ตั้งแต่บริการเเท็กซี่อูเบอร์ (Uber) เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี 2014 ที่กรุงเทพฯ จำนวนผู้ใช้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังๆ ที่ผู้โดยสารหลายคนเริ่มปวดหมองและเบื่อหน่ายกับความเอาแต่ใจของธุรกิจบริการขนส่งดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น พี่แท็กซี่ที่ไม่รับลูกค้า (ส่งรถ! น้ำมันหมด! ว่ากันไป) เฮียวินมอเตอร์ไซค์ที่ราคาไม่เสถียร แถมมีแต่จะขึ้นราคา รวมไปถึงคุณลุงตุ๊กตุ๊กที่เลือกที่รักมักที่ชัง เล็งแต่จะรับผู้โดยสารชาวต่างชาติ (เพราะเรียกราคาได้สูงกว่า) ผู้โดยสารจำนวนมากจึงหันมาพึ่งบริการของ Uber กันแทน อย่างไรก็ตามในช่วงสองปีที่ผ่านมา ธุรกิจของบริษัทกลับไม่ราบรื่นอย่างที่ควร ตรงกันข้ามบริษัทกลับต้องเผชิญกับอุปสรรคจากภาครัฐครั้งแล้วครั้งเล่า
หลายคนที่เพิ่งเคยได้ยินชื่อนี้อาจจะไม่รู้เกี่ยวกับที่มาของ Uber มากนัก จริงๆ แล้ว Uber เป็นธุรกิจบริการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มดำเนินธุรกิจครั้งแรกในปี 2011 ต่อมาได้ขยายบริการสู่ต่างประเทศจนประสบผลสำเร็จกลายเป็นธุรกิจนานาชาติ ปัจจุบัน Uber ให้บริการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ไล่ตั้งแต่รถเเท็กซี่ เรือโดยสาร ยันไปถึงบริการบนท้องฟ้าอย่างเฮลิคอปเตอร์เลยทีเดียว แต่แน่นอนว่าโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมที่สุดยังคงเป็นรถเเท็กซี่
ข้อแตกต่างระหว่าง Uber กับธุรกิจแท็กซี่ทั่วไปนั้นไม่ได้อยู่ที่คุณภาพและราคาเท่านั้น แต่แตกต่างแม้กระทั่งโมเดลธุรกิจ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเลยทีเดียว โมเดลของ Uber มีพื้นฐานมาจากแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” (sharing economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคมอบสิทธิ์ชั่วคราวในการเข้าถึง (temporary access) และบริโภคสินทรัพย์ที่จับต้องได้แก่ผู้บริโภคคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้มอบสิทธิ์จะเรียกเก็บค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ชั่วคราวนั้นด้วย ในกรณีของ Uber คือ บุคคลใดก็ตามที่มีรถยนต์สามารถให้บริการขนส่ง (ภายใต้ชื่อของ Uber) กับผู้บริโภคคนอื่นที่ต้องการเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง โดยจะเก็บค่าโดยสารจากการให้ยืมใช้รถและบริการขนส่งนั้น
เหตุผลที่โมเดลธุรกิจแบบเเบ่งปันอย่าง Uber ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในหลายๆประเทศอาจเป็นเพราะว่า ธุรกิจดังกล่าวสามารถมอบมูลค่า (value proposition) ที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภค เช่น ปัจจัยด้านราคาที่ถูกกว่า บริการที่ทันใจ หรือความปลอดภัยที่มากกว่า ทำให้แท็กซี่ของ Uber เป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดกว่าตัวเลือกเดิมที่มีอยู่ นอกจากนี้ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ธุรกิจแบบแบ่งปันยังส่งเสริมการกระจายตัวของระบบเศรษฐกิจ (decentralized economy) ทำให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสในการทำธุรกิจหรือสร้างรายได้มากขึ้นอีกด้วย
แต่ทว่าธุรกิจประเภทนี้ก็มีปัญหาที่น่าเห็นใจอยู่ด้วยเช่นกัน นั่นคือ ความไม่เพียบพร้อมของระบบสังคมเทคนิคในปัจจุบัน (socio-technical system)
เนื่องจากแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันเป็นนวัตกรรมโมเดลธุรกิจแบบก้าวกระโดด (disruptive business model innovation) ที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นไม่ถึง 10 ปี หลายประเทศที่ไม่เคยพบเจอโมเดลธุรกิจเช่นนี้จึงยังไม่คุ้นชิน และผู้เล่นในระบบสังคมจึงมีทัศนคติทางลบ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่มองว่าระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันจะสร้างปัญหามากกว่ามูลค่า เนื่องจากไม่สามารถควบคุมได้ด้วยกลไกตลาดในปัจจุบัน (unregulated market) ขณะเดียวกันผู้เล่นหลักในภาคธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ภายใต้บริบทโครงสร้างทางสังคมและตลาดปัจจุบันก็กลัวธุรกิจแนวใหม่นี้จะมาแย่งผลกำไรไปเสียหมด ดังนั้นอุปสรรคสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเเบ่งปันก็คือการปรับเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจ (economic paradigm) ของระบบสังคม
อย่างกรณีของประเทศไทยที่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่าง Uber ภาครัฐและภาคธุรกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มธุรกิจวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ได้เรียกร้องกดดันให้รัฐบาลจัดการกับบริการขนส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ของ Uber และ Grab (บริษัทจากมาเลเซียที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่เน้นตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก) เพราะถูกทั้ง 2 บริษัทแย่งชิงผลกำไร ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจภายใต้กรอบกฏหมายปัจจุบัน ส่งผลให้ภาครัฐตัดสินบังคับให้สองบริษัทยกเลิกธุรกิจดังกล่าว
แต่สถานการณ์ก็ยังคงไม่ดีขึ้น ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มขนส่งสาธารณะ ‘รถสี่ล้อแดงเชียงใหม่’ ได้ทำการเรียกร้องรัฐบาลด้วยเหตุผลเดียวกัน หลังจากที่ Uber ไปเปิดบริการแท็กซี่ที่เชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ หนำซ้ำความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังบานปลายกว่าปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มรถแดงและภาครัฐร่วมมือกันหลอกล่อคนขับของ Uber ให้ขับมารับเพื่อปรับทำโทษ หลังจากที่รัฐบาลประกาศว่าธุรกิจเเท็กซี่ส่วนตัวของ Uber ผิดกฎหมาย (ทั้งๆ ที่บริษัทก็ดำเนินธุรกิจมาจะสามปีแล้ว) ตอนนี้จำนวนคนขับ Uber ที่ถูกปรับมีอย่างน้อย 18 คนแล้ว
หากมองอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ผู้เขียนมองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะในแง่กฎหมายแล้ว Uber ทำธุรกิจที่ละเมิดกรอบกฎหมายในปัจจุบันจริงๆ และเคยถูกต่อต้านมาแล้วในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงของกลุ่มแท็กซี่ในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ การแบนและปรับคนขับ UBER โดยรัฐบาลฝรั่งเศส
สำหรับทางออกของธุรกิจนี้ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม คงอยู่ที่การปรับตัวของภาครัฐและตลาดเพื่อรองรับโมเดลธุรกิจแบบแบ่งปัน อาทิ การปรับแก้กฎหมาย (การทำให้ธุรกิจ Uber เข้ามาอยู่ในกรอบกฎหมาย) การออกมาตรการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่กลุ่มเเท็กซี่จดทะเบียนปัจจุบันสามารถแข่งขันกับแท็กซี่ของ Uber ได้ โดยที่ไม่ไปทำลายโมเดลธุรกิจแบบแบ่งปันของบริษัท
อย่างไรก็ตามโอกาสที่ภาครัฐไทยจะทำเช่นนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะมุมมองทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยยังคงหัวเก่าคร่ำครึ ไม่มองนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ สนใจแต่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของผู้เล่นในภาครัฐและธุรกิจในระบบสังคมเทคนิคปัจจุบันเป็นหลัก ยิ่งเมื่อหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมการขนส่งทำการขู่เปรยๆ ว่าอาจจะใช้กฎหมายมาตรา 44 บังคับปิดแอพพลิเคชั่นของ Uber ความหวังที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะได้ใช้บริการแท็กซี่ทางเลือกที่ดีกว่าก็ดูจะริบหรี่เข้าไปอีก
ในความเห็นส่วนตัว ผู้เขียนอยากส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันให้เติบโตมากขึ้น เหตุผลก็เพราะว่านอกจากมันจะสร้างโอกาสทางธุรกิจและกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจแล้ว หากมีกลไกที่รองรับและมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันสามารถส่งเสริมให้เกิดการบริโภคสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วย (sustainable consumption) เพราะสินค้าจากผู้บริโภคหนึ่งคนสามารถใช้งานโดยผู้บริโภคคนอื่นๆ ได้ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อหรือเป็นเจ้าของสินค้ากันทุกคน จึงช่วยลดปริมาณทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตสินค้าในระบบเศรษฐกิจลง
แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Uber ในไทยที่ผ่านมา ทำให้เราทุกคนต้องตั้งคำถามต่ออนาคตของกลุ่มธุรกิจที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจแบบแบ่งปันในประเทศไทยว่าจะเป็นเช่นไร เพราะนอกจาก Uber แล้ว เรายังมีธุรกิจแบบเเบ่งปันประเภทอื่นที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ Airbnb ธุรกิจที่ส่งเสริมให้ผู้ใดก็ตามที่มีบ้านหรือที่พักปล่อยให้ผู้บริโภคอื่นเช่าอาศัยชั่วคราว อีกธุรกิจหนึ่ง คือ Netflix ที่ปล่อยเช่าสิทธิในการดูหนังภาพยนต์ออนไลน์ หากธุรกิจทั้งสองเติบโตขึ้นจนเริ่มสร้างปัญหาความขัดแย้งกับสังคมไทยและผู้เล่นในภาคธุรกิจปัจจุบัน บริษัทจะโดนบังคับปิดกั้นแบบเดียวกับกรณีของ Uber หรือไม่ และผู้ประกอบการจะรับมือกับอุปสรรคนี้อย่างไร
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนมองว่า ต่อให้รัฐบาลพยายามที่จะปิดกั้นรักษาไว้ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมแค่ไหน ยังไงเสีย การเผชิญกับแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต ทางที่ดี การรับมือกับนวัตกรรมใหม่นี้ตรงๆ แต่เนิ่นๆ น่าจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมกับสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ที่ยังปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริง (ล้มก่อน ลุกก่อน)
สำหรับอนาคตของ Uber ไทยนั้น ปัจจัยที่อาจตัดสินความอยู่รอดของธุรกิจคงจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของ Uber ในการสร้างฐานลูกค้าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (ก่อนที่จะถูกปิดกั้น) หากบริษัทสามารถโน้มน้าวผู้บริโภคให้เลือกบริการขนส่งของตนแทนตัวเลือกเดิมที่มีอยู่ได้เป็นจำนวนมากเพียงพอ แรงสนับสนุนจากฝ่ายผู้บริโภคก็อาจจะกดดันให้ภาครัฐเปิดช่องให้บริษัททำธุรกิจได้อีกครั้ง แต่ภายใต้สังคมเผด็จการแบบนี้ แรงผลักดันจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนนั้น ผู้เขียนขอเว้นไว้ให้ผู้อ่านแต่ละท่านตอบกันเอาเองครับ…