ปัจจุบันเราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า EIA ซึ่งย่อมาจาก Environmental Impact Assessment หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ถูกนำมาใช้ประเมินโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม โดย EIA ได้อยู่กับสังคมไทยมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่การประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2535 อย่างไรก็ตาม นับวันปัญหาเกี่ยวกับการทำ EIA กลับยิ่งทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการทำ EIA ในประเทศไทยนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของการทำ EIA คือการหลีกเลี่ยง ป้องกัน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการได้จริงหรือ
ปัจจุบันกฎหมายระบุให้โครงการ 36 ประเภท ต้องจัดทำ EIA ก่อนเริ่มต้นดำเนินโครงการ โดยมีโครงการ 11 ประเภทที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จำเป็นต้องมีการจัดทำ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) ซึ่งครอบคลุมการประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ
หนึ่งในข้อจำกัดของ EIA คือเป็นการประเมินผลกระทบในระดับ “โครงการ” เท่านั้น ซึ่งหลายครั้งผลการประเมินดังกล่าวกลับไม่ยึดโยงหรือสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของพื้นที่โดยรอบหรือในภูมิภาคนั้นๆ เนื่องจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจเกิดจากการสะสม (cumulative effect) หรือการเสริมกัน (synergistic effect) ของผลกระทบที่หลากหลาย และอาจไม่สามารถสะท้อนออกมาได้ในการประเมินผลกระทบของโครงการใดเพียงโครงการเดียว จึงมีการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกแบบหนึ่งขึ้น ที่เรียกว่า SEA (Strategic Environmental Assessment) หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
SEA คืออะไร
เช่นเดียวกับ EIA แนวคิดของ SEA ก่อตัวขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2513 ก่อนที่จะได้รับการเผยแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการบรรลุข้อตกลง “อนุสัญญาว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามเขตแดน (Convention on Environmental Impact Assessment in a Transboundary Context)” หรือที่เรียกกันว่า “อนุสัญญาเอสปู (Espoo Convention)” ตามชื่อเมืองเอสปู ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมดังกล่าว โดยอนุสัญญาฉบับนี้ได้วางรากฐานการทำ SEA ซึ่งต่อมาได้มีการเพิ่มเติมพิธีสารที่เกี่ยวข้องกับ SEA เข้าไป ในปี พ.ศ. 2546 ณ เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน ปัจจุบันแนวคิดของ SEA ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ได้เริ่มมีการทำ SEA บ้างแล้วเช่นกัน
สิ่งที่ทำให้ SEA แตกต่างไปจาก EIA อย่างชัดเจนคือขอบเขตของการวิเคราะห์หรือและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดย SEA คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับของนโยบาย แผน และโปรแกรม ซึ่งอยู่สูงกว่าการประเมินผลกระทบในระดับโครงการของ EIA โดยสามารถแบ่งประเภทการจัดทำ SEA ออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- SEA รายสาขา (sectoral based) ซึ่งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับนโยบาย แผน และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารายสาขา เช่น พลังงาน คมนาคม การเกษตร
- SEA ระดับพื้นที่ (area based) ซึ่งประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่โดยรวม เช่น ระดับจังหวัด ภาค หรือพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
- SEA เชิงประเด็น (issue based) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงการประเมินรายสาขาและระดับพื้นที่เข้าด้วยกัน เช่น นโยบายด้านพลังงานสำหรับจังหวัดต่างๆ
เนื่องจาก SEA ไม่ใช่การประเมินผลกระทบสำหรับโครงการใดโครงการหนึ่ง จึงไม่มีการพิจารณาให้ SEA “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ในทำนองเดียวกันกับ EIA แต่ SEA เป็นกระบวนการที่ช่วยในการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมก่อนนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจในเชิงนโยบาย เพื่อให้ได้แนวทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงกำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินและกระบวนการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
SEA ในประเทศไทย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดทำ SEA โดยนักวิชาการบ้างแล้ว โดยมีโครงการนำร่องได้แก่ การทำ SEA สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการลุ่มน้ำยม และการจัดการขยะในประเทศไทย
โครงการ SEA สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นโครงการนำร่องสำหรับการทำ SEA รายสาขา โดยวัตถุประสงค์ของโครงการคือเพื่อพัฒนาความรู้เชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้แก่ประเทศได้ปีละหลายแสนล้านบาท แต่กลับนำรายได้เข้าประเทศเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกดังกล่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงอุตสาหกรรมปลายน้ำ ในขณะเดียวกันกลับก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อคนงานและชุมชนใกล้เคียง การทำ SEA ที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนสามารถช่วยกำหนดนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาดและมีมูลค่าสูงขึ้น
โครงการ SEA สำหรับการจัดการลุ่มน้ำยมเป็นโครงการนำร่องสำหรับการทำ SEA ระดับพื้นที่ ครอบคลุมการศึกษาในพื้นที่ 6 จังหวัดได้แก่ พะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผ่านกระบวนการตัดสินใจที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งกลุ่มผู้คัดค้านและกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นชนวนความขัดแย้งในพื้นที่เป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี
สำหรับการทำ SEA ในกรณีของการจัดการขยะในประเทศไทยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเขตเมืองทั่วประเทศ โดยผลการศึกษาจะถูกนำไปใช้เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ และผลักดันนโยบายสาธารณะและการตัดสินใจที่เป็นทางการเกี่ยวกับการจัดการขยะในระดับต่างๆทั่วประเทศ
การทำ SEA เปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่กว้างกว่าการทำ EIA โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถร่วมปรึกษาหารือกันได้มากขึ้น เพราะขอบเขตของการประเมินนั้นกว้างกว่าระดับของโครงการ รวมทั้งยังครอบคลุมมิติที่หลากหลายกว่า เช่น มิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ SEA จึงมีความยืดหยุ่นกว่า เพราะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ทางเลือกระดับโครงการ แต่คือทางเลือกในระดับยุทธศาสตร์หรือแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการเลือกที่จะไม่พัฒนาโครงการใดๆก็ได้ ผลการจัดทำ SEA สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น แผนการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การร่างกฎหมายและระเบียบบังคับต่างๆ รวมถึงแผนการลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ โดย SEA จะสะท้อนให้เห็นถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการใดๆก็ตามในบริบทของแต่ละพื้นที่
ก้าวต่อไปของ SEA
ในอนาคตรัฐธรรมนูญไทยอาจระบุให้มีการจัดทำ SEA ขึ้นตามกฎหมาย เพื่อใช้ประเมินความเหมาะสมของแนวทางการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตามการทำ SEA เป็นงานที่ต้องอาศัยการบูรณาการของชุดความรู้ที่หลากหลาย ต้องอาศัยข้อมูลทั้งเชิงลึกและกว้าง จึงเป็นงานที่ท้าทายและอาศัยความรู้ความสามารถของนักวิชาการหลายแขนง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดของ SEA ในวงกว้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและออกแบบระบบการจัดทำ SEA ที่รัดกุม มีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังดังเช่นกระบวนการทำ EIA ที่ผ่านมาในประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์