เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ว่าด้วยผลกระทบ การปรับตัว และความเปราะบาง ซึ่งเป็นส่วนที่สองของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (sixth assessment report) พร้อมกับเตือนว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับตัวรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ล่าช้าอาจทำให้สูญเสียโอกาสที่จะรักษาอนาคตที่ยั่งยืนไว้ให้ลูกหลานของเรา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาล และความสูญเสียหลายประการที่ไม่อาจฟื้นฟูกลับคืนมาได้ ทั้งในระบบนิเวศบนบก ใต้น้ำ และชายฝั่ง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดพันธุ์ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ขณะที่มนุษย์หลายพันล้านชีวิตกลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางอย่างยิ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาจนำไปสู่การถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องจากความไม่มั่นคงทางอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงความพยายาม ‘ปรับตัว’ เพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าวจากทุกภูมิภาคทั่วโลก แม้ว่าโครงการเหล่านี้มีประโยชน์มหาศาล แต่การรับมือปัญหาไม่ได้ ‘กระจายตัวอย่างเท่าเทียม’ ในทุกประเทศ การศึกษาพบว่าโครงการปรับตัวยังขาดแคลนเงินทุนเมื่อเทียบกับระดับที่ควรจะเป็นอีกด้วย และอีกหลายโครงการอาจซ้ำเติมปัญหาแทนที่จะแก้ไขเสียด้วยซ้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศน้ำจืดนั้นเกิดขึ้นแล้วและกระจายเป็นวงกว้าง มีการศึกษาพบว่าสัตว์บกหลายชนิดพันธุ์เริ่มอพยพย้ายถิ่นอาศัยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศของถิ่นอาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าทั่วโลกอาจนำไปสู่การแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ความเสี่ยงด้านโรคระบาดในบางพื้นที่มีความรุนแรงขึ้น เช่น แมลงศัตรูพืชในป่าแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ที่กระจายพันธุ์ได้ดีขึ้นเนื่องจากฤดูหนาวที่อุณหภูมิสูงกว่าในอดีต
การศึกษาพืชและสัตว์ 976 ชนิดพันธุ์พบว่า 47 เปอร์เซ็นต์ต้องเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังทำให้พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของโลกอาจเผชิญฤดูไฟป่าที่ต่อเนื่องยาวนานและรุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงภัยแล้งที่รุนแรงซึ่งเป็นสาเหตุของปรากฎการณ์ต้นไม้ยืนต้นตายในป่าเนื่องจากความแห้งแล้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และยุโรป
Golden Toad หนึ่งในชนิดพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาพจาก Alamy Stock Photo.
การย้ายถิ่นฐานของสัตว์ยังพบได้ในระบบนิเวศมหาสมุทร โดยมีการศึกษาพบว่าสัตว์น้ำเริ่มอพยพไปยังขั้วโลกอย่างต่อเนื่องในอัตราราว 60 กิโลเมตรต่อทศวรรษเนื่องจากกระแสน้ำที่อุ่นขึ้น นอกจากนี้ อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นยังส่งผลต่อช่วงเวลาของเหตุการณ์ทางชีววิทยาที่สำคัญ เช่น การขยายพันธุ์ของแพลงก์ตอนพืช การวางไข่ของปลาเศรษฐกิจ และการผสมพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลาน
ระบบนิเวศในมหาสมุทรที่เผชิญผลกระทบรุนแรงที่สุดคือแนวปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำราว 1 ใน 4 ของชนิดพันธุ์ทั้งหมดในมหาสมุทร อุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้นนำไปสู่ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวอีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด การศึกษาพบว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสจะทำให้อัตราการเสื่อมโทรมของปะการังนั้นรุนแรงกว่าอัตราที่ปะการังใหม่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ ถือเป็นการนับหนึ่งสู่การล่มสลายของระบบนิเวศแนวปะการัง
อย่างไรก็ดี สัตว์น้ำเผชิญทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปรากฎการณ์มหาสมุทรเป็นกรด (ocean acidification) และปริมาณออกซิเจนที่ลดลง พร้อมกับปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น มลภาวะ การประมงเกินขนาด และสภาพถิ่นอาศัยเสื่อมโทรม การแยกแยะว่าผลกระทบหนึ่งๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียวจึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยเช่นกันเนื่องจากมนุษย์ต้องพึ่งพาสมดุลทางธรรมชาติในการผลิตน้ำและอาหาร
ปัจจุบัน ประชากรมนุษย์กว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี ในทางกลับกัน กว่า 44 เปอร์เซ็นต์ของภัยพิบัติทั่วโลกโลกนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1970s คืออุทกภัย นับเป็นเรื่องน่าขันขื่นที่ประชากรจำนวนมากอยู่อาศัยในพื้นที่ที่น้ำมากเกินไป โดยมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยในพื้นที่ที่แห้งแล้งเกินไป ปัญหาทั้งสองมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นและบ่อยครั้งยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประชาชนต่อแถวเพื่อรับน้ำดื่มในวิกฤติภัยแล้งที่แอฟริกาใต้ ภาพจาก Alamy Stock Photo.
ภาวะอากาศแปรปรวน เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย รวมถึงคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ต่างก็กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าทางการเกษตรสำคัญ ทั้งการเพาะปลูกพืชอาหาร การทำป่าเศรษฐกิจ และการประมง ภัยคุกคามเหล่านี้เองที่ทำให้มนุษยชาติไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่าโลกมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรแบบฉับพลันเนื่องจากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังผลักดันให้พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารหดแคบลงไปอีก ภายใต้ฉากทัศน์การปล่อยคาร์บอนในระดับสูงพบว่าที่ดินซึ่งเหมาะสมต่อการเพาะปลูกในปัจจุบันราวหนึ่งในสามจะไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป
ส่วนพื้นที่เมืองซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมนุษย์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน เมืองเป็นจุดที่เผชิญกับอุทกภัยและคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง เนื่องจากปัจจัยด้านตำแหน่งที่ตั้ง ความหนาแน่นของประชากร รวมถึงอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่อาจไม่ได้สร้างเพื่อรองรับสภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว
นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่วิกฤติภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างเท่าเทียมกันต่อทุกกลุ่มประชากร โดยประชากรที่มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็ก คนชรา คนที่มีโรคประจำตัว ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง โดยประชากรกลุ่มนี้ยังความสามารถและทรัพยากรจำกัดในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขีดจำกัดของการปรับตัว
นอกจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อโลกในปัจจุบันแล้ว รายงานฉบับนี้ยังกล่าวถึงการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้นิยามเอาการปรับตัวเอาไว้ว่า “การลดความเสี่ยงและความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มความยืดหยุ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต และความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลงให้สัมฤทธิ์ผล” ตัวอย่างเช่น การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่าชายเลน การทำเกษตรนิเวศ และระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมรับมืออุทกภัย
โครงการเพื่อปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกนั้นไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนเสียมากกว่า เช่น โครงการในแถบแอฟริกาและเอเชียช่วงภัยแล้งและอุทกภัย โครงการดังกล่าวจึงแทบมองไม่เห็นผลลัพธ์ในระยะยาว อีกทั้งการสนับสนุนเงินทุนของโครงการเพื่อปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังจำกัดจำเขี่ย โดยคิดเป็นเพียง 4 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น
ที่สำคัญ การปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผชิญกับ ‘ขีดจำกัด’ โดยต่อให้ลงทุนลงแรงไปมากเพียงใด แต่หากมนุษยชาติล้มเหลวที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การปรับตัวเหล่านั้นก็แทบจะไร้ประสิทธิผล ทั้งนี้ ระบบนิเวศที่เปราะบาง เช่น แนวปะการังหรือป่าชายเลนก็อาจล่มสลายลงหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
การปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพราะบางครั้งอาจสร้างผลกระทบที่ไม่คาดฝัน เช่น การขยายกำลังการผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์ หรือโครงการปลูกป่าเพื่อกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพเสียเองเพราะต้องใช้ที่ดินขนาดมหาศาลเพื่อบรรลุเป้าหมาย
นอกจากนี้ การปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบางครั้งอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งในรายงานฉบับนี้เรียกว่า “การปรับตัวรับมือที่ไม่เหมาะควร (maladaptation)” ตัวอย่างเช่นการสร้างกำแพงกั้นคลื่นเพื่อปกป้องชุมชนจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงแต่กลับกลายเป็นพนังกั้นไม่ให้น้ำฝนไหลลงสู่ทะเลจนกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดอุทกภัย เป็นต้น
รายงาน IPCC ฉบับนี้ฉายให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นแล้ว พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในปัจจุบันและอาจรุนแรงขึ้นในอนาคต ขณะที่โครงการเพื่อปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีประสิทธิผลจำกัด ทางออกเดียวที่จะบรรเทาวิกฤติดังกล่าวคือการทุ่มทรัพยากรเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ณ ตอนนี้ เพราะหากช้าเกินการณ์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้อีกแล้วในอนาคต
เอกสารประกอบการเขียน
AR6 Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerability