เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมปลาป่น หลายๆ คนอาจจะมีภาพของโรงงานผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ อย่างที่เคยเป็นข่าวเมื่อสามปีที่แล้วว่า มีโรงงานปลาป่นในจังหวัดสงขลาโดนชาวบ้านร้องเรียนว่ามีกลิ่นเหม็นและทำให้น้ำเน่าเสีย จนถูกสั่งปิด (https://www.thairath.co.th/content/508367) หรือหากเป็นคนที่มีความสนใจในประเด็นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเคยได้ยินข่าวคราวจากสื่อต่างๆ ว่าโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาเป็ดที่มีลูกปลาเศรษฐกิจปะปนอยู่มาก ทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะถ้าปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้ได้เติบโตก็จะขายได้ราคาดีกว่า เช่น ลูกปลาทูแขก หากปล่อยให้เจริญเติบโตจะขายได้ราคากิโลกรัมละ 80 บาท ในขณะที่ขายเป็นปลาเป็ดได้ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 5-8 บาทเท่านั้น
ส่วนตัวผู้เขียนเองก็รู้สึกไม่สบายใจกับทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกใช้อย่างไม่ยั่งยืนเช่นกัน ในปีพ.ศ. 2557 ผู้เขียนได้เขียนบทความชิ้นแรกในชุดป.ปลาหายไปไหน โดยเล่าถึงเหตุการณ์ตอนไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับปลาป่นที่สงขลาเป็นครั้งแรก และได้เห็นปลาเป็ดเละ ๆ จากเรืออวนลากที่ถูกส่งขายให้โรงงานปลาป่น แม้กระนั้นผู้เขียนยังมองว่าอุตสาหกรรมปลาป่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ซึ่งในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะมาเล่าในมุมของอุตสาหกรรมปลาป่น เพื่ออธิบายว่าทำไมจึงคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงปลาป่น
แต่ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปลาป่นไทยสักเล็กน้อยว่า ธุรกิจปลาป่นในประเทศไทยเกิดขึ้นมากว่า 30 กว่าปีแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยยังใช้กระทะใบบัวในการผลิต จนปัจจุบันโรงงานหลายแห่งได้พัฒนาไปสู่ระบบการผลิตที่ทันสมัย ได้รับมาตรฐาน GMP และ HACCP ในยุคที่มีวัตถุดิบมาก ประเทศไทยเคยผลิตปลาป่นได้ถึงห้าแสนตัน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงประมาณสองแสนกว่าตัน วัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาป่นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1.เศษซากปลาจากโรงงานแปรรูปปลา (ซูริมิ ปลากระป๋อง ลูกชิ้นปลา) หรือที่เรียกว่า “ปลาโรงงาน” และ 2. ปลาเป็ดปลาไก่ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ปลาเรือ” ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยระบุว่า ในปีพ.ศ. 2560 สัดส่วนวัตถุดิบระหว่างปลาโรงงานและปลาเรืออยู่ที่ 68% และ 32% ตามลำดับ ใกล้เคียงกับตัวเลขของกรมประมงที่ตรวจเอกสารแสดงที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาป่นพบว่า เป็นเศษซากปลาจากแหล่งต่าง ๆ 56% ปลาเป็ด 35% และปลาเป็ดนำเข้าอีก 9% ซึ่งสัดส่วนของวัตถุดิบประเภทปลาเรือหรือปลาเป็ดจับจากในประเทศที่น้อยลงนี่เอง ที่ทำให้โรงงานปลาป่นเกิดปัญหา
เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้วประเทศไทยโดนต่างชาติกดดันเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมง และปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู (Illegal Unreported Unregulated fishing: IUU) โดยโรงงานปลาป่นที่เป็นผู้ซื้อวัตถุดิบจากเรือประมงเพื่อนำมาผลิตเป็นปลาป่นสำหรับเลี้ยงกุ้งและขายปลาป่นให้กับผู้เลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและอเมริกา ก็ถูกผู้ซื้อในห่วงโซ่อุปทานอาหารกุ้งกดดัน ในฐานะที่เป็นผู้รับซื้อปลาจากเรือประมง โดยเฉพาะเรืออวนลากที่ตกเป็นจำเลยของสังคมมาตลอดว่าเป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จับลูกปลาเศรษฐกิจมาขายเป็นปลาเป็ดราคาถูก แทนที่จะปล่อยให้ลูกปลาได้เติบโตจนขยายพันธุ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน จนทำให้มีบางท่านเสนอว่า ประเทศไทยควรจะปิดโรงงานปลาป่น และนำเข้าปลาป่นจากต่างประเทศมาใช้ผลิตอาหารสัตว์แทน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับทรัพยากรทางทะเล เพราะหากไม่มีโรงงานปลาป่นที่รับซื้อปลาเป็ด อาจจะเป็นการลดแรงจูงใจในการจับปลาเป็ดของเรือประมงลงไปได้
จากที่เล่าไปจะเห็นได้ว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นที่เรือประมง ไม่ใช่ที่โรงงานปลาป่น และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิต มีทั้งปลาเรือและปลาโรงงาน แต่วัตถุดิบที่มีปัญหาคือปลาเรือ ดังนั้นข้อเสนอให้ปิดโรงงานปลาป่นจึงกระทบกับกลุ่มโรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบจากเศษซากปลาอย่างไม่ยุติธรรม
การปิดโรงงานปลาป่นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างไม่สมเหตุสมผล และอาจจะสร้างปัญหาใหญ่ตามมาด้วย เพราะวัตถุดิบประเภทปลาโรงงานนั้น แท้ที่จริงแล้วคือขยะหรือของเหลือจากโรงงานแปรรูปปลา ดังนั้นนอกจากการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์แล้ว โรงงานปลาป่นยังเป็นโรงงานกำจัดขยะจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมงอีกด้วย โดยการแปรรูปทั้งหัว หาง ก้าง ไส้ ที่ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานปลากระป๋อง โรงงานผลิตซูริมิ โรงงานผลิตลูกชิ้นปลา โรงแล่ปลาน้ำจืด ให้กลายเป็นปลาป่นที่นำไปสร้างมูลค่าต่อได้ โรงงานปลาป่นในไทยบางโรงจึงไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงงานปลาป่นด้วยซ้ำ แต่จดเป็นโรงกำจัดขยะของโรงงานแม่แทน หรือแม้แต่วัตถุดิบปลาเรือเอง ก็ไม่ได้มีแต่ปลาเป็ดและลูกปลาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีปลาคนกินที่โตเต็มวัยแต่อยู่ในสภาพที่คนบริโภคไม่ได้แล้ว เช่น ปลาท้องแตกหรือปลาที่เริ่มเน่าแล้วรวมอยู่ด้วย
ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านลองนึกภาพตามว่า ประเทศไทยมีขยะจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเหล่านี้ที่ต้องกำจัดปีละเกือบหกแสนตัน[1] หากไม่มีโรงงานปลาป่นแล้ว เราจะเอาขยะที่ไม่มีใครอยากได้เหล่านี้ไปทิ้งหรือกำจัดที่ไหน ถ้าไม่มีโรงงานปลาป่น เทศบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะรับมือกับขยะเหล่านี้อย่างไร ซ้ำร้ายไปกว่านั้นถ้าไม่มีระบบจัดการที่ดี ปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียที่ส่งผลต่อสุขอนามัยของชุมชนรอบข้างแบบโรงงานที่เคยเป็นข่าวก็คงเกิดขึ้นตามมา ขณะที่โรงงานปลาป่นส่วนใหญ่จะมีระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดกลิ่น โดยหลายโรงได้รับมาตรฐานสากลทั้ง GMP GMP+ HACCP หรือแม้กระทั่ง IFFO RS ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นระดับโลก
การมีโรงงานปลาป่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เป็นทางเลือกที่เหมาะสม และสมเหตุสมผลในการกำจัดขยะเศษเหลือจากโรงงานแปรรูปปลาเหล่านี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะปิดโรงงานปลาป่นเลย นอกจากนี้หากเราเอาขยะเหล่านี้ไปเผาหรือฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะสร้างปัญหาด้านการจัดการและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเหมือนเราเอาเงินเกือบหกพันล้านบาท[2] ไปเผาหรือฝังกลบด้วย ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลและไม่จำเป็น ไม่นับความสูญเสียจากการเลิกจ้างงานในโรงงานปลาป่นเหล่านี้
หากเรามองว่า ปลาเป็ดที่จับมาโดยเรืออวนลากยังคงเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข อันเนื่องมาจากวิธีการจับหรือเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ทำให้มีลูกปลาเศรษฐกิจติดขึ้นมาในสัดส่วนสูงเกินไป เราก็ควรไปแก้ปัญหาให้ตรงจุดที่ต้นเหตุ คือที่เรือประมง ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้พยายามแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมงกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่การออก พรก.ประมงใหม่ในปีพ.ศ. 2559 เพื่อแทน พรบ.ประมงเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2490 ทั้งเรื่องการขยายขนาดตาอวนเป็น 4 เซนติเมตร การให้เรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดเครื่องมือติดตามเรือประมง การกำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลการจับสัตว์น้ำเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ หรือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จนทำให้เรืออวนลากเถื่อนหายไปกว่าหมื่นลำ
ถ้าหากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมองว่า แม้เรือประมงจะปฏิบัติตามกฎกติกาเหล่านี้แล้ว แต่ก็ยังเป็นการตักตวงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะมีศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเองได้ ก็ควรเสนอให้มีการหารือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถึงแนวปฏิบัติที่คิดว่าเหมาะสมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันของฝ่ายต่าง ๆ มากกว่าที่จะแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ
[1] คำนวณจากปริมาณปลาป่น 280,000 ตัน คูณด้วยอัตราการเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นปลาป่นที่ วัตถุดิบ 3 กิโลกรัม เป็นปลาป่น 1 กิโลกรัม (ปกติถ้าเป็นปลาสดจะใช้ที่ 4 ต่อ 1)
[2] คำนวณจากปริมาณผลผลิตปลาป่นจากวัตถุดิบเศษซากในปี 2560 ประมาณ 190,400 ตัน (280,000 ตัน x 68%) คูณด้วย 30,000 บาท ซึ่งราคาปลาป่นเบอร์สองตามประกาศสมาคมฯ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม จะได้ 5,712,000,000 ล้านบาท