ทันทีที่โลกเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงที่มิอาจหยั่งถึงจากการใช้ประโยชน์เชื้อเพลิงฟอสซิล และความเป็นไปได้อย่างมากที่ว่าความเสี่ยงเหล่านั้นจะกลายเป็นผลกระทบขึ้นมาจริงๆ สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ก้าวออกมาเป็นผู้นำโลกไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้วยการเริ่มต้นใช้ทรัพยากรพลังงานที่สะอาด และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบเหล่านั้น
ปัจจุบัน การใช้พลังงานหมุนเวียนในสหภาพยุโรปมีสัดส่วนกว่า 15% ของปริมาณการบริโภคพลังงานสุทธิ (gross final energy consumption) โดยเฉพาะประเทศอย่างสวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และลัตเวียที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงได้รับการกล่าวถึงมากมายจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เมื่อพูดถึงการใช้พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม จากรายงานการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนปีล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว
ข้อมูลของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการลงทุนในพลังงานสะอาดของยุโรปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี ค.ศ. 2005 และมียอดลงทุนสูงที่สุดเท่ากับ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐใน 6 ปีต่อมา อย่างไรก็ตาม ยอดการลงทุนได้ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 และยังคงลดลงต่อเนื่องในปี ค.ศ. 2015 จนเหลือเพียง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
Michael Liebreich ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา BNEF อธิบายว่ายอดลงทุนที่ลดลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานของรัฐบาลในกลุ่มประเทศสมาชิกยุโรป จากเดิมที่เคยสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังจนเกิดโครงการขึ้นมากมาย แต่ต่อมารัฐเริ่มหวาดกลัวเมื่อเห็นค่าใช้จ่ายการอุดหนุนที่รัฐต้องออกให้ตามนโยบายเมื่อโครงการเหล่านั้นก่อตั้งสำเร็จ จึงมีการปรับเปลี่ยนนโยบายลดการส่งเสริมลง เขาเรียกวงจรอุบาทว์นี้ว่า boom-bust cycle
“ระยะหลังๆ มานี้ นโยบายในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น อิตาลี เยอรมัน เดนมาร์ก และ อังกฤษ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานลมและแสงอาทิตย์ดังเช่นแต่ก่อนแล้ว” Angus Crone นักวิเคราะห์อาวุโสของ BNEF กล่าว
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European commission) ก็ได้ประกาศนโยบายที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศรัสเซีย นอร์เวย์ กาตาร์ ภายใต้แผนความมั่นคงที่ยั่งยืนในด้านพลังงานของสหภาพ (Sustainable energy security package) โดย Miguel Arias Canete ตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อธิบายว่า ทางคณะกรรมาธิการเองก็ทราบดีถึงผลลัพธ์ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการทำให้ยุโรปต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานจากต่างประเทศมากขึ้น (เช่น การข่มขู่จากประเทศรัสเซียที่จะตัดการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศยูเครน เป็นต้น) และการที่เงินทุนไหลออกนอกสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่เขาก็เชื่อว่า หากแหล่งเชื้อเพลิงพลังงานมีความหลากหลาย ยืดหยุ่นและปรับตัวง่ายก็จะสามารถพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานของยุโรปให้ดีขึ้นได้
ถึงจุดนี้ ผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่าต้นตอสาเหตุทั้งหมดนั้นมาจากกลุ่มผู้ร่างนโยบายอย่างแน่นอน แต่ทว่า ปัจจัยภายนอกเองก็มีส่วนในการผลักดันให้นักลงทุนตัดสินใจไม่ลงทุนโครงการพลังงานสะอาดของยุโรปด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและทั่วโลก ผนวกกับการที่สหภาพยุโรปไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร
“แค่นี้นักลงทุนก็มีเหตุผลมากพอที่จะรู้สึกไม่มั่นใจและหวาดระแวงที่จะเอาเงินไปฝากไว้กับโครงการพลังงานสะอาดของยุโรปแล้ว” Michael Liebreich กล่าว
อีกปัจจัยนึงที่สำคัญ คือ จากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มมองเห็นปัญหาทรัพยากรพลังงานในอนาคตและผลกระทบจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศที่ปรากฏชัดเจนมากขึ้นทุกวัน โครงการพลังงานสะอาดจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายๆ ประเทศ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา ส่งผลให้นักลงทุนในพลังงานสะอาดมีแหล่งลงทุนทั่วโลก โดยงานวิจัยของ UN Environmental programme (UNEP) รายงานว่าในปี ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมา การลงทุนด้านกำลังการผลิตด้วยทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณมากกว่าเชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซถึงสองเท่าด้วยกัน ทั้งนี้ยังเป็นปีแรกที่ประเทศกำลังพัฒนามีการลงทุนมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ ในระยะหลังๆ กลุ่มผู้เล่นในด้านนี้ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่กำลังก้าวขึ้นมาจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมากที่สุด มาเป็นผู้สนับสนุนหลักของพลังงานหมุนเวียน โดยปีที่แล้ว ประเทศจีนได้เพิ่มการลงทุนอีก 17% เป็นจำนวน 102,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 36% ของยอดการลงทุนรวมทั้งโลก ในขณะที่ยุโรปที่มีส่วนแบ่งเพียงแค่ 6% เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์พลังงานหมุนเวียนของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว กลุ่มประเทศที่เคยได้รับการต่อว่ากำลังได้รับการชื่นชม ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศที่เคยเป็นผู้นำกลับถูกโลกตำหนิและเพ่งเล็ง บางคนอาจจะสรุปว่านี่เป็นการสับเปลี่ยนกันระหว่างการให้ความสำคัญต่อพลังงานหมุนเวียนของทั้งสองฝ่าย (กลุ่มหนึ่งเห็นความสำคัญมากขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งเริ่มเห็นความสำคัญน้อยลง) แต่ผู้เขียนกลับมองว่าเป็นเพราะทั้งสองกลุ่มอยู่กันคนละระดับการพัฒนาเสียมากกว่า กล่าวคือ ขณะที่ประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาเริ่มหันมาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น กลุ่มประเทศในยุโรปที่พัฒนาไปมากกว่าใครๆ แล้ว กำลังเผชิญกับปัญหาจากวงจรอุบาทว์ boom-bust cycle ของนโยบายรัฐ (การที่รัฐเริ่มวิตกกับปัญหาค่าใช้จ่ายการสนับสนุนตามนโยบายให้กับโครงการพลังงานสะอาดที่กำลังโตขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มหยุดการส่งเสริมอย่างที่เคยทำมา) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนได้เช่นกัน หากพวกเขาไม่ทำการศึกษาหรือเรียนรู้ปัญหาจากประเทศที่อาบน้ำร้อนมาก่อนอย่างยุโรป
ถึงแม้ว่าสถานะของยุโรปในปัจจุบันจะเบี่ยงเบนออกจากพลังงานสะอาดไปบ้าง (แถมยังเข้าหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติอีกต่างหาก) แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ยุโรปจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางมาสู่พลังงานสะอาดอีกครั้ง และพร้อมที่จะรับมือกับการเติบโตขึ้นของภาคธุรกิจนี้ด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรัฐ (ทั้งของสหภาพและในแต่ละประเทศ) และลดแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่กำลังตั้งคำถามค้ำคอสหภาพยุโรปว่าการปรับเปลี่ยนแนวทางแบบนี้จะส่งผลให้ยุโรปสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวมให้เท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ (ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกในปี 1990) และเพิ่มสัดส่วนการบริโภคพลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียนของสหภาพเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ในแผนพลังงานและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (EU commission’s 2013 climate and energy framework) และให้คำมั่นไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris agreement) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้อย่างไร
ช่วงสิบปีนับจากนี้จึงน่าจะเป็นอีกทศวรรษที่น่าจับตามองมากๆ สำหรับผู้อ่านที่ให้ความสนใจการพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืน ทั้งในส่วนของผลงานหรือท่าทีของกลุ่มประเทศมาใหม่ไฟแรง และกลุ่มประเทศผู้บุกเบิกที่กำลังเผชิญกับเพดานขวางกั้นการพัฒนา (boom-bust cycle) โดยหากภาครัฐของยุโรปสามารถพาตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์นี้ไปได้ ยุโรปจะกลายเป็นกลุ่มประเทศที่โลกต้องยกย่องให้เป็นกลุ่มประเทศตัวอย่างอีกครั้ง คราวนี้คงไม่ใช่ในฐานะผู้บุกเบิกการใช้พลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียน แต่ในฐานะผู้นำที่นำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานสกปรกไปสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนได้
เอกสารประกอบการเขียน
- ข้อมูลจาก Bloomberg New Energy Finance เข้าถึงได้ที่
http://about.bnef.com/content/uploads/sites/4/2015/10/2015-10-08-Clean-Energy-Investment-Q3-2015-factpack.pdf - รายงานวิจัยของ UN Environmental programme เกี่ยวกับการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เข้าถึงได้ที่
http://fs-unep-centre.org/sites/default/files/publications/globaltrendsinrenewableenergyinvestment2016lowres_0.pdf - European clean tech industry falls into rapid decline เข้าถึงได้ที่
http://www.theguardian.com/environment/2016/mar/23/european-clean-tech-industry-falls-into-rapid-decline - Global coal and gas investment falls to less than half of that in clean energy เข้าถึงได้ที่
http://www.theguardian.com/environment/2016/mar/24/global-coal-and-gas-investment-falls-to-less-than-half-that-in-clean-energy - Renewable energy investment drops to 11-year-low hit hard by George Osborne’s scrapped green energy tax exemption เข้าถึงได้ที่
http://www.cityam.com/226133/renewable-energy-investment-drops-to-11-year-low-hit-hard-by-george-osbornes-scrapped-green-energy-tax-exemption