หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “บล็อกเชน” ผ่านหูกันมาบ้าง จากอิทธิพลของกระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มาแรงในหมู่นักลงทุนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่เราทุกคนคิด โดยในปัจจุบัน หลายประเทศในทวีปยุโรปได้เริ่มนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับปัญหาด้านความยั่งยืน บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับปัญหาด้านความยั่งยืนว่าทำได้อย่างไร

เทคโนโลยีบล็อกเชนคืออะไร?

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูลขนาดใหญ่แบบกระจายศูนย์ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนสมุดบัญชีขนาดใหญ่ที่บันทึกข้อมูลทุกอย่างไว้บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยฐานข้อมูลบล็อกเชนจะจัดเก็บข้อมูลไว้ในบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ (Chain) และไม่สามารถลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้หากไม่ได้รับฉันทามติจากเครือข่าย ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงถูกนำมาใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการเน้นเรื่องความปลอดภัย ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ เช่น ภาคส่วนการเงินการธนาคาร ภาคส่วนการลงทุน และการจัดการข้อมูล เป็นต้น (IBM, n.d.)

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างจากเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายอื่น ๆ 3 ประการ คือ

  1. มีความปลอดภัย (Immutability) เนื่องจากข้อมูลในเครือข่ายบล็อกเชน ถูกเชื่อมโยงกันด้วยระบบเข้ารหัสหรือแม่กุญแจ ทำให้การแก้ไขข้อมูลย้อนหลังทำได้ยาก
  2. มีความโปร่งใส (Transparency) เนื่องจากทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลในเครือข่ายบล็อกเชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ลดการเกิดปัญหาที่ทั้งสองฝ่าย (เช่น ผู้ผลิตและผู้บริโภค) มีข้อมูลในการตัดสินใจไม่เท่ากัน (Asymmetric Information)
  3. มีความน่าเชื่อถือ (Trust) เนื่องจากข้อมูลที่อยู่ในเครือข่ายบล็อกเชนจะได้รับการยืนยันฉันทามติจากคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ทำให้ข้อมูลทุกอย่างในเครือข่ายไม่สามารถปลอมแปลงได้

ด้วยคุณสมบัติทั้งสามประการนี้ทำให้เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องการความโปร่งใสและตรวจสอบได้

เทคโนโลยีบล็อกเชนกับการจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน

ในปัจจุบัน ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าแต่ละชนิดมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์หลายพันรายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การจัดการข้อมูลห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำทำได้ค่อนข้างยาก ส่งผลให้ขาดความโปร่งใส ตัวอย่างเช่น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ พยายามประกาศนโยบายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มของการบริโภคที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น[1] อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคแทบไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ข้อมูลหรือนโยบายต่าง ๆ ที่บริษัทเปิดเผยนั้น มีความถูกต้อง ครบถ้วนเพียงใด เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่มาจากฝั่งผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว และทำให้เกิดเป็นช่องว่างที่ผู้ผลิตสามารถทำการฟอกเขียว (Greenwashing)[2] ต่อผู้บริโภคได้

เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงอาจเป็นทางออกสำหรับการจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานให้มีความโปร่งใสมากขึ้น  เนื่องจากคุณสมบัติของบล็อกเชนที่สามารถสร้างความโปร่งใสในการบันทึกข้อมูล จึงเอื้อต่อการสร้างระบบตรวจสอบที่ปลอมแปลงไม่ได้ แก้ไขย้อนหลังไม่ได้ ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บล็อกเชนยังมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการติดตามสถานะสินค้าแบบเป็นปัจจุบัน (real time) สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในแต่ละจุดของห่วงโซ่อุปทานได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพ และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

ตัวอย่างการเก็บข้อมูลในแต่ละหน่วยของห่วงโซ่อุปทานไว้ในเครือข่ายบล็อกเชน

ที่มา: Can the Blockchain Help Fight Climate Change? – ช่องยูทูป Bloomberg Originals (2023)

 

ตัวอย่างบริษัทที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน

Doug Johnson-Poensgen ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษชื่อว่า Circulor เห็นปัญหาของภาคธุรกิจที่ไม่มีข้อมูลในห่วงโซ่อุปทานที่ครบถ้วน ทำให้การติดตามและตรวจสอบความโปร่งใสของการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเป็นไปได้ยาก Circulor จึงคิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการจัดทำระบบที่สามารถจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใส ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่ายผ่านการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยแพลตฟอร์มของ Circulor สามารถใช้ในการติดตามข้อมูลการผลิตวัตถุดิบทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทานและบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้บนเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งทำให้เจ้าของธุรกิจหรือคนอื่น ๆ ไม่สามารถปลอมแปลงข้อมูลได้

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง บริษัท Circulor เริ่มต้นจากการจัดการข้อมูลวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า อย่างโคบอลต์และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน หลังจากนั้น ได้ขยายไปสู่การติดตามวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม ได้แก่ การติดตามการผลิตแบตเตอรี่แบบครบวงจรและเปิดเผยเส้นทางที่มาของวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำ พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลของแร่หรือวัตถุดิบ เช่น น้ำหนัก ยอดคงเหลือ สถานที่ และเวลา รวมไปถึง รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint)[3] ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการผลิตดังกล่าว (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการวัดผลเมตริกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล: ESG) และบันทึกไว้บนเครือข่ายบล็อกเชนของ Circulor

อย่างไรก็ตาม Circulor ตระหนักถึงข้อจำกัดในการจัดการข้อมูลบนเครือข่ายบล็อกเชน เนื่องจากข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบนั้นจะไม่สามารถแก้ไขได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของข้อมูล Circulor จึงเลือกใช้ชุดเทคโนโลยีที่ผสมผสาน โดยผู้ใช้สามารถทำเครื่องหมายเพื่อระบุถึงความผิดปกติของข้อมูล และตรวจสอบก่อนยืนยันการแก้ไขได้ ซึ่งสามารถลดข้อจำกัดในการจัดการข้อมูลลงได้ระดับหนึ่ง

ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่ใช้แพลตฟอร์มของ Circulor ในการจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตัวอย่างเช่น บริษัท Volvo ใช้แพลตฟอร์มนี้ติดตามปริมาณรอยเท้าคาร์บอนของการผลิตแบตเตอรี่ในทุกขั้นตอน และบริษัท Jaguar Land Rover ใช้แพลตฟอร์มนี้เพิ่มความโปร่งใสให้กับห่วงโซ่การผลิตหนังที่ใช้ในรถยนต์ เป็นต้น การใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยในการจัดการข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับความโปร่งใสของข้อมูลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้บริษัทมีข้อมูลที่ครบถ้วนสำหรับการวัดผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใสตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

Doug Johnson-Poensgen ผู้ก่อตั้ง Circulor กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการยกระดับความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานคือการสร้างความโปร่งใส” และ”ระบบของ Circulor มอบสิทธิ์ให้ลูกค้าตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นจริงภายในเครือข่ายซัพพลายเออร์ของตนเอง” ที่มา: เว็บไซต์ Circulor (2024)

 

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่หลายคนคิด และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายแง่มุม เช่น การสร้างระบบนิเวศที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปลอดภัยสำหรับห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเอื้อให้บริษัทสามารถแสดงความมุ่งมั่นต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของตนออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรานั้น มีความยั่งยืนในทุกมิติมากน้อยเพียงใด และนำมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจบริโภคสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาประยุกต์เพื่อจัดการกับปัญหาด้านความยั่งยืนในแง่มุมอื่น ๆ ได้อีกบ้าง และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีศักยภาพมากพอที่จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนในอนาคตหรือไม่

[1] งานวิจัยของ Salesforce ในเดือนกรกฎาคม 2022 พบว่า ผู้บริโภค 83% มีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพวกเขามองไปถึงวิธีปฏิบัติที่บริษัทมีต่อลูกค้าและพนักงาน และแนวทางปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์นั้น ๆ (Salesforce, 2022)

[2] การอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลกแก่บริษัท แต่อาจไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง (SET, n.d.)

[3] ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซหัวเราะ เป็นต้น ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักรชีวิต ซึ่งแหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวมาจากกิจกรรมต่างๆ (FIO, n.d.)

แหล่งข้อมูล