ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ช็อกโกแลตนับเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราที่คนทั่วไปสามารถซื้อบริโภคได้ในราคาย่อมเยา และเป็นขนมยอดนิยมอันดับต้นๆ มานานนับศตวรรษ ทว่าขณะที่คนจำนวนมากมีความสุขกับการลิ้มชิมรสหวานปนขมของช็อกโกแลต อีกฟากหนึ่งของโลกในทวีปแอฟริกาตะวันตก ช็อกโกแลตกลับกลายเป็นของแพงเกินเอื้อม และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผืนป่าซึ่งครั้งหนึ่งเคยอุดมสมบูรณ์หายไป
ต้นโกโก้ (Cocoa หรือ Theobroma cacao) เป็นพันธุ์ไม้เขตร้อนที่มีต้นกำเนิดมาจากอเมริกากลางและประเทศเม็กซิโก เมล็ดของโกโก้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอาหาร เครื่องดื่มและขนมประเภทช็อกโกแลต ด้วยเหตุนี้เมล็ดโกโก้จึงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และเป็นที่ต้องการของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตทั่วโลก
แม้ช็อกโกแลตส่วนมากจะผลิตและบริโภคในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่แหล่งเพาะปลูกต้นโกโก้ที่สำคัญคือกลุ่มประเทศในแอฟริกาตะวันตก โดยร้อยละ 70 ของผลผลิตโกโก้ทั่วโลกมาจากแอฟริกา และกว่าร้อยละ 60 มาจากประเทศไอวอรีโคสต์ (หรือประเทศโกตดิวัวร์) และกานา ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตโกโก้มากที่สุดสองอันดับแรกในโลก
ในแง่การบริโภค ช็อกโกแลตยังคงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 มูลค่าตลาดช็อกโกแลตทั่วโลกอยู่ที่ราวแสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.26 ล้านล้านบาท คนทั่วโลกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโกโก้เป็นส่วนประกอบกว่าสามล้านตันต่อปี และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2-5 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่บีบให้เกษตรกรต้นน้ำต้องผลิตโกโก้ให้ได้มากพอต่อความต้องการซื้อของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตทั่วโลก ผลลัพธ์คือเกษตรกรในไอวอรี่โคสต์จำนวนมากบุกรุกพื้นที่สงวนและอุทยานแห่งชาติ รวมถึงตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพาะปลูกโกโก้ ปัจจุบันร้อยละ 40 ของผลผลิตโกโก้จากไอวอรี่โคสต์มาจากการทำไร่โกโก้ในพื้นที่สงวน ขณะที่ผลการสำรวจชี้ว่า ร้อยละ 90 ของพื้นที่เขตสงวน 7 แห่งในไอวอรี่โคสต์ได้กลายสภาพเป็นไร่โกโก้ไปโดยปริยาย
การเพาะปลูกโกโก้เพื่อป้อนอุตสาหกรรมช็อกโกแลตเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการลักลอบตัดไม้ในไอวอรี่โคสต์ จากสถิติพบว่าพื้นที่ป่าฝนในไอวอรีโคสต์ลดลงกว่าร้อยละ 80 ในระยะเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าฝนราว 1 ใน 10 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ขณะที่อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าก็พุ่งสูงแซงประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ Mighty Earth องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกคาดการณ์ว่า หากความต้องการช็อกโกแลตยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีใครจัดการปัญหาดังกล่าว ภายในปี 2573 ไอวอรี่โคสต์ก็จะไม่มีป่าไม้หลงเหลืออีกต่อไป
นอกจากไอวอรี่โคสต์แล้ว ประเทศกานาก็กำลังประสบกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างล้างผลาญเช่นเดียวกัน นับจากปี 2544 ถึง 2557 พื้นที่สงวนเกือบ 7.6 แสนไร่ในกานาถูกแปลงสภาพกลายเป็นพื้นที่ปลูกโกโก้ และสูญเสียพื้นที่ป่าอีกกว่า 4 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ป่าทั้งประเทศ ทั้งนี้ประมาณหนึ่งในสี่ของการทำลายป่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกโกโก้ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ นอกเขตทวีปแอฟริกาตะวันตกที่มีการเพาะปลูกโกโก้อย่างเข้มข้น เช่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐคองโก และเปรู ก็กำลังเผชิญกับปัญหาตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นผลมาจากวิถีการทำไร่โกโก้แบบไม่ยั่งยืนเช่นกัน
ในอดีตไอวอรี่โคสต์เป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์นี้เป็นแหล่งที่อยู่ของช้าง อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของไอวอรี่โคสต์ (ไอวอรี่ หรือ Ivory หมายถึงงาช้าง) ลิงชิมแปนซี และสัตว์อีกกว่า 1,000 สายพันธุ์ ทว่าเมื่อผืนป่าถูกทำลายจากการทำไร่โกโก้อย่างเข้มข้น ความหลากหลายทางชีวภาพก็ได้รับผลกระทบไปด้วย จากเดิมที่เคยมีช้างมากถึงหลักหลายแสนเชือก ปัจจุบันไอวอรี่โคสต์มีช้างเหลือเพียงไม่กี่ร้อยเชือก ลิงชิมแปนซีถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ขณะที่สัตว์ป่าชนิดอื่นก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพิกมีฮิปโป กระรอกบิน ตัวนิ่ม เสือดาว หรือจระเข้
จำนวนพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงอย่างรวดเร็วนี้ยังนำไปสู่ปัญหาระดับโลกอย่างเช่นสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าดิบชื้นเป็นระบบนิเวศที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนมากที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อป่าเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยไร่โกโก้ ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ น่าตกใจที่การผลิตดาร์กช็อกโกแลตหนึ่งแท่งจากโกโก้ซึ่งมีส่วนทำลายป่า อาจปล่อยคาร์บอนเทียบเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 7.9 กิโลเมตรเลยทีเดียว!
วิถีการเพาะปลูกโกโก้อย่างไม่ยั่งยืน นอกจากก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้อีกด้วย ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ทั่วโลกมีประมาณ 5-6 ล้านคน คิดเป็นแรงงานชาวแอฟริกากว่า 2 ล้านคน เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและต้องแบกรับความเสี่ยงสูงในการปลูกโกโก้ เนื่องจากปริมาณผลผลิตโกโก้จะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากปีใดฝนตกน้อย ปริมาณผลผลิตก็จะน้อยและมีคุณภาพต่ำ ประกอบกับข้อเสียเปรียบในแง่อำนาจต่อรอง และความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐ ทำให้หลายครั้งเกษตรกรต้องจำใจขายโกโก้ให้กับพ่อค้าคนกลางในราคาต่ำกว่าราคารับประกัน
ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำของส่วนแบ่งรายได้ ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้กับผู้ผลิตและจำหน่ายช็อกโกแลตนับวันดูเหมือนจะยิ่งถ่างกว้างยิ่งขึ้น หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้มีส่วนแบ่งรายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 16 ของมูลค่าช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง ทว่าปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.6 ขณะที่บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตได้ส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 35 โดยเฉลี่ย และร้านค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตได้มากถึงร้อยละ 44 หรือมากกว่าเกษตรกรประมาณ 5-6 เท่า ที่ตลกร้ายคือ เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้กลับยากจนถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถซื้อช็อกโกแลตแม้แต่แท่งเดียว
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมช็อกโกแลตมักถูกโจมตีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสและแรงงานบังคับ ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศเคยตีแผ่ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้แรงงานทาสและแรงงานเด็กในไร่โกโก้ในไอวอรี่โคสต์กับบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตยักษ์ใหญ่ระดับโลก เกษตรกรในไอวอรี่โคสต์จำนวนหนึ่งต้องทำงานในไร่โกโก้โดยได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม หรืออาจไม่ได้รับค่าแรงใดๆ อีกทั้งแรงงานส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ข้อมูลจาก US Department of Labour ชี้ว่าแรงงานเด็กชาวแอฟริกาตะวันตกราว 2.1 ล้านชีวิตทำงานในไร่โกโก้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน
จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า การเพาะปลูกโกโก้แบบไม่ยั่งยืนนั้นส่งผลเชิงลบโดยตรงต่อผืนป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้เพาะปลูก แล้วปัญหาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตอย่างไร ทำไมพวกเขาจึงควรต้องใส่ใจ รวมถึงปัจจุบันเรามีแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้าง ติดตามได้ในบทความตอนต่อไป
เอกสารอ้างอิง:
http://www.mightyearth.org/wp-content/uploads/2017/09/chocolates_dark_secret_english_web.pdf
https://www.uncclearn.org/sites/default/files/inventory/wbcocoa.pdf
https://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2015/sep/02/child-labour-on-nestle-farms-chocolate-giants-problems-continue
https://af.reuters.com/article/topNews/idAFKBN18L1UX-OZATP
https://www.zmescience.com/science/nestle-company-pollution-children/#Child_labor_abuse_and_trafficking