เมื่อวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน สำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์กรภาคี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 2 หรือ Asean Conference on Biodiversity โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อการประชุมว่าด้วย ‘ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 ท่าน ประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน สถาบันระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ นักเรียน และสื่อมวลชน
ในการประชุมดังกล่าว การลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity finance) ก็นับเป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ ไบโอฟิน (the Biodiversity Finance Initiative – BIOFIN) ที่ดำเนินการใน 30 ประเทศทั่วโลก และเป็นหัวข้อหลักในการประชุมหนึ่งวันเต็ม
คนอาจจะสงสัยหากได้ยินชื่อโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพเป็นครั้งแรก เพราะคำว่า การลงทุน มูลค่า และการเงิน ดูจะเป็นคำที่อยู่ห่างไกลหรือแทบจะเป็นขั้วตรงข้ามของคำว่า การอนุรักษ์ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ปัจจุบัน นักเศรษฐศาสตร์มีหน้าที่ที่จะประเมินคุณค่านิเวศบริการให้เป็นตัวเงินโดยอาศัยข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับระบบนิเวศจากนักวิทยาศาสตร์
ความหลากหลายทางชีวภาพในที่นี้ กินความครอบคลุมมากกว่าความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (taxonomic diversity) โดยรวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic diversity) และความหลากหลายทางระบบนิเวศ (ecological diversity) ตามนิยามในข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
ย้อนกลับไปในอดีต การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพดูจะเป็นเรื่อง ‘เฉพาะกลุ่ม’ ที่ค่อนข้างห่างไกลความสนใจของสังคมที่ดูจะตัดขาดเรื่องธรรมชาติออกจากชีวิตประจำวัน หลายคนมองทรัพยากรเหล่านั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรืองานอดิเรก และเห็นว่าหน้าที่การอนุรักษ์เป็นเรื่องของภาครัฐหรือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน หลายคนเริ่มมองเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เมื่อสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งระบบนิเวศไม่ว่าจะเป็น ป่าเขตร้อน ป่าชายเลน หรือแนวปะการัง ถูกคุกคามและทำลายโดยกิจกรรมของมนุษย์ และนับวันผลกระทบจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็จะแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดขึ้น
สิ่งเดียวที่ขาดหายไป คือ การสื่อสารความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพด้วยภาษาที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถเข้าใจได้
แม้ว่านักคิดหลายท่านจะเคยเขียนถึง นิเวศบริการ (ecosystem services) กล่าวคือ แนวคิดที่ว่าระบบนิเวศเปรียบเสมือนเครื่องจักรซับซ้อนที่สามารถสร้างประโยชน์ให้มนุษย์ แนวคิดดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยนักเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรและนักสิ่งแวดล้อม การประเมินระบบนิเวศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Ecosystem Assessment) ได้นิยามนิเวศบริการโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
- บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (provisioning services) หมายถึง การให้บริการวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำสะอาด แร่ธาตุ แหล่งอาหาร และไม้ เป็นต้น
- บริการด้านการควบคุม (regulating services) หมายถึง การควบคุมปรากฏการณ์และกระบวนการทางธรรมชาติของระบบนิเวศ เช่น การควบคุมสภาพภูมิอากาศ การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การป้องกันน้ำท่วม และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เป็นต้น
- บริการด้านวัฒนธรรม (cultural services) หมายถึง ประโยชน์ทางนามธรรมที่ดำรงคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ประเพณี การพักผ่อนหย่อนใจ ความเพลิดเพลินจากความงดงามของธรรมชาติ เป็นต้น
- บริการด้านการสนับสนุน (supporting services) หมายถึง กระบวนการทางธรรมชาติที่สนับสนุนบริการอื่นๆ เช่น เป็นแหล่งธาตุอาหาร เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์วัยอ่อน เป็นต้น
นิเวศบริการทั้งสี่ประเภท ภาพจาก greatecology
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างระบบนิเวศป่าชายเลนซึ่งผลิตบริการทั้งสี่ประเภท ตั้งแต่เป็นแหล่งไม้เพื่อใช้ทำถ่าน (บริการด้านเป็นแหล่งผลิต) ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (บริการด้านการควบคุม) เป็นแหล่งท่องเที่ยวชมธรรมชาติ (บริการด้านวัฒนธรรม) และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อน (บริการด้านการสนับสนุน)
หลังจากสามารถระบุนิเวศบริการได้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ก็จะใช้ตัวแบบต่างๆ เพื่อทำการคำนวณมูลค่านิเวศบริการเหล่านั้นออกมาเป็นตัวเงิน
องค์กรระดับโลก ‘เศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (The Economics of Ecosystems and Biodiversity – TEEB)’ คือ แรงขับเคลื่อนหลักในแหล่งรวมองค์ความรู้ในการเฟ้นหาวิธีการที่จะแปลงนิเวศบริการเหล่านั้นให้เป็นตัวเงิน โดยเน้นย้ำเสมอว่าการประเมินมูลค่าบริการและสินค้าจากระบบนิเวศ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมูลค่าระบบนิเวศนั้นๆ โดยไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ของระบบนิเวศ กล่าวคือ หากระบบนิเวศใดมีมูลค่านิเวศบริการค่อนข้างต่ำ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถทำลายระบบนิเวศนั้นๆ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานทดแทนได้
การประเมินมูลค่านิเวศบริการฉายให้เห็นมูลค่าที่เราได้รับจากความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวเลขเหล่านั้นนำไปสู่คำถามต่อไปที่ว่า แล้วเราลงทุนเพื่อบำรุงรักษา ‘ทุนทางธรรมชาติ’ อย่างเพียงพอแล้วหรือยัง หรือกำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นจนเกินขอบเขต ?
ตัวเลขผลประโยชน์จากนิเวศบริการที่เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ประจวบเหมาะกับองค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี พ.ศ. 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ และการประชุม COP10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ก็ได้ข้อสรุปในระดับโลก คือ เป้าหมายไอจิ (Aichi Target) ซึ่งเป็นปลายทางของการอนุรักษ์ในระยะสั้น เพื่อให้ทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปร่างแผนยุทธศาสตร์ของตนเอง ทั้งสองปัจจัยจุดประกายให้เกิดโครงการ ไบโอฟิน ภายใต้การจัดการโดย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP)
ก้าวแรก การลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ลงนามในข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีข้อผูกพันบนเวทีระดับนานาชาติในการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมายไอจิ โดยมีโครงการไบโอฟิน ซึ่งทำงานร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุน
แนวทางการดำเนินโครงการไบโอฟินแต่ละประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกัน ก้าวแรกของการทำงานคือการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะพิจารณางบประมาณการลงทุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม
“งบประมาณและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพของไทยอาจสูงถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (Gross Domestic Product: GDP) แต่ดูเหมือนว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับคุณค่าที่เราได้จากความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี เราได้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากแต่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์เท่าที่ควร” ดร.ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการคลังสาธารณะ ให้ข้อมูล
ดร.ธีธัช อธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวเลขสัดส่วนการลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพนั้นรวมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การป้องกันไฟป่า การดูแลคุณภาพน้ำและป้องกันมลพิษทางทะเลไว้ด้วย
“ผมได้ประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินภาพรวมการลงทุนในความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และบางส่วนมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข”
“งบประมาณที่เราใช้ส่วนใหญ่คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยมีหน่วยงานหลักด้านการอนุรักษ์ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น และมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น โครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลน ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์จะอยู่ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหลัก เช่น การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและพันธุกรรมจากการวิจัย ซึ่งรวมถึงการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก นอกจากนั้นยังมีเศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น กล้วยไม้ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ผ้าไหม ผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) ให้การสนับสนุน”
ดร.ธีธัช เชื้อประไพศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการคลังสาธารณะ
หลังจากที่เรารับทราบการลงทุนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวเลขที่ตัวหนึ่งที่เราต้องหาคือระดับการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่ง ดร. อรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายว่าจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ระบบนิเวศคือ ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ระบบนิเวศบก และระบบนิเวศเมือง
“เราต้องหาคำตอบว่างบประมาณที่เหมาะสมควรจะมีเท่าไร เช่น หากเราพบว่าระบบนิเวศชายฝั่งกำลังเสื่อมโทรม เราจำเป็นต้องใช้งบประมาณขั้นต่ำเท่าไหร่เพื่อฟื้นฟู และหากต้องการทำให้มีสภาพดีที่สุด เช่น ฟื้นฟูทั้งปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน จะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่
“ตัวเลขตรงนี้จะมาจากตัวเลขการบริหารจัดการทรัพยากรประเภทเดียวกันในประเทศอื่น โดยพิจารณาว่ามีทางเลือกอะไรบ้างและทางเลือกใดดีที่สุด” อ.อรพรรณ อธิบาย
เมื่อได้ทั้งสองตัวเลข คืองบประมาณที่ใช้ในปัจจุบัน และระดับเงินลงทุนที่เหมาะสม เราก็จะสามารถมองเห็น ‘ช่องว่าง (gap)’ ที่สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมถึงฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
ปิดช่องว่าง ด้วยกลไกทางการเงิน
เงินสำหรับลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในปัจจุบันมีแหล่งที่มาจากภาษีอากร และการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพยากร เช่น การปันส่วนเงินภาษีทั่วไปเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ หรือการเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ นอกจากเครื่องมือพื้นฐานเหล่านั้น อ.อรพรรณก็ยังแนะนำกลไกทางการเงินอีกหลายอย่างเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
“ประเทศไทยยังไม่เคยใช้กลไกทางการเงินอย่างการวางเงินค้ำประกันให้ปฏิบัติตามสัญญา หรือ Performance Bond ที่สามารถนำมาใช้กับโครงการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซหรือน้ำมัน เงินค้ำประกันดังกล่าวก็เปรียบเสมือนพันธบัตรที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการเพื่อเป็นเงินมัดจำ เวลาที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ แทนที่เราจะต้องมาเถียงกันว่าหน่วยงานไหนต้องรับผิดชอบ ก็จะใช้เงินก้อนนี้จ่ายไป นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างการถือครองก็สามารถนำมาใช้ฟื้นฟูหรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วย” อ.อรพรรณ ยกตัวอย่าง
นอกจากการวางเงินค้ำประกัน อ.อรพรรณ ก็แนะแนวทางอื่นๆ เช่นกลไกการจ่ายค่าตอบแทนของนิเวศบริการ (Payment for ecosystem services: PES) กล่าวคือผู้ได้รับประโยชน์จากนิเวศบริการ เช่น ผู้ที่อยู่ปลายน้ำอย่างคนเมือง ที่มีน้ำสะอาดใช้ตลอดปี ก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการรักษาป่าต้นน้ำเนื่องจากเป็นผู้ได้รับประโยชน์ หรือกลไกออฟเซ็ตความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity offset) คือองค์กรที่การดำเนินการส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพจะต้องลงทุนในโครงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้องค์กรดังกล่าว ‘เป็นกลาง’ ทางความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity neutral)’ กล่าวคือความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการดำเนินงานขององค์กร
ดร. อรพรรณ ศรีเสาวลักษณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
“หลายคนอาจจะยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับระบบนิเวศ เช่น ระบบนิเวศป่าช่วยทำให้เรามีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่เพียงพอ เมื่อคนปลายน้ำไม่เห็นความเชื่อมโยง การที่เราจะเอาแนวคิด PES ไปใช้ก็อาจทำให้พวกเขาไม่พอใจ แต่เราจะพยายามสื่อสารว่าในระยะสั้นเขาอาจจะมองไม่เห็นหรอก แต่ในระยะกลาง หรือระยะยาว เขาจะเห็นผลกระทบ
“ในทางเศรษฐศาสตร์ สินค้าสาธารณะอย่างระบบนิเวศป่า ปะการัง หรือป่าชายเลน จะโดนใช้ประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พอผลกระทบเกิดขึ้นรัฐก็ต้องเข้าไปดูแลโดยใช้เงินภาษี สุดท้ายคนที่ต้องจ่ายก็คือประชาชน คือเราต้องการบอกว่า ใครที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก็ควรเป็นผู้ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพทรัพยากรเหล่านั้น” อ.อรพรรณ อธิบาย
อย่างไรก็ดี กลไกดังกล่าวอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แอนนาเบลล์ ทรินิแดด (Annabelle C. Trinidad) ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการไบโอฟิน ประเทศไทย จึงย้ำว่า “โครงการไบโอฟิน ไม่ใช่แค่การจัดหาเงินหรือทรัพยากรเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของการลงทุนนั้นด้วย ดิฉันอยากให้ลองจินตนาการว่า ปัญหาตอนนี้ก็เหมือนถังน้ำที่มีรูรั่ว ต่อให้เราพยายามหาน้ำมาใส่เท่าไหร่ สุดท้ายปัญหามันก็ยังอยู่เหมือนเดิม
“นี่คือสิ่งแรกที่ไบโอฟินต้องการแก้ไข คือการอุดรูรั่วก่อนที่จะใส่น้ำลงไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เรื่องการคลัง หรือทางเศรษฐศาสตร์ ก็นับว่าใหญ่มากแล้ว”
แอนนาเบลล์ ทรินิแดด (Annabelle C. Trinidad) ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการไบโอฟิน ประเทศไทย
จากประสบการณ์การทำงานโครงการไบโอฟินในหลายประเทศ อาทิที่ฟิลิปปินส์ แอนนาเบลล์อธิบายว่าปัญหาหลักที่ยังแก้ไม่ตกคือการทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นกระแสหลัก (mainstreaming biodiversity) กล่าวคือการทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย พร้อมกับโครงสร้างสถาบันที่เข้ามาดูแลประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง
“สิ่งที่เราต้องคิดไปพร้อมๆ กับการเริ่มโครงการไบโอฟินคือใครจะเป็นผู้เข้ามาสานต่อหลังจากโครงการนี้ เช่น อาจสร้างโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อมาดูแลการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง และอาจรวมถึงผู้เล่นอย่างภาคธุรกิจ ซึ่งในฟิลิปปินส์ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากภาคธุรกิจมีความเข้าใจในประเด็นนิเวศบริการ เราจะได้ยินภาคธุรกิจบอกว่าการดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างบริษัทผู้ผลิตน้ำแร่ก็ย่อมต้องการน้ำสะอาด ดังนั้นการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจที่สมเหตุสมผล” แอนนาเบลล์ อธิบาย
ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่บนพื้นที่ใดของโลก เราต่างก็ได้รับทั้งผลผลิตและบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นแนวคิดที่ว่าการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพเป็นต้นทุนจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงอีกต่อไป เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้ก็จะส่งคืนกลับมายังมนุษย์ แต่ในทางกลับกัน หากเราละเลยการอนุรักษ์จนทรัพยากรได้รับความเสียหายจนเกินเยียวยา ผลเสียก็จะย้อนคืนกลับมาที่มนุษย์เอง การลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดช่องว่างในระดับนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
เอกสารประกอบการเขียน
Secretariat of the Convention on Biological Diversity (2014). Global Biodiversity Outlook 4. Montréal, 155 pages.
UNDP. Fact Sheet. Retrieved March 12, 2016, from https://www.cbd.int/undb/media/factsheets/undb-factsheets-en-web.pdf
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ; ผู้เรียบเรียงและปรับปรุง (2015). คู่มือคุณค่าของระบบนิเวศและนิเวศบริการสำหรับภาคธุรกิจ. กรุงเทพฯ : Enhancing the Economics of Biodiversity and Ecosystem services in Thailand/Southeast Asia