ในปี 2015 ข่าวฉาวที่ใหญ่ที่สุดในแวดวงธุรกิจโลก หนีไม่พ้นข่าวบริษัท โฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ถูกสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (Environmental Protection Agency: EPA) ออกมาแฉในเดือนกันยายนว่า รถยนต์หลายรุ่นของโฟล์กที่บริษัทอ้างว่าใช้ “น้ำมันดีเซลสะอาด” (และถูกวางจุดยืนทางการตลาดว่าเป็น “ทางเลือก” ที่ดีของผู้บริโภค แข่งกับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า) นั้น ที่จริงปล่อยมลพิษกว่า 10-40 เท่าของค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดเลยทีเดียว!

แต่บริษัทจงใจติดซอฟต์แวร์ในรถเพื่อ “หลอก” องค์กรกำกับดูแล ซอฟต์แวร์ตัวนี้เปิดกลไกควบคุมมลพิษเต็มพิกัดก็ต่อเมื่อมันสัมผัสได้ว่ารถกำลังถูกทดสอบ ถ้าวิ่งบนถนนธรรมดาๆ กลไกควบคุมมลพิษก็จะไม่ทำงาน (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

การทำงานของซอฟต์แวร์ "โกง" ในรถโฟล์ก ที่มาภาพ: http://www.nytimes.com/interactive/2015/business/international/vw-diesel-emissions-scandal-explained.html?_r=0

การทำงานของซอฟต์แวร์ “โกง” ในรถโฟล์ก ที่มาภาพ: http://www.nytimes.com/interactive/2015/business/international/vw-diesel-emissions-scandal-explained.html?_r=0

แน่นอนว่าพอเรื่องนี้แดงขึ้นมา โฟล์กสวาเกนก็เกิดความเสียหายทันทีทุกช่องทาง ตั้งแต่ราคาหุ้นหล่นลงกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ซีอีโอของบริษัท มาร์ติน วินเทอร์คอร์น (Martin Winterkorn) ถูกบีบให้ลาออก ต่อมาในเดือนมกราคม 2016 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฟ้องบริษัท คดีเดินในชั้นศาลอย่างรวดเร็ว วันนี้บริษัทประกาศว่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยและยอมความกับกระทรวงยุติธรรม EPA และคณะกรรมาธิการการค้า (Federal Trade Commission) รวมเป็นเงินกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ของอเมริกา

ในจำนวนนี้ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐจะถูกกันไว้ซื้อคืนรถยี่ห้อโฟล์กและรถรุ่นยี่ห้อออดี้ (Audi) รุ่น A3 ของบริษัท กว่า 475,000 คันทั่วโลกที่ใช้ “น้ำมันดีเซลสะอาด” ภายใต้ข้อตกลงยอมความ โฟล์กสวาเกนต้องซื้อรถกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดคืนภายในกลางปี 2019 และต้องจ่ายเงินอีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐตลอด 10 ปีข้างหน้าเพื่อลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างสถานีบริการชาร์จรถไฟฟ้าและโครงการให้การศึกษากับผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ยังไม่นับค่าชดเชยคดีแพ่ง คดีอาญา และค่าปรับระดับมลรัฐอีกมากมายที่ยังไม่สิ้นสุด

ข่าวนี้โด่งดังระดับโลก แต่สำหรับหลายคนที่อยู่ในแวดวง “ธุรกิจ(ที่พยายามจะ)ยั่งยืน” หรือ “ซีเอสอาร์” ประเด็นที่ทำให้รู้สึก “ช็อค” หรือ “เหลือเชื่อ” มากกว่านั้นมาก คือ เพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ EPA ประกาศกรณีอื้อฉาวต่อสาธารณะ ผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่โด่งดังที่สุดในโลก นั่นคือ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices ย่อว่า DJSI) ก็ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีประจำปี 2015

ปรากฎว่า โฟล์กสวาเกนไม่เพียงแต่ติดอันดับอีกครั้ง แต่ยังคว้าตำแหน่ง “บริษัทที่ยั่งยืนที่สุด” (best in class หรือ industry group leader) ในอุตสาหกรรมรถยนต์! (ดูภาพประกอบ)

รายชื่อ "ผู้นำความยั่งยืน" รายอุตสาหกรรม ในดัชนี DJSI ประจำปี 2015

รายชื่อ “ผู้นำความยั่งยืน” รายอุตสาหกรรม ในดัชนี DJSI ประจำปี 2015

ผู้จัดทำดัชนี DJSI คือ บริษัท ดาวโจนส์ (Dow Jones) ร่วมกับ โรบีโกแซม (RobecoSAM กองทุนผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investing) ถึงกับโปรย “ยาหอม” ให้กับโฟล์กสวาเกนว่า “ความยั่งยืนเป็นรากฐานของบริษัท …สามารถบูรณาการความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะทรัพยากรขาดแคลน การแปลงเป็นดิจิทัล และประเด็นความเท่าเทียมทางสังคม เข้ากับการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร” โดยไม่กล่าวถึงกรณีโกงค่ามาตรฐานมลพิษ ซึ่งขัดแย้งชนิดขาวเป็นดำกับหลักความยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ โฟล์กสวาเกนติดอันดับ DJSI ถึง 13 ปีด้วยกัน คือระหว่างปี 1999-2004 และระหว่างปี 2007-2015

แน่นอน การยกย่องโฟล์กสวาเกนส่งผลให้นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และนักอื่นๆ จำนวนมากตั้งคำถามถึง “ความน่าเชื่อถือ” ของกระบวนการจัดอันดับ

หลังจากที่เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงเยาะหยันและพายุคำถามไม่ถึงสองสัปดาห์ ผู้จัดทำดัชนีก็ประกาศ “ถอด” บริษัทโฟล์กสวาเกนออกจากดัชนี DJSI

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ดาวโจนส์ กับ โรบีโกแซม ประกาศถอดบริษัทขนาดใหญ่ออกจากดัชนี DJSI ภายหลังจากที่จัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน “ผู้นำด้านความยั่งยืน”

เพียงในปี 2015 ปีเดียว ก่อนหน้ากรณีอื้อฉาวของโฟล์กสวาเกนไม่กี่เดือน ปิโตรบราส (Petrobras) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติบราซิล ก็ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI ในเดือนมีนาคม หลังจากที่ถูกทางการสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่นและฉ้อโกง ต่อมาปลายเดือนกรกฎาคม โตชิบา (Toshiba) สมาชิกของดัชนี DJSI ตั้งแต่ปี 2000 ก็ถูกถอดเช่นกัน หลังจากที่มีข่าวฉาวโฉ่ว่าบริษัทตกแต่งบัญชี ส่งผลให้ซีอีโอต้องประกาศลาออก

ย้อนไปห้าปีก่อนหน้านี้ ในปี 2010 บีพี (BP) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ก็ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI เช่นกัน หลังจากที่เกิดเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทระเบิดในอ่าวเม็กซิโก น้ำมันรั่วมากถึง 4.9 ล้านบาร์เรล ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ คณะกรรมการสอบสวนกรณีนี้ของรัฐบาลอเมริกันสรุปว่า ทั้งบีพีและบริษัทผู้รับผิดชอบปฏิบัติการขุดเจาะสองแห่ง คือ Halliburton กับ Transocean พยายามลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้านการป้องกันอุบัติภัย และ “การตัดสินใจหลายครั้งของ [บริษัททั้งสาม] เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเหตุระเบิด ขณะที่ชัดเจนว่าประหยัดเวลา(และเงิน)ให้กับบริษัทอย่างมหาศาล”

เหตุแท่นขุดน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิดในปี 2010 ที่มาภาพ: http://scriptshadow.net/wp-content/uploads/2014/08/rUNFYnD.jpg

เหตุแท่นขุดน้ำมัน Deepwater Horizon ระเบิดในปี 2010 ที่มาภาพ: http://scriptshadow.net/wp-content/uploads/2014/08/rUNFYnD.jpg

ผู้จัดทำดัชนี DJSI อธิบายว่ามีทีมงานคอยติดตามองค์ประกอบต่างๆ ของดัชนีนี้รายวัน (หลักๆ จากการไล่อ่านข่าว และการให้ข่าวขององค์กรผู้มีส่วนได้เสียหลัก เช่น เอ็นจีโอระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน ผู้บริโภค ฯลฯ) เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทต่างๆ ที่ได้รับการจัดอันดับมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร รับผิดชอบมากขึ้นหรือน้อยลง

แต่หลายคนมองว่า การทำแบบนี้ก็เป็นได้อย่างมากเพียงวิธีบรรเทาเสียงวิพากษ์ (ต่อชื่อเสียงของดัชนี) เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เข้าทำนอง “วัวหายล้อมคอก” ก็ไม่ปาน เพราะคำถามที่สำคัญคือ เหตุใดกระบวนการจัดทำดัชนี DJSI ถึงได้ไม่อาจ “ตรวจจับ” ความไม่รับผิดชอบหรือความเสี่ยงที่จะไม่ยั่งยืนของบริษัทได้ ต้องรอให้เกิดเรื่องอื้อฉาวก่อน?

เอ็นจีโอ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า คำตอบคือ ดัชนี DJSI พึ่งพา “คำตอบโดยสมัครใจ” ของบริษัทต่างๆ ที่อยากเข้าดัชนีเป็นหลัก ขาดกระบวนการตรวจสอบที่เป็นอิสระ (independent audit) และพึ่งพาแหล่งข้อมูลอื่นนอกจากบริษัทน้อยมาก ขณะที่ดัชนีความยั่งยืนยี่ห้ออื่นบางยี่ห้อ เช่น MSCI KLD 400 Social Index  ดัชนีความยั่งยืนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อาศัยข้อมูลจากหลายแห่งประกอบกันในการจัดอันดับ

ในเมื่อ DJSI ตั้งคำถามให้บริษัทตอบเอง (ดาวน์โหลดได้จากหน้านี้บนเว็บ RobecoSAM) บริษัทก็มักจะอยากตอบแต่เรื่องดีๆ ของตัวเอง เรื่องแย่ๆ ไม่พูดถึง และอาจไม่เคยครุ่นคิดว่า คำถามแต่ละข้อแท้จริงแปลว่าอะไร ทำไมบริษัทถึงควรกำหนด “กลยุทธ์ความยั่งยืน” ที่มาจากการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง ประกอบกับการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่ตนก่อทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

หลายบริษัทสมัครเข้าดัชนี DJSI เพียงเพราะอยาก “ได้ชื่อ” ว่า “ได้มาตรฐานสากล” แต่ไม่เคยเข้าใจจริงๆ ว่า เหตุใดบริษัทจึงต้องเปลี่ยนวิถีธุรกิจเข้าสู่ความยั่งยืน ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละฝ่ายคาดหวังอะไรจากบริษัท

คล้ายกับเด็กเรียนเก่งที่ทำข้อสอบได้คะแนนดี แต่อาจใช้ชีวิตนอกห้องเรียนไม่เก่ง เพราะฝึกทำแต่ข้อสอบ ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว

แน่นอนว่า ดัชนี DJSI มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะในแง่ของการเป็น “เครื่องมือเพื่อการศึกษา” สำหรับบริษัทไหนก็ตามที่ไม่เคยสนใจเรื่องความยั่งยืนมาก่อน แต่เพิ่งมาสนใจ สามารถใช้ดัชนี DJSI ประกอบการศึกษาค้นคว้าว่า ธุรกิจที่อยากจะยั่งยืนวันนี้ต้องทำอะไรบ้างในด้านต่างๆ

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ (บริษัทจดทะเบียน 3,000 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดจะได้รับ “เทียบเชิญ” ให้สมัครโดยอัตโนมัติ) การตั้งเป้าว่าจะเข้าไปเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI ให้ได้ ก็เปรียบเสมือน “เป้าหมายระยะสั้น” ให้ฝ่ายต่างๆ ในบริษัทได้ระดมทรัพยากรและร่วมมือกันบันทึกและวางแผนที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ถ้าทำอย่างจริงจังบริษัทก็น่าจะได้บทเรียนดีๆ และเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการได้ ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม กรณีโฟล์กสวาเกนก็ชี้ชัดว่า ลำพังการได้ชื่อว่า ติดอันดับดัชนี DJSI มิได้เป็น “หลักประกัน” ใดๆ ว่าบริษัทนั้นๆ “ยั่งยืนแล้ว” หรือ “น่าเชื่อถือแล้ว” ในสายตาของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ผู้เขียนเห็นว่าข้อจำกัดของ DJSI ที่ทุกบริษัทพึงตระหนักนั้น สามารถสรุปได้สั้นๆ ว่า

ดัชนี DJSI ส่งเสริมบริษัทให้หันเข้าสู่วิถีที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่ไม่บอกว่าจะต้องทำ “อย่างไร” และ “แค่ไหน” จึงจะได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย

ในอนาคตเราอาจมีมาตรฐานระดับโลกที่บอกได้ว่า แต่ละบริษัทนั้น “ยั่งยืน” หรือไม่ และยั่งยืน “เพียงใด” แต่วันนี้มาตรฐานสากลต่างๆ ตั้งแต่ Global Reporting Initiative (GRI) หรือ DJSI รวมถึงมาตรฐานความยั่งยืนระดับอุตสาหกรรม อาทิ Bonsucro อย่างมากก็เป็นเพียงมาตรฐานประเภท “ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล” เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือมาตรฐาน “สนับสนุนให้บริษัทเริ่มยั่งยืน” เท่านั้น – พูดอีกอย่างคือ เป็นมาตรฐานเชิงส่งเสริม มิใช่ “รางวัลแห่งความสำเร็จ” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ DJSI ยังให้ “น้ำหนัก” กับมิติต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งที่แต่ละปัญหามีระดับความเร่งด่วนหรือรุนแรงไม่เท่ากัน ผลกระทบที่แต่ละบริษัทก่อหรือความเสี่ยงที่เผชิญก็ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่า DJSI อาจให้คะแนนความยั่งยืนกับบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) เท่ากับโตโยต้า (Toyota) เนื่องจากจัดการกับแบตเตอรี่ใช้แล้วได้ดีกว่า ทั้งที่โตโยต้าผลิตรถที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้ดีกว่า โตโยต้าควรได้รับการจัดอันดับสูงกว่า เพราะปัญหา climate change ส่งผลกระทบรุนแรงกว้างขวางกว่าปัญหาที่เกิดจากการจัดการกับแบตเตอรี่รถยนต์ใช้แล้วไม่ถูกวิธี เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ทำให้ผลการจัดอันดับของดัชนี DJSI ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็น “อัตวิสัย” (subjective) มากกว่า “ภววิสัย” (objective) และทุกปีก็มีข้อถกเถียงกันได้มากมายไม่สิ้นสุดถึงความ “คู่ควร” ของหลายบริษัทที่อยู่ในดัชนี

บริษัทต่างๆ ที่อยากใช้ดัชนี DJSI เป็น “เป้าหมาย” หรือ “เครื่องมือ” ในการเปลี่ยนวิถีธุรกิจเข้าสู่ความยั่งยืน ควรจะตระหนักในข้อจำกัดข้างต้นของดัชนี ให้ความสำคัญกับการฟังเสียงผู้มีส่วนได้เสีย กระบวนการประเมินผลกระทบของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และนำผลลัพธ์เหล่านี้มากำหนด “กลยุทธ์ความยั่งยืน” ที่ตอบโจทย์ทั้งสังคมและบริษัท มากกว่าการพยายามตอบแบบสอบถาม DJSI ให้ได้ทุกข้อ

คำถามต่อมาคือ แล้วบริษัทที่สามารถกำหนด “กลยุทธ์ความยั่งยืน” ที่ชัดเจนและมีประสิทธิผลนั้นทำอย่างไร ตัวอย่างกลยุทธ์ที่สร้างทั้งประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และประโยชน์ทางธุรกิจ มีอะไรให้เราศึกษาได้บ้าง?

โปรดติดตามตอนต่อไป.