ทุกวันนี้โลกต้องพบเจอกับปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ อันเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่เบียดเบียนและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงไม่เพียงพอกับการสนองความต้องการที่ไม่มีสิ้นสุดของมนุษย์

ใน พ.ศ. 2530 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับอย่างเป็นทางการในระดับโลกว่า การพัฒนาที่ผ่านมาถือเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพของคน (United Nations, n.d.)

จึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกที่เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาว่า เรามากันถูกทางแล้วหรือ หรือแท้จริงแล้วนี่คือทางตันของโลกแห่งทุนนิยม หรือเป็นเพียงจุดหัวเลี้ยวที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิธีปฏิบัติ ดังนั้นจึงอาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาทบทวนว่า วิชาการต่าง ๆ ที่พัฒนากันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันช่วยแก้ปัญหาของโลก และพัฒนาชีวิตของผู้คนอย่างที่เราคิดหรือไม่ รวมไปถึงทางออกของปัญหาที่มีประสิทธิผลและยั่งยืนควรจะเป็นไปในทิศทางใด

หนังสือจิ๋วแต่แจ๋ว เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ

หนังสือจิ๋วแต่แจ๋ว เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ (Small is Beautiful) หนึ่งในหนังสือชื่อดังของนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตก อี.เอฟ.ชูเมกเกอร์ (E.F. Schumacher) มีแนวคิดว่า ระบบพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้นยังขาดมิติทางด้านจริยธรรมในการบริหารทรัพยากร หนังสือเล่มนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธเศรษฐศาสตร์กันมากขึ้น เนื่องจากมีการพูดถึง Buddhist Economics หรือเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ โดยกล่าวถึงหลักของมรรค หนึ่งในอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธ องค์ประกอบหนึ่งของมรรคคือ สัมมาอาชีวะ ซึ่งแปลว่าการเลี้ยงชีพชอบ (พระประภาส ปญฺญาคโม (ดอกไม้), 2560)

เราจะเห็นว่า ศาสนาพุทธนั้นยอมรับว่าเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ พุทธเศรษฐศาสตร์จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับหลักเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าใจปัญหาของมนุษย์ และอาจจะเป็นแนวทางการแก้ไขที่ยั่งยืนในยุคที่สภาพสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก หรือเศรษฐศาสตร์แห่งยุคอุตสาหกรรม ไว้ในหนังสือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (2548) ว่า ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับความเข้าใจในธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็ไม่สามารถนำเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาของมนุษย์ได้ ในบทความนี้จึงจะพูดถึงประเด็นของความต้องการ การบริโภค และการผลิต เนื่องจากเป็นประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์โดยตรง

ประเด็นแรก ในแง่ความต้องการของมนุษย์นั้น แม้เศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกจะมีความเข้าใจตรงกันกับพุทธศาสนาที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่พุทธศาสนาได้ขยายความต้องการออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ตัณหาหรือความต้องการสิ่งเสพปรนเปรอตน ซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัด และฉันทะหรือความต้องการคุณภาพชีวิตตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งมีขอบเขตจำกัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงความต้องการเสพสิ่งปรนเปรอตนเท่านั้น แต่ยังมีความต้องการคุณภาพชีวิต ต้องการพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่สอง คือ การบริโภค ซึ่งถือว่าเป็นจุดยอดของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก โดยเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกนิยามว่าเป็นการบริโภคเพื่อบำบัดความต้องการและเพื่อให้เกิดความพอใจสูงสุด โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะเบียดเบียนสัตว์ หรือมนุษย์ด้วยกันเองหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องเป็นการบริโภเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างแท้จริง แตกต่างจากพุทธเศรษฐศาสตร์ที่นิยามการบริโภคไว้ว่าเป็นการใช้สินค้าและบริการบำบัดความต้องการเพื่อให้ได้รับความพอใจ โดยเน้นย้ำถึงการบริโภคเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นไปในทางที่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม การบริโภคของเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกและพุทธเศรษฐศาสตร์จึงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

สุดท้ายในแง่การผลิต คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การผลิตคือการสร้างสินค้าหรือบริการขึ้นใหม่ แต่ความจริงกลับกลายเป็นการแปรสภาพใหม่โดยทำลายสภาพเก่า คือ การแปรสภาพจากวัตถุอย่างหนึ่งไปเป็นวัตถุอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะมาคู่กับการทำลายธรรมชาติ และก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่ได้จากการผลิตในรูปแบบนี้ เราจึงควรพิจารณาถึงการงดเว้นการผลิตเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วย เพราะเราก็เห็นกันแล้วว่า ขยะที่เกิดจากการผลิตและนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสมนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้

ด้วยเหตุนี้พุทธเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเหมือนศาสตร์ทางเลือก ที่ช่วยอธิบายข้อจำกัดเหล่านี้ของเศรษฐศาสตร์ตะวันตก และช่วยให้เข้าใจลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ รวมถึงยังทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์โดยรวม

สำหรับจุดเริ่มและแกนของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธคือ การบริโภคด้วยปัญญา หรือการบริโภคที่พอดี อันเป็นตัวกำหนดและควบคุมกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหม โดยการบริโภคด้วยปัญญายังสัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์ในแง่ทีทำให้เกิดความพอดีในการบริโภคและเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่บริโภคเพื่อสนองตัณหาที่ถูกปลุกเร้าจากการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ

นอกจากในส่วนของผู้บริโภค ผู้ผลิตที่ดีควรจะมีบทบาทในการคิดริเริ่ม สร้างนวัตกรรม เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีขึ้น และพัฒนาชีวิตของผู้คนในสังคม มิใช่ปลุกปั่นความต้องการของผู้บริโภค ให้ลุ่มหลงอยู่ในวังวนของการเสพสิ่งปรนเปรอ เพื่อผลประโยชน์ของผู้ผลิต

ทั้งนี้ นับว่าเป็นเรื่องดีที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักของตะวันตกหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เป็นผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้เริ่มส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีหลายทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายถึงการกระทำที่ส่งผลลบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externality) โดยยกตัวอย่างการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อสุขภาพของผู้คนโดยรอบ หรือการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs : Sustainable Development Goals) ของ United Nation เพื่อเป็นกรอบทิศทางของโลกภายหลังปี พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ผู้คนยังเริ่มตระหนักถึงปัญหาและเริ่มหาหนทางแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น งดรับประทานเนื้อสัตว์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ หรือลดการใช้ถุงพลาสติกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและชีวิตของสัตว์โลก รวมถึงผู้ผลิตเริ่มมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้เช่นกันจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไข

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวว่าเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตกในยุคอุตสาหกรรมนั้นเป็นต้นเหตุทั้งหมดของปัญหา เนื่องจากบริบทของสังคมยุคก่อนกับปัจจุบันนั้นมีความต่างกัน ในยุคก่อนผู้คนยังขาดสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เศรษฐศาสตร์ในยุคอุตสาหกรรมจึงมุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะต้องใช้ความโลภ เพื่อกระตุ้นให้คนขยันทำงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังเช่น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่แม้จะมองว่าความโลภเป็นสิ่งชั่วร้ายของมนุษย์ แต่จะต้องอาศัยสิ่งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต สนองความต้องการของมนุษย์ให้เพียงพอ จึงจะค่อยพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ที่จะขจัดสิ่งที่เรียกว่าตัณหาต่อไป (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2548)

ส่วนในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าผลเสียจากการใช้ตัณหาหรือความต้องการของมนุษย์เป็นปัจจัยในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็คือ การบริโภคนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป ผู้บริโภคได้กลายเป็นเหยื่อของผู้ผลิตที่ปลุกเร้าความต้องการบริโภคให้มากยิ่งขึ้นไปจนเป็นโทษ เช่น การบริโภคอาหารที่มากเกินจนก่อให้เกิดโรคภัย และยังเป็นการเบียดเบียนธรรมชาติ เนื่องจากทรัพยากรของโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด

การเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ยิ่งด้วยเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรง และสามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศได้อย่างใหญ่หลวง

เราจึงควรร่วมกันเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้เป็นไปในแนวทางที่สมควรตามหลักของพุทธเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นทางสายกลาง เพื่อความสงบสุขของสังคม และละเว้นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในระบบนิเวศ โดยมีการบริโภคด้วยปัญญาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มนุษย์ได้สามารถก้าวไปสู่การพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อบรรลุถึงความเจริญงอกงามทางจิตใจและปัญญา สังคมของมนุษย์จึงจะถูกพัฒนาไปอย่างยั่งยืน และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สมตามจุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็น และสมกับที่พระพรหมคุณาภรณ์เรียก เศรษฐศาสตร์ว่า “ศาสตร์อันประเสริฐ”

 

แหล่งอ้างอิง

พระประภาส ปญฺญาคโม (ดอกไม้). (2560). การบูรณาการหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของ อี เอฟ ชูเมกเกอร์ (ดุษฎีนิพนธ์). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2548).  เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (Buddhist Economics). ม.ป.ท.: มูลนิธิโกคีมทอง.

United Nations. (n.d.). Sustainable Development Goals. Retrieved from https://sustainabledevelopment.un.org/?menu=1300