ในบทความก่อนหน้า ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมช็อกโกแลตและผลกระทบของการทำไร่โกโก้อย่างไม่ยั่งยืนว่าส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อยอย่างไร สำหรับบทความชิ้นนี้จะชวนคุยเพิ่มเติมว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตอย่างไร เพราะเหตุใดบริษัทจึงควรใส่ใจ และตอนนี้ทั่วโลกมีแนวทางรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าห่วงโซ่อุปทานของช็อกโกแลตนั้นค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน กระบวนการซื้อขายโกโก้เริ่มจากเกษตรกรรายย่อยขายเมล็ดโกโก้ให้พ่อค้าคนกลางในพื้นที่ ซึ่งนำไปขายต่อให้ตัวกลางซึ่งมักเป็นสหกรณ์ในท้องที่หรือเมืองใกล้เคียงอีกทอดหนึ่ง จากนั้นสหกรณ์จึงส่งต่อให้บริษัทค้าโกโก้ระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งจะป้อนโกโก้ให้บริษัทผลิตช็อกโกแลตทั่วโลก โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตขนาดใหญ่จะรับซื้อโกโก้จากหลายแหล่ง ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตช็อกโกแลตจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะรับซื้อโกโก้ “สกปรก” ทั้งแบบรู้หรือไม่รู้ตัว และยากที่จะมั่นใจได้ว่าโกโก้ที่ตนซื้อ มาจากแหล่งผลิตที่ถูกกฎหมาย หรือปราศจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่
ที่ผ่านมามีผลการศึกษาและสื่อจำนวนมากได้รายงานความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการใช้แรงงานทาสในไอวอรี่โคสต์ กับการรับซื้อโกโก้อย่างไม่ยั่งยืนของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ระดับโลก ตัวอย่างเช่นรายงาน “Chocolate’s Dark Secret: How the Cocoa Industry Destroys National Parks” จัดทำโดย Mighty Earth องค์กรระดับโลกที่รณรงค์และทำงานเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ช็อกโกแลตหลากยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Mars, Hershey’s, Nestlé, Mondelez, Lindt หรือ Ferrero ล้วนเคยใช้โกโก้ที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย หรือเหตุการณ์ในปี 2548 ที่องค์กรสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Rights Fund) ได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง และบริษัทค้าโกโก้อีกสองแห่ง ในข้อหาบังคับใช้แรงงานเด็กในไร่โกโก้ในไอวอรี่โคสต์
ในด้านผู้บริโภค ปัจจุบันเริ่มมีคน “ส่งเสียง” เรียกร้องให้บริษัทในอุตสาหกรรมช็อกโกแลตมีความรับผิดชอบในการจัดหาโกโก้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดเช่นการเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์ของ actions.sumofus.org ที่ผู้บริโภคทั่วโลกรวมกว่าสองแสนรายได้ร่วมลงชื่อออนไลน์ เพื่อยื่นคำร้องให้บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่แห่งหนึ่งเลิกรับซื้อโกโก้ที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า
แม้ปัจจุบันความพยายามในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเพาะปลูกโกโก้อาจยังไม่เห็นผลชัด แต่องค์กรระดับนานาชาติ ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก็มีการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและเยียวยาปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเดือนมีนาคมปี 2560 เจ้าชายชาร์ลส์แห่งเวลส์ได้ทรงเป็นประธานในการจัดประชุมบริษัทช็อกโกแลตเพื่อหาข้อตกลงเรื่องการยุติการทำลายป่าไม้ โดยมีบริษัทผลิตช็อกโกแลตชั้นนำระดับโลกจำนวน 34 บริษัทเข้าร่วม ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนได้มีการจัดประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Change Conference – COP23) ในการประชุมครั้งนี้บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตและโกโก้ชั้นนำจากประเทศไอวอรี่โคสต์และกานารวมทั้งสิ้น 21 บริษัทได้ลงนามที่จะปฏิบัติตามกรอบแนวทางการลดปัญหาตัดไม้ทำลายป่าของโครงการ Cocoa & Forests Initiative
โครงการ Cocoa & Forests Initiative ได้กำหนดกรอบแนวทางในการหยุดการทำลายและฟื้นฟูป่า โดยมีหัวใจสำคัญว่า “ห้ามมิให้มีการบุกรุกป่าไม้เพื่อเพาะปลูกโกโก้อีกต่อไป” กรอบแนวทางดังกล่าวประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ปกป้องและฟื้นฟูผืนป่า ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่ป่าที่ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย เช่น ถูกยึดเป็นพื้นที่ปลูกโกโก้หรือปาล์มน้ำมัน 2) เร่งลงทุนในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน เป้าหมายคือการ “ปลูกโกโก้มากขึ้น แต่ใช้พื้นที่น้อยลง” โดยการเพิ่มผลิตภาพของการดำเนินงานในไร่โกโก้ และ 3) เปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม เพราะสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรบุกรุกป่าในแอฟริกาตะวันตกคือความยากจน ด้วยเหตุนี้ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มพลังของชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างยั่งยืน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลของไอวอรี่โคสต์และกานาได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาตัดไม้ทำลายป่าอย่างจริงจังมากขึ้น โดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาในที่ประชุมสมัชชาฯ ว่า จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการกำจัดการเพาะปลูกโกโก้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแบบผิดกฎหมาย เร่งลงทุนในกระบวนการผลิตโกโก้ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ไอวอรี่โคสต์ยังได้เข้าร่วมโครงการ Cocoa Carboneutre Initiative และประกาศว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปจะผลิตโกโก้ที่ปราศจากการทำลายป่าไม้โดยสิ้นเชิง (Zero deforestation cocoa) อย่างไรก็ดี ในแง่ภาคปฏิบัติก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลได้ดำเนินตามคำสัญญามากน้อยเพียงใด
ในส่วนของภาคเอกชน แรงกดดันทั้งจากฝั่งองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน คู่แข่ง และผู้บริโภคทั่วโลก ประกอบกับการเคลื่อนไหวของภาครัฐส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมช็อกโกแลตเริ่มตื่นตัวกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และมุ่งมั่นที่จะสรรหาและรับซื้อโกโก้อย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Cargill บริษัทค้าขายเมล็ดโกโก้ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับบริษัทผลิตช็อกโกแลตทั่วโลกโดย Cargill ยอมรับว่า การทำไร่โกโก้อย่างผิดกฎหมายมีผลกระทบต่อป่าไม้ในแอฟริกาตะวันตกจริง และมองว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้นับเป็นความเสี่ยงต่อการจัดหาวัตถุดิบในระยะยาว ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้กำหนดแนวทางการจัดหาเมล็ดโกโก้อย่างยั่งยืน อาทิ สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกโกโก้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ให้ความรู้การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนแก่กลุ่มเกษตรกร และจ่ายค่าพรีเมียมหรือเงินส่วนเพิ่มให้กับเมล็ดโกโก้ที่มาจากการเพาะปลูกที่ยั่งยืน
อีกด้านหนึ่ง บริษัทผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่หลายแห่งก็ได้ออกมาตรการการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และมีนโยบายการจัดหาวัตถุดิบโกโก้อย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น Mars เจ้าของแบรนด์ M&M’s ตั้งเป้ารับซื้อเฉพาะโกโก้ที่ผ่านการรับรองว่ามาจากแหล่งเพาะปลูกที่ยั่งยืนร้อยละ 100 ภายในปี 2563 พร้อมเปิดตัวโครงการ Sustainability in the generation ที่ใช้งบประมาณเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน รวมถึงทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งคล้ายคลึงกับเป้าหมายของ Hershey ที่ประกาศว่าจะรับซื้อโกโก้จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนร้อยละ 100 ภายในปี 2563 เช่นเดียวกัน
ในขณะที่ Mondelēz ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตยี่ห้อ Green & Black’s ซึ่งเป็นสินค้าออร์แกนิคและได้รับมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการเปิดตัว “Cocoa Life” ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน คู่ค้า และชุมชน ในการสร้างห่วงโซ่อุปทานช็อกโกแลตที่ยั่งยืน โครงการนี้เพิ่มศักยภาพของเกษตรกรผ่านการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมการเพิ่มอำนาจแก่สตรี และสนับสนุนการศึกษาแก่เยาวชน เพื่อสร้างชุมชนเกษตรกรอันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญให้เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็เป็นการรับรองว่าบริษัทจะได้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
แล้วในฐานะผู้บริโภคเราสามารถทำอะไรได้บ้าง? ผู้ที่ชื่นชอบช็อกโกแลตแต่ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่าอาจเริ่มต้นจากการเลือกหยิบช็อกโกแลตที่มีตราสัญลักษณ์กบสีเขียวของ Rainforest Alliance Certified™ ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวเสมือนเครื่องหมายรับรองว่าสินค้านั้นๆ ใช้วัตถุดิบจากฟาร์มหรือป่าพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการเป็นไปตามเกณฑ์การปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า รวมไปถึงการดูแลแรงงานและชุมชนโดยรอบ ส่วนผู้ที่อยากทานช็อกโกแลตแบบไม่มีแรงงานทาสแถมพ่วงก็อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ Fairtrade ซึ่งบ่งบอกว่าช็อกโกแลตนั้นมีการรับซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงผ่านเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แน่นอนว่าปัญหาในห่วงโซ่อุปทานช็อกโกแลตนี้คงไม่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า การผลิตช็อกโกแลตที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการนั้น ไม่จำเป็นต้องแลกกับผืนป่าที่ธรรมชาติรังสรรค์มาให้ หรือแลกกับความทุกข์ทรมานของเกษตรกรผู้โดนเอาเปรียบ นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐ เอกชน ผู้บริโภค รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ต่างพยายามขับเคลื่อนไปสู่การผลิตและการจัดซื้อโกโก้ที่ “เป็นมิตร” และ “เป็นธรรม” มากขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้ลิ้มรสช็อกโกแลตที่ปราศจากความ “ขมขื่น” อย่างสิ้นเชิง
เอกสารอ้างอิง:
http://www.mightyearth.org/wp-content/uploads/2017/09/chocolates_dark_secret_english_web.pdf
https://actions.sumofus.org/a/cadbury-s-stop-funding-this-environmental-crisis
http://www.ethicalcorp.com/ending-deforestation-west-africa-we-can-turn-cocoa-farmers-climate-heroes
http://www.mars.com/global/sustainable-in-a-generation
https://www.cocoalife.org/