้อยละ 69.98 คิดเป็นพื้นที่ป่าไม้ลดลงราว 897.59 ตารางกิโลเมตร และส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าที่หายไปก็เป็นป่าต้นน้ำ ทำให้กระบวนการดูดซับน้ำฝน และการระบายน้ำจากชั้นดินสู่ลำธาร ถูกตัดตอน เพิ่มโอกาสการเกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหน้าฝน

                บางคนอาจตั้งคำถามว่าป่าน่านที่หายไปได้กลายเป็นไร่ข้าวโพดจริงหรือ

สิ่งยืนยันคือการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้จากภาพถ่ายดาวเทียมโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ที่ทำการเปรียบเทียบตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ถึง พ.ศ. 2556 พบว่าบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ จังหวัดน่าน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และตำบลป่าแลวหลวง ในอำเภอสันติสุข และตำบลอวน ในอำเภอปัว มีพื้นที่ป่า 35,440 ไร่ ทั้งภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวน และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ถูกแปลงเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

                ตัวเลขดังกล่าวดูน่าตกใจ และหลายคนคงจะยิ่งแปลกใจเมื่อทราบว่าข้าวโพดไม่ได้ทิ้งปัญหาไว้แค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม

 รูปแบบห่วงโซ่อุปทานข้าวโพด จ.น่าน

                งานวิจัยเรื่อง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา: ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ.น่าน” โดยเขมรัฐ เถลิงศรี และสิทธิเดช พงศ์กิจวนสิน เมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้อธิบายว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน มีผู้เล่นสำคัญ 3 รายคือ

1. เกษตรกรรายย่อย ผู้แบกรับความเสี่ยงด้านราคาและต้นทุนที่สูงขึ้น มีอำนาจในการต่อรองต่ำเพราะผู้ซื้อคือคนกำหนดราคาข้าวโพดในท้องตลาด

2. ผู้รับจ้างสี-ขนส่ง ผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อมาทำการสี และส่งต่อให้กับพ่อค้าคนกลางหรือผู้รวบรวมผลผลิต ซึ่งปัจจัยในการตัดสินใจเลือกหัวสีของเกษตรกรรายย่อยคือราคาเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะของบริการไม่แตกต่างกัน แต่ในบางกรณี เกษตรกรอาจมีพันธะสัญญาว่าจะต้องขายผลผลิตให้กับหัวสีบางราย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ถูกกดราคา

3. ผู้รวบรวมผลผลิต ที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ คือสหกรณ์การตลาดของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ส.ก.ต.) และไซโลของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจน้ำหนักและวัดคุณภาพตามความชื้น ราดำ ความสมบูรณ์ของเมล็ด ก่อนจะส่งไปให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เช่น เครือซีพี และเบทาโกร โดยอ้างอิงตามราคาซื้อขายข้าวโพดล่วงหน้าในตลาดชิคาโก

 ราคาที่เกษตรกรขายได้

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ศสส./สวส.) กรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพันธุ์พืชไทย Chicago Board of Trade อ้างใน สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย (2556)

                งานวิจัยดังกล่าวตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจนในแง่เศรษฐกิจว่า ปัญหาของการปลูกข้าวโพดไม่ได้มีเพียงทำลายป่าเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เพาะปลูกบนพื้นที่สูงชัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยิ่งปลูกยิ่งจน เพราะผลผลิตที่ได้นั้นต่ำกว่าการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราบ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูงชันมักติดอยู่ในวังวนของหนี้นอกระบบเรื้อรัง

                หลายปัญหาที่กล่าวมา ยังไม่รวมเรื่องสุขภาพของทั้งเกษตรกรและประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบแหล่งปลูกข้าวโพด เพราะพวกเขามีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการเผาไร่ข้าวโพดเพื่อเตรียมเพาะปลูกยังทำให้ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกือบ 4 เท่าในปี พ.ศ.2552 – 2553 และเกือบ 3 เท่าในปี พ.ศ. 2554

                ใครตัดป่าน่าน ?

                คำถามนี้ อาจไม่ตรงประเด็นนักหากเราต้องการแก้ปัญหาป่าไม้ในจังหวัดน่าน เพราะทุกคนตั้งแต่ต้นธารการผลิตคือเกษตรกร ส่งต่อมายังพ่อค้าคนกลาง โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ผู้ปล่อยสินเชื่อ เรื่อยมาจนถึงปลายทางคือผู้บริโภค ต่างเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เร่งกระบวนการทำลายป่า แม้ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

                เมื่อหลายฝ่ายต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา การปัดภาระให้รัฐคอยแก้ไขฝ่ายเดียวคงไม่ถูกต้องนัก ทางออกคือต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายเกษตรกร ผู้รับซื้อผลผลิต ผู้ให้สินเชื่อ และที่สำคัญคือผู้บริโภค

                มาตรฐาน Coffee and Farmer Equity Practices หรือ C.A.F.E. ของ Starbucks นับว่าเป็นตัวแบบที่ดีในการมาปรับใช้กับห่วงโซ่อุปทานข้าวโพด ซึ่งผู้รับซื้อผลผลิตรายใหญ่เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์อย่างเบทาโกรและซีพีควรใส่ใจ เช่น การกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อที่ว่า “ผลผลิตจะต้องไม่มาจากพื้นที่ผิดกฎหมาย” ซึ่งนับเป็นจุดตั้งต้นที่จะคืนผืนป่าให้กับประเทศไทย โดยอาจกำกับดูแลผ่านทางหัวสี ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเกษตรกร

                นอกจากโรงงานอาหารสัตว์ที่ต้องขยับตัว แหล่งสินเชื่อโดยรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เองก็ไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดแทบทุกรายจำเป็นต้องอาศัยเงินกู้ก่อนการเพาะปลูกแต่ละฤดู ดังนั้น เจ้าหนี้จึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเกษตรกรได้

                แม้นโยบายของ ธ.ก.ส. คือเกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิ์ก่อนได้รับอนุมัติสินเชื่อ แต่ในความเป็นจริง เกษตรกรอาจไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิ์ เพียงแต่ต้องหาบุคคลมาค้ำประกันเงินกู้แบบกลุ่มจำนวน 5 คนแทน หรือสามารถกู้เป็นปัจจัยการผลิต เช่นปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง แทนที่จะกู้เป็นเงินลงทุน

                ที่ขาดไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเกษตรกรเอง ตั้งแต่การบุกรุกพื้นที่ป่าหรือที่ลาดชันเพื่อปลูกข้าวโพด การเผาเตรียมพื้นที่ และการใช้สารเคมีเกินขนาด โดยมีแรงจูงใจจากนโยบายของรัฐบาลอุดหนุนราคาข้าวโพด หรือการไม่บังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัจจัยเหล่านี้ต่างผลักดันให้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้น

                แต่สุดท้าย แนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลายคงไม่เกิดขึ้นได้ หากผู้บริโภคไม่ตระหนักรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนลุกขึ้นมาขยับตัวแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะสุดท้าย ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในสายพานการผลิตเนื้อสัตว์ก็คือผู้บริโภค อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อำนาจนั้น หรือจะรอให้ถึงวันที่จังหวัดน่านเหลือแค่ป่าข้าวโพด

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ใน “การวิเคราะห์ การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” โดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด