หลังจากเคยสงสัยมานานว่า ชาวประมงพื้นบ้านมีความเดือดร้อนอะไรหนักหนา ถึงต้องออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือต้องมีการประท้วงปิดอ่าว จนกลายเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่หลังจากได้มีโอกาสมาทำงานวิจัยเกี่ยวกับการทำประมงอย่างยั่งยืน ผู้เขียนก็มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายๆ กลุ่มในจังหวัดสงขลา โดยหนึ่งในนั้นก็คือชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้พอมองเห็นปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่ได้บ้าง

IMG_0128[1]

ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน 3 แห่งในจังหวัดสงขลาที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์เมื่อปลายปีที่แล้วคือที่บ้านบ่อแดง อำเภอสทิงพระ บ้านทะเลนอก อำเภอสิงหนคร และบ้านปากบางนาทับ อำเภอจะนะ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด และทำประมงกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ หลายๆ คนได้เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่กับทะเลจากพ่อแม่ เพราะต้องออกทะเลช่วยพ่อหาปลาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมต้น ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษเรื่องวิธีการจับปลา การฟังเสียงปลาในทะเล ช่วงเวลาการออกหาปลา จึงสืบทอดมาสู่พวกเขาแบบรุ่นต่อรุ่น โดยเรือที่ใช้มีตั้งแต่เรือเล็กขนาดประมาณ 6-7 เมตร อย่างเรือไฟเบอร์กลาสและเรือมาด ไปจนถึงเรือขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย คือประมาณ 11-12 เมตร อย่างเรือหัวสิงห์ เรือท้ายตัด เรือหางยาว

ปัญหาร่วมที่ผู้เขียนพบจากการพูดคุยกับชาวประมงพื้นบ้านทั้งสามหมู่บ้านคือ พวกเขาจับปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ได้น้อยลง โดยสัตว์น้ำบางชนิดหายไปจากทะเล ไม่เคยจับได้อีกเลย จนชาวบ้านต้องทิ้งเครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำชนิดนั้น ในขณะที่ต้นทุนการจับปลาและค่าครองชีพกลับเพิ่มสูงขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านจึงต้องมีการปรับตัว เช่น หาอาชีพเสริมอื่นทำ หรือให้ภรรยาออกไปทำงานเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยหากชาวประมงพื้นบ้านรายใดพอจะมีที่มีทางก็จะทำนาทำสวน เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องในฤดูมรสุมซึ่งออกหาปลาไม่ได้ (เดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม) หรือยามที่จับปลาได้น้อย ส่วนทางแก้อีกวิธีที่ชาวประมงพื้นบ้านหลายคนทำคือการออกเรือประมงไกลขึ้นและนานขึ้น ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง ส่งผลให้สุขภาพย่ำแย่

IMG_0126[1]

เมื่อถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์น้ำลดน้อยลง คำตอบของแต่ละหมู่บ้านก็มีทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เล่าให้ฟังว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงเกิดขึ้นในช่วงสิบปีที่แล้ว เมื่อมีเรือประมงปลากะตักปั่นไฟและเรืออวนลากจำนวนมากมาทำประมงในพื้นที่ที่พวกเขาจับปลาอยู่ เมื่อปลาและสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง เรือปลากะตักปั่นไฟและเรืออวนลากจึงค่อยๆ ลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงห้าปีต่อมา

แม้เรือที่มาแย่งจับปลาจะลดลง แต่ปัญหาการจับปลาได้น้อยของชาวประมงพื้นบ้านก็ยังดำเนินต่อไป อันเนื่องมาจากการสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันในบริเวณที่พวกเขาจับปลา ซึ่งทำให้พื้นที่ในการทำประมงของพวกเขาลดลง เนื่องจากรัศมี 500 เมตรรอบแท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นเขตหวงห้าม พวกเขาจึงไม่สามารถเข้าไปทำประมงในบริเวณนั้นได้ ทำให้บางครั้งขณะที่พวกเขาตามจับฝูงปลามาจากอำเภออื่น แต่เมื่อมาถึงบริเวณใกล้ๆ แท่นขุดเจาะน้ำมัน ฝูงปลาก็หายไป
โดยพวกเขาเชื่อว่า ฝูงปลาได้เข้าไปหลบอยู่ในบริเวณรอบๆ แท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งพวกเขาไม่สามารถเข้าไปตามจับได้

IMG_0130[1]

นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว ชาวประมงพื้นบ้านที่หมู่บ้านทะเลนอกยังได้รับผลกระทบจากคลื่นขนาดใหญ่จากการสัญจรเข้าออกของเรือขนส่งสินค้า เนื่องจากหมู่บ้านนี้อยู่ใกล้กับท่าเรือขนส่งสินค้า ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือขนาดเล็ก ออกเรือและวางอวนลำบาก แถมบางครั้งยังมีเรือสินค้าที่ออกนอกเส้นทางแล่นผ่าเครื่องมือประมงที่ชาวบ้านวางดักปลาเอาไว้ ทำให้เครื่องมือประมงเสียหาย ซึ่งหากชาวประมงเจ้าของเครื่องมือเห็นว่าเป็นการกระทำของเรือลำใดก็อาจไปเรียกร้องเอากับเจ้าของเรือหรือคนที่ขับเรือได้ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่เห็น

ปัญหาเรื่องเครื่องมือเสียหาย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่โดนเรืออวนลากหรือเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทำลายเท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่เกิดจากเครื่องมือประมงด้อยคุณภาพ เมื่อใช้ไปได้เพียงสองสามปีเครื่องมือเหล่านั้นก็เสื่อมสภาพ เช่น อวนกรอบ ขาด ใช้การไม่ได้ ต้องซื้อใหม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอวนผืนใหม่สำหรับจับปลาหลังเขียวผืนอาจมีราคาสูงถึงหนึ่งแสนบาท

จะเห็นได้ว่าปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านทั้งสามหมู่บ้านมีส่วนที่เป็นปัญหาร่วมกัน อย่างเรื่องปริมาณสัตว์น้ำทะเลที่ลดลง ไปจนถึงปัญหาเฉพาะหมู่บ้าน อย่างเรื่องท่าเรือขนส่งสินค้า และบางปัญหาก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เช่น ปัญหาคลื่นขนาดใหญ่บริเวณใกล้ท่าเรือขนส่งสินค้า หรือปัญหาเครื่องมือประมงด้อยคุณภาพ แต่บางปัญหาก็อาจจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนัก อย่างปัญหาสัตว์น้ำลดลง

แม้จะทราบจากการสัมภาษณ์ว่า ชาวประมงพื้นบ้านในสามหมู่บ้านกำลังประสบปัญหาจับปลาได้น้อยลง และพวกเขาคิดว่าสาเหตุหลักมาจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน เรือประมงปลากะตักปั่นไฟ และเรืออวนลาก แต่ผู้เขียนก็ไม่สามารถสรุปฟันธงลงไปได้ว่า การที่ชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้จับสัตว์ได้น้อยลงเกิดจากสาเหตุใด เพราะข้อมูลที่ได้รับเป็นความรู้สึกที่ชาวประมงพื้นบ้านไม่เคยจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์ไว้เลย การวิเคราะห์หาต้นตอของปัญหาจึงเป็นไปได้ยาก

ผู้เขียนคิดว่า จุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านของไทย อาจจะต้องเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ก่อนว่ามีปัญหาอะไร เพราะแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีปัญหาเฉพาะของตน ซึ่งต้องการการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป