วันธรรมดาเวลาแปดโมงเช้า เด็กนักเรียนยืนเคารพธงชาติกลางลานกว้าง เมื่อเสร็จจากกิจกรรมหน้าเสาธง นักเรียนต่างเดินเรียงแถวพร้อมกับเสียงคุยจ้อกแจ้กไปยังห้องเรียนเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเรียนในคาบแรก เสียงกริ่งดังกังวาลบ่งบอกถึงเวลาเริ่มเรียน เสียงแสนเจี๊ยวจ๊าวค่อย ๆ เบาลง ครูเตรียมเอกสารประกอบการสอนพร้อมกล่าวทักทาย “เมื่อโตขึ้น นักเรียนอยากเป็นอะไร” คำถามยอดฮิตที่เด็ก ๆ ต้องทบทวนเพื่อหาคำตอบตลอดช่วงชีวิต นับแต่ประถมวัย มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา
คำตอบของเด็กเกือบ 20 ปีก่อนจะแตกต่างกับเด็กยุคปัจจุบัน ที่อยู่ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีหรือไม่?
ในปี 2020 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เผยแพร่รายงาน ‘อาชีพในฝัน?’ DREAM JOBS? Teenagers’ Career Aspirations and the Future of Work จากการเก็บข้อมูลเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 500,000 ราย ใน 41 ประเทศทั่วโลก – แน่นอนว่ามีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
จากผลสำรวจอาชีพที่เด็กนักเรียนคาดว่าจะทำตอนอายุ 30 พบว่า อาชีพในฝันของเด็กนักเรียนค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในอาชีพยอดนิยม 10 อันดับแรก อาทิ แพทย์ ครู สัตวแพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร และตำรวจ เมื่อพิจารณาข้อมูลของปี 2018 สัดส่วนการกระจุกตัวของอาชีพในฝันของเด็กนักเรียนชายอยู่ที่ร้อยละ 47 ของนักเรียนชายที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด กล่าวคือเด็กนักเรียนชายที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เกือบครึ่งมีความฝันอยากประกอบอาชีพยอดนิยม 10 อันดับแรก ได้แก่ วิศวกร นักธุรกิจ แพทย์
ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT นักกีฬาอาชีพ ครู ตำรวจ ช่างยนต์ นักกฎหมาย และสถาปนิก ในขณะที่เด็กนักเรียนหญิงเกินครึ่ง คือร้อยละ 53 ของนักเรียนหญิงที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีความฝันอยากประกอบอาชีพยอดนิยม 10 อันดับแรกของอาชีพในฝัน ได้แก่ แพทย์ ครู นักธุรกิจ นักกฎหมาย การพยาบาลและการผดุงครรภ์ นักจิตวิทยา นักออกแบบ สัตวแพทย์ ตำรวจ และสถาปนิก
รายละเอียดข้อมูลในรูปที่ 1 แสดงให้เห็นได้ว่าการกระจุกตัวของอาชีพในฝันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การสำรวจในปี 2000 จนถึงปี 2018

รูปที่1 – ความเข้มข้น (การกระจุกตัว) ของอาชีพในฝันของนักเรียนอายุ 15 ปี (2000-2018)
ที่มา: Countries reporting career expectations ใน PISA 2000, 2003, 2006, 2015 and 2018 อ้างถึงใน DREAM JOBS? Teenagers’ Career Aspirations and the Future of Work
ในปี 2018 เด็กนักเรียนหญิงมีความฝันอยากเป็นแพทย์สูงถึงร้อยละ 15.6 ในขณะที่นักเรียนชายฝันอยากเป็นวิศวกรสูงสุดร้อยละ 7.7 (รายละเอียดอาชีพในฝัน จำแนกตามเพศในตารางที่ 1)
แม้ว่าปัจจุบันโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และมีโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ รวมถึงมีปัญญาประดิษฐ์ในที่ทำงานแล้ว แต่จากข้อมูลในตารางด้านล่าง
จะเห็นได้ว่าอาชีพในฝันของเด็กนักเรียนในยุคปัจจุบัน ไม่แตกต่างจากอาชีพในฝันของเด็กนักเรียนเมื่อ 18 ปีก่อนเท่าใดนัก

ตารางที่ 1 อาชีพในฝันของเด็กนักเรียนหญิง และเด็กนักเรียนชาย เปรียบเทียบปี 2000 และ 2018
ที่มา: Countries reporting career expectations ใน PISA 2000, 2003, 2006, 2015 and 2018 อ้างถึงใน DREAM JOBS? Teenagers’ Career Aspirations and the Future of Work
Andreas Schleicher ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและทักษะของ OECD แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตของเด็ก ๆ ผ่านงาน World Economic Forum 2020 ว่า “ดูเหมือนว่าเยาวชนจำนวนมากจะเลือกงานในฝันจากอาชีพในกลุ่มที่มีความนิยมในสมัยก่อน อาทิ ครู ทนาย หรือนักจัดการธุรกิจ การสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นจำนวนมากมองข้ามหรืออาจไม่รู้จักประเภทงานใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า แรงบันดาลใจในอาชีพของเยาวชนในหลายประเทศมีความสัมพันธ์กับความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
เหตุใด อาชีพในฝันถึงกระจุกตัวอยู่ในวงแคบ ๆ และโบราณ?
เนื้อหาส่วนหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง “งานในฝันและความเป็นจริงในการจ้างงาน” (Dream Jobs and Employment Realities: How Adolescents’ Career Aspirations Compare to Labor Demands and Automation Risks) โดย Kevin Hoff ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮูสตัน รัฐเท็กซัส ที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2021 ตั้งข้อสังเกตว่า การเห็นหรือได้รู้จักงานประเภทต่าง ๆ มากขึ้นจะช่วยให้เด็ก ๆ มีความฝันในอาชีพที่กว้างยิ่งขึ้น โดยวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการช่วยให้เด็ก ๆ ค้นพบอาชีพที่หลากหลายและท้าทายคือชวนให้รู้จักกับงานที่พวกเขามักจะไม่เห็นในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่เผยแพร่ในปี 2018 โดย World Economic Forum รายงานว่า เด็กเล็กอายุ 7-11 ปีได้รับอิทธิพลจากบุคคลรอบตัวและจากสิ่งที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นงานของพ่อแม่ หรือพ่อแม่ของเพื่อน หรือบทบาทที่พวกเขาเห็นผ่านสื่อต่าง ๆ
ผลการศึกษาข้างต้นอาจไม่น่าแปลกใจนัก เพราะประสบการณ์ การเรียนรู้ และสื่อรอบตัว ย่อมส่งผลกับเด็กและเยาวชนอย่างแน่นอน แต่ก็น่าคิดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักโลกแห่งอาชีพมากเพียงใด
ปัจจุบันจึงมีองค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ พยายามส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ โครงการ Primary Futures ในสหราชอาณาจักร ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงเด็กประถมวัยกับอาสาสมัครที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับอาชีพที่หลากหลาย และไม่ยึดติดกับการมองอาชีพใดอาชีพหนึ่งแบบมีทัศนคติเหมารวม (stereotype) อาทิ มองว่าทหารต้องเป็นผู้ชาย คนทำความสะอาดบ้านต้องเป็นผู้หญิง โดยเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการจะได้พูดคุย ตั้งคำถามกับอาสาสมัคร กิจกรรมง่าย ๆ นี้ช่วยกระตุ้นความใคร่รู้ เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และทำลายทัศนคติการเหมารวมทางเพศ
ในประเทศไทยเองก็มีธุรกิจเพื่อสังคม a-cheive ที่มุ่งทำกิจกรรมแนะแนวอาชีพ สร้างฐานข้อมูลอาชีพออนไลน์ เพื่อให้เด็กมัธยมรู้จักอาชีพต่าง ๆ กว้างมากขึ้น เพื่อตัดสินใจเลือกสายการเรียนในระดับมัธยมปลาย และเลือกคณะที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาให้เหมาะกับตัวเองยิ่งขึ้น
กระทั่งในละคร ซีรีย์ หรือภาพยนตร์ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่เล่าถึงชีวิตการเรียนของเด็ก ๆ เรามักเห็นฉากที่บุคคลอาชีพต่าง ๆ มาพูดคุยกับเด็ก ๆ ในห้องเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้ทำความรู้จักกับอาชีพที่หลากหลาย มันแสดงให้เห็นว่า ‘กิจกรรมบุคคลอาชีพตัวอย่าง’ ในห้องเรียนนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับห้องเรียนทั่วทุกมุมโลก ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยียังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้รับข้อมูลที่หลากหลายผ่านสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้นด้วย
แต่หากย้อนกลับไปมองข้อมูลในช่วงต้นของบทความ ที่กล่าวถึงอาชีพในฝันของเด็กว่ายังคงกระจุกตัวอยู่ไม่กี่อาชีพ อาจสื่อเป็นนัยได้ว่าความพยายามของผู้ใหญ่ที่จะให้เด็ก ๆ รู้จักกับ ‘อาชีพในฝันอันหลากลาย’ คงยังไม่เพียงพอ
ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพในยุคปัจจุบันและอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ซึ่งมีระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้บริษัทต่าง ๆ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เด็กนักเรียนจึงสำคัญ
ไม่แพ้การเปิดโลกทัศน์ด้านความหลากหลายทางอาชีพ
จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองในสหราชอาณาจักรจำนวน 2,300 คน เกี่ยวกับการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีของบุตรหลานที่โรงเรียนพบว่า มีผู้ปกครองเพียงร้อยละ 21 ที่เห็นว่าการศึกษาด้านเทคโนโลยีในโรงเรียนเพียงพอแก่ลูก ๆ ของพวกเขาแล้ว ในขณะที่ผู้ปกครองอีกร้อยละ 79 รู้สึกว่า บุตรหลานของตนไม่ได้รับการสอนทักษะสำคัญด้านเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ อย่างเพียงพอ อาทิ การเขียนโปรแกรม เกม หรือสื่อดิจิทัล ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงสายอาชีพอันเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต
ทิศทางการศึกษาของโลกในศตวรรษที่ 21
การศึกษาที่ได้รับการพูดถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันคือ สะเต็มศึกษา (STEM Education) การบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ทั้ง 4 ด้านนี้มาใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพในอนาคต

รูปที่ 2 STEM education – Science Technology Engineering Mathematics
STEM ริเริ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริการะบุว่า STEM เป็นรูปแบบการศึกษาที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศที่ต้องการเป็นผู้นำ เพราะมันช่วยพัฒนาให้บุคลากรเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและท้าทายในอนาคตได้ ทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน โดยเน้นย้ำให้เด็กทุกคนได้เขาถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ต้องไม่มีอุปสรรคในการเรียนรู้ด้าน STEM และการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ
We must also make sure that no matter where children live, they have access to quality learning environments. A child’s zip code should not determine their STEM literacy and educational options. – U.S. Department of Education
เกาหลีใต้เริ่มส่งเสริม STEAM Education ซึ่งเพิ่ม A.Art หรือ ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วยตั้งแต่ปี 2011 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ด้าน คือ (1) เพื่อส่งเสริมทักษะและความสามารถที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน และ (2) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสนใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในสิงคโปร์ กระทรวงศึกษาธิการและศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาหลักสูตรสะเต็มศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในปี 2014 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ พร้อม ๆ กับการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมพร้อมรับความท้าทายในอนาคตที่มีความผันผวน และซับซ้อนมากขึ้น
ประเทศฟินแลนด์ ผู้นำด้านการศึกษาของโลก ก็ให้ความสำคัญกับสะเต็มศึกษา ตั้งแต่ปี 1970 จึงเริ่มปฏิรูปการศึกษาในประเทศโดยยึดหลักการศึกษาและทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน คือให้ความสำคัญกับการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กนักเรียนจะอยู่ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีที่สุด โรงเรียนในฟินแลนด์กว่าร้อยละ 90 ที่ได้รับทุนจากรัฐบาล มีสะเต็มศึกษาเป็นการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน และยังมีหลักสูตรสะเต็มศึกษาในระดับมัธยมปลาย อุดมศึกษา ไปจนถึงโครงการศึกษาของผู้ใหญ่
เมื่อมองให้ใกล้ตัวเข้ามาอีกสักนิด ประเทศไทยก็ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มมีการออกแบบหลักสูตรสะเต็มศึกษา พัฒนาศักยภาพของครู และนำร่องใช้หลักสูตรสะเต็มศึกษาในโรงเรียนบางส่วนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งแต่ปี 2016
จากข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นเด็กไทยอายุ 7-14 ปี จำนวน 2,024 คน ในปี 2021 ของ Adecco แสดงให้เห็นว่าอาชีพที่เด็กอยากเป็นมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ หมอ ครู YouTuber ดารา-นักร้อง และตำรวจ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐานยอดนิยม และบางอาชีพที่เห็นได้ชัดเจนว่าเด็ก ๆ ได้รับอิทธิพลจากสื่อที่พวกเขาได้รับเป็นประจำ
ทั้งนี้ผลการศึกษาของศูนย์บริหารจัดการด้านความยั่งยืนของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ พบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนของนักเรียน โอกาส และอาชีพที่ตอบความต้องการของตลาดในอนาคตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการศึกษาในช่วงต้นของบทความ ดังนี้
- คุณภาพของระบบการศึกษา (หลักสูตรและรูปแบบการสอน) ในประเทศไทย ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- เยาวชนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงาน คำแนะนำด้านอาชีพ และแนวทางสู่การประกอบอาชีพ โดยประเทศไทยยังขาดช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข้างต้น ประกอบกับขาดแคลนที่ปรึกษาด้านอาชีพภายในโรงเรียน
- เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการฝึกงานและการฝึกอบรม ทั้งนี้การฝึกงานบางโครงการยังไม่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเด็กนักเรียนอย่างเพียงพอ ส่วนใหญ่นักศึกษาฝึกงานมักจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานจุกจิก หรืองานเล็ก ๆ เท่านั้น
- การจ้างงานเยาวชนมีอุปสรรคจากกฎหมายบางประการ อาทิ ภาคเอกชนไม่สามารถจ้างงานเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเยาวชนเข้าถึงงานที่มีคุณค่า (decent work)
- เยาวชนหญิงถูกกีดกันในการจ้างงานจากทัศนคติเหมารวมทางเพศ และอาจส่งผลต่อค่าแรงที่ต่ำกว่าของเพศหญิง
……………
เมื่อเสียงกริ่งรอบสุดท้ายของวันดังขึ้น นักเรียนอาจยังไม่ได้คำตอบของคำถามในคาบแรก แต่ต่างคนก็เริ่มเก็บของใส่กระเป๋าเพื่อใช้ชีวิตหลังเลิกเรียนในแบบของตน บ้างตั้งวงเล่นเกม บ้างเล่นกีฬา บ้างเรียนพิเศษด้านวิชาการ ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นชัดในสังคมเมือง แต่ชีวิตของนักเรียนในชนบทที่ห่างไกลที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต หรือแม้สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จะทำให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ตัวเลือกด้านอาชีพย่อมมีไม่มากเท่ากับนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนเพียบพร้อม…ได้แต่หวังใจว่า ในอนาคตเด็กไทยจะไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะสะเต็มศึกษา หรือการศึกษาอื่น ๆ ‘โดยสถานที่อยู่อาศัยจะต้องไม่เป็นตัวตัดสินความรู้ด้านสะเต็มหรือทางเลือกด้านการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กไทย’
แหล่งข้อมูล
Survey shows many kids’ dream jobs require tech or digital competencies
JOBS? Teenagers’ Career Aspirations and the Future of Work
Job study: Kids should shoot for the moon, but most may never land their dream job
Thousands of kids were asked to draw their ideal job – with surprising results
Science, Technology, Engineering, and Math, including Computer Science
DIFFERENT APPROACHES TO LEARNING SCIENCE, TECHNOLOGY, ENGINEERING, AND MATHEMATICS
VOICES OF YOUTH AND EMPLOYERS ON YOUTH EMPLOYABILITY IN THAILAND