ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2558 รัฐบาลทั่วโลกได้บรรลุข้อตกลงปารีสในการประชุม COP21 ซึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะร่วมมือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ โดยเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

เวลาผ่านไป 5 ปีแต่ทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเข้าใกล้เป้าหมายดังกล่าว ในทางกลับกันเรายังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงจนทุบสถิติทุกปีผนวกกับวิกฤติจากภัยธรรมชาติที่บ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น ความเสี่ยงที่เคยคิดว่าจะเกิดในอนาคตอีกยาวไกลเริ่มเผยโฉม ภาคธุรกิจในฐานะส่วนหนึ่งของสาเหตุและผู้แบกรับต้นทุนหากเกิดวิกฤติจึงต้องขยับตัวเพื่อปรับแนวคิด พร้อมทั้งเดินหน้าลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือวิกฤติภูมิอากาศ

แต่ปัญหาหลักที่แทบทุกบริษัทไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต้องเผชิญคือคำถามที่ว่าจะตั้ง ‘เป้าหมาย’ ในระดับบริษัทอย่างไรให้สมเหตุสมผล วัดผลได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายของโลก

โชคดีที่ในปีเดียวกับการถือกำเนิดของข้อตกลงปารีส ทีมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญได้จับมือกันก่อตั้งโครงการริเริ่มเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative) หรือ SBTi ที่ก่อตั้งเพื่อให้คำปรึกษาแก่บริษัทที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือวิกฤติภูมิอากาศ

‘เป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์’ คืออะไร

            SBTi ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับโครงการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน (Carbon Disclosure Project) กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเดินหน้าแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการตั้ง ‘เป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์’

แน่นอนครับว่าเป้าหมายดังกล่าวย่อมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเป้าหมายที่ตั้งเองภายในบริษัทซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และความเร่งด่วนในการรับมือวิกฤติภูมิอากาศ โดยสาเหตุหนึ่งอาจเนื่องจากบริษัทเอกชนทั่วไปนั้นขาดความเชี่ยวชาญในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SBTi จึงทำหน้าที่ปิดช่องว่างดังกล่าวโดยใช้แบบจำลองที่กลั่นจากองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบันที่สุดในการตั้งเป้าหมายสำหรับแต่ละบริษัท โดยมี 3 องค์ประกอบหลักคือ

1) งบประมาณแก๊สเรือนกระจก (GHG budgets) หมายถึงปริมาณสะสมสูงสุดของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สมีเธน และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ ที่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกินกว่าจุดที่กำหนดไว้ คล้ายกับเพดานการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ถึงแม้การคำนวณอาจจะดูตรงไปตรงมา แต่งบประมาณแก๊สเรือนกระจกนั้นอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน แบบจำลองงบประมาณแก๊สเรือนกระจกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการตอบสนองระยะสั้นของภูมิอากาศต่อระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (transient climate response to emissions) ซึ่งให้ค่าประมาณการของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกในทันทีเมื่อระดับแก๊สเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง

2) ฉากทัศน์การปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Emissions scenarios) ถึงแม้ว่าการทำนายระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในอนาคตจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่การวิเคราะห์ฉากทัศน์ก็ให้ภาพว่าเราจะบรรลุการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายใต้เงื่อนไขของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองแต่ละรูปแบบได้อย่างไร

ฉากทัศน์ของ SBTi จะอิงจากงานวิจัยของสมาคมการสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินผลอย่างบูรณาการ (Integrated Assessment Modeling Consortium) และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ซึ่งมีการเผยแพร่เส้นทางการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในอนาคตมากกว่า 400 รูปแบบที่ถูกนำมารวบรวมและเผยแพร่โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือไอพีซีซี ฉากทัศน์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปตามสมมติฐานเรื่องประชากร แนวโน้มนโยบาย การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงต้นทุนและประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ไอพีซีซีริเริ่มสร้างฉากทัศน์เส้นตัวแทนเศรษฐกิจและสังคมร่วม (Shared Socioeconomic Pathways) ก็มีการสร้างฉากทัศน์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากเพื่อสะท้อนปัจจัยที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และระดับความร่วมมือกันระหว่างประเทศ เป็นต้น

SBTi เลือกฉากทัศน์ที่ใช้โดยอิงจาก 4 หลักการคือ ความสมเหตุสมผลและความน่าเชื่อถือ (Plausible) กล่าวคือฉากทัศน์ที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต อย่างที่สองคือความสอดคล้องเข้ากันได้ (Consistent) ของข้อมูล สมมติฐาน และแนวโน้มในปัจจุบัน ประการที่สามคือความรับผิดชอบ (Responsible) คือฉากทัศน์จะต้องตั้งอยู่บนหลักของการลดความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสให้มากที่สุด ประการสุดท้ายคือการไร้อคติ (Objective) หมายถึงการเลือกฉากทัศน์โดยไม่อิงกับความพึงพอใจของภาคเอกชน

3) วิธีการจัดสรรปันส่วน (Allocation approach) จากข้อ 1) และข้อ 2) เราก็จะพอเห็นภาพแล้วว่ามนุษยชาติจะต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกประมาณไหนเพื่อให้สามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ตามที่ตั้งเป้าหมาย แต่คำถามต่อไปคือแต่ละบริษัทจะต้องมีส่วนร่วมในการ ‘ลด’ เท่าไหร่

SBTi มีสองแนวทางในลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก แนวทางแรกคือวิธีบรรจบกัน (Convergence) โดยจะมีการกำหนดความเข้มข้นในการปล่อยคาร์บอนมาตรฐานเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านภูมิอากาศขึ้นมา เช่น ไม่เกิน 500 กิโลกรัมคาร์บอนต่อการผลิตสินค้า 1 ตันหรือการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์-ชั่วโมง เป็นต้นเพื่อให้บริษัทมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกันโดยแยกตามลักษณะของธุรกิจ ส่วนใครต้องลดมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นในการปล่อยคาร์บอนและอัตราการเติบโตซึ่งแตกต่างกันไป วิธีนี้จะจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะฉากทัศน์ในระดับอุตสาหกรรม

แนวทางที่สองคือลดทั้งหมด (Contraction) คือการลดระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกหรือความเข้มข้นของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทางเศรษฐกิจ (หมายถึงปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ปลดปล่อยต่อมูลค่าเพิ่มหนึ่งหน่วย) ในอัตราเท่ากันโดยไม่สนใจว่าแรกเริ่มเดิมที่บริษัทนั้นปล่อยแก๊สเรือนกระจกเท่าไหร่ วิธีนี้สามารถใช้ได้กับทั้งฉากทัศน์ระดับอุตสาหกรรมและระดับโลก

จากทั้ง 3 องค์ประกอบหลัก SBTi จะให้คำแนะนำและช่วยบริษัทที่ต้องการมีส่วนร่วมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถบรรลุเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร?

SBTi จะช่วยในการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกพร้อมทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในยุคเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ โดยใช้เครื่องมือและกรอบคิดที่ชัดเจน กระบวนการเข้าใจง่าย พร้อมให้คำแนะนำโดยอิงตามอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตไปจนถึงภาคการเงิน

กลุ่มเป้าหมายหลักของ SBTi คือบริษัทขนาดใหญ่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นภาคธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจที่แสวงหากำไร เป็นบริษัทแม่ของเครือ และมีพนักงานอย่างน้อย 500 คน ที่สำคัญ บริษัทที่ต้องการร่วมตั้งเป้าหมายกับ SBTi นั้นจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งองค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อมตามขอบเขตที่ 1 2 และ 3 ของโครงการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน

หากผ่านเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก้าวแรกของบริษัทคือการให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยมีตัวเลือกว่าจะลดแบบมาตรฐานหรือตั้งเป้าหมายสูงคือการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อโครงการได้รับคำมั่นดังกล่าว บริษัทก็จะมีสถานะว่า ‘ให้คำมั่น’ อยู่บนเว็บไซต์โดยจะมีเวลา 24 เดือนเพื่อจัดทำเป้าหมาย รวบรวมและส่งให้ SBTi ตรวจสอบ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม

กรณีศึกษาจากภาคธุรกิจ

ในตอนนี้มีบริษัทกว่า 1,500 แห่งทั่วโลกให้คำมั่นหรือเดินหน้าทำตามเป้าหมายที่ร่วมกำหนดกับ SBTi หลายบริษัทก็เป็นชื่อที่เราคุ้นหูกันดี เช่น ไฟเซอร์ (Pfizer) แอปเปิล (Apple) เจเนรัลมอเตอร์ (Genenal Motors) วีซ่า (Visa) สตาร์บัคส์ (Starbucks) เทเลนอร์ กรุ๊ป (Telenor Group) และธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (Standard Chartered Bank)

ตัวอย่างแรกคือเดลล์ (Dell) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่ตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของโรงงานผลิตและการขนส่งอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยอิงจากปี พ.ศ. 2553 เป็นกรณีฐาน รวมถึงลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ในพอร์ตฟอร์ลิโออย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างกระบวนการ บริษัทได้เห็นรอยเท้าคาร์บอนสำคัญที่ถูกมองข้ามคือสารพัดวัสดุสำหรับการผลิตหน้าจอ อีกทั้งยังได้ระดมสมองจากวิศวกรและทีมงานเพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมที่จะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนในทุกผลิตภัณฑ์ การดำเนินการตามเป้าหมายยังตอบโจทย์พนักงานโดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลในฐานะบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงลูกค้าที่ใส่ใจด้านวิกฤติภูมิอากาศ

ปัจจุบันเดลล์อยู่ในระหว่างการตั้งเป้าหมายสำหรับอีก 10 ปีข้างหน้า รวมถึงนโยบายหลักที่จะมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593

อีกตัวอย่างหนึ่งคือบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) หรือ P&G ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคขนาดยักษ์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยอิงจากปี พ.ศ. 2553 เป็นกรณีฐาน รวมถึงการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ปัญหาสำคัญในห่วงโซ่คุณค่า

แผนของ P&G เพื่อบรรลุเป้าหมายจะเน้นการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ปัจจุบัน P&G ใช้พลังงานจากทั้งความร้อนใต้พิภพ ลม แสดงอาทิตย์ น้ำ และชีวมวลทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และยุโรป โดยส่วนนี้นับว่าอยู่ในขอบเขตที่ 1 และ 2 ของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่นับว่าโหดหินที่สุดคือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในขอบเขตที่ 3 ซึ่งเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการปรับปรุงระบบขนส่งและบรรจุภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เยื่อไม้ที่ได้รับการรับรองว่ามีแหล่งที่มาอย่างยั่งยืน ขจัดน้ำมันปาล์มที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า และสุดท้ายคือการออกแบบนวัตกรรมผงซักฟอกภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทเครื่องซักผ้าเพื่อผลักดันให้การซักผ้าที่ใช้เครื่องใช้น้ำเย็นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยผู้บริโภคประหยัดพลังงาน ยังลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

จะเห็นว่ารูปแบบ วิธีการ และเป้าหมายของทั้งสองบริษัทที่ตั้งนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบที่กำหนดไว้ตามข้อตกลงปารีส ดังนั้นการบรรลุแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่บริษัทจะต้องคิดค้นและพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

หันกลับมามองที่ประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทสัญชาติไทย 4 บริษัทเข้าร่วมกับ SBTi โดยมีสองบริษัทที่กำหนดเป้าหมายและแผนดำเนินการเรียบร้อยแล้วคือบริษัท สตาร์บอร์ด จำกัด และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ส่วนอีกสองบริษัทได้ให้คำมั่นและอยู่ในระหว่างการพัฒนาแผนคือ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าจะมีบริษัทไทยสนใจและให้คำมั่นที่จะร่วมรับมือวิกฤติภูมิอากาศโดยการตั้งเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้นในอนาคต

เอกสารประกอบการเขียน

Science Based Targets initiative

 SBTi Progress Report 2020 | Five years of progress: A decade of ambition ahead