ความหลากหลายทางทัศนียภาพและความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร ทำให้จังหวัดกระบี่เป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ส่วนผู้คนในพื้นที่ก็หาเลี้ยงชีพทั้งจากการทำเกษตร ประมง และธุรกิจท่องเที่ยว ฟังแล้วเหมือนจะเป็นโลกยูโทเปียเล็กๆ ที่ทุกอย่างดูลงตัวดี แต่กระบี่ก็เป็นเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแบบไม่เกื้อกูลกัน ทราบไหมครับว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นคืออะไร คำตอบเฉลยอยู่ในคำขวัญจังหวัดกระบี่แล้ว..
“แหล่งถ่านหิน ถิ่นหอยเก่า เขาตระหง่าน ธารสวย รวยเกาะเพาะปลูกปาล์ม งามหาดทราย ใต้ทะเลสวยสด มรกตอันดามัน สวรรค์เกาะพีพี”
ถ้าให้เล่นเกมทายว่าอะไรเอ่ยไม่เข้าพวกมากที่สุด คงจะตอบได้กันเป็นเสียงเดียวว่า แหล่งถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในจังหวัดกระบี่มากว่า 50 ปี ก่อนที่จะกลายเป็นการต่อต้านการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ตามแผนงานพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2573 (หรือ แผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงที่ 3) ในตอนนี้
เพื่อให้ทราบถึงที่มาของปมปัญหาอันนำมาสู่การต่อต้านในปัจจุบัน คงต้องพาผู้อ่านย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของโรงไฟฟ้ากระบี่กันก่อน
โรงไฟฟ้ากระบี่
อดีต – (ปิดตัว) โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน – (สร้างใหม่) โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา กำลังผลิต 340 เมกะวัตต์
อนาคต – (ขยายเพิ่ม) โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ขึ้นในปี พ.ศ.2507 ที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง โดยแรกเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการเผาถ่านหินลิกไนต์ มีกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ ก่อนจะปิดตัวลงในปี พ.ศ.2538 แต่อีกสองปีต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นบนพื้นที่เดิม โดยใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลงแทนถ่านหิน และมีกำลังผลิตสูงขึ้นเป็น 340 เมกะวัตต์ ปัจจุบันน้ำมันเตามีราคาสูง โรงไฟฟ้ากระบี่จึงถูกกำหนดให้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ แต่ในแผนงานพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2573 (หรือ แผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงที่ 3) กฟผ. วางแผนที่จะขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ให้มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ โดยใช้ถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิง
กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่า การขยายโรงไฟฟ้ากระบี่จะช่วยตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีความมั่นคงมากขึ้น รวมถึงยังเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้ากระบี่กลับสร้างผลกระทบในทางลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในจังหวัด โดยผลกระทบดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่โรงไฟฟ้ากระบี่แห่งแรก เพราะแม้ทั้งโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินลิกไนต์จะปิดตัวไปแล้ว 32 ปี แต่น้ำจากเหมืองยังคงไหลออกมาอยู่เรื่อยๆ ทำให้แหล่งน้ำและพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณใกล้เคียงเกิดการปนเปื้อน ปัจจุบันชาวกระบี่จึงไม่สามารถใช้น้ำฝนและน้ำบาดาลได้ เนื่องจากมีตะกอนดำ
ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ที่เปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง ชาวบ้าน (ตำบลปกาสัย) ก็ร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากควันของโรงไฟฟ้า ซึ่ง นายไพฑูรย์ สุวรรณบริบาล อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ ก็ยอมรับว่า โรงไฟฟ้ามีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมจริง
ส่วนจุดเริ่มต้นของการต่อต้านโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ซึ่งใช้ถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงนั้น เริ่มต้นจากการก่อสร้างท่าเรือของโรงไฟฟ้าเพื่อขนถ่ายถ่านหิน ซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างน้อย 2.3 ล้านตันต่อปี โดยท่าเรือถ่านหินจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณปากแม่น้ำกระบี่ อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะแนวปะการัง พะยูน และหญ้าทะเล ซึ่งองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่าง RAMSAR (RAMSAR Site) ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญ การก่อสร้างท่าเรือในบริเวณดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ หากมีการรั่วไหลของผลิตภัณฑ์ถ่านหินและของเสียลงทะเล รัฐบาลจึงพยายามลดกระแสต่อต้านด้วยการปรับเปลี่ยนเรือบรรทุกถ่านหินจากขนาดเล็ก (3000 ตัน) ไปเป็นเรือขนาดใหญ่ (10000 ตัน) ที่มีระบบปิด เพื่อลดความเสี่ยงในการรั่วไหลลง อย่างไรก็ตาม การขนส่งถ่านหินจำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเพิ่ม ซึ่งจะก่อให้เกิดการทับถมตะกอนและส่งเสริมให้เกิดการขนถ่านหินมากขึ้น ผลกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเลและเเนวปะการัง แหล่งอนุรักษ์ และเเหล่งประมงของชาวกระบี่จึงยังคงอยู่
(กดคลิ๊กที่ภาพเพื่อดูรายละเอียด แผนที่โชว์แหล่งธรรมชาติที่สำคัญและที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่านหิน ของ Greenpeace)
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ตามกฏกระทรวงฉบับใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 100 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมชุมชนในพื้นที่อย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงไฟฟ้า (EHIA) โดยสาธารณชนจะต้องมีส่วนร่วมในการศึกษา แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโรงไฟฟ้ากลับไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างพอเพียง ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดขอบเขตรัศมีการศึกษาเพียง 5 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการ ทั้งๆ ที่ประชาชนนอกรัศมีดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และการจัดเวทีตอบรับความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก็มีจำนวนน้อยเกินความเหมาะสม ทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถยุติข้อพิพาทระหว่างประชาชนในพื้นที่และผู้เสนอโครงการได้
ดังนั้นแม้โครงการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่จะทำให้จังหวัดกระบี่มีความมั่นคงเรื่องกระแสไฟฟ้า แต่ตัวโครงการเองกลับสร้างความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนชาวกระบี่
ทางเลือกพลังงาน : พลังงานทางเลือก ?
แทนที่จะมุ่งตอบคำถามว่า เราจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้มีความเสี่ยงน้อยลง และเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้อย่างไร การเปลี่ยนมาตั้งคำถามว่า การขยายโรงไฟฟ้ากระบี่มีความจำเป็นจริงๆ หรือ ในเมื่อปัจจุบันจังหวัดกระบี่ก็มีแหล่งพลังงานอื่นๆ มากมาย ซึ่งสะอาดและมีความยั่งยืนกว่าพลังงานถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานก๊าซชีวภาพ เป็นต้น น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ให้หมดไปได้ไม่ยากนัก
อย่างเหตุผลแรกที่กระทรวงพลังงานยกมาอ้างในการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดให้มีกำลังการผลิตเท่ากับ 870 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ. 2573 นั้น ข้อมูลของ นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการอิสระของมูลนิธินโยบาลสุขภาวะ กลับพบว่า จังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงมาก (ดังภาพด้านล่าง) โดยเฉพาะพลังงานชีวมวลจากปาล์ม ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของกระบี่ และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมีศักยภาพเฉลี่ยเท่ากับ 1900 และ 18000 ตามลำดับ ดังนั้นหากภาครัฐเน้นพัฒนาพลังงานชีวมวลให้ได้อย่างน้อย 40% (800 เมกะวัตต์) และพลังงานแสงอาทิตย์ 95 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2570 กระบี่ก็จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่จะถูกสร้างในเวลาที่กำหนดตามแผนโครงการ
(ตารางจากรายงานขององค์กรกรีนพีซ กระบี่บนทางแพร่ง)
นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่าความต้องการไฟฟ้าสูงถึง 6,437 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นปริมาณสำรองร้อยละ 23.9 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 และตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี พ.ศ. 2554 – 2573 ของกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 5.6 โรงในปี พ.ศ. 2559 หรือคิดเป็นพลังงานราว 4,465 เมกะวัตต์ และหากมีการปฏิบัติตามแผนอย่างต่อเนื่องจะสามารถประหยัดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถึง 25 โรง ดังนั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่กำลังทะเลาะกันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีกำลังการผลิตเพียง 800 เมกะวัตต์ จึงไม่มีความจำเป็น
สำหรับเหตุผลที่สองของการขยายโรงไฟฟ้ากระบี่คือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้นั้น หากดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าในทุกภาคของประเทศ (พ.ศ.2556) จะพบว่า ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุด (ประมาณ 2,400 เมกะวัตต์) นอกจากนี้หลายจังหวัดในภาคใต้ยังมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าในจังหวัดมาจากพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว (ส่วนใหญ่มาจากกากและน้ำเสียของโรงงานปาล์มน้ำมัน) ซึ่งมูลนิธินโยบายสุขภาวะเผยว่า หากทำตามแผนร่างพัฒนาพลังงานหมุนเวียนฯ จังหวัดกระบี่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ทั้งจังหวัดได้ภายในเวลา 2 ปี ซึ่งจะสร้างเศรษฐกิจปีละ 10,900 ล้านบาท ในปีพ.ศ. 2570 สร้างงานมากกว่า 15,500 ตำแหน่ง และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงและปริมาณสารเรือนกระจกในปริมาณ 2,700 ล้านบาทต่อปี กับ 3.2 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ก็เช่นกัน หากทำการวางแผนพลังงานหมุนเวียนครบ 14 จังหวัดภาคใต้จะพบว่า ทั้ง 14 จังหวัดจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้เพียงพอภายใน 2 ปีเท่านั้น
(กราฟจากการนำเสนอแผน กระบี่จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100% ภายใน 2 ปี ของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ)
(กราฟจากการนำเสนอแผน กระบี่จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100% ภายใน 2 ปี ของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ)
ส่วนเหตุผลสุดท้ายในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดคือ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งจะพบว่า การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะส่งเสริมการกระจายและความหลากหลายมากกว่าการใช้ถ่านหิน เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนยังมีอยู่น้อยมาก และการผลิตไฟฟ้าตามร่างแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนฯ จังหวัดกระบี่ จะมีการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหลายแหล่ง (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพลังงานชีวมวล)
(กราฟวงกลมจากแผนภาพนำเสนอทิศทางและยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศของกระทรวงพลังงาน 12 พฤศจิกายน 2557)
จะเห็นได้ว่านอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว จังหวัดกระบี่และภาคใต้ยังคงมีทางเลือกของแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าอีกหลายทาง ซึ่งล้วนแต่เป็นพลังงานหมุนเวียนที่นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยกว่าแล้ว ยังมีศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนมากกว่าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ดังนั้นหากมีการส่งเสริมอย่างเหมาะสม ภาคใต้ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด โดยกระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงสุดในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาสั้นที่สุดเพียงภายใน 2 ปี และหากทำได้สำเร็จกระบี่ก็จะเป็นจังหวัดต้นแบบของพลังงานหมุนเวียนให้จังหวัดอื่นๆปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดกฏหมายที่จะสนับสนุนนโยบายพลังงานหมุนเวียนและการอนุรักษ์พลังงานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีสำหรับผู้ลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน หรือการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เป็นต้น ส่วนระบบไฟฟ้าในปัจจุบันก็ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในควบคุมการใช้ไฟฟ้าและการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนให้เข้ากับระบบไฟฟ้าด้วยการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grids) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ หากประเทศไทยต้องการที่จะมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน การสนับสนุนจากรัฐบาลดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
การนำเสนอแผน กระบี่จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100% ภายใน 2 ปี ของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เข้าถึงเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2558
ข่าวการค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทำลายอู่ข้าวอู่น้ำ เข้าถึงเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2558
ข่าว กฟผ. เร่งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
ข่าว กฟผ. ปรับแผน 3 โรงไฟฟ้าใหม่ หลังถูกต้านหนัก เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
ข่าวกระทรวงพลังงานส่งนิด้าทำ SEA และอดีต ผอ.กฟผ.ยอมรับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย เข้าถึงเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2558
ข่าวโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โครงการที่รัฐผลักดันแต่เป็นหนามยอกอกของคนรักกระบี่ เข้าถึงเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2558
บทความการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดที่มีศักยภาพอย่างกระบี่และชุมพร เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
บทความกระบี่พึ่งพลังงานหมุนเวียน 100% เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
บทความถ่านหิน: ภัยมืดแห่งยุคของลิกไนต์ เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
แผนที่โชว์แหล่งธรรมชาติที่สำคัญและที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่านหิน ของ Greenpeace เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
แผนภาพนำเสนอทิศทางและยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศของกระทรวงพลังงาน (12 พฤศจิกายน 2557) เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
แผนภาพแสดงแผนที่ตั้งท่าเรือขนถ่านหินและพื้นที่ระบบนิเวศที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ของกระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2554 – 2573) เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2558
รายงานขององค์กรกรีนพีซ กระบี่บนทางแพร่ง เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2558
รายงานโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ของ กฟผ. เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
รายงานโรงไฟฟ้ากระบี่ของ กฟผ. เข้าถึงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มาของภาพประกอบ
https://thailandcoalnetwork.files.wordpress.com/2014/11/protect_krabi_009.jpg
http://www.elitethailandhotels.com/image/slider/wow-slider/images/slide7.jpg
http://www.prachachat.net/online/2013/06/13720451861372045317l.jpg
http://www.prachachat.net/online/2013/06/13720451861372045317l.jpg