ในเมื่อวันนี้ว่ากันว่าเราอยู่ในยุคแห่งความยั่งยืน ศักราชแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ส่วนรัฐบาลไทยก็ชู “BCG Model” เป็นแบบจำลองหลักในการพัฒนาประเทศ (ผู้เขียนจะเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความ “ทำอย่างไร BCG Model จึงจะไม่ ‘หัวโต’” ในคอลัมน์นี้ตอนต่อไป) ผู้เขียนคิดว่าน่าจะประเดิมคอลัมน์ “สำนึกใหม่” ในปีกระต่าย 2566 ด้วยการเขียนถึง 3 ประเด็นเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance เรียกรวมๆ ว่า ESG) ในภาคธุรกิจไทยที่เห็นว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใน 2-3 ปีนี้

  1. ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: สู่ภาคปฏิบัติที่น่าเชื่อถือ

วันนี้บริษัทไทยน้อยใหญ่ตื่นตัวเรื่องบทบาทของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน หรือที่มีศัพท์เรียกว่า “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (business and human rights) กันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เมื่อบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของไทยถูกพาดพิงในสื่อระดับโลกอย่าง The Guardian และ Reuters ว่าห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์ของบริษัทเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ในเรือประมง ในปีเดียวกันนั้นสหภาพยุโรปประกาศให้ “ใบเหลือง” กับไทย หลังจากที่ก่อนหน้านั้น 1 ปี ในเดือนมิถุนายน 2557 รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (TIP) ลดชั้นระดับการตอบสนองต่อขบวนการค้ามนุษย์ของไทยมาอยู่ที่ Tier 3 ซึ่งเป็นลำดับต่ำสุด (ปัจจุบันสหภาพยุโรปปลดใบเหลืองไทยแล้วตั้งแต่ปี 2562 ส่วนลำดับในรายงาน TIP อยู่ที่ Tier 2 Watch List)

หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights ย่อว่า UNGP) ออกปี พ.ศ. 2554 ได้กลายมาเป็น ‘มาตรฐานสากล’ ของการแสดงความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจ ระบุอย่างชัดเจนถึงขอบเขตความรับผิดชอบของธุรกิจและขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ซึ่งต้องครอบคลุมคู่ค้า ผู้รับเหมา และพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย

ถึงแม้จะเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ หลักการชี้แนะก็กลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญและฐานคิดของกฎหมายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ออกกฎหมายในปี 2560 และ 2564 ตามลำดับ กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่มีมาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง และปัจจุบันสหภาพยุโรปก็อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายที่จะกำหนดให้บริษัทตรวจสอบประเด็นความยั่งยืนอย่างรอบด้าน (corporate sustainability due diligence) ซึ่งมีกระบวนการ HRDD เป็นหัวใจสำคัญ คาดว่ากฎหมายนี้น่าจะออกและมีผลบังคับใช้ราวปี 2567 ซึ่งก็จะกระทบต่อบริษัททั่วโลกที่ส่งออกสินค้าไปขายในสหภาพยุโรปรวมทั้งไทยด้วย

ในเมื่อไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด บริษัทไทยจำนวนมากลงทุนข้ามพรมแดน ส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ หรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานบริษัทต่างชาติหรือบริษัทไทยที่ส่งออก แนวโน้มที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำตามมาตรฐานสากลและกฎหมายต่างประเทศเหล่านี้จึงมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยังไม่นับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎการเปิดเผยข้อมูลประจำปีแบบใหม่ เรียกว่า One Report ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องนำส่ง เพิ่มหมวดสิทธิมนุษยชนซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น (เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา) หรือการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนระยะที่ 2

ในขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ ก็จะต้องทำความเข้าใจมากขึ้นว่า “ภาคปฏิบัติที่น่าเชื่อถือ” ของการเคารพสิทธิมนุษยชนแปลว่าอะไรสำหรับตัวเอง เพราะแต่ละบริษัทย่อมเจอกับสถานการณ์ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ประกาศถอนการลงทุน (พูดง่ายๆ คือ ขายหุ้น) ใน บมจ. ปตท. และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTT-OR) ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า “เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ (unacceptable risk) …เมื่อ [บริษัททั้งสอง]มีส่วนช่วยในการละเมิดขั้นร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้ง” ในประเทศเมียนมา

หลังจากนั้น ผู้บริหาร OR ให้สัมภาษณ์ The Standard Wealth ว่า บริษัท “…ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา เนื่องจากจุดประสงค์การเข้าไปในเมียนมาของบริษัทคือการเข้าไปประกอบธุรกิจ แต่อาจถูกมองว่า OR มีส่วนไปร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจของเมียนมาที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร จึงถูกมองว่าเกี่ยวข้องทางอ้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน …และปัจจุบันได้ชะลอการแผนการลงทุนไปแล้วเพื่อรอติดตามดูสถานการณ์”

ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายดังกล่าวไม่เพียงพอและฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก PTT-OR เป็นบริษัทลูกของ ปตท. และบริษัทแม่ก็ได้ประกาศนโยบายสิทธิมนุษยชน จัดทำระบบบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แล้ว ซึ่งนโยบายนี้ก็ครอบคลุมบริษัทในเครือทั้งหมด

ดังนั้นทั้ง ปตท. และ PTT-OR จึงควรแสดงจุดยืนว่าต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของคณะรัฐประหารในเมียนมา ตั้งแต่เนิ่นๆ หรืออย่างน้อยก็แถลงแสดงความเป็นห่วงประชาชนชาวเมียนมาและประกาศชะลอแผนการลงทุนออกไป ดังแคมเปญเรียกร้องจุดยืนของบริษัทไทย 12 แห่ง จากแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย

อนึ่ง ผู้เขียนเข้าใจว่าสถานะรัฐวิสาหกิจของ ปตท. และการที่ไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญ อาจทำให้ ปตท. วางตัวลำบาก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนิ่งเฉย และ ปตท.สผ. บริษัทลูกอีกแห่ง ก็ไม่ควรอ้างตาใสว่า “การเข้าถึงการใช้พลังงานอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” เป็นข้ออ้างในการเข้าดำเนินการจัดการแหล่งก๊าซยาดานา (แทน โททาล จากฝรั่งเศสที่ถอนตัวออกไป) ทั้งที่คณะรัฐประหารเมียนมายังคงสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหด อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงที่สุดที่ใครจะทำได้

  1. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหามลพิษ

ผู้เขียนเชื่อว่าในปี 2566 นี้ และปีต่อๆ ไป เราจะได้เห็นการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การขับเคลื่อนสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” รวมถึงการมุ่งหน้าสู่เป้า “Net Zero” ทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างคึกคัก เมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมองเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมและสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเปราะบางอย่างเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่วิถีชีวิตอาจต้องพังครืนเพราะภัยธรรมชาติรุนแรง

อย่างไรก็ดี “วิธี” ที่เราขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือเป้า Net Zero ก็สำคัญ บางวิธีสุ่มเสี่ยงว่าอาจช่วยให้เราเข้าใกล้หรือไปถึงเป้าหมายได้ แต่กลายเป็นว่าความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงเพราะผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น (หรือต้นทุนที่ประหยัดได้) ไม่ได้ถูกกระจายอย่างทั่วถึง

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมสัมพันธ์จำนวนมากสัมพันธ์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และปัญหาสังคมอย่างแยกกันไม่ออก การตั้งเป้าหมายอย่างเดียวจึงไม่พอ เราต้องคิดถึง “วิธี” ที่จะขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้วย

ในแง่นี้ ผู้เขียนมองว่าปี 2566 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มถกเถียงกันเรื่อง “วิธี” อนุรักษ์และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรการ “ปรับตัว” ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change adaptation) รวมถึงการบรรเทาปัญหาขยะและมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ “จริงจัง” และ “เหมาะสม” กับบริบทสังคมไทย เพราะปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีแนวโน้มจะแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น

“วิธี” แก้ปัญหาจะเป็นประเด็นถกเถียงต่อไป ผู้เขียนเห็นว่าคำถามหลัก 2 คำถามที่จะช่วยวางกรอบการถกเถียงในสังคมก็คือ “วิธีนี้น่าจะซุกปัญหาไว้ใต้พรม แทนที่จะแก้ปัญหาหรือไม่” และ “วิธีนี้คำนึงถึงความยุติธรรมทางสังคม โดยเฉพาะความยุติธรรมเชิงกระบวนการ (เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม) และความยุติธรรมเชิงกระจาย (กระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง) หรือไม่ หรือว่าประโยชน์จะกระจุกตัวอยู่ในมือรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทใหญ่ไม่กี่บริษัท”

ในระดับบริษัท ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงใจของบริษัทแต่ละบริษัทในการแสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมก็คือ การพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทเน้นมาตรการ “ลด” ก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากที่สุดที่ทำได้ ส่วนที่ลดไม่ได้ค่อยไป “ซื้อ” คาร์บอนเครดิตชดเชยจากตลาดคาร์บอน ไม่ใช่ใช้เงิน “ซื้อ” คาร์บอนชดเชยมากกว่าคาร์บอนที่ “ลด” เอง

ประเด็นความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอน และกลไกติดตามตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่นำมาขายคาร์บอนเครดิต จะเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้นอีกมากในสังคมไทย ไม่ต่างจากในประเทศอื่นที่พัฒนาตลาดคาร์บอนมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่จุดหนึ่งที่แตกต่างก็คือ ในปีนี้และปีต่อๆ ไป เราจะได้ยินการหารือข้ามชาติเกี่ยวกับการบัญญัติ “มาตรฐานสากล” ที่มีเจตนาให้ใช้ร่วมกันทั้งโลก ทั้งตลาดคาร์บอน ภาษีคาร์บอน และเครื่องมือการลงทุนสีเขียว (green investments) อย่างหนาหูมากขึ้น ซึ่งวงการหารือเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนากลไกเหล่านี้ในไทยด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็ควรกำกับการเปิดเผยข้อมูลและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า “เขียว” ของบริษัทต่างๆ มากขึ้น เพื่อช่วยให้นักลงทุนและผู้บริโภคแยกแยะได้ดีขึ้นระหว่างบริษัทที่ “เขียวจริง” กับบริษัทที่ “ฟอกเขียว” เป็นหลัก

  1. การแทรกแซงภาครัฐและกีดกันการแข่งขัน

ผู้เขียนเห็นว่า การแทรกแซงภาครัฐ (ภาคการเมือง ราชการ และองค์กรอิสระ) กดดันหรือส่งอิทธิพลให้ออกนโยบายหรือตัดสินในทางที่เอื้อประโยชน์บริษัทมากกว่าประโยชน์สาธารณะ เพื่อเถลิงอำนาจผูกขาดหรืออำนาจเหนือตลาดของบริษัทขนาดยักษ์ในยุคนี้ หลายแห่งทำกันอย่างโจ๋งครึ่มอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอีกต่อไป ทั้งที่ “การต่อต้านคอรัปชั่น” เป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของธุรกิจ เป็นหลักการ 1 ใน 10 ข้อของ United Nations Global Compact มาตรฐานสากลที่บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากอ้างว่าเคารพ

หลักการ “การต่อต้านคอรัปชั่น” ของ UN Global Compact ระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัทที่รับหลักการชุดนี้ “ไม่เพียงแต่จะหลีกเลี่ยงการติดสินบน การกรรโชกทรัพย์ และคอรัปชั่นรูปแบบอื่นๆ เท่านั้น แต่จะพัฒนานโยบายและโครงการที่เป็นรูปธรรมเชิงรุกเพื่อรับมือกับคอรัปชั่นทั้งภายในองค์กรและในห่วงโซ่อุปทานขององค์กร”

ในยุตนี้ การกดดันให้หน่วยงานรัฐ “ฉ้อฉลเชิงอำนาจ” หรือ abuse of power เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท เช่น ออกมาตรการช่วยกีดกันคู่แข่ง เป็นรูปแบบการคอรัปชั่นที่ซึมลึกและไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะทำได้ มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อรัฐสูงมากเท่านั้นที่ทำได้

นี่คือความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลหรือตัว G ใน “ESG” ที่ผู้เขียนเห็นว่าร้ายแรงที่สุดและมีแนวโน้มแย่ลง แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักในสังคมไทย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “สำนึกใหม่” ไทยรัฐพลัส วันที่ 8 ม.ค. 2566