blue

ภาพจากรายงาน Water scarcity and Climate change

            “ผมเชื่อว่าด้วยวิธีจัดการน้ำและสถานการณ์ในปัจจุบัน น้ำจะขาดแคลนก่อนที่เชื้อเพลิงจะหมดโลก” ปีเตอร์ บราเบค-เล็ทเมธ ประธานคณะกรรมการผู้บริหารของเนสท์เล่ บริษัทอาหารข้ามชาติขนาดยักษ์ เคยแสดงทรรศนะในนิตยสารดิอีโคโนมิสต์เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา

            ในบทความตอนที่แล้ว ผู้เขียนสรุปภาพรวมของการอุปโภคบริโภคน้ำที่เชื่อมโยงกับการผลิตอาหารและพลังงานอย่างแนบแน่น รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกก็ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำจืดที่มีจำกัด ดังรายงานความเสี่ยงโลก พ.ศ. 2559 (The Global Risk Report 2016) โดย World Economic Forum ที่ระบุว่า ‘วิกฤตสีฟ้า’ ติด 1 ใน 10 ความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้และจะสร้างผลกระทบมากที่สุดทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในอีก 10 ปีข้างหน้า

            การจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือความขาดแคลนจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ทำไมธุรกิจอย่างเนสท์เล่ หรืออีกหลายบริษัทควรจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ?

            ผู้อ่านที่ได้อ่านบทความที่แล้วคงจะพอเชื่อมโยงได้ว่า นอกจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแล้ว น้ำยังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน แต่น้ำก็ไม่ได้มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจเพียงเท่านี้ เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของแทบทุกอุตสาหกรรมและยากที่จะหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทน ผู้บริหารและนักลงทุนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ความเสี่ยงของน้ำต่อภาคธุรกิจ

  • ความเสี่ยงทางกายภาพ

            ทุกธุรกิจมีรอยเท้าการใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นในการผลิต การเตรียมวัตถุดิบ ระบบระบายความร้อน การทำความสะอาด เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาดปริมาณมหาศาลเพื่อชะล้างชั้นแร่ซิลิคอน รวมถึงระบายความร้อนให้เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต ธุรกิจส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นการใช้น้ำที่แท้จริงที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความเสี่ยงจนอาจถึงขั้นต้องหยุดดำเนินการหรือเปลี่ยนที่ตั้งโรงงาน โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก เช่น ฝั่งตะวันตกของอเมริกา อินเดีย และจีน

            ตัวอย่างที่เกิดขึ้น เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของจีน บริเวณปักกิ่งที่เผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะมีโครงการส่งน้ำจากภูมิภาคตอนใต้มาบรรเทาปัญหา เมื่อประกอบกับการเติบโตของประชากร รัฐบาลจีนจึงประกาศห้ามก่อตั้งโรงงานที่ใช้น้ำในปริมาณมากๆ เช่น การผลิตเสื้อผ้า เครื่องหนัง และอุตสาหกรรมเคมี พร้อมกับกำหนดข้อบังคับอย่างเคร่งครัดให้บางอุตสาหกรรมดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์น้ำ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม พลาสติก และยา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เมืองปักกิ่งยังบังคับปิดโรงงานที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนที่ปล่อยมลภาวะหรือใช้น้ำในปริมาณมาก เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่ส่งมายังปักกิ่งจะมีปริมาณและคุณภาพเพียงพอ

อ่างเก็บน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ภาพจาก Greenpeace

  • ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง

            เมื่อน้ำขาดแคลนหรือเกิดภาวะภัยแล้ง แน่นอนว่าชุมชนย่อมกดดันบริษัทซึ่งดำเนินงานอยู่ในละแวกนั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ความตึงเครียดระหว่างชุมชนกับบริษัทมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชาชนอาจไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ถ้วนทั่ว การปะทะกับชุมชนย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์บริษัท หรืออาจทำให้ธุรกิจสูญเสียการอนุญาตประกอบการโดยชุมชน (license to operate) ตัวอย่างเช่น โรงงานเป๊ปซี่และโคคา-โคล่าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลในรัฐเกรละ (Kerala) ประเทศอินเดีย เนื่องจากชุมชนกังวลว่าโรงงานจะมาแย่งแหล่งน้ำใช้

            ความเสี่ยงดังกล่าวไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกา การตั้งโรงงานผลิตน้ำดื่มแห่งใหม่ของเนสท์เล่เองก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน เช่น กลุ่มประชาชนมิชิแกนเพื่อการอนุรักษ์น้ำ (Michigan Citizens for Water Conservation) ได้ฟ้องเนสท์เล่ในประเด็นสิทธิในการใช้ แม้ว่าสุดท้ายศาลจะพิจารณายกประโยชน์ให้กับบริษัท แต่ชื่อเสียงของเนสท์เล่ก็เสียหายอย่างมาก

            นอกจากที่รัฐมิชิแกน เนสท์เล่ยังประสบความยุ่งยากในการตั้งโรงงานที่เมืองแมคคลาวด์ (McClound) รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อ พ.ศ. 2546 เพราะแม้จะได้ใบอนุญาตจากเทศบาลท้องถิ่นแต่ต้องเจอกับการประท้วงที่ต่อเนื่องยาวนานอย่างไม่คาดฝัน เนื่องจากประชาชนในเมืองแมคคลาวด์กว่าครึ่งไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานดังกล่าวและเรียกร้องให้เนสท์เล่ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ การต่อรองดำเนินไปอย่างยืดเยื้อจนในที่เนสท์เล่ถอดใจล้มเลิกแผนก่อสร้างโรงงานไปเมื่อปี 2552

            ความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบทำให้สิทธิการเข้าถึงแหล่งน้ำเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลและการต่อสู้กับความยากจน  การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2553 จึงได้ให้การรับรองสิทธิดังกล่าว และทำให้บริษัทที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลักเกิดการตื่นตัวอย่างยิ่งนับจากนั้น โดยกลุ่ม UN Global Compact ได้ออกแนวทางการดำเนินการเพื่อให้บริษัทเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง เนสท์เล่ เป๊ปซี่ และโคคา-คาลา ร่วมลงนามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

เนสท์เล่เผชิญการต่อต้านจากชุมชนเมืองแมคคลาวด์ ภาพจาก stopnestlewaters

  • ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย

            ปัจจุบัน การใช้น้ำอย่างขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมักเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากขาดการกำกับดูแลที่เข้มแข็งและไม่มีกฎระเบียบที่เคร่งครัด ตัวอย่างผลลัพธ์ของการใช้น้ำเกินระดับที่จะฟื้นฟูได้เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตการณ์น้ำขาดแคลนเนื่องจากการพัฒนาที่ไร้แบบแผน ทำให้ลำน้ำตามธรรมชาติทั่วประเทศหดหายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ ประชาชนที่อยู่อาศัยทางตอนเหนือของจีนต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนน้ำ โดยมีน้ำอุปโภคบริโภคต่อปีเพียง 1 ใน 5 ของปริมาณที่ควรจะเป็นตามมาตรฐานโลก ธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการขาดแคลนน้ำว่าอยู่ที่ปีละ 2.3% ของจีดีพี

            เมื่อเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการขาดแคลนน้ำ จึงไม่น่าแปลกใจหากในอนาคตอันใกล้ประเด็นเรื่องน้ำจะทำให้รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนากำหนดกฎระเบียบหรือกฎหมายออกมาควบคุมดูแลทรัพยากรน้ำ และปริมาณที่ลดลงยังส่งผลให้น้ำมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานลดลงแต่อุปสงค์เพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากมาตรการการจัดการทรัพยากรน้ำดังกล่าว

รอยเท้าการใช้น้ำ ในแต่ละอุตสาหกรรม

            ความเสี่ยงจากทรัพยากรน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริษัทหันมาประเมิน ‘รอยเท้าน้ำ (water footprints)’ ของตนเอง แน่นอนว่าแต่ละอุตสาหกรรมย่อมมีรอยเท้าที่แตกต่างกันในแต่ละกิจกรรม แต่หัวใจสำคัญของการประเมินรอยเท้าน้ำคือย้อนกลับไปมองที่ต้นทาง ตั้งแต่การใช้น้ำผลิตวัตถุดิบ ต่อมาที่การใช้น้ำของคู่ค้า แล้วค่อยประเมินการใช้น้ำทางตรงของบริษัท ไปจนถึงปลายทางที่ผู้บริโภค

            จากการประเมินพบว่า รอยเท้าน้ำส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นพืชอาหาร พืชสำหรับใช้เป็นเส้นใย หรือแร่ต่างๆ ความเสี่ยงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึง เนื่องจากการขาดแคลนน้ำหรือภาวะภัยแล้งอาจส่งผลให้ห่วงโซ่คุณค่าขาดตอน เมื่อปริมาณวัตถุดิบที่ผลิตได้ไม่เพียงพอหรือมีราคาสูงขึ้นอย่างมากในตลาด นอกจากนี้ ธุรกิจบางประเภทที่ต้องใช้น้ำคุณภาพสูง อาจต้องคำนึงถึงความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงแหล่งน้ำกับชุมชน รวมถึงการปล่อยน้ำเสียที่มีสารพิษเข้มข้นซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย

Water Table

แปลจากรายงาน Water scarcity and Climate change

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

            หลายคนอาจสงสัยว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปเกี่ยวข้องอะไรกับการใช้น้ำ แต่หากมองในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนแล้วจะพบว่า เซมิคอนดักเตอร์ขนาดมาตรฐาน 30 เซนติเมตรหนึ่งชิ้น จะต้องใช้น้ำสะอาดทั้งสิ้น 7,600 ลิตร โดยเมื่อ พ.ศ. 2550 มีการประเมินว่ายักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Intel และ Texas ใช้น้ำไปทั้งสิ้นประมาณ 41,000 ล้านลิตร ความเสี่ยงด้านน้ำของธุรกิจจึงมีสูงมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตมาที่ทวีปเอเชียหรือคาบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • อุตสาหกรรมอาหาร

            น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร โดยปัจจุบันภาคการเกษตรทั่วโลกใช้น้ำจืดคิดเป็นร้อยละ 70 ของการใช้น้ำทั้งหมด ส่วนภาคการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้น้ำสูงถึงร้อยละ 90 และเมื่อ พ.ศ. 2551 บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ JPMorgan ประเมินว่าบริษัทเนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ คราฟท์ ดานอน และโคคา-โคล่า ใช้น้ำทางตรงรวมกันทั้งสิ้น 600,000 ล้านลิตรต่อปี

            ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากน้ำที่น่ากังวลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณน้ำอาจลดลง ความต้องการน้ำมากขึ้นจากความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น และวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสและไนโตรเจนอย่างเข้มข้น ซึ่งหากปนเปื้อนในระบบนิเวศก็อาจส่งผลให้แหล่งน้ำกลายเป็น ‘พื้นที่ไร้ชีวิต (dead zone)’ คือนำไม่มีออกซิเจนและเสี่ยงต่อการเกิดปรากฎการณ์การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของสาหร่ายในแหล่งน้ำ (algae bloom)

  • อุตสาหกรรมเหมืองแร่

            เหมืองแร่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะเหมืองแร่บางชนิด เช่น ทองแดง หรือทอง แม้ว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะใช้น้ำไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น แต่ความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจเหมืองคือไม่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ และต้องเผชิญกับปัญหาในพื้นที่นั้นๆ เช่น ปริมาณน้ำขาดแคลน หรือการต่อต้านเนื่องจากการทำเหมืองอาจกระทบต่อน้ำดื่มน้ำใช้ของชุมชน เช่น กรณีของบริษัท Barrick Gold ที่เผชิญการต่อต้านจากชุมชนเนื่องจากเหมืองทองแห่งใหม่ที่จะเข้าไปดำเนินการตั้งอยู่บริเวณแหล่งน้ำของชุมชนในประเทศชิลี

            ประเด็นสำคัญที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่มักโดนต่อต้านคือความกังวลของชุมชนต่อน้ำปนเปื้อนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสกัดแร่ในเหมือง เช่น บริษัท Newmont Mining ที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทั้งในประเทศเปรูและอินโดนีเซียเนื่องจากใช้สารปรอทในกระบวนการล้าง และละลายโลหะ ซึ่งชาวบ้านได้โจมตีบริษัทว่าสารเคมีได้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น ซึ่งคล้ายคลึงกับประเด็นขัดแย้งของชุมชนกับบริษัทเหมืองทองใน จ.เลย และ จ.พิจิตร

ชนพื้นเมืองในเปรูประท้วงการทำเหมืองของบริษัท Newmont Mining ภาพจาก  malcolmallison.lamula.pe

            ที่ผ่านมา น้ำถูกมองว่าเป็นทรัพย์เสรี (free goods) หรือสินค้าไร้ราคาที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้สอยได้เพราะมีปริมาณไม่จำกัด แต่ปัจจุบัน น้ำกลายเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลนมากขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจควรจะต้องประเมินเพื่อดำเนินงานต่อไปได้ โดยเบื้องต้น บริษัทควรทบทวนตนเองว่ามี ‘รอยเท้าน้ำ’ ใหญ่เล็กขนาดไหน และอยู่ในกิจกรรมใดตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทเพื่อประเมินความเสี่ยง แล้วจึงเลือกวิธีการบริหารความเสี่ยงนั้นผ่านนโยบายหรือแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับมือภาวะวิกฤต

            บทความต่อไป ผู้เขียนจะพาไปรู้จักเครื่องมือและแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้

อ้างอิงจาก

Water scarcity and Climate change growing risks for businesses and investors

Water Scarcity: A Critical Climate Change Challenge for Business

Understanding Water Risk

Watching water – A guide to evaluating corporate risks in a thirsty world