ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าสมควรมีสวนสัตว์หรือไม่ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่า สวนสัตว์เป็นสถานที่ที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์และการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า รวมถึงเป็นสถานที่ให้ความบันเทิงและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยหลายหน่วยงานพยายามออกกฎระเบียบเพื่อให้สัตว์ป่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกับการอาศัยอยู่ในป่ามากยิ่งขึ้น (แม้จะยังห่างไกลกับอิสรภาพในการอาศัยอยู่ในป่าก็ตาม) ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า สวนสัตว์เป็นการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ ผ่านการกักขังสัตว์เหล่านั้นไว้ในพื้นที่ที่จำกัด ก่อให้สัตว์เกิดความเครียดและความเบื่อหน่าย

ในบทความนี้จึงอยากชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ สถานการณ์ของสวนสัตว์ในปัจจุบัน รวมถึงมาตรฐานหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ในระดับสากลที่ใช้ควบคุมสวนสัตว์เพื่อรักษาสวัสดิภาพของสัตว์อย่างเหมาะสม

ทำความรู้จักกับสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) 

หลักสวัสดิภาพสัตว์ คือ ข้อกำหนดสำหรับการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของสัตว์ โดยยึดหลัก 5 ประการ [1] ได้แก่

  1. อิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hungry and thirst) – การเข้าถึงน้ำจืดและอาหารเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์
  2. อิสระจากความรู้สึกไม่สบาย (Freedom from discomfort) – การจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีที่พักพิงที่สะดวกสบาย
  3. อิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือโรคภัยไข้เจ็บ (Freedom from pain, injury and disease) – การป้องกันไม่ให้เกิดโรค หรือการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
  4. อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ (Freedom from fear and distress) – การสร้างสภาพแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงความทุกข์ทางจิตใจ
  5. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior) – การจัดให้มีพื้นที่เพียงพอ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และได้อยู่ร่วมกับสัตว์ชนิดเดียวกัน

ไม่ว่าสัตว์จะเป็นสัตว์กลุ่มใด สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง รวมไปถึงปศุสัตว์ ก็ควรได้รับสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ

สวนสัตว์ การแสดงสัตว์ และสวัสดิภาพของสัตว์

สวนสัตว์เป็นสถานที่ที่สัตว์หลากหลายสายพันธุ์จากถิ่นกำเนิดหลากหลายพื้นที่ในโลกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเฉพาะ ซึ่งสามารถควบคุมได้ และจัดแสดงให้ผู้คนได้ชม

ภาพถ่ายโดย Nikolay Tchaouchev

ภายในสวนสัตว์หลายแห่งมีการแสดงโชว์ของสัตว์ ‘แสนรู้’ เพื่อดึงดูดให้คนเข้าสวนสัตว์มากยิ่งขึ้น แต่พฤติกรรมที่มนุษย์มองว่าแสนรู้นั้นดูจะขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์อยู่เช่นกัน เช่น การให้โลมากระโดดลอดห่วง สิงโตทะเลเลี้ยงลูกบอล หรือช้างวาดรูปด้วยงวง

หากจะกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการแสดงสัตว์มีขึ้นเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งเราคงไม่ควรให้ความสำคัญกับความบันเทิงของมนุษย์มากไปกว่าสวัสดิภาพของสัตว์ [2] ในอีกด้านก็ถือเป็นการให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม แต่จะให้ความรู้ได้มากเพียงใด?

งานวิจัยซึ่งศึกษาผลกระทบของการแสดงสิงโตทะเล และการแสดงนกหลากหลายสายพันธุ์ ที่มีต่อผู้เข้าชมสวนสัตว์ ที่เผยแพร่ทางวารสารวิชาการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 [3] มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ ผู้เข้าชมการแสดงสัตว์มีความรู้เกี่ยวกับสัตว์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนและหลังดูการแสดง แต่ความตระหนักในด้านการอนุรักษ์กลับสูงขึ้นไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่ากังวล คือ ในการแสดงพฤติกรรม ‘แสนรู้’ ของสัตว์ ทำให้ผู้เข้าชมสับสนระหว่างพฤติกรรมตามธรรมชาติกับพฤติกรรมการแสดงในโชว์ จนก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ผิด (false learning) เช่น มีผู้เข้าชมการแสดงระบุถึงความสำคัญของหนวดของสิงโตทะเลว่าช่วยในการเลี้ยงลูกบอล ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาติแล้วหนวดของสิงโตทะเลมีไว้เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในน้ำและเพื่อค้นหาปลา

ภาพถ่ายโดย Jacama

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์อาจจะใช้ทางเลือกอื่นในการให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ที่หลากหลาย เช่น การแสดงโดยมนุษย์ การใช้หุ่นกระบอก ประกอบกับภาพ และเอฟเฟกต์ เพื่อทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้มากพอ ๆ กับการแสดงด้วยสัตว์จริง ๆ

กฎหมายและมาตรฐานสวนสัตว์

สำหรับการประกอบกิจการสวนสัตว์ กฎหมายไทยตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 33 ได้กำหนดมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์ ที่มีรายละเอียดครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดการพื้นที่เลี้ยงและจัดแสดงสัตว์ การดูแลด้านโภชนาการ การสุขาภิบาล  การบำบัดน้ำเสีย  การกำจัดของเสีย  และการควบคุมโรค การดูแลรักษาสัตว์ การจัดสวัสดิภาพสัตว์ ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย การปฏิบัติการและมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ และแนวทางการให้ความรู้หรือการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกับกฎหมายการจัดการสวนสัตว์ของออสเตรเลีย ที่กำหนดรายละเอียดสภาพแวดล้อมที่พัก อุณหภูมิ การจัดสังคมสัตว์ ไปจนถึงการกำหนดพื้นที่ในร่มและกลางแจ้งของสัตว์ป่าแต่ละประเภทอย่างชัดเจน [4] ทำให้สัตว์แต่ละสายพันธุ์ได้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

นอกจากกฎหมายแล้ว นานาประเทศยังมีมาตรฐานเพื่อรับรองว่าสวนสัตว์ดูแลสัตว์อย่างเหมาะสม ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงหลักการคุ้มครองสัตว์ตามสมาคมสวนสัตว์และสถานที่แสดงพันธุ์สัตว์น้ำ World Association of Zoos and Aquariums (WAZA) ซึ่งเป็นร่มใหญ่ของสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์แสดงสัตว์น้ำทั่วโลก ที่มุ่งดูแลสวัสดิภาพสัตว์ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยสมาชิก WAZA ต้องดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณและสวัสดิภาพสัตว์ของ WAZA (WAZA Code of Ethics and Animal Welfare) [5] ที่มีแนวปฏิบัติครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้

  1. สวัสดิภาพสัตว์ การให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเสมอ
  2. การใช้สัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ต้องเป็นกระบอกเสียงของการอนุรักษ์ หรือมีคุณค่าทางการศึกษาอื่น ๆ รวมถึงเน้นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ และไม่ดูถูกสัตว์
  3. มาตรฐานการจัดแสดงสัตว์ ต้องออกแบบให้สัตว์แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างเหมาะสม
  4. การได้มาซึ่งสัตว์ในสวนสัตว์ สัตว์ที่ได้ควรมาจากการเพาะพันธุ์ แต่หากจำเป็นต้องเป็นสัตว์ที่มาจากป่าก็ต้องแน่ใจว่าไม่ส่งผลเสียต่อประชากรของสัตว์ป่า
  5. การเคลื่อนย้ายสัตว์ ต้องมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ให้เหมาะสมกับสัตว์แต่ละสายพันธุ์
  6. มีข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ อาหาร สถานะการสืบพันธุ์ และพันธุกรรมของสัตว์
  7. การคุมกำเนิดสัตว์ ต้องมีความจำเป็นด้านการจัดการประชากร และคำนึงถึงผลข้างเคียงต่อสัตว์
  8. การการุณยฆาตสัตว์ ต้องระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าได้ดำเนินการในลักษณะที่ช่วยให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน
  9. การกระทำต่อร่างกายสัตว์ ไม่ผ่าซากสัตว์เพื่อจุดประสงค์ทางความสวยงาม หรือเพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของสัตว์ และควรทำเครื่องหมายสัตว์เพื่อระบุตัวตนภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญโดยให้เกิดความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด
  10. การวิจัยโดยใช้สัตว์จากสวนสัตว์ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม
  11. การปล่อยสัตว์สู่ธรรมชาติ ต้องดำเนินการตามแนวทางของ IUCN/SSC/Reintroduction Specialist Group for reintroduction โดยสัตว์ต้องผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์อย่างละเอียดเพื่อประเมินความเหมาะสมในการปล่อยสู่ธรรมชาติ
  12. การจัดการสัตว์ที่ตายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์ ควรได้รับการชันสูตรและสืบหาสาเหตุการตาย

ภาพถ่ายโดย Qiming Chen

สวนสัตว์ในประเทศไทยที่เป็นสมาชิก WAZA ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้แก่ สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์ขอนแก่น สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์อุบลราชธานี สวนสัตว์สงขลา มีเพียงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เท่านั้นที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) [6]

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายแห่ง เช่น AZA, ZAA, SEAZA ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ภายในสวนสัตว์ ผลักดันให้สวนสัตว์มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับสัตว์ ส่วนการแสดงของสัตว์ก็ควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมตามธรรมชาติโดยเน้นที่การอนุรักษ์เป็นหลัก แต่ไม่ว่าจะมีกฎหมาย มาตรฐาน หรือหน่วยงานที่คอยขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากเพียงใด ก็ยังมีเรื่องที่ขัดแย้งต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ และคงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษา ถกเถียง และหาจุดสมดุลกันต่อไปในอนาคต


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นานาประเทศต่างดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค มีการปิดประเทศ นักท่องเที่ยวลดน้อยลง สวนสัตว์หลายแห่งจึงต้องปิดชั่วคราว แต่หลังจากมีการฉีดวัคซีนแล้ว หลายประเทศก็ผ่อนคลายนโยบายลง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ทว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ไม่ได้กลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน

สวนสัตว์จึงยังเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดน้อยลง แต่ยังมีรายจ่ายในการดูแลสัตว์อยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สวนสัตว์บางแห่งไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้จนต้องปิดตัวลง อาทิ สวนเสือศรีราชา(ปิดกิจการ) และสวนสัตว์ภูเก็ต(ไม่ต่อใบอนุญาตประกอบธุรกิจสวนสัตว์) บ้างถึงขั้นล้มละลาย อาทิ ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงสวัสดิภาพสัตว์ภายในสวนสัตว์ที่มีรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ยังคงมีเท่าเดิม [7]

 

อ้างอิง

[1] https://webarchive.nationalarchives.gov.uk/ukgwa/20121010012427/http://www.fawc.org.uk/freedoms.htm

[2] https://education.nationalgeographic.org/resource/zoo

[3] Sarah Louise Spooner, Eric Allen Jensen, Louise Tracey & Andrew Robert Marshall (2021) Evaluating the effectiveness of live animal shows at delivering information to zoo audiences, International Journal of Science Education, Part B, 11:1, 1-16, DOI: 10.1080/21548455.2020.1851424

[4] อังคณา วิฑูรย์พันธ์ (2560) มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายประเทศออสเตรเลีย

[5] https://www.waza.org/wp-content/uploads/2019/05/WAZA-Code-of-Ethics.pdf

[6] https://www.waza.org/members/waza-members/

[7] https://thaipublica.org/2021/04/worldanimalprotection-pr-29-04-2564/