รายงาน The Sixth Assessment Report ที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ชี้ว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเลวร้ายมากขึ้น ภายในปี 2040 อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งหากเป็นจริงอย่างที่คาด ความผิดปกติต่าง ๆ จะเกิดขึ้นตามมา อาทิ น้ำทะเลเพิ่มระดับมากขึ้นสองถึงสามเมตร อากาศที่ร้อนจัดมาเยือนบ่อยครั้ง รวมไปถึงฝนที่ตกอย่างรุนแรงมากกว่าเดิม (Chris Saltmarsh, 2021) ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันวิกฤตินี้ก็ปรากฎตัวอยู่บ่อยครั้งทำให้มนุษย์เผชิญหน้าและได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้น ภัยแล้ง ไฟป่า หรือน้ำท่วมหนัก (บีบีซีไทย, 2564) ทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กำลังอาศัยอยู่บนโลกที่ไม่มีความมั่นคงและปลอดภัยเอาเสียเลย[1]
วิกฤติสภาพภูมิอากาศดูจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และที่สำคัญคือมันย่อมส่งผลกระทบต่อประชากรโลกหลายล้านคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงนำมาสู่คำถามว่าใครกันที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสถานการณ์อันเลวร้ายและน่าสยดสยองนี้ ใช่มวลมนุษยชาติทุกคนหรือเปล่า ?
นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและฝ่ายขวามักป่าวประกาศว่า วิกฤติสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ทุกคน เราในฐานะมนุษย์ควรเร่งจัดการและแก้ไขปัญหานี้ก่อนจะสายเกินไป ภายใต้ความคิดเช่นนี้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายจึงถูกอบรมสั่งสอนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็พยายามไม่ให้มันแย่ลง เช่น ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) นำวัสดุที่ใช้แล้วไปใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิล เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนการหันมาบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Paris Marx, 2020) และอีกหลากหลายวิธีที่เราได้ยินกันจนสะอิดสะเอียน ตรงกันข้ามกับข้อเสนอของบทความนี้ที่เห็นว่า การโยนความผิดให้แก่มนุษยชาติทุกคนว่าเป็นตัวการในการทำลายโลกและต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมันปิดบังและบิดเบือนความจริงที่ว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบจากสภาวะอันเลวร้ายนี้ ซึ่งก็คือเหล่าบรรดานายทุนนั่นเอง
รายงานเรื่อง Extreme Carbon Inequality ที่จัดทำโดย Oxfam เผยว่า กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกัน งานศึกษาของสองนักเศรษฐศาสตร์ Thomas Piketty และ Lucas Chancel ก็เปิดเผยว่า ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 10 อันดับแรกของโลกมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 45 เปอร์เซ็นต์ (Matt Huber, 2021) เมื่อเป็นเช่นนี้งานศึกษาของฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งก็ได้เริ่มวิจารณ์ชนชั้นนายทุนหรือคนรวยที่มีส่วนทำลายโลกมากกว่าชนชั้นอื่น โดยมุ่งวิพากษ์มิติการบริโภคและไลฟ์สไตล์ของเหล่าคนรวยที่เอาแต่ผลาญทรัพยากรโลกอย่างเกินความจำเป็น จึงไม่แปลกที่เราพบเห็นการประณามบรรดานายทุนที่เดินทางโดยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว นายทุนที่ขัดขวางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่นายทุนที่บริโภคและใช้ชีวิตหรูหรา[2] เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์นายทุนในมิติการบริโภคและไลฟ์สไตล์ยังไม่เพียงพอที่จะกล่าวโทษนายทุนว่าเป็นพวกทำลายโลก ฝ่ายซ้ายอีกกลุ่มหนึ่งถกเถียงว่าเหล่านายทุนเป็นตัวการในการทำลายโลกมากที่สุด แต่กลุ่มนี้มุ่งวิพากษ์นายทุนในมิติการผลิต (production) ผ่านการพิจารณานายทุนในฐานะผู้ถือครองปัจจัยการผลิต พูดให้ชัดขึ้น พวกเขาคือเจ้าของทรัพย์สิน ธุรกิจ และความมั่งคั่งทางการเงิน ที่เกิดจากการกดขี่ขูดรีดมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) โดยเฉพาะธรรมชาติ เงื่อนไขเหล่านี้จึงทำให้นายทุนกลายเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีอำนาจมากที่สุดในระบบทุนนิยม ตรงกันข้ามกับชนชั้นแรงงานที่มีเพียงกำลังแรงงานที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนในตลาดเพื่อรับค่าจ้างประทังชีวิต
เป็นที่ทราบกันดีว่า วัตถุประสงค์ของบรรดานายทุนทั้งหมดคือการสะสมทุนและสร้างกำไรอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ฉะนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นฝ่ายซ้ายกลุ่มนี้จึงชักชวนให้เราหันมาวิพากษ์นายทุนที่ดำเนินธุรกิจสายการบินที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล มากกว่ายื่นเครื่องคิดเลขให้พวกเราคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขณะที่เดินทางเพื่อไปที่ไหนสักแห่ง เช่นเดียวกับต้องวิพากษ์บริษัทขุดเจาะน้ำมันมากกว่าการตำหนิตัวเองที่เดินทางโดยรถส่วนตัว เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายการผลิตของนายทุนคือการสร้างกำไร แต่เป้าหมายการบริโภคของพวกเราเป็นไปเพื่อเติมเต็มความต้องการเท่านั้น (แม้มันจะส่งผลเสียต่อโลก แต่ก็น้อยกว่ากิจกรรมของเหล่านายทุนอย่างแน่นอน)[3] (Matt Huber, 2021) การวิพากษ์นายทุนในมิติการผลิตช่วยให้เราเข้าใจว่านายทุนเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการถือครอง ตัดสินใจ ควบคุม และสะสมทุนเพื่อสร้างผลกำไร ซึ่งแน่นอนว่าดอกผลเหล่านี้มาจากการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระแสการตระหนักเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศมาพร้อมกับแนวคิดการแบ่งยุคสมัยทางธรณีวิทยา นักวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์มองว่า ปัจจุบันโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคแอนโธรพอซีน (Anthropocene) ซึ่งหมายถึงยุคสมัยที่กิจกรรมของมนุษย์รบกวนสภาวะตามธรรมชาติของโลก กล่าวอีกอย่างคือ มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาที่มนุษย์มีประชากรมากขึ้นและมีอัตราการบริโภคอย่างมหาศาล (ตรงใจ หุตางกูร และ นัทกฤษ ยอดราช, 2564) กระนั้นก็ตาม แนวคิดดังกล่าวได้สร้างปัญหาและข้อถกเถียงตามมาในแวดวงสังคมศาสตร์ กล่าวคือ เราไม่สามารถระบุได้ว่ามนุษย์ผู้ทำร้ายโลกยุคแอนโธรพอซีนเป็นใครและอยู่ตำแหน่งแห่งที่ใดบนโลกใบนี้ จึงคล้ายกับว่าแนวคิดนี้สร้างความกำกวมและตีขลุมเหมารวมว่ามนุษย์ทุกคนคือผู้ก่อปัญหาแก่โลกและสภาพภูมิอากาศ ตรงข้ามกับความเป็นจริงที่ว่ามนุษย์บางกลุ่มอย่างผู้หญิง คนพื้นเมือง และคนผิวสีต่างเป็นเหยื่อที่ถูกกดขี่ข่มเหงและถูกเบียดขับมากกว่าเป็นผู้ถลุงทรัพยากรโลก มิพักต้องกล่าวว่าแนวคิดดังกล่าวละเลยการวิเคราะห์บริบททางประวัติศาสตร์และมุมมองในอนาคตที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นความอยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Wendy Arons, 2020)
Jason Moore ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาได้พัฒนาข้อถกเถียงกับประเด็นข้างต้นด้วยการเสนอไอเดียเรื่อง Capitalocene ที่ช่วยให้เราหาผู้ร้ายที่ข่มขืนโลกได้อย่างชัดเจนและไม่เหมารวม กรอบคิดนี้พาให้เราเข้าใจว่าโลกไม่ได้ถูกทำลายโดยมนุษย์ทุกคน แต่ถูกทำลายโดยระบบทุนนิยมที่ตัวมันเองมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน พูดโดยนัย Capitalocene ช่วยให้เราเข้าใจทุนนิยมในฐานะระบบนิเวศโลกที่เกี่ยวพันกับอำนาจ (a world-ecology of power) และการผลิต (ซ้ำ) ในข่ายใยชีวิต (re/production in the web of life) (Jason Moore, 2019)
Moore ย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ทุนนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เมื่อโคลัมบัสค้นพบอเมริกา เขาชี้ว่า จักรวรรดินิยมและเจ้าอาณานิคมมักใช้วาทกรรมความเจริญรุ่งเรืองและความป่าเถื่อน (Civilization and Savagery) เป็นเครื่องมือในการเข้าไปพัฒนาประเทศที่ด้อยกว่าผ่านการยึดเอาทรัพยากรและแรงงานในประเทศอาณานิคมเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของตนคือการสะสมทุน ระบบทุนนิยมจึงมิได้เป็นเพียงระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ทุนนิยมยังสัมพันธ์กับการสถาปนาความคิดเรื่องความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม (cultural domination) และการบีบบังคับทางการเมือง (political force) กล่าวอย่างเจาะจง ทุนนิยมนั้นมาพร้อมกับอำนาจในการปกครอง ลัทธิความสูงส่งของคนผิวขาว ตลอดจนแนวคิดปิตาธิปไตย และที่สำคัญคือ ทุนนิยมทำการกดขี่ขูดรีดมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยการทำให้มนุษย์และธรรมชาติกลายเป็นสินค้าที่ถูกหรือฟรี (Jason Moore, 2019)
เมื่อเข้าใจประเด็นร่วมสมัยอย่างวิกฤติสภาพภูมิอากาศว่ามีสาเหตุมาจากระบบทุนนิยม นักคิดฝ่ายซ้ายจึงพยายามเสนอให้มนุษยชาติร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินไป (แต่พวกเขามิได้เสนอวิธีการรักษ์โลกแบบเฝือ ๆ เช่นที่กล่าวไปแล้ว) นักคิดกลุ่มนี้เสนอให้มองว่าวิกฤตนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และสิ่งที่เราต้องทำคือการรื้อถอนโครงสร้างที่น่าขยะแขยงลงให้สิ้นซาก ผ่านการออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น การส่งเสริมให้ลูกจ้างแรงงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของบริษัท โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิเสธทรัพย์สินเอกชน ด้วยการพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานที่ควบคุมโดยเอกชนให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวมหรือสาธารณะมากขึ้น วิธีการเช่นนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจและกระจายทรัพยากรให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (Sam Zacher, 2020)
ในขณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกวินาที ผ่านการจัดตั้งและเรียกร้องภาครัฐให้จัดเตรียมที่อยู่อาศัยสำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การจัดเตรียมอาหารและเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงการผลักดันแผนการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือการเปิดรับผู้คนที่อพยพมาจากต่างถิ่น ฯลฯ (Chris Saltmarsh, 2021) เพราะเราต้องไม่ลืมว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อชนชั้นแรงงานมากกว่าเหล่าคนรวยและบรรดานายทุนที่ก่อปัญหานี้ขึ้นอย่างแน่นอน
[1] ขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่นั้นประเทศไทยก็ประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้บางคนตื่นตระหนกและกังวลว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะรุนแรงเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 หรือไม่
[2] อีลอน มัสก์ อ้างว่าเขาเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์ระบบขนส่งสาธารณะและพยายามหยุดโครงการรถไฟความเร็วสูง ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมที่ Paris Marx (2020)
[3] ต่อประเด็นนี้ คาร์ล มาร์กซ์ กล่าวว่า ในโลกทุนนิยมเมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้า พวกเขาจะพบกับสินค้าและราคาของมันเท่านั้น การแลกเปลี่ยนสินค้าในระบบทุนนิยมทำให้เรามองไม่เห็นการผลิตและกระบวนการกดขี่ขูดรีดแรงงานที่อยู่เบื้องหลังสินค้านั้น ๆ (Matt Huber, 2021) และนี่คือเงื่อนไขที่สร้างความแปลกแยก (alienation) ให้กับแรงงาน (พจนา วลัย, 2556)
รายการอ้างอิง
Chris Saltmarsh. (2021). Capitalism Is What’s Burning the Planet, Not Average People. Retrieved from https://jacobinmag.com/2021/08/ipcc-sixth-assessment-report-climate-change-denial
Chris Saltmarsh. (2021). Climate Change Disaster Isn’t a Future Threat — It’s Already Here. Retrieved from https://www.jacobinmag.com/2021/07/climate-change-extreme-heat-british-columbia-pakistan-madagascar-green-new-deal
Jason Moore. (2019). Who is responsible for the climate crisis? Retrieved from https://www.maize.io/magazine/what-is-capitalocene/?fbclid=IwAR3Y9rGiYgTrPwhDtLgx5bKmHUTzoyKNHPZzC41K54o2_dnt5tuUAT_SSa0
Matt Huber. (2021). Rich People Are Fueling Climate Catastrophe — But Not Mostly Because of Their Consumption. Retrieved from https://jacobinmag.com/2021/05/rich-people-climate-change-consumption?fbclid=IwAR0JKp5Nf6Y1vkqMW1F8hB0jtlEyKvve34vXLXY-By98lm1D0xZ1R5VmtIM
Paris Marx. (2020). Only Class War Can Stop Climate Change. Retrieved from https://www.jacobinmag.com/2020/10/class-war-climate-change-overpopulation-carbon
Sam Zacher. (2020). We Need a Green New Deal to Expand Worker Ownership of Our Economy. Retrieved from https://jacobinmag.com/2020/08/green-new-deal-workers-economy
Wendy Arons. (2020). Tragedies of the Capitalocene. Journal of Contemporary Drama in English, 16-33.
ตรงใจ หุตางกูร และ นัทกฤษ ยอดราช. (2564). แอนโธรพอซีน (Anthropocene). เข้าถึงได้จาก https://www.sac.or.th/main/th/article/detail/224#:~:text=%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A2%20%E2%80%9C%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%98,%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B
บีบีซีไทย. (2564). โลกร้อน : สภาพอากาศสุดขั้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร. เข้าถึงได้จาก https://www.bbc.com/thai/international-58164331
พจนา วลัย. (2556). Alienation: การสร้างสภาวะแปลกแยกโดยระบบทุนนิยม (ตอนที่ 1). เข้าถึงได้จาก https://prachatai.com/journal/2013/02/45514