‘ซินเจียง’ กลับมาเป็นประเด็นถกเถียงเผ็ดร้อนอีกครั้งบนเวทีโลก แต่คราวนี้ยกระดับจากสงครามน้ำลายและการคว่ำบาตรโดยภาครัฐ สู่กระแสการบอยคอตสินค้าจาก ‘ชาติตะวันตก’ ครั้งใหญ่ในประเทศจีน สร้างความระส่ำระสายต่อเหล่าแบรนด์แฟชันข้ามชาติที่เราคุ้นหูกันดี ไม่ว่าจะเป็น H&M, Nike, Uniqlo หรือ Adidas ซึ่งเคยมีการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการใช้แรงงานบังคับในมณฑลซินเจียง ประเทศจีน

ประเด็นที่เป็นตัวจุดระเบิดความขัดแย้งคือการประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงของชาติตะวันตกประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Communist Youth League) ขุดแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนของ H&M ที่แสดงความกังวลต่อแรงงานชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงมาเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย ก่อให้เกิดกระแสบอยคอตของเหล่าผู้บริโภคในจีน ลุกลามไปจนถึงการประกาศถอนตัวของเหล่าศิลปินดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์เหล่านั้น

แม้ว่าเหล่าแบรนด์แฟชันจากโลกตะวันตกจะโดนบอยคอตกันถ้วนหน้า แต่ไม่มีเจ้าไหนเจ็บหนักเท่า H&M ที่ธุรกิจมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในจีนหรือคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายบริษัทต้องสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เพราะเป็นเวลากว่าสัปดาห์ที่ผลิตภัณฑ์ H&M ถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีน ถูกลบหายไปจากแผนที่บนสมาร์ทโฟน และเผชิญกับการยกเลิกสัญญาเช่าในหลายพื้นที่

ข้อเรียกร้องสำคัญที่ชาวจีนต้องการคือ ‘คำขอโทษ’ และการถอนคำแถลงการณ์จากแบรนด์เหล่านั้น แต่มันดูจะเป็นไปได้ยากเพราะหากแสดงท่าทีสนับสนุน ‘ฝ้ายซินเจียง’ ก็อาจโดนกระแสตีกลับจากผู้บริโภคทั่วโลกที่ไม่ต้องการสนับสนุนแรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทานเช่นกัน นับเป็นความท้าทายที่บริษัทอาจต้องกัดฟันเลือกระหว่างยอมเจ็บตัวเพื่อยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน หรือโอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาลจีนเพื่อรักษาฐานธุรกิจที่สำคัญ

‘ฝ้ายซินเจียง’ คืออะไร?

            ซินเจียงคือมณฑลทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน บ้านของชาติพันธุ์พื้นถิ่นที่หลากหลาย อาทิ ชาวอุยกูร์ ชนกลุ่มน้อยที่รับถือศาสนาอิสลาม แม้ในทางตัวบทกฎหมาย ซินเจียงจะถือเป็นเขตปกครองตนเองที่ใหญ่ที่สุดในจีน แต่เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชาวจีนฮั่น ส่งผลให้รัฐบาลกลางเข้าไปจัดการอย่างเข้มข้น ทั้งข้อกำหนดต่างๆ การกักขัง ระบบวงจรปิดที่เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงการใช้แรงงานบังคับ

ผลผลิตที่ได้ถูกนำมาจำหน่ายภายใต้ชื่อบริษัทซินเจียงการผลิตและการก่อสร้าง (Xinjiang Production and Construction Corps หรือ XPCC) ซึ่งก่อตั้งมายาวนานถึง 67 ปีโดยมีการบริหารโดยกองกำลังทหาร ส่งออกผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เครื่องนอนไปจนถึงมะเขือเทศบด โดยมีสินค้าสำคัญคือฝ้ายซึ่งบริษัทมีเกษตรกรในสังกัดกว่า 400,000 คน ผลิตฝ้ายคิดเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของฝ้ายทั้งหมดที่ป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก

การใช้แรงงานชาวอุยกูร์โดย XPCC ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสำนักข่าวในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งตีแผ่ความจริงเบื้องหลัง ‘ฝ้ายซินเจียง’ ที่ผลิตจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเมื่อ พ.ศ. 2559 พร้อมกับเปิดเผยว่าบริษัทแฟชันแนวหน้าของโลกไม่ว่าจะเป็น Adidas, Lacoste, H&M หรือ Ralph Lauren ต่างก็มีฝ้ายดังกล่าวในห่วงโซ่อุปทาน

เมื่อความจริงเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ คู่กรณีสำคัญของจีนอย่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ไม่อยู่เฉย โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะก้าวลงจากตำแหน่งก็ได้ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทฝ้ายและมะเขือเทศ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่มีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ การคว่ำบาตรดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจเสื้อผ้าในสหรัฐอเมริกาต้องขยับตัวครั้งใหญ่ เพราะหากปล่อยให้ฝ้ายจากซินเจียงหลุดรอดเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานแล้วนำเข้ามายังสหรัฐอเมริกาก็จะกลายเป็นความเสี่ยงด้านกฎหมายมูลค่ามหาศาลของบริษัท

การประกาศคว่ำบาตรครั้งนี้ยังมีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ เพราะเป็นการส่งสัญญาณจากภาครัฐอย่างชัดเจนว่า บริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตของตนปลอดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในวันที่บริษัทถูกบังคับให้ ‘เลือก’

            แม้แรกเริ่มเดิมที ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงดูจะเป็นเรื่องการเมืองที่แสนจะไกลตัวของภาคเอกชน แต่การคว่ำบาตรของเหล่าประเทศโลกตะวันตกและการบอยคอตของผู้บริโภคในประเทศจีนทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดตกลงบนหน้าตักของเหล่าบริษัทแฟชันอย่างไม่มีทางเลือก

การยืนกรานที่จะไม่ใช้ฝ้ายซินเจียงเผื่อผลิตสินค้าย่อมทำให้บริษัทยากจะอยู่รอดในประเทศจีน แต่การอะลุ่มอล่วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวก็อาจถูกมองว่าบริษัทก้มหัวให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนและไม่รู้สึกรู้สากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านโดยเหล่าผู้บริโภคจากโลกตะวันตกซึ่งมีแนวโน้มจะเรียกร้องความยั่งยืนของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอยู่เฉยๆ แล้วทยอยลบคำแถลงการณ์เกี่ยวกับฝ้ายซินเจียงเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่การกระทำดังกล่าวอาจยากขึ้นในอนาคตเพราะรัฐบาลจีนเองก็เตรียมเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยแผน 5 ปีฉบับใหม่ที่เน้น ‘ความเพียงพอภายในประเทศ’ เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติซึ่งวันหนึ่งอาจกลายเป็นศัตรู นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเองก็พร้อมใช้อำนาจสำคัญเพื่อคัดง้างกับโลกตะวันตกในฐานะตลาดอันดับสองของโลกที่มีผู้บริโภคพร้อมจับจ่ายและมีแนวโน้มเติบโตสูงลิ่ว

เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ หลายบริษัทที่เราคุ้นหูกันดีไม่ว่าจะเป็น Muji, Fila หรือ Asics ก็ประกาศต่อสาธารณะว่าพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากมณฑลซินเจียง เรียกว่าได้ใจชาวจีนไปแบบเต็มๆ แต่ก็ถูกประณามโดยเหล่าผู้บริโภคจากโลกตะวันตก

การแก้ปัญหาอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

หลายบริษัทที่พยายามแสวงหา ‘ทางสายกลาง’ ที่ยังสามารถทำธุรกิจได้ในจีนโดยพยายามลดความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน แต่บริษัทเหล่านั้นกลับต้องเผชิญอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ผู้สอบบัญชีอิสระด้านสภาพการทำงานที่ถูกคุมเข้มโดยหน่วยงานภาครัฐขณะลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานจนสุดท้ายต้องตัดสินใจถอนตัว และอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญคือการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ที่นับว่ายุ่งยากเพราะฝ้ายปริมาณมหาศาลของซินเจียงมักจะถูกนำมาผสมกับฝ้ายอีกหลากชนิดพันธุ์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นด้ายแล้วจึงส่งออกไปทั่วโลก สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเหล่านักธุรกิจที่พยายามจะทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีฝ้ายซินเจียงเล็ดรอดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์

การคว่ำบาตรของประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นก้าวแรกของการตอบโต้ โดยในยุคของประธานาธิบดีไบเดนสภาคองเกรสก็คาดว่าจะผ่านกฎหมายห้ามใช้แรงงานบังคับ นำไปสู่ความยุ่งยากในการทำธุรกิจของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ สตีเฟน ลามาร์ (Stephen Lamar) ประธานสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าอเมริกันอธิบายปัญหาต่อสภาคองเกรสว่ายังไม่มีเทคโนโลยีในปัจจุบันที่จะสามารถคัดแยก ‘ฝ้ายซินเจียง’ ออกจากฝ้ายทั่วไปได้อย่างน่าเชื่อถือ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาในซินเจียงด้วยวิธีเช่นนี้นับว่าเปล่าประโยชน์ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถส่งไปจำหน่ายที่ประเทศอื่นๆ ได้อยู่ดี อีกทั้งมีการศึกษาพบว่าฝ้ายที่ผลิตที่ซินเจียงกว่า 88 เปอร์เซ็นต์นั้นจะถูกจำหน่ายในประเทศจีน ความพยายามใช้มาตรการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงอาจไร้ผล ตราบใดที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศมหาอำนาจทั่วโลกยังไม่พร้อมจะร่วมกดดันประเทศจีนให้แก้ไขปัญหา

ถึงแม้ว่าข้อขัดแย้งที่ซินเจียงคงยังไม่จบลงง่ายๆ แต่นี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญ (อีกครั้ง) ของเหล่าบริษัทข้ามชาติว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน จากปัญหาแร่มีค่าจากพื้นที่ขัดแย้งในสมาร์ทโฟน สู่ฝ้ายแรงงานบังคับที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ภาคธุรกิจมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในห่วงโซ่อุปทานเพื่อกำจัดความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ หรือปล่อยเลยตามเลยแล้วเจ็บหนักเมื่อความเสี่ยงดังกล่าวกลายกฎหมายที่ไร้ทางเลี่ยง

เอกสารประกอบการเขียน

What Is Going On With China, Cotton and All of These Clothing Brands?

Consumer boycotts warn of trouble ahead for Western firms in China

Congress is moving to block goods made with the forced labour of Uyghurs

There’s a good chance your cotton T-shirt was made with Uyghur slave labor

Forced labour in China presents dilemmas for fashion brands