เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเหลื่อมล้ำ คือ ความไม่เท่ากันในการเข้าถึงหรือการใช้ทรัพยากรของผู้คนในสังคม ซึ่งความไม่เท่ากันนั้นอาจมีสาเหตุจาก “ต้นทุน” ที่แตกต่างกัน เช่น รายได้ การศึกษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่ ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ก็มีความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงเกิดขึ้นได้ทุกที่ อย่างไรก็ดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐควรมีบทบาทในการลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ผู้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งในเรื่องของรายได้ การศึกษา และความเป็นอยู่ที่ดี

การพัฒนาทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร และการใช้ทรัพยากรหรือการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนแตกต่างกัน เจมส์ บอยส์ เคยกล่าวในรายงาน “ความเหลื่อมล้ำเป็นเหตุแห่งความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ” (Inequality as a Cause of Environmental Degradation) ในปี ค.ศ.1994 ว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ต้องแบกรับผลกระทบเหล่านั้น ไม่ใช่ “ผู้ชนะ” ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลและมีฐานะร่ำรวย แต่เป็น “ผู้แพ้” ที่ต้องทนรับความเสื่อมโทรมอย่างไม่เต็มใจ เพราะไร้ซึ่งอำนาจและฐานะยากจน

ที่มารูปภาพ https://bit.ly/395gJv8

ความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวเนื่องกับ 3 มิติอย่างไม่เป็นสัดส่วน ได้แก่ มิติด้านสังคม มิติเชิงพื้นที่ และมิติด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้ง 3 มิติดังกล่าวทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคนยากจนที่ต้องแบกรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนอื่น ๆ

ทั้งนี้ สาเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นผลจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐที่

  • ขาดการพิจารณาผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนา จนก่อให้เกิดปัญหามลพิษ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ช่องว่างของกฎหมายที่เบิกทางให้บริษัทเอกชนสามารถดำเนินกิจการโรงงานได้โดยไม่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นโยบายการรับซื้อหรือนำเข้าขยะจากต่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อผู้คนและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับมลภาวะทางอากาศจากขยะที่นำเข้ามา เป็นต้น
  • กระจายประโยชน์ให้กับผู้คนไม่เท่ากัน บางกลุ่มอาจได้รับประโยชน์จากการพัฒนา แต่บางกลุ่มอาจไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย หนำซ้ำอาจต้องแบกรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนานั้นด้วย เช่น การเอื้อให้บริษัทเอกชนดำเนินกิจการโรงงานรีไซเคิลน้ำมันในพื้นที่ชุมชนได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเกิดการปนเปื้อนของน้ำมันในแหล่งน้ำใช้ของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
  • คนในสังคมขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจ ส่วนผู้มีอิทธิพลที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาก็มองแค่ผลกระทบทางบวกที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ โดยลืมคำนึงถึงผลกระทบทางลบที่ชุมชนต้องแบกรับเอาไว้

ผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ถือเป็น “ต้นทุน” ที่ผู้แพ้จำเป็นต้องแบกรับเพื่อปกป้องสุขภาพของตนเอง ทั้งจากมลพิษทางอากาศ น้ำเน่าเสีย ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากการศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในเอเชียและแปซิฟิกในช่วงปี ค.ศ.2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (INEQUALITY IN ASIA AND THE PACIFIC IN THE ERA OF THE 2030 AGENDA FOR SUSTAINABLE DEVALOPMENT) โดย UNESCAP ในปี ค.ศ.2018 ชี้ให้เห็นถึงกลไกที่ตอกลิ่มให้คนจนต้องแบกรับต้นทุนมากกว่าคนกลุ่มอื่น และความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะยังคงวนซ้ำไปไม่รู้จบ เนื่องจาก 1) คนจนรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ในระดับต่ำ 2) คนจนอาจไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอได้ และ 3) คนจนได้รับการคุ้มครองระดับต่ำเมื่อได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยละเลยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่ มักนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดย UNESCAP ได้ประมวลผลจากการศึกษาวิจัยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่า ความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมีประมาณ 3 รูปแบบ

 

  1. ความเหลื่อมล้ำจากมลพิษทางอากาศ

มลพิษทางอากาศถือเป็นมาตรวัดคุณภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม มลพิษได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกต้องแบกรับ ซึ่งเมืองหลวงของบางประเทศถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันตลอดทั่งปื โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจและนำไปสู่การป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจได้ คนจนที่ไม่สามารถปกป้องตนเองจากฝุ่นควัน กลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ศักยภาพในการทำงานลดลง รายได้ลดลง รวมถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอย่างมาก

ภาพ ฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมกรุงเทพมหานคร ที่มารูปภาพ https://bit.ly/2OscQ9N

 

  1. ความเหลื่อมล้ำจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

ทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นทุนทางธรรมชาติ (Natural capital) ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะผู้คนที่พึ่งพิงและอาศัยอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็มักรุกรานธรรมชาติจนนำไปสู่ความเสื่อมโทรม และทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป เช่น หารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาอยู่อาศัยได้ลดลง โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ต้องการพัฒนาด้านเกษตรกรรม จนนำไปสู่การเผาทำลายป่า

ภาพเผาทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่การปลูกปาล์มของเกษตรกร ในประเทศอินโดนิเซีย
ที่มารูปภาพ https://bit.ly/308ODL6

 

  1. ความเหลื่อมล้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ อาทิ ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม และคลื่นความร้อนที่รุนแรง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คน โดยภัยพิบัติอาจทำให้คนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดีสูญเสียทรัพย์สิน รายได้ และความเป็นอยู่ที่ดี

ภาพความเสียหายจากไต่ฝุ่นไห่เยี่ยนบริเวณชุมชนใกล้ชายหาดของเมืองมาราบัต ประเทศฟิลิปปินส์
ที่มารูปภาพ https://bit.ly/2C9KtuO

 

การมุ่งพัฒนาโดยเอาประโยชน์จากธรรมชาติจึงถือเป็นต้นตอของปัญหา กระนั้นเราคงไม่สามารถหยุดการพัฒนาที่ผ่านมาแล้ว แต่เราสามารถกำหนดกฎเกณฑ์การพัฒนาไม่ให้ซ้ำรอยเดิมได้ ซึ่งนอกจากการจำกัดขนาดของผลกระทบจากการพัฒนา การใช้มาตรการเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และกระจายอำนาจการตัดสินใจให้กับผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่นและผู้คนในชุมชนแล้ว เรายังจำเป็นต้องคำนึงถึง

  • กฎหมายและข้อกำหนดต่อการพัฒนาโครงการ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี เช่น การกำหนดให้ผู้พัฒนามีมาตรการรองรับและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา การจัดเก็บภาษีเพื่อชดเชยผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและผู้คน รวมถึงกำหนดให้ผู้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นต้น เพื่อเพิ่มอำนาจและความสามารถในการปกป้องตนเองจากการพัฒนาที่ส่งผลกระทบทางลบต่อชุมชน
  • นโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จะเป็นเข็มทิศที่กำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลงได้ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ การพัฒนาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีไม่ริดรอนสิ่งแวดล้อม

ความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ และตอกย้ำให้เราเห็นว่าการมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องทบทวนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่ออย่างยิ่งว่า การกระจายอำนาจ การกำหนดกฎหมาย และการวางนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ถือเป็นยาแรงที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่การปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนในสังคมมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นยาสำคัญ ที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

 

แหล่งข้อมูล:

James Boyce. (February 1994). Inequality as a Cause of Environmental Degradation. Ecological Economics, 1-19.

James K. Boyce. (January 2007). Is Inequality Bad for the Environment? Research in Social Problems and Public Policy, 267-287.

Gobert Julie. (7 July 2019). Environmental inequalities. เข้าถึงได้จาก Encyclopedia of the Environmen: https://www.encyclopedie-environnement.org/en/society/environmental-inequalities/#1_How_to_define_environmental_inequality

UNESCAP. (2018). INEQUALITY IN ASIA AND THE PACIFIC IN THE ERA OF THE 2030 AGENDA FOR SUSTAINABLE DEVALOPMENT. Bangkok: United Nation Publication.