เทศกาลกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงอย่างฟุตบอลโลกครั้งที่ 22 กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยมีประเทศกาตาร์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน นับเป็นครั้งแรกที่มีการฟาดแข้งกันในภูมิภาคตะวันออกกลาง และมีการคาดการณ์กันว่า จะมีผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมายังกาตาร์กว่าหนึ่งล้านสองแสนคน แน่นอนว่าแฟนบอลเหล่านี้ต่างตั้งหน้าตั้งตาเชียร์ทีมที่ตัวเองรักให้มีชื่ออยู่ในทำเนียบแชมป์
นอกเหนือจากความสนุกและน่าตื่นตาตื่นใจของมหกรรมกีฬาที่จัดทุกสี่ปี ฟุตบอลโลกหนนี้ยังมีประเด็นทางสังคมร้อนแรงมากมายที่ถูกกล่าวถึง อาทิ การกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างการคัดเลือกเจ้าภาพ สภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งไม่เหมาะกับการแข่งขัน รวมถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่เลวร้ายในประเทศเจ้าภาพ ที่ถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนประกาศให้ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลกครั้งนี้
แรงงานข้ามชาติกับการถูกกดขี่ขูดรีด
ย้อนกลับไปในปี 2010 เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (FIFA) ประกาศให้ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022 ผลที่ตามมาคือ กาตาร์จำเป็นต้องเนรมิตสิ่งก่อสร้างขึ้นมามากมายขึ้นเพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลอันยิ่งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกทศวรรษ ไล่ตั้งแต่สนามฟุตบอลสำหรับทำการแข่งขัน ที่พักอาศัย โรงแรม ถนน สนามบิน รถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายความว่า กาตาร์จำเป็นต้องใช้แรงงานมหาศาล ดังนั้นแรงงานข้ามชาตินับล้านคนโดยเฉพาะจากเอเชียใต้ ได้เดินทางมายังกาตาร์ เพื่อแลกกำลังแรงงานของตนกับค่าจ้างจากนายจ้าง
เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา (ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างในโครงการฟุตบอลโลกและแรงงานประเภทอื่น เช่น งานบ้าน) ก็คือ การกดขี่ขูดรีดอย่างโหดร้ายจากนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็น การใช้แรงงานบังคับ การทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง การมีชั่วโมงทำงานที่สูงหรือแทบไม่มีเลย การทำงานในสภาพแวดลอมย่ำแย่และอากาศที่ร้อนจัด ไปจนถึงขั้นรุนแรงสุดคือ การเสียชีวิตจากการทำงาน
ต้นตอสำคัญที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ คือ ระบบอุปถัมภ์คาฟาลา (kafala sponsorship system) ระบบนี้กำหนดความผูกพันทางกฎหายระหว่างแรงงานข้ามชาติกับนายจ้าง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิและบีบบังคับแรงงาน เช่น แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานได้หากปราศจากความยินยอมจากนายจ้าง การเดินทางกลับบ้านเกิดต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้าง หรือการยึดหนังสือเดินทางของแรงงานเก็บเอาไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ แรงงานยังต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่ย่ำแย่อื่น ๆ อาทิ การเป็นหนี้จำนวนมากอันเนื่องมาจากการจัดหางานอย่างผิดกฎหมาย ความยากลำบากในการเข้าถึงความยุติธรรม และการไม่มีสหภาพแรงงานหรือการรวมกลุ่มต่อรอง เหตุปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับความยากลำบากและบางคนต้องทิ้งชีวิตตนเองไว้ที่กาตาร์
The Guardian เผยว่ามีแรงงานข้ามชาติกว่า 6,500 คนเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2010 ที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศแถบเอเชียใต้อย่างอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ และศรีลังกา ข้อมูลจากประเทศข้างต้นเผยว่า มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตระหว่างปี 2011-2020 ถึง 5,927 ราย ส่วนสถานทูตปากีสถานในกาตาร์เผยว่า มีแรงงานชาวปากีสถานเสียชีวิตจำนวน 824 ราย ในช่วงปี 2010-2020[1] สาเหตุของการเสียชีวิตมีตั้งแต่การตกจากที่สูง ภาวะขาดอากาศหายใจจากการแขวนคอ บางรายก็ไม่สามารถหาสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เนื่องจากศพได้เน่าเปื่อยไปแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าสาเหตุของการเสียชีวิตที่ถูกบันทึกมากที่สุดคือ การเสียชีวิตตามธรรมชาติ ที่มักเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันหรือการหายใจล้มเหลว โดยทางการไม่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพและปราศจากคำอธิบายทางการแพทย์รองรับ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเคยมีการค้นพบว่า การทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานเสียชีวิต[2]
ความรับผิดชอบของกาตาร์และฟีฟ่า
แม้ว่าในปี 2017 กาตาร์จะลงนามข้อตกลงกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยสัญญาว่าจะจัดการปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการทำงาน 5 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูประบบอุปถัมภ์คาฟาลา การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การให้ความสำคัญกับเสียงของแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย และการจ่ายค่าจ้างและการจัดหางาน อย่างไรก็ดี รายงานจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (แอมเนสตี้ฯ) และองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ยังคงชี้ให้เห็นว่า กาตาร์ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานต่อแรงงานจำนวนมากไม่ต่างจากในอดีต อาทิ การไม่ได้รับค่าจ้าง การไม่ได้เงินชดเชยสำหรับครอบครัวเหยื่อ การกดดันมิให้แรงงานเปลี่ยนงาน หรือการได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สถิติเฉพาะปี 2021 เผยว่า มีแรงงานข้ามชาติกว่า 50 รายเสียชีวิตและอีกกว่า 500 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส สถานการณ์ที่ยังคงย่ำแย่เช่นนี้สะท้อนว่า รัฐบาลกาตาร์ยังคงอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย พูดอีกอย่างคือ ระบบการจัดการแรงงานแบบเก่าหรือระบบอุปถัมภ์คาฟาลายังคงหลงเหลือและมีการใช้อยู่ แม้ในทางทฤษฎีจะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้แอมเนสตี้ฯ ได้ออกมากล่าวโทษฟีฟ่าที่มิได้ออกมาป้องกันและลดความเสี่ยงด้านสิทธิแรงงานอย่างทันท่วงที โดยฟีฟ่าเพิ่งจะออกมาแสดงความรับผิดชอบเมื่อปี 2020 ด้วยการสร้างกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมกับแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แอมเนสตี้ฯ จึงออกมาแนะนำให้รัฐบาลกาตาร์และฟีฟ่าจัดตั้งโครงการเยียวยาสำหรับแรงงานหรือครอบครัวของแรงงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในกาตาร์ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยฟีฟ่าควรสำรองเงินประมาณ 440 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับจำนวนเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะการแข่งขัน) เพื่อสนับสนุนโครงการเยียวยาเหยื่อแรงงาน
ฟุตบอลโลกครั้งต่อ ๆ ไป
องค์กรอย่างแอมเนสตี้ฯ ยังได้เรียกร้องให้ฟีฟ่างดเว้นการคัดเลือกประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านี้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ได้แก่ ประเทศที่มีหรือไม่สามารถลดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน การเลือกปฏิบัติ การกำจัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่ทั้งผู้ชม นักกีฬา โดยเฉพาะแรงงานต้องเผชิญ ตีความได้ว่า นับจากนี้ไม่เพียงแต่นักเคลื่อนไหวแต่ยังรวมถึงทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ชมหรือผู้บริโภคจำเป็นต้องสนับสนุนและผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานกันอย่างจริงจัง โดยอาจพิจารณากรณีตัวอย่างจากกาตาร์ เพื่อป้องกันมิให้เทศกาลสุดยิ่งใหญ่และน่าตื่นเต้นต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และชีวิตของผู้ใช้แรงงาน
[1] ตัวเลขดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากยังขาดข้อมูลจากประเทศอื่น ๆ ที่มีแรงงานมาทำงานที่กาตาร์ เช่น ฟิลิปปินส์และเคนยา
[2] ควรกล่าวไว้ด้วยว่า รัฐบาลกาตาร์เห็นว่า ตัวเลขของผู้เสียชีวิตมีแรงงานคอปกขาวและแรงงานที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังกล่าวว่า ในบันทึกการเกิดอุบัติเหตุระหว่างปี 2014 ถึง 2020 มีผู้เสียชีวิต 37 รายในสถานที่ก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยมีเพียง 3 รายเท่านั้นที่เสียชีวิตจากการทำงาน
เอกสารประกอบการเขียน
Reality Check: Migrant Workers Rights with Two Year to Qatar 2022 World Cup
Revealed: hundreds of migrant workers dying of heat stress in Qatar each year
Revealed: 6,500 migrant workers have died in Qatar since World Cup awarded
With Two Months to Qatar’s World Cup, There’s a Lot Left to Do