เมื่อนึกถึง ‘มลภาวะ’ ภาพที่ผ่านเข้ามาในสำนึกคิดของคนส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นฝุ่นควันจากโรงงาน ท่อไอเสีย หรือโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่น้อยคนจะนึกถึงอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอำนาจทำลายล้างสูงไม่แพ้กัน นั่นคือเหล่าปศุสัตว์โดยเฉพาะเหล่าสัตว์เคี้ยงเอื้องเท้ากีบอย่างแกะและวัว
องค์ความรู้ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ หนังสือธุรกิจพลิกอนาคต (Resource Revolution) ระบุว่า “การผลิตเนื้อวัวหนึ่งกิโลกรัมใช้น้ำมากกว่าการผลิตข้าวหนึ่งกิโลกรัม 15 เท่า การผลิตเนื้อวัวหนึ่งแคลอรีต้องใช้พลังงานมากกว่าการผลิตข้าวโพดหนึ่งแคลอรี 160 เท่า โปรตีนจากเนื้อสัตว์จำเป็นต้องใช้ที่ดินมากกว่าโปรตีนจากพืชราว 6 เท่า โปรตีนจากเนื้อวัวใช้ที่ดินมากกว่าโปรตีนจากพืช 18 เท่า”
ที่ดิน น้ำ และพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตอาหาร ภาพจากหนังสือ ธุรกิจพลิกอนาคต (Resource Revolution)
ในทศวรรษที่ผ่านมามีการรณรงค์อย่างแพร่หลายเพื่อลดการกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าใช้ทรัพยากรมหาศาลในการผลิต อีกทั้งเหล่าปศุสัตว์ก็เป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤติสภาพภูมิอากาศโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 15 เปอร์เซ็นต์ของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด อ้างอิงจากรายงานฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ หมู แกะ วัว ควาย ก็ไม่ต่างจากกระป๋องแก๊สเดินได้!
เมื่อ 3 ปีก่อน ผู้เขียนเคยเขียนบทความว่าด้วย ‘รอยเท้าสิ่งแวดล้อม’ ของเนื้อสัตว์ ณ ขณะนั้น ผมพยายามจะทานมังสวิรัติอย่างเต็มตัว แต่น่าเสียดายที่ทำได้ไม่ถึงเดือนก็ต้องยอมแพ้ เพราะอาหารมังสวิรัติในไทยหารับประทานค่อนข้างยาก ส่วนรสชาติเองก็ไม่ค่อยถูกปากถูกใจสักเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ปรับสู่การลดการรับประทานเนื้อสัตว์บางมื้อและบางวัน สุดท้ายก็กลายเป็นทานอาหารมังสวิรัติแบบรายสะดวก
ลึกๆ แล้ว ผู้เขียนก็ยังแบกความรู้สึกผิดอยู่ในใจเพราะเป็นคนที่ห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แต่คิดตัดพ้อว่าเมื่อไหร่จะมีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในที่สุดผมก็ได้เห็นแสงสว่างปลายทางอุโมงค์ จากความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่พัฒนาการปศุสัตว์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เทรนด์เนื้อสัตว์จากพืช (plant-based meat) ที่ฮอตฮิตจนสามารถหาซื้อได้ในประเทศไทย และล่าสุดคือเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ (lab-grown meat) ที่ได้รับอนุมัติให้วางขายเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในประเทศสิงคโปร์
ทั้งสามเทรนด์นี้เปรียบเสมือน ‘ประตูบานใหม่’ สำหรับคนรักที่จะรับประทานเนื้อและต้องการที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน!
ปศุสัตว์แบบรักษ์โลก
ความอัศจรรย์ของเหล่าสัตว์เท้ากีบอยู่ที่ระบบย่อยอาหาร เพราะในกระเพาะของมันมีแบคทีเรียชนิดพิเศษซึ่งสามารถย่อยหญ้าและพืชที่มีเซลลูโลสสูงแล้วแปลงเป็นสารอาหารสำคัญ เช่น กรดไขมัน แต่ผลพลอยได้จากกระบวนการทางเคมีดังกล่าวคือแก๊สมีเธน แก๊สเรือนกระจกที่มีกำลังราว 25 เท่าของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสัตว์เหล่านี้จะคายแก๊สออกมาโดยการเรอและตด กลายเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้เจ้าสี่ขา ‘ปล่อยแก๊ส’ น้อยลง
นักวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นในการลดการปล่อยแก๊สมีเธนในเหล่าสัตว์กีบคือ ปีเตอร์ แจนส์เซน (Peter Janssen) จาก AgResearch สถาบันด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศนิวซีแลนด์ เขาประสบความสำเร็จในการผลิตยาที่จะขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ที่ทำให้สัตว์กีบปล่อยแก๊สมีเธน โดยมีโจทย์สำคัญคือจะต้องไม่กระทบต่อความสามารถในการย่อยอาหารของสัตว์ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือยาที่สามารถลดการปล่อยแก๊สมีเธนได้ราว 20 – 30 เปอร์เซ็นต์
ปัญหาสำคัญของการใช้ยาคือต้องให้ทานยาอย่างต่อเนื่อง เขาและทีมจึงได้มีการพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างแอนติบอดีซึ่งสามารถลดการปล่อยแก๊สมีเธนได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือการคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์กับที่มีการปล่อยแก๊สมีเธนต่ำ กล่าวคือสัตว์กีบที่มีกระเพาะผ้าขี้ริ้วหรือรูเมน (Rumen) ขนาดเล็ก กระเพาะดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียซึ่งคายแก๊สมีเธน หากรูเมนมีขนาดเล็ก อาหารจะผ่านได้เร็วและสามารถลดการคายแก๊สมีเธนได้ราว 10 เปอร์เซ็นต์ โดยขนาดของรูเมนนั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หากทางเลือกข้างต้นดูจะยุ่งยากเกินไป เหล่าเกษตรกรผู้รักสิ่งแวดล้อมก็มีวิธีตรงไปตรงมาในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับสูตรอาหารให้สัตว์ปล่อยแก๊สมีเธนน้อยลง หรือวิธีกำปั้นทุบดินอย่างการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์เพื่อหักลบกลบกับแก๊สเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา
เนื้อสัตว์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์
ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ (meatless meat) ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงโปรตีนเกษตรที่แปลงร่างเป็นหมูปลอม ไก่ปลอม ในช่วงเทศกาลกินเจ แต่นวัตกรรมทางอาหารปัจจุบันได้พาเราไปไกลกว่าเนื้อสัตว์ปลอมจากโปรตีนเกษตรไปมาก กลายเป็นอุตสาหกรรม ‘ดาวรุ่ง’ ในสหรัฐอเมริกาก่อนจะเริ่มกระจายสู่ทั่วทั้งโลก
หากใครได้เคยลองลิ้มชิมรสเนื้อสัตว์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์เจ้าดังอย่าง Beyond Meat หรือ Impossible Foods คงจะรู้สึกแปลกใจในรสสัมผัส เพราะมันฉ่ำหวานและชุ่มไปด้วยไขมันด้วยสารสกัดพิเศษจากพืชเสมือนหนึ่งว่าเรากำลังกัดกินเนื้อสัตว์จริงๆ ผสมผสานกับถั่วสารพัดชนิดและข้าวจนได้รสสัมผัสเสมือนเนื้อบด
ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าตลาดสำหรับอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ปัจจุบันมีขนาด 1.4 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา หรือราว 4 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อเนื้อสัตว์ ส่วนในสหภาพยุโรป ตลาดดังกล่าวมีมูลค่าราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 9 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของตลาดเนื้อสัตว์ นักวิเคราะห์คาดว่าตลาดดังกล่าวอาจเติบโตเป็นสองเท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใสอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญคือราคาของเนื้อสัตว์ทดแทนดังกล่าว โดยมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ปกติราว 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีอย่างท่วมท้นจากผู้บริโภค บริษัทน้อยใหญ่รวมถึงแบรนด์แนวหน้าอย่าง คราฟท์ (Kraft) หรือยูนิลีเวอร์ (Unilever) ต่างก็กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดดังกล่าวซึ่งจะทำให้ราคามีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคต
ส่วนในแง่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การศึกษาเบื้องต้นพบว่าเนื้อสัตว์ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ประหยัดทรัพยากรในการผลิตทั้งน้ำและที่ดินหลายสิบเท่า รวมถึงปล่อยแก๊สเรือนกระจกน้อยกว่าน้อยกว่าเนื้อวัวถึงราว 30 เท่าตัว
เนื้อสัตว์จากห้องทดลอง
‘เนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องทดลอง’ เป็นแนวคิดที่แสนธรรมดาในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่น้อยคนที่จะเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในโลกแห่งความเป็นจริง กำแพงแห่งความเป็นไปไม่ได้ถูกทลายลงเมื่อมาร์ค โพสต์ (Mark Post) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาสตริตช์ (Maastricht University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการปลูกเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ ได้ผลลัพธ์จากการทำงาน 3 เดือนคือเนื้อบด 140 กรัมที่มีต้นทุนในการผลิตรวมทั้งสิ้น 325,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราวสิบล้านบาท
เนื้อบดชิ้นดังกล่าวถูกนำมาประกอบอาหารออกอากาศโดยเชฟสัญชาติอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2556 ก่อนจะเสิร์ฟให้นักวิทยาศาสตร์โภชนาการและนักเขียนเกี่ยวกับอาหารทดลองชิม เสียงตอบรับนับว่าธรรมดาโดยมีคำตำหนิว่า ‘เนื้อแห้งไปหน่อย’ แต่นั่นนับเป็นหมุดหมายสำคัญของเนื้อสัตว์แห่งอนาคตที่ไร้การฆ่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างน้อยนี่ก็คือคำยืนยันว่าเนื้อสัตว์จากห้องแล็บนั้น ‘รับประทานได้’
ล่วงผ่านมา 7 ปี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเราก็มีข่าวดีซึ่งหลายคนคาดไม่ถึง เพราะนวัตกรรมการผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บที่แต่เดิมราคาสูงจะไม่มีทางนำมาจำหน่ายได้เชิงพาณิชย์ ล่าสุดบริษัทสัญชาติอเมริกัน อีท จัสท์ (Eat Just) ได้รับอนุมัติจากองค์การกำกับดูแลด้านอาหารในสิงคโปร์เพื่อวางจำหน่ายไก่ทอดขนาดชิ้นพอดีคำซึ่งมาจากการ ‘ปลูก’ ในห้องทดลอง โดยใช้ชิ้นเนื้อจากไก่ที่ยังมีชีวิตเป็นตัวตั้งต้นแล้วนำมาปลูกในสารสกัดจากพืชแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในราคาที่ ‘เทียบเท่ากับเนื้อไก่พรีเมียมตามร้านอาหาร’
นอกจาก อีท จัสท์ แล้ว ยังมีอีกหลากหลายบริษัทที่หวังว่าจะวางขาย ‘เนื้อสัตว์ปลูก’ จากห้องแล็บ ไม่ว่าจะเป็นเมมฟิส มีท (Memphis Meats) โมซา มีท (Mosa Meat) และอเลปฟ์ ฟาร์มส์ (Aleph Farms) โดยมีนักวิเคราะห์คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราอาจไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์จากการฆ่าปศุสัตว์อีกต่อไป
ทั้งสามทางเลือกคือการพยายามตอบโจทย์ปัญหาการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการผลิตเนื้อสัตว์โดยใช้หลากหลายวิธีการ แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างทางเลือกให้กับคนรักเนื้อสามารถกินเนื้อได้โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เอกสารประกอบการเขียน
Plant-based meat could create a radically different food chain
No-kill, lab-grown meat to go on sale for first time