แม้จะจับต้องไม่ได้และไม่เคยปรากฎตัวให้เห็น แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเสียงไม่มีตัวตนอยู่จริง เพราะโสตประสาทของเราต่างคุ้นเคยและมีความสัมพันธ์กับมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ผลกระทบจากเสียงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เสียงสร้างความสุขให้เราได้ ไล่ตั้งแต่เสียงธรรมชาติ เสียงดนตรีบรรเลง หรือเสียงหัวเราะของลูกน้อย ฉันใดฉันนั้น เสียงก็สร้างความเดือดร้อนรำคาญได้เช่นกัน ตัวอย่างชัดเจน เช่น ในมหานครเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยเสียงรถราบนท้องถนน เสียงอากาศยาน เสียงเครื่องจักรทำงาน เสียงงานสังสรรค์รื่นเริง หรือแม้แต่เสียงโวยวายของผู้คนในหมู่บ้าน เสียงเหล่านี้ หากเป็นเสียงที่ไม่พึงประสงค์ มีระดับความดังสูง และดังต่อเนื่องยาวนาน ก็ถูกจัดว่าเป็นมลพิษทางเสียง

งานศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ว่า คนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางเสียง มลพิษทางอากาศ หรือความสกปรกจากของเสีย ในระดับที่แตกต่างกันไป พูดให้ชัดขึ้น กลุ่มคนชายขอบ อาทิ คนจน ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่มีอำนาจต่อรองต่ำมักมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่นี้คือมลพิษทางเสียง มากกว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจและสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม สูงกว่า

ที่มาภาพ: https://www.deccanherald.com/metrolife/metrolife-your-bond-with-bengaluru/noise-pollution-on-the-rise-1114755.html

 

ภัยร้ายจากมลพิษทางเสียง

องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามว่า มลพิษทางเสียง หมายถึง เสียงที่มีระดับความดังมากกว่า 65 เดซิเบลขึ้นไป เสียงที่เป็นมลพิษย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อมนุษย์ โดยเสียงที่ดังมากกว่า 75 เดซิเบลขึ้นไปก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และถ้าหากรุนแรงเกิน 120 เดซิเบลก็จะทำให้ร่างกายได้รับความเจ็บปวดหรือเกิดอาการบาดเจ็บได้

มลพิษทางเสียงส่งผลร้ายมากมายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในทศวรรษ 1970 ทีมนักจิตวิทยาค้นพบว่า เด็กที่อาศัยในอพาร์ทเมนท์ชั้นล่าง ๆ ซึ่งมักมีเสียงดังมากจะมีปัญหาในการการแยกแยะคำศัพท์ที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน รวมถึงมีปัญหาด้านการอ่านมากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังน้อยกว่า Jenny Saffran นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการยังพบว่า นอกจากมลพิษทางเสียงจะส่งผลต่อปัญหาด้านการเรียนภาษาแล้ว ยังส่งผลให้เด็กวัยหัดเดินไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ เนื่องมาจากเสียงที่ดังจนเกินไปดึงดูดความสนใจของเด็กจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ระดับความดังของเสียง
ที่มาภาพ: https://www.cabq.gov/environmentalhealth/noise

 

มลพิษทางเสียงยังส่งผลร้ายต่อมนุษย์ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสุขภาพกาย เช่น ภาวะสูญเสียการได้ยินแบบค่อยเป็นค่อยไป (Noise Induced Hearing Loss: NIHL) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบมากที่สุด ความดันโลหิตสูง อาการปวดหัว โรคหัวใจ โรคกระเพาะหรือลำไส้ใหญ่อักเสบ รวมไปถึงอาจเกิดอาการหัวใจวายเมื่อได้ยินเสียงในระดับที่ดังมาก ในด้านปัญหาสุขภาพจิต มลพิษทางเสียงส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า กระวนกระวาย วิตกกังวล หรืออาการเครียด นอกจากนี้ เสียงยังรบกวนพฤติกรรมและคุณภาพการนอนเพราะ เสียงดังในเวลากลางคืนย่อมส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับไม่สนิท ซ้ำยังส่งผลร้ายต่อทักษะการคิดและความจำของมนุษย์อีกด้วย

 

ชุมชนชายขอบอยู่กับเสียงที่ดังกว่า

แม้ว่าเมืองจะเต็มไปด้วยเสียงดังน่ารำคาญมากมาย แต่กระนั้นคนแต่ละกลุ่มกลับเผชิญกับมลพิษทางเสียงในระดับที่แตกต่างกันออกไป ผลสำรวจระดับความดังของเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาพบว่า ย่านคนจนและย่านที่มีคนผิวสี กลุ่มคนที่พูดภาษาสเปน (Hispanic) และชาวเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก จะเผชิญกับมลพิษทางเสียงในระดับที่เข้มข้นกว่าย่านคนรวย กล่าวคือ ผู้ที่อาศัยในย่านที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังกว่าคนที่อยู่ในย่านที่มีรายได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ต่อปี เกือบ 2 เดซิเบล หมายความว่า ผู้ที่อาศัยในย่านที่มีความมั่งคั่งทั้งในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบทจะเผชิญกับเสียงที่เบากว่า นอกจากนี้ หากพิจารณาในภาพรวมทั้งประเทศก็พบว่า ชุมชนที่มีคนผิวสีอาศัยอยู่ร้อยละ 75 มีค่าเฉลี่ยของระดับเสียงในตอนกลางคืนอยู่ที่ 46.3 เดซิเบล ซึ่งสูงกว่าชุมชนที่ไม่มีคนผิวสีอาศัยอยู่ถึง 4 เดซิเบล

ยิ่งไปกว่านั้น ในชุมชนที่มีทั้งคนผิวสี แรงงาน และคนจนอาศัยอยู่ หรือชุมชนที่มีการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นกลุ่ม (segregated community)  เช่น เมืองมิลวอกี ชิคาโก คลีฟแลนด์ เทรนตัน และเมมฟิส ก็ต้องทนอยู่กับมลพิษทางเสียงในระดับที่รุนแรงกว่า ทุกคนในย่านดังกล่าว ไม่ว่าจะคนอเมริกันผิวขาวหรือชาวผิวสีต่างได้รับผลกระทบด้วยกันหมด ยกตัวอย่างเช่น ชาวอเมริกันผิวขาวที่อาศัยในย่านที่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติสูง ต้องอยู่กับเสียงที่ดังกว่าชาวอเมริกันผิวขาวที่อาศัยอยู่ในย่านที่มีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติต่ำถึง 5 เดซิเบล ประเด็นนี้ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า  มลพิษทางเสียงที่รุนแรงในชุมชนลักษณะนี้เป็นผลมาจากความอ่อนแอของชุมชนจึงขาดอำนาจในการต่อรอง อันนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ผู้มีอำนาจเข้ามาดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายในชุมชนได้ตามอำเภอใจ เช่น การก่อสร้างทางด่วนในย่านคนจน เป็นต้น

แผนที่แสดงระดับความดังของเสียงทั่วสหรัฐอเมริกา
ที่มาภาพ: https://www.bard.edu/cep/blog/?p=13908

 

หากมองย้อนมายังบริบทไทย มลพิษทางเสียง โดยเฉพาะเสียงจากการจราจรเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนกรุงเทพฯ ต้องพบเจอ ผลการศึกษาโดยกรมควบคุมมลพิษในปี 2562 เผยว่า ชุมชนที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานมากที่สุดคือ  การเคหะชุมชนดินแดง โดยมีระดับเสียงที่ 71.6 ถึง 81.6 เดซิเบลเอ[1] (decibel A) (ค่ามาตรฐานของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 70 เดซิเบล) อันดับสองและสามได้แก่ สถานีไฟฟ้าย่อยธนบุรี และชุมชนการเคหะห้วยขวาง ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 69.3 ถึง 72.1 เดซิเบลเอ และ 63.1 ถึง 83.4 เดซิเบลเอตามลำดับ ผลการศึกษาข้างต้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจุดที่ต้องเผชิญกับเสียงดังมากที่สุดสองในสามอันดับคือ บริเวณการเคหะ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลจัดให้สำหรับผู้มีรายได้น้อย สอดคล้องกับผลการสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ย่านชายขอบมักต้องทนอยู่กับเสียงที่ดังกว่า (อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเพียงแค่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเปราะบางและมลพิษทางเสียงในประเทศไทยจะมีมากน้อยแค่ไหนจำเป็นได้รับการศึกษาวิจัยในเชิงลึกกันต่อไป)

 

การสร้างเมืองที่เงียบสงบ

เราอาจพบว่ามีหลากหลายวิธีในการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากมลพิษทางเสียง ยกตัวอย่างเช่น การงดเว้นการอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเสียงภายในตัวบ้าน การงดใช้อุปกรณ์ที่ส่งเสียงดัง ไปจนถึงการเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรใหม่ แน่นอนว่าวิธีการเหล่านี้ย่อมช่วยบรรเทาผลกระทบจากมลพิษทางเสียงได้ แต่ข้อเท็จจริงคือ วิธีการเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเลือกอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบได้ เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม

ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องพิจารณามลพิษทางเสียงในฐานะที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่มักเกิดขึ้นจากฝีมือของผู้มีอำนาจในสังคมอย่างรัฐและทุน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องอาศัยการร่วมมือกันจากหลายฝ่ายทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับชาติ เริ่มตั้งแต่ประชาชน องค์กร นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักออกแบบเมือง สหภาพแรงงาน สถาปนิก และกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาควรพิจารณาบนพื้นฐานเรื่องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่คนทุกกลุ่มจำต้องได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม รวมถึงมีส่วนร่วมในการออกแบบ จัดการ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว

 

[1] ระดับเสียงแบบถ่วงน้ำหนัก A เป็นการตั้งค่าของเครื่องวัดสำหรับวัดความดังที่สอดคล้องกับเกณฑ์การได้ยินของหูมนุษย์ โดยทั่วไปใช้วัดเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม ตลอดจนใช้ประเมินความเสียหายของการได้ยิน

 

เอกสารประกอบการเขียน

City Noise Might Be Making You Sick

Noise Pollution Isn’t Just Annoying — It’s Bad for Your Health

Noise pollution: how to reduce the impact of an invisible threat?

The world’s cities must take on the cacophony of noise pollution

Urban noise pollution is worst in poor and minority neighborhoods and segregated cities

What are the health effects of noise pollution?

What is environmental justice?