เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567 (Global Risk Report 2024) ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 19 ที่ได้จัดทำและเผยแพร่อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยรายงานดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน 1,490 รายทั่วโลก เพื่อจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในกรอบระยะเวลา 10 ปี บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาสำรวจประเด็นน่าสนใจในรายงานความเสี่ยงของโลกฉบับล่าสุดด้วยกัน

ที่มาภาพ: https://www.pexels.com/photo/desk-globe-on-a-skeleton-4618540/

 

ความเสี่ยงของโลกคืออะไร

WEF นิยามความหมายของความเสี่ยงของโลก (global risk) ว่า คือเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือเงื่อนไขที่หากเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของโลก ประชากร หรือทรัพยากรธรรมชาติ (WEF, 2024) ทั้งนี้ รายงานความเสี่ยงของโลกปี 2567 ได้ระบุความเสี่ยงของโลกไว้ 34 ประเด็น จำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ ความเสี่ยงในประเด็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี (รายละเอียดแสดงในภาคผนวก A ของรายงานความเสี่ยงของโลก)

การจัดทำรายงานความเสี่ยงของโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นพลวัตของความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ความเสี่ยงในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดสูง และมีผลกระทบรุนแรง จึงถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดมาโดยตลอด แต่กลับมีบทบาทหรือความสำคัญลดลงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ขณะที่ความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นๆ เช่น สังคม ภูมิรัฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม กลับมีบทบาทหรือความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกจัดอันดับสูงสุดในปี 2563 (SDG move, 2564)

รายงานความเสี่ยงของโลกจึงไม่เพียงแต่ช่วยให้เห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากยังช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มมีข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงช่วยบรรเทาความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย

การจัดเก็บข้อมูลของรายงานความเสี่ยงของโลก

การวิเคราะห์ความเสี่ยงของโลกใช้วิธีการประเมินความเสี่ยง โดยจัดทำแบบสำรวจการรับรู้ความเสี่ยง Global Risks Perception Survey (GRPS) ซึ่งจะมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจในหลากหลายประเด็น เช่น การให้ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกความเสี่ยง 5 ประเด็น ที่เห็นว่าเป็นความเสี่ยงของโลกที่สำคัญในปี 2567 การประเมินผลกระทบของความเสี่ยงทั้ง 34 ประเด็นว่ามีความรุนแรงแค่ไหน โดยแบ่งเป็นกรอบระยะเวลา 2 ปี (ระยะสั้น คือ ปี พ.ศ. 2569 หรือ ค.ศ.​ 2026) และ 10 ปี (ระยะยาว คือ ปี พ.ศ. 2577 หรือ ค.ศ. 2034) การระบุวิธี (approach) ที่คาดว่าจะสามารถใช้รับมือหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วง 10 ปีข้างหน้า เป็นต้น (รายละเอียดแสดงในภาคผนวก B ของรายงานความเสี่ยงของโลก)

สรุปประเด็นสำคัญจากรายงานความเสี่ยงของโลกปี 2567

  • ภาพรวมคาดการณ์ความเสี่ยงของโลก

รายงานของ WEF คาดการณ์สถานการณ์โลก (global outlook) ว่ามีแนวโน้มเป็นลบ (negative outlook) โดยผลสำรวจ GRPS พบว่า ในระยะสั้น ผู้ตอบแบบสำรวจราวร้อยละ 54 เห็นว่าโลกมีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงระดับปานกลาง และราวร้อยละ 30 เห็นว่าโลกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงระดับรุนแรง ขณะที่ในระยะยาวผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 63 เห็นว่าโลกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงระดับรุนแรง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนมากยิ่งขึ้น รายละเอียดแสดงในแผนภาพที่ 1

แผนภาพที่ 1 การคาดการณ์สถานการณ์โลก (global outlook)

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

  • ภูมิทัศน์ความเสี่ยงของโลก ปี 2567

ผู้ตอบแบบสำรวจถึงร้อยละ 66 เห็นว่า ความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) เป็นความเสี่ยงของโลกที่สำคัญที่สุดในปี 2567 โดยในช่วงที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 และทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ไฟป่า และน้ำท่วม ในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

ความเสี่ยงของโลกในปี 2567 ที่สำคัญรองลงมา ได้แก่ ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI-generated misinformation and disinformation) ความเสี่ยงจากการแบ่งขั้วทางสังคมและการเมือง (societal and/or political polarization) ความเสี่ยงจากวิกฤตค่าครองชีพ (cost-of-living crisis) และความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ (cyberattacks) รายละเอียดดังแสดงในแผนภาพที่ 2

แผนภาพที่ 2 ภูมิทัศน์ความเสี่ยงปัจจุบัน (current risk landscape)

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

  • ภูมิทัศน์ความเสี่ยงของโลกระยะสั้น (ปี 2569)

ผู้ตอบแบบสำรวจประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากความเสี่ยงของโลกทั้ง 34 ประเด็น (1 = รุนแรงน้อยที่สุด และ 7 = รุนแรงมากที่สุด) โดยพิจารณากรอบระยะเวลา 2 ปี (ระยะสั้น) พบว่า ความเสี่ยงของโลกที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดในระยะสั้น คือ ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือน (misinformation and disinformation) ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินโดนีเซีย ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการแบ่งขั้วทางการเมืองให้มากขึ้นด้วย

สำหรับความเสี่ยงของโลกที่ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่ามีผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น รองลงมา ได้แก่ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) ความเสี่ยงจากการแบ่งขั้วทางสังคม (societal polarization) ความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber insecurity) และความเสี่ยงจากความขัดแย้งกันทางอาวุธระหว่างประเทศ (interstate armed conflict) รายละเอียดดังแสดงในแผนภาพที่ 3

แผนภาพที่ 3 ความเสี่ยงของโลกระยะสั้น เรียงตามระดับความรุนแรง

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ความเสี่ยงจากข้อมูลที่ผิดพลาดและบิดเบือน และความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว เป็นความเสี่ยงของโลกระยะสั้นที่อยู่ในอันดับ 1 และอันดับ 2 ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม รายละเอียดแสดงในแผนภาพที่ 4

แผนภาพที่ 4 ความเสี่ยงของโลกระยะสั้น จำแนกตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

  • ภูมิทัศน์ความเสี่ยงของโลกระยะยาว (ปี 2577)

ผู้ตอบแบบสำรวจประเมินความรุนแรงของผลกระทบจากความเสี่ยงของโลกทั้ง 34 ประเด็น โดยพิจารณากรอบระยะเวลา 10 ปี (ระยะยาว)พบว่า ความเสี่ยงของโลกที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดในระยะยาว 10 อันดับแรก เป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมถึง 5 ประเด็น โดยความเสี่ยง 4 ใน 5 ประเด็นดังกล่าว เป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบรุนแรงอยู่ในอันดับ 1 ถึง 4 ได้แก่ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศสุดขั้ว ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของระบบโลก (critical change to Earth systems) ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ (biodiversity loss and ecosystem collapse) และความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ (natural resource shortages) รายละเอียดแสดงในแผนภาพที่ 5

แผนภาพที่ 5 ความเสี่ยงของโลกระยะยาว เรียงตามระดับความรุนแรง

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเห็นว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบรุนแรงในระยะยาว ดังเห็นได้จากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมติดอยู่ในอันดับ 1 ถึง 4 ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกือบทุกกลุ่ม รายละเอียดแสดงในแผนภาพที่ 6

แผนภาพที่ 6 ความเสี่ยงของโลกระยะยาว จำแนกตามกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ที่มา: รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านรายงานความเสี่ยงของโลก

รายงานความเสี่ยงของโลกฉบับเต็มมีเนื้อหาที่ครอบคลุมและมีรายละเอียดมากกว่าที่ผู้เขียนได้สกัดออกมาในบทความนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้จากลิงก์ที่แนบไว้ในท้ายบทความนี้

ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ คือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงของโลกที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตระหนักถึงผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รายงานของ WEF ชี้ให้เห็นว่า นอกจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โลกกำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการสร้างหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อหวังผลบางอย่าง และอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางสังคมและการเมืองที่มีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามระดับการพัฒนาเทคโนโลยี และควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าบริบทและสถานการณ์ของประเทศอาจแตกต่างจากบริบทและสถานการณ์ของโลก และอาจทำให้ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อประเทศแตกต่างไปจากความเสี่ยงของโลก แต่ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนเห็นว่าการทำความเข้าใจบริบท สถานการณ์ และความเสี่ยงของโลกที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการรับมือหรือหามาตรการในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

แหล่งข้อมูล

รายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2567

SDG Updates | เปิดรายงานความเสี่ยง 2020 – โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป