หลายคนอาจเคยได้ยินว่าเรากำลังอยู่อาศัยในมาตรธรณีกาลที่เรียกว่า ‘แอนโทรโปซีน (Anthropocene)’ ช่วงเวลาที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทิ้งขยะจำนวนมหาศาลลงในมหาสมุทร หักร้างถางพงผืนป่าแล้วเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถมผืนดินด้วยปุ๋ยเคมี ปล่อยมลภาวะทางอากาศ เช่น แก๊สเรือนกระจกจนเกิดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ ‘รอยเท้า’ ของมนุษย์ซึ่งยากจะลบเลือน นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงประกาศว่าโลกได้ขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ที่ชื่อว่าแอนโทรโปซีน ซึ่งเป็นส่วนผสมของคำว่า anthropo- ที่แปลว่ามนุษย์และ -cene ที่แปลว่าใหม่ โดยจะเป็นยุคสมัยที่ต่อเนื่องจากยุคโฮโลซีน (Holocene) ที่เริ่มต้นเมื่อราว 11,700 ปีก่อนหลังสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง
แม้ข้อมูลหลายแหล่งจะยังไม่สรุปว่าใครคือผู้คิดค้นคำว่าแอนโทรโปซีน แต่ชายที่ทำให้คำดังกล่าวเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือพอล ครูตเซน (Paul Crutzen) นักเคมีชาวเนเธอร์แลนด์ผู้ล่วงลับ เขาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานค้นพบผลกระทบของสารเคมีที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ หลังจากนั้นคำดังกล่าวก็ฮิตติดลมบนโดยพบการกล่าวถึงในบทความวิชาการจำนวนมาก กระทั่งสำนักพิมพ์ Elsevier ได้เปิดตัววารสารวิชาการหัวใหม่โดยใช้ชื่อ Anthropocene
กว่าจะเป็น ‘ยุคสมัย’ ใหม่
การกำหนดยุคสมัยตามมาตรธรณีกาลจะอ้างอิงจากฟอสซิลที่ขุดพบในแต่ละชั้นหิน ตลอดหน้าประวัติศาสตร์กว่า 4.5 พันล้านปีของโลก นักธรณีวิทยาตัดแบ่งขอบเขตยุคสมัยโดยอ้างอิงจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีในมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าในช่วงแรกของอารยธรรมมนุษย์ เรายังทิ้งรอยเท้าบนหน้าประวัติศาสตร์โลกไว้ไม่มากนัก กระทั่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างก้าวกระโดดราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลและนำไปสู่การเปลี่ยน ‘ระบบ’ โดยรวมของโลกอย่างมีนัยสำคัญ
นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันต่างเห็นต้องตรงกันว่ากิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการเกษตรกรรม การแปลงสภาพเป็นเมือง การตัดไม้ทำลายป่า ก็ทำให้พื้นผิวโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากจะกลับคืน อย่างไรก็ดี นักธรณีวิทยาก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าผลกระทบที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งถือเป็นชั่วระยะเวลาสั้นๆ ของประวัติศาสตร์โลกอันยาวนานจะถูกบันทึกลงบนชั้นหินหรือฟอสซิลเฉกเช่นเหตุการณ์ในอดีต
แน่นอนว่าฝั่งผู้สนับสนุนให้มีการกำหนดยุคแอนโทรโปซีนไม่เห็นด้วยกับคำโต้แย้งดังกล่าว พวกเขาและเธอยกตัวอย่างวัสดุสังเคราะห์สมัยใหม่ที่กระจายไปทั่วทั้งในมหาสมุทรและผืนดิน เช่น พลาสติก คอนกรีต และอลูมิเนียม รวมทั้งสารเคมีอย่างไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในดินที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในศตวรรษที่ผ่านมา ยังไม่นับโลหะหนักหลากชนิดและสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในธรรมชาติจากกิจกรรมของมนุษย์
แต่การประกาศ ‘ยุคสมัยใหม่’ ไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากทำก็ทำได้ เรามีคณะทำงานการลำดับชั้นหินสากล (International Commission on Stratigraphy) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาชั้นหิน แบ่งยุคสมัย พร้อมกับตั้งชื่อยุคดังกล่าวให้เหมาะสม ปัจจุบัน คณะทำงานดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการตามหา ‘หมุดทอง (golden spike)’ หรือเหตุการณ์สำคัญที่แบ่งสองยุคสมัยออกจากกัน เมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการดังกล่าวได้ข้อสรุป เมื่อนั้นเราก็จะเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีนอย่างเป็นทางการ
วันไหนคือ ‘จุดเริ่มต้น’
การกำหนดยุคแอนโทรโปซีนจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่จะได้เห็นการ ‘เปลี่ยนยุคสมัย’ ด้วยสองตาของตนเอง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์อีกด้วย การตัดสินใจเลือกหมุดทองจึงต้องกระทำอย่างถี่ถ้วนรัดกุม
จวบจนปัจจุบันหมุดทองของยุคแอนโทรโปซีนก็ยังไร้ข้อสรุป แต่มีข้อเสนอหลากหลายเสียง เช่น ครูตเซนที่ตีพิมพ์บทความวิชาการเสนอว่ายุคสมัยดังกล่าวควรเริ่มตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เกิดการผลิตสินค้าจำนวนมาก การทำเหมืองแร่อย่างแพร่หลาย รวมถึงการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีเข้มข้น ส่วนนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าแอนโทรโปซีนควรจะเริ่มต้นเมื่อราว พ.ศ. 2493 หลังจากที่นิวเคลียร์ได้ทิ้ง ‘แผลเป็น’ ไว้บนผิวโลกทั้งชิ้นหิน ต้นไม้ และชั้นบรรยากาศ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของจำนวนประชากร อุตสาหกรรม และการใช้พลังงาน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเสนอให้ย้อนกลับไปถึงยุคที่มนุษย์เริ่มตั้งรกรากและทำการเกษตรซึ่งสามารถพบหลักฐานปรากฎอยู่ในชั้นหิน
คณะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแอนโทรโปซีนโดยเฉพาะได้รวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ 10 จุดรอบโลก ตั้งแต่ถ้ำทางตอนเหนือของอิตาลี แนวปะการังในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ประเทศออสเตรเลีย ไปจนถึงทะเลสาบในจีน สรุปเป็นข้อเสนอในรายงานฉบับล่าสุดที่เห็นพ้องต้องกันว่าโลกได้เคลื่อนสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว และจุดเปลี่ยนสำคัญที่อาจเป็นหมุดทองของยุคแอนโทรโปซีนคือระเบิดปรมาณู อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ
ยุคสมัยใหม่สำคัญอย่างไร?
การตั้งชื่อยุคสมัยคงเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับใครหลายคน ผู้เขียนเองก็ยังจำได้ดีว่าสมัยเรียนต้องมานั่งท่องว่ายุคออร์โดวิเชียน ไตรแอสสิค และจูราสสิคต่างกันอย่างไรเพื่อใช้สำหรับสอบ แต่การกำหนดยุคสมัยแอนโทรโปซีนนั้นต่างออกไป เพราะการประกาศว่าโลกได้เข้าสู่ยุคใหม่อย่างเป็นทางการนคือการยอมรับว่ากิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างผลกระทบต่อโลกในระดับที่ไม่สามารถฟื้นกลับมาในสภาพเดิมได้อีกต่อไป
การเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีนคงไม่ต่างจากการ ‘ดับฝัน’ ของคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการย้อนถอยอารยธรรมมนุษย์ให้กลับไปในยุคที่ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ เพราะในความเป็นจริงนั้น โลกใบเดิมจะต้องดูแลประชากรกว่าหมื่นล้านชีวิต หรือเพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่าตัวหากเทียบกับ 200 ปีก่อน
ส่วนภาคธุรกิจในฐานะกลไกอันทรงพลังที่ขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบันก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่โดยเริ่มจากเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อโลกใบเดิมเสียใหม่ ตระหนักถึงข้อจำกัดและผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยังแล้วปรับวิธีคิดทางธุรกิจจากเดิมที่ ผลิต-จำหน่าย-ทิ้ง ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อแสวงหากำไร สู่การตั้งคำถามว่าธุรกิจจะอยู่รอดอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากผลกำไร
ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่าเมื่อยุคสมัยใหม่มาถึง เราจะหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนจากความพยายามเอาชนะและควบคุมธรรมชาติเช่นในอดีต สู่การพิจารณาว่าจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไรโดยยังคงไว้ซึ่งระดับคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสำหรับคนยุคปัจจุบันและลูกหลานของเราในอนาคต
เอกสารประกอบการเขียน
Anthropocene: The journey to a new geological epoch
What is the Anthropocene? And why does it matter?
What is the Anthropocene and why does it matter?