ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นในวงการบันเทิงยักษ์ใหญ่อย่างฮอลลีวูด จนทั้งโลกหันมาสนใจและเกิดกระแส #Metoo ขึ้นในโลกออนไลน์ โดยเหยื่อทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเพศอื่น ๆ ต่างออกมาโพสต์ติดแฮชแท็กอย่างอึกทึกครึกโครม ทั้งออกมาเล่าประสบการณ์ที่ตนเคยเผชิญ ให้กำลังใจเหยื่อ โจมตีผู้ล่วงละเมิด ถกเถียงแลกเปลี่ยน และวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา กระแสดังกล่าวยังเป็นแรงกระเพื่อมให้หลายแวดวง รวมถึงภาคธุรกิจต้องหันมาสนใจและตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจังมากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยเหลือและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือยังคงมีแรงงานชายขอบอีกนับล้านคนที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่น่าเสียดายที่เสียงของพวกเธอแผ่วเบาเกินไปจนแทบไม่มีใครได้ยิน

แรงงานชายขอบกับการถูกล่วงละเมิดในที่ทำงาน

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมิได้เกิดขึ้นกับเหล่าคนดัง ดารา เซเลบริตี้ หรือคนในแวดวงการเมืองและธุรกิจตามที่เป็นข่าวเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นกับเหยื่อทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานหญิงชายขอบที่มีรายได้น้อย ยากจน ผิวสี และเป็นผู้อพยพ ซึ่งเรื่องราวของแรงงานชายขอบเหล่านี้กลับมิได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมเท่าไร พูดอีกอย่างคือ เราไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยเท่าไร ทั้ง ๆ ที่พวกเธอต่างเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำอย่างโหดร้าย ไม่ต่างไปจากเหล่าคนดังผู้มีชื่อเสียงหรือแม้กระทั่งชนชั้นกลางทั่วไป

การล่วงละเมิดในที่ทำงานเกิดขึ้นกับแรงงานชายขอบทุกภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยแรงงานเพศหญิง ไล่ตั้งแต่ อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย การบริการอาหาร การขายปลีก การผลิต และสุขภาพ หากดูสถิติในภาคการบริการอาหารพบว่า สองในสามของแรงงานหญิง และมากกว่าครึ่งของแรงงานชายเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้จัดการร้าน แรงงาน 70-80 เปอร์เซ็นต์เคยถูกล่วงละเมิดจากเพื่อนร่วมงาน และแรงงานหญิงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เคยโดนลูกค้าล่วงละเมิดทางเพศ โดย McDonald’s เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารชื่อดังที่แรงงานหญิงส่วนใหญ่แสดงความกังวลถึงการล่วงละเมิดในที่ทำงาน รวมทั้งยังเคยเกิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศและการเหยียดเชื้อชาติกับพนักงานมาแล้ว

ผู้ชุมนุมยืนประท้วงหน้าร้าน McDonald’s หลังบริษัทเพิกเฉยต่อกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/edwardsegal/2021/03/02/mcdonalds-faces-challenges-in-addressing-harassment-allegations-and-issues/?sh=6d18ef185a92

แรงงานหญิงยังเสี่ยงมากขึ้นอีกหากพวกเธอต้องทำงานในพื้นที่ของผู้ชาย เช่น ในภาคการผลิตที่พบว่าแรงงานชายส่วนใหญ่เป็นผู้ครอบครองพื้นที่ เนื่องด้วยงานดังกล่าวจำเป็นต้องใช้กำลังแรงงาน เช่น อาชีพช่าง ซึ่งผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการก็หนีไม่พ้นผู้ชาย จึงเป็นเหตุให้แรงงานหญิงถูกแรงงานชายกีดกันและขับไล่ให้กลายเป็นคนนอก ส่งผลให้พวกเธอขาดอำนาจต่อรองและตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศในที่สุด ไม่ต่างกันกับแรงงานหญิงที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องทำงานในสถานที่ส่วนตัวของนายจ้าง ซึ่งเอื้อให้พวกเธอถูกกดขี่และล่วงละเมิดจากนายจ้างได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสถานที่ทำงานตัดขาดจากโลกภายนอก และมีโอกาสสูงที่จะอยู่กับนายจ้างตามลำพัง

ความเหลื่อมล้ำนำมาซึ่งปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศต่อแรงงานชายชอบเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ลักษณะเฉพาะของแรงงานชายขอบที่เป็นเหยื่อมักมีรายได้น้อยและยากจน ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับนายจ้างเจ้าของกิจการที่มีต้นทุน (และสถานะ) ทางสังคมสูงกว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างและแรงงาน ทำให้นายจ้างมีอำนาจในการจัดการและควบคุมแรงงานผู้อ่อนแอและไร้อำนาจต่อรองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต่อกรณีนี้นายจ้าง (ที่มักเป็นผู้ชาย) จึงสามารถล่วงละเมิดทางเพศกับแรงงานหญิงด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ไม่ว่าจะเป็น การหยอกล้อ การแตะเนื้อต้องตัว การหว่านล้อม การตามตื๊อ การเสนอรางวัลตอบแทน การล่อลวง การใช้กำลัง การข่มเหงรังแก หรือแม้กระทั่งการข่มขืนเหยื่อ ที่เราอาจทึกทักได้ว่าเป็นการกระทำที่สร้างความเจ็บปวดและรุนแรงที่สุดสำหรับเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย

ลักษณะเฉพาะของแรงงานชายขอบยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เหยื่อหลายคนไม่กล้าออกมาประกาศว่าตนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผลสำรวจจาก Washington Post และ ABC News พบว่า แรงงานส่วนใหญ่มักไม่รายงานประสบการณ์ที่ตนถูกล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้างาน เนื่องจากกลัวนายจ้างไล่ออกหรือตอบโต้ (retaliation) ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต การออกมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยอุปสรรคก้อนโต คือ การขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พบว่าเหยื่อหลายคนต้องจำใจยอมโดนล่วงละเมิดทางเพศต่อไป โดยมิต้องสงสัยเลยว่า แรงงานชายขอบมีต้นทุนทางเศรษฐกิจเพียงพอในการต่อสู้คดีทางกฎหมายหรือไม่ และเรื่องราวของพวกเธอจะเป็นที่สนใจและได้รับความเชื่อถือจากผู้มีอำนาจตามกฎหมายหรือสาธารณะชนมากน้อยแค่ไหน

ที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่าก็คือ ค่านิยมในการกล่าวโทษเหยื่อยังคงได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในหมู่ผู้ชาย แต่ยังขยายวงกว้างในหมู่เพศหญิงด้วยกันเอง รวมถึงเหยื่อ โดยเหยื่อบางคนมักโทษตัวเองไม่ต่างจากที่สังคมส่วนใหญ่พูด เช่น การคิดทึกทักเอาเองว่าตนแต่งกายไม่มิดชิด จนเป็นต้นเหตุให้ผู้พบเห็นเกิดอารมณ์และลงมือล่วงละเมิดทางเพศกับตนในที่สุด และถ้าหากหันมาพิจารณาแรงจูงใจของผู้ล่วงละเมิดก็มักพบว่า ผู้ล่วงละเมิดคิดว่าตนสามารถล่วงละเมิดทางเพศแรงงานได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัวความผิด เพราะเหยื่อเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีตัวตนในสังคม โอกาสเกิดเรื่องอื้อฉาวจึงแทบเป็นศูนย์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้ล่วงละเมิดส่วนใหญ่มักไม่ได้ถูกตักเตือน ลงโทษ หรือต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นเพียงเจ้าของกิจการหรือหัวหน้างานที่ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักของสังคม ต่างจากกรณีอื้อฉาวของ Harvey Weinstein ในฮอลลีวูด ที่สุดท้ายต้องสูญเสียหน้าที่การงานและถูกตัดสินจำคุกในที่สุด

Harvey Weinstein เจ้าพ่อแห่งฮอลลีวูดที่มีเรื่องอื้อฉาวจากคดีการล่วงละเมิดทางเพศ ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-41594672

การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาของทุกคน

การฉายภาพข้างต้นน่าจะพอเห็นภาพว่า แรงงานชายขอบกำลังถูกกดทับและกักขังให้อยู่ในวงจรอุบาทว์อย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งนี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ผลประโยชน์นานัปการตกอยู่กับผู้ล่วงละเมิดฝ่ายเดียว การแก้ไขเรื่องราวเลวร้ายให้หมดสิ้นคงต้องเริ่มต้นจากการตระหนักว่า การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาของทุกคน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้ในจุดเล็ก ๆ ย่อมส่งผลกระทบเชิงบวกแก่คนทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานชายขอบ ชนชั้นกลาง เหล่าคนดัง หรือแม้กระทั่งผู้อ่านเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศไม่ควรถูกให้ความสำคัญแยกขาดจากประเด็นอื่น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เป็นต้นตอแรกของปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการต่อสู้ของทุกคนจึงไม่ควรแยกการขับเคลื่อนการต่อสู้เรื่องเพศและปากท้องออกจากกัน แต่ควรยกระดับไปสู่โจทย์ที่ท้าทายกว่าคือ การมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผ่านการออกแบบกลไกทางสังคมที่ช่วยลดโอกาสการเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ และเพิ่มโอกาสให้เหยื่อออกมาเล่าหรือแฉเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้อย่างปลอดภัย เพื่อให้เป็นรูปธรรม เราทุกคนต้องผลักดันให้เกิดนโยบายการเพิ่มค่าแรง การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี การมีนโยบายไม่ยอมรับการล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการสร้างหลักประกันหรือสวัสดิการทางสังคมที่มั่นคง กล่าวให้ถึงที่สุด ข้อเรียกร้องเหล่านี้นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานชายขอบแล้ว มันยังทำให้สังคมเข้าใจว่า #Metoo ที่มีทุกคนนั้นมีหน้าตาอย่างไร

 

เอกสารประกอบการเขียน

Low-Wage Workers Aren’t Getting Justice for Sexual Harassment

Not Just the Rich and Famous: The Pervasiveness of Sexual Harassment Across Industries Affects All Workers

Preventing sexual harassment at work: a guide for employers

Sexual Harassment: It’s About Power, Not Lust

Sexual Harassment Is Everybody’s Problem

Toxic workplaces are everywhere, but minimum wage workers know them well

Women of color in low-wage jobs are being overlooked in the #MeToo moment