ผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิสในประเทศพม่า ที่มา : นิตยสารสารคดี http://www.sarakadee.com/2009/07/27/nargis/

สืบเนื่องจากในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของภาคเอกชนในยุคทศวรรษ 2010 ว่ากำลังทวีความสำคัญยิ่งขึ้น  โดยจากกระบวนการพูดคุย และปรึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วโลกในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ตัวแทนรัฐบาล บริษัทเอกชน สมาคมอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ทาง International Finance Corporation (IFC) องค์กรในกลุ่ม World Bank จึงสรุปประเด็นความท้าทายไว้ 7 หัวข้อ  ประกอบด้วย 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การละเมิดสิทธิมนุษยชน 3) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน 4) ความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงกับการพัฒนา  5) การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง 6) สิทธิของชุมชนพื้นเมืองกับการให้ความยินยอมอย่าง “สมัครใจ ล่วงหน้า และได้รับข้อมูลพอเพียง” (free, prior and informed consent – FPIC)  7) ความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริการระบบนิเวศ

แม้ว่า 7 ประเด็นนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด อย่างเรื่องวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และบทบาทของผู้หญิงในโลกธุรกิจ ฯลฯ  ก็ล้วนได้รับการกล่าวถึงมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ความน่าสนใจในแนวคิดของ IFC คือ การยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมากล่าวถึงในฐานะแนวคิดหลักที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตอันใกล้ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก 7 ประการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้งคือ วิกฤติการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภูมิภาคต่างๆ ของโลกไม่เท่าเทียมกัน โดยประเทศยากจนที่สุดมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด  เพราะประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมาก รวมถึงมีความสามารถในการเตรียมการป้องกันและปรับตัวน้อยกว่า  ทั้งยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศรุนแรงกว่า ด้วยเหตุนี้ธุรกิจที่ดำเนินการในพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการตั้งรับเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็มีหลายธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรม สินค้า และบริการขึ้นมาตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด อันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ในปัจจุบันนโยบายตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ได้แก่ การลดปริมาณการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการลดผลกระทบทางนิเวศที่วัดผลกระทบทั้งจากกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างรอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint) ในทุกด้านตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบริษัทหรือมองที่การลดการใช้พลังงานเท่านั้น ซึ่งแนวคิดการวัดผลกระทบและการวางกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่คุณค่านี้ได้ผลักดันให้หลายธุรกิจต้องหันมามองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในด้านที่ลึกและกว้างยิ่งขึ้น  รวมทั้งวางแผนเชื่อมโยงกับโครงการในทางธุรกิจและโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อให้ตอบสนองกับประเด็นเหล่านี้อย่างเป็นองค์รวม

โดยเรื่องที่การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ครั้งที่ 18 หรือ COP 18  ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ในปี 2012 และในการประชุม COP 19  ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ให้ความสนใจอย่างมากคือ แนวคิดเรื่อง Loss and Damage” (L&D)  ซึ่งไม่ได้หมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆ ไป  แต่หมายความเฉพาะเจาะจงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวในการป้องกันและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  อันเนื่องมาจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น [1. อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ด้านความเสียหาย “Loss and Damage” ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ได้ใน http://www.loss-and-damage.net/ ]

ที่มาของแนวคิดนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาความพยายามในการ “ลดผลกระทบ” (mitigation) และ “ปรับตัว” (Adaptation) ไม่เพียงพอที่จะรองรับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น  เมื่อความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้  นานาชาติจึงหันเข้าสู่ยุคแห่งการเจรจาถึงวิธีจัดการกับความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา และคนยากจน ควบคู่ไปกับมาตรการลดผลกระทบและการปรับตัว

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำมาสู่การยอมรับแนวคิด L&D คือ การปรับตัวมีขีดจำกัด (Limits to Adaptation) หมายถึงเมื่อความเสียหายเพิ่มขึ้นจนถึงจุดๆ หนึ่ง ประชาชนในประเทศยากจนจะไม่สามารถปรับตัวให้ยอมรับต่อการสูญเสียได้อีกต่อไป โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกลุ่มหนึ่งได้ยกตัวอย่างกรณีความเสียหายที่เรียกว่าเกินกว่าจะปรับตัวยอมรับได้ไว้ว่า 

“ในบางกรณี เช่น การเกษตรในพื้นที่กึ่งซาฮาราของทวีปแอฟริกา การที่อุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดการล่มสลายของระบบทั้งหมด หรือจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างระบบขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่างไปจากความเข้าใจของเราในปัจจุบันนี้”   [2. New M et al. 2011. Four degrees and beyond: the potential for a global temperature increase of four degrees and its implications. Philosophical Transactions of the Royal Society A 369: 6-19. อ้างใน Tackling the Limits to Adaptation: An International Framework to Address ‘Loss And Damage’ from Climate Change Impacts (2012) รายงานร่วมกันขององค์กร ActionAid, CARE และ WWF ดาวน์โหลดได้จาก http://www.careclimatechange.org/files/Doha_COP_18/tackling_the_limits_lr.pdf ]

นอกจากจะยอมรับแนวคิด L&D ให้เป็นแนวคิดสำคัญสำหรับพิธีสารฉบับถัดไป ซึ่งจะเริ่มนำมาปฏิบัติใช้ในปี ค.ศ.2015 แล้ว ในการประชุม COP 18 ยังยอมรับหลักการที่ว่า ประเทศในกลุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับเงินชดเชยความเสียหายแบบ L&D จากประเทศซึ่งไม่สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมายได้ในอนาคต  การยอมรับแนวคิดนี้ของที่ประชุม UNFCC ได้รับการกล่าวถึงจากนักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมของ BBC ว่า เป็น“การเปลี่ยนแปลงเชิงหลักการครั้งประวัติศาสตร์” [3. ที่มา : สำนักข่าว BBC http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-20653018]

ถึงแม้ว่าผลการประชุม COP 18 จะน่าผิดหวังอย่างมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงเป้าหมายของตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม

ยิ่งกว่านั้น COP 18 ยังได้เริ่มเจรจาว่า พิธีสารของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่นี้ผูกพันให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องร่วมกำหนดวิธีการ และเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซของตนเองอย่างสมัครใจด้วย  ซึ่งในขณะนี้ UNFCCC ได้พัฒนาระบบที่ให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาลงทะเบียนแจ้งวิธีการลดการปล่อยก๊าซและเป้าหมายอย่างสมัครใจแล้ว  ซึ่งอาจหมายความว่าบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตไปตั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม จะต้องเริ่มหันมาสนใจการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่อุปทานของตนเองที่ต่อเนื่องไปถึงประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก

สำหรับการประชุม COP 19 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2013 เหล่าประเทศสมาชิกจะร่วมกันประชุมเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่จะแก้ไขปัญหา L&D ไม่ว่าจะเป็นในด้านเงินทุน  เทคโนโลยี และที่สำคัญมากคือการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับรัฐบาลและชุมชนในประเทศยากจนต่างๆ ที่จะต้องวัดผล ติดตาม รายงานรูปแบบความเสี่ยงและความเสียหายอย่างเป็นระบบ  รวมทั้งร่วมกันวางแผนเพื่อรองรับความเสียหายทั้งแบบเฉียบพลัน (extreme events) เช่น น้ำท่วมหรือแผ่นดินไหว และความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ (slow onset events) เช่น ชายฝั่งที่ค่อยๆ ถูกกัดกร่อน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ Deloitte หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำยังแนะนำภาคธุรกิจว่า ให้บริษัทต่างๆ วางแผนตอบสนองต่อนโยบาย L&D ด้วยการเริ่มวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยง [4. ที่มา : COP18 in Doha – What businesses should know (2012) โดย Deloitte Touche Tohmatsu Limited ดาวน์โหลดจาก https://www.deloitte.com/multifiledownload?solutionName=deloitte.com&fileIds=17b2fb75ca93d310VgnVCM2000003356f70aSTFL] อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา  ซึ่งถือเป็นฐานการผลิต แหล่งทรัพยากร และตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญของธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก พร้อมทั้งวางแผนกลยุทธ์จัดการความเสี่ยงเหล่านั้นแบบระยะยาว ซึ่งหลายๆ ธุรกิจอาจไม่คุ้นเคยกับการคิดคำนวณความเสี่ยงแบบ L&D จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  หรือการนำผลกระทบจากวิกฤติการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนจัดการความเสี่ยงหลักของบริษัท แต่ไม่ว่าอนาคตของแนวคิดเรื่อง L&D จะได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นนโยบายสากลมากน้อยเพียงใด  ก็ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรที่เริ่มต้นปรับตัวให้ตอบรับกับแนวโน้มผลกระทบของภัยพิบัติต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

เห็นได้ชัดเจนว่า การร่วมสร้างความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อวิกฤติการณ์โลกร้อนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า  จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต