หลังจากได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสำหรับกิจการเพื่อสังคม ได้จัดทำกรณีศึกษานำร่องด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย[1]ในพ.ศ. 2560 และได้ปรับปรุงคู่มือการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Impact Assessment: SIA & Social Return on Investment: SROI) เป็นครั้งที่สอง รวมถึงสอนและใช้เครื่องมือดังกล่าวมาร่วมทศวรรษ ผู้เขียนก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยให้ความสนใจและนิยมเรื่องการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะการ “อยากใช้” และ “ต้องใช้” เครื่องมือ SROI ทั้งๆ ที่ SROI อาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะกับทุกคน ทุกรูปแบบโครงการหรือองค์กร บทความนี้จึงอยากชวนทุกท่านมารู้จัก SROI ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในมุมที่มีความท้าทายหรือคนมักเข้าใจผิด

SROI หรือการคำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนเป็นแนวคิดที่มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 90 ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม โดยผู้เริ่มต้นคือ Roberts Enterprise Development Foundation (REDF) ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนและขยายไปสู่วงกว้างโดย New Economics Foundation ในสหราชอาณาจักร SROI ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราใช้ประเมินผลลัพธ์ทางสังคมได้ แต่ไม่ใช่กรอบคิดหรือเครื่องมือเดียวที่มีในตลาดและในทางวิชาการ

สิ่งที่ทำให้ SROI เป็นกรอบคิดที่ถูกใจใครหลายคนก็คือ มันช่วยเปลี่ยน “ผลลัพธ์” ที่โครงการหรือองค์กรทำเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมให้ออกมาเป็น “มูลค่า” ของเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นของคนชรา ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าที่ฟื้นคืนกลับมา หรือโอกาสในการศึกษาต่อที่ดีขึ้นของเด็ก ๆ ด้วยการนำผลลัพธ์เหล่านี้มาคิดเป็นมูลค่า (ที่เทียบเคียงกับเงิน) ก่อนที่จะหารด้วยต้นทุนคืองบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ ทำให้ผู้ดำเนินโครงการเห็นอัตราส่วนของ SROI ว่า เงินหนึ่งบาท (หรือหน่วยเงินอื่น ๆ ที่ลงทุนไปนั้น) ได้สร้างผลลัพธ์ทางสังคมเป็นเงินสักกี่บาท เช่น SROI 1:1.5 หมายความว่าทุก 1 บาทที่ลงทุนไป เราได้รับผลตอบแทนทางสังคมคืนมา 1 บาท 50 สตางค์

ภาพถ่ายโดย Karolina Grabowska

การเทียบเคียงให้เห็นความคุ้มค่าในรูปตัวเงินทำให้ผู้ใช้ผลของ SROI ตื่นเต้น เพราะแนวคิดดูคล้ายกับผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment: ROI) ที่แสดงให้เราเห็นเวลาที่เราลงทุนกับพันธบัตร หุ้น กองทุนหรือสินทรัพย์อื่น ๆ แต่หลายคนกลับลืมไปว่าผลตอบแทนของ SROI ไม่ใช่เงินจริง ๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการไม่ได้ถือเงินเป็นกอบเป็นกำเดินออกจากโครงการไป ค่าจาก SROI เป็นเพียงค่า “เทียบ” (proxy) ที่เราพยายามทำให้ใกล้เคียงกับมูลค่าทางการเงินมากที่สุด เช่น มูลค่าของความสามัคคีของชุมชน มูลค่าของอากาศที่ดี หรือมูลค่าของอนาคตจากการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นของเยาวชน แต่นั่นก็ไม่ใช่เงินอยู่ดี

การสื่อสารค่า SROI ออกมาเป็นภาษาของเงินก็เพื่อช่วยให้คนเข้าใจ “มูลค่า” ที่เกิดขึ้นได้ ด้วยภาษาการเงินเป็นภาษาที่ผู้ให้ทุนหรือผู้อนุมัติงบประมาณคุ้นเคย แต่คนที่เคยใช้เครื่องมือ SROI จริง ๆ ก็จะทราบดีว่า กว่าจะได้มาซึ่งตัวเลขสุดท้ายที่ว่านี้ ตัวเลข SROI ประกอบไปด้วยการคำนวณเซลล์ต่าง ๆ บนชีทเอ็กเซลที่ถูกผูกสูตรยุบยิบเข้าไว้ด้วยกัน อย่างจำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน/มูลค่าของผลผลิต/ผลลัพธ์ ค่าแทนทางการเงิน (financial proxy) จำนวนปีที่คำนวณ อัตราคิดลด (discount rate) ฯลฯ ที่ถ้าเราเปลี่ยนตัวเลขบางตัว ค่า SROI ก็อาจจะพุ่งขึ้นหรือลดลงไปหลายบาท หรือเปลี่ยนจากหลักหน่วยไปเป็นหลักสิบหรือหลักร้อยได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การทำค่า SROI ให้พุ่งสูงขึ้นไปจนกระทั่งเราพอใจอาจจะไม่ได้มาจากการปรับเปลี่ยนการทำงานใด ๆ ในโครงการหรือองค์กร หรือทำไมการให้คนหลายคนลองคำนวณค่า SROI ของโครงการเดียวกัน จากข้อมูลฐานเดียวกัน กลับแทบจะไม่มีผู้ที่คำนวณค่า SROI ออกมาเท่ากัน อย่างที่ผู้เขียนได้ทดลองในการสอน SROI หลายสิบรอบในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้นจึงน่าเสียดายว่า ท่ามกลางความ “ฮอตฮิต” ของเครื่องมือประเมิน SROI  ในไทยตอนนี้ ผู้ที่ต้องการใช้ SROI ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือถูก “ใบสั่ง” อาจหลงลืม หรือไม่ทราบถึงข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการของเครื่องมือนี้ดังตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งที่ยกมาข้างต้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงได้รวบรวมอุปสรรคและข้อจำกัดของ SROI จากงานวิจัยในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และจากประสบการณ์การใช้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้สนใจ “รู้ทัน” การใช้เครื่องมือและใช้ข้อมูลที่ได้จากการประเมินให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

โดยแบ่งข้อจำกัดและอุปสรรคที่พบออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ก่อน ระหว่างและหลังการประเมิน

ก่อนการประเมิน

  • ความเพียงพอของข้อมูล – การพิจารณาว่าโครงการหรือองค์กรมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินไหม และข้อมูลเป็นระเบียบเพียงใดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ องค์กรจำนวนมากมักขาดระบบการเก็บข้อมูลหรือขาดระบบติดตาม (monitoring) ที่ดี ซึ่งในการคำนวณ SROI ยิ่งเราขาดข้อมูลที่จำเป็นมากแค่ไหนก็ต้องอาศัยข้อมูลสมมติมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะกับการประเมินแบบย้อนหลังที่เหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ดังนั้นตัวเลข SROI ที่ออกมา แม้จะบอกเราว่าคุ้มแสนคุ้มก็อาจเป็นตัวเลขประดิษฐ์ที่มาจากการสมมติมากมายและไกลจากความจริง
  • ความสามารถของคนในองค์กร – SROI ใช้พื้นฐานหลักคิดทางการเงิน บัญชีและเศรษฐศาสตร์ การจะมอบหมายให้ใครสักคนในองค์กรประเมิน SROI ก็ควรพิจารณาความสามารถในด้านดังกล่าวเป็นหลัก หรือหากมีการจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาประเมินให้ องค์กรเองก็ควรเข้าใจเรื่อง SROI พอที่จะเลือกการบริการที่เหมาะกับตัวเอง รวมถึงเข้าใจเครื่องมือพอที่จะอ่านและตั้งคำถามกับกระบวนการและผลที่ได้มา รวมถึงสื่อสารออกไปอย่างถูกต้อง
  • การเตรียมงบประมาณสำหรับการประเมิน – งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การประเมินโดยใช้ SROI มีราคาสูง ในสหราชอาณาจักรหน่วยงานหลายแห่งที่ถูกขอให้ประเมิน SROI พบว่า ค่าประเมินอาจสูงกว่าค่าดำเนินโครงการเสียอีก ดังนั้นโครงการหรือกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นหรือมีขนาดเล็กอาจไม่มีงบประมาณพอ หรือผู้ให้ทุนที่ขอผลการประเมินอาจไม่ได้กันงบประมาณด้านการประเมินไว้ให้ผู้รับทุน ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เหนือความคาดหมายเพิ่มเข้ามาเป็นภาระ

ภาพถ่ายโดย Alex Green

ระหว่างการประเมิน

  • การใส่ใจแต่ละขั้นตอนของการประเมิน – ค่า SROI มาจากการคิดวิเคราะห์ไปตามขั้นตอน เหมือนการกลัดกระดุมไปทีละเม็ด ที่หากเม็ดแรกผิด เม็ดที่ตาม ๆ มาก็ผิด การประเมินจึงควรตั้งต้นจากสมมติฐานของโครงการในการแก้ปัญหา หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อม หรือใช้กรอบคิดของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) พิจารณาความเชื่อมโยงของกิจกรรม ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการที่เป็นเหตุเป็นผล ก่อนจะสกัดมาเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ จากการดำเนินโครงการ และเลือกค่าแทนทางการเงิน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ต้องมีการพิจารณาและตัดสินอย่างระมัดระวัง รวมถึงเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของโครงการจริง ๆ ในหลายกรณี ผู้คำนวณมักมุ่งไปที่การหาค่าแทนทางการเงิน และเน้นแค่การตีมูลค่าผลลัพธ์ทางสังคมให้ออกมาเป็นตัวเงิน ดังนั้นแม้จะได้ค่า SROI ที่สวยงาม แต่ตัวชี้วัดหรือค่าแทนทางการเงินอาจจะไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของโครงการ ก็ถือได้ว่าติดกระดุมผิดเม็ดมาตั้งแต่แรก
  • การตั้งสมมติฐานในขั้นตอนต่าง ๆ – วรรณกรรมบางส่วนระบุว่า การที่เราจะทราบได้ว่าผลลัพธ์ส่วนใดมาจากผลของโครงการโดยตรง หรือมาจากตัวแปรอื่น ๆ (ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการคำนวณ SROI) มีความซับซ้อน เช่น ผู้รับผลประโยชน์อาจทำงานร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อสร้างผลลัพธ์ในประเด็นเดียวกัน หรือมีปัจจัยภายนอกมากมายที่ส่งผลกับผลลัพธ์ เช่น สภาพภูมิอากาศหรือราคาตลาดต่อสินค้าการเกษตร การปันส่วนเฉพาะผลลัพธ์ที่เราสร้างจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้สมมติฐานเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมในการประเมินหรือคาดการณ์ผล SROI เช่น ควรคำนวณจากผลลัพธ์ ณ จุดปัจจุบันไปอีก 3 ปี 5 ปี หรือมากกว่า ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทราบหรือคาดการณ์ได้ยากว่าผลลัพธ์ของโครงการจะอยู่นานแค่ไหน หรือผลลัพธ์จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไร เช่น ทันทีที่จบกิจกรรม หรือทิ้งห่างออกไปเมื่อจบโครงการ
  • การให้ค่าแทนทางการเงิน – วรรณกรรมหลายชิ้นระบุว่า เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดที่จะหาค่าแทนทางการเงินให้ใกล้เคียงกับมูลค่าของผลลัพธ์มากที่สุด ซึ่งท้ายสุดแล้วไม่มีใครเลยที่ทราบมูลค่าที่แท้จริงของผลลัพธ์เหล่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประเมินพอทำได้คือการหาค่าแทนทางการเงินที่ใกล้เคียง สอดคล้องและสมเหตุสมผลที่สุด แต่หลายครั้งผู้ประเมินก็ “ฟุ้ง” กับการหาค่าแทนจนไปไกลจากเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ เช่น การใช้ค่าแทนทางการเงินของความภูมิใจทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นมูลค่ามอเตอร์ไซค์สำหรับกลุ่มเป้าหมาย (เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจในตนเองของสมาชิกชุมชนที่มีน้ำพักน้ำแรงซื้อมอเตอร์ไซค์มาได้) ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงใด ๆ กับวัฒนธรรม หรือการใช้ค่าแทนทางการเงินในโครงการด้านสุขภาพผู้สูงอายุเป็นการที่รัฐน่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้ แม้เราจะได้ค่าแทนทางการเงิน แต่ค่านั้นไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ของกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ ตัวผู้สูงอายุเอง หรือแม้จะแทนค่าด้วยค่าใช้จ่ายของรัฐ ค่าดังกล่าวก็สะท้อนแค่ต้นทุนแปรผันรายหัวของประชากร แต่ไม่รวมต้นทุนคงที่สูงกว่ามากของรัฐ นอกจากนี้งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่า ผลลัพธ์หลายอย่างที่ไม่เป็นรูปธรรม (soft outcome) เช่น ความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มขึ้น การมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นผลลัพธ์ที่ยากขึ้นไปอีกในการหาค่าแทนทางการเงินที่ใกล้เคียง หากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมกว่า เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม หรือทางสิ่งแวดล้อม
  • อคติ – งานวิจัยของ New Philanthropy Capital พบว่า เหตุผลที่องค์กรการกุศลเลือกทำ SROI มากที่สุด คือ เพื่อให้ได้เงินระดมทุน ดังนั้น ตัวเลข SROI ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องใช้เพื่อแข่งขันกับองค์กรอื่น ท่ามกลางบรรยากาศของการขอทุนที่มีการแข่งขันสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่ใคร ๆ ก็อยากให้ค่า SROI ของตนเองออกมาสูง ๆ การให้ความสำคัญกับค่าแทนทางการเงินที่แสดงถึงคุณค่าของเงินมากเกินไป ทำให้การทำ SROI อาจมีอคติหลายประการ เช่น การประเมินโดยเลือกขยายกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รวมไปถึงกลุ่มที่อยู่ไกลออกไป  (stakeholder creep) จากกลุ่มเป้าหมายเดิม เพื่อรวมผลพลอยได้จากโครงการเข้ามาคำนวณ เช่น โครงการพลังงานทางเลือกราคาย่อมเยาสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ มีเป้าหมายหลักในการทำให้ครัวเรือนมีพลังงานทางเลือกใช้แทนพลังงานแบบเดิมที่มีราคาสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันก๊าด แต่เพื่อให้ได้ค่า SROI ที่สูงขึ้น โครงการอาจรวมเยาวชนเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่ม เพราะมองว่าเมื่อเยาวชนอ่านหนังสือเพิ่มในช่วงกลางคืนได้ ก็อาจจะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น มีโอกาสในการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่ และมีอาชีพที่ดีกว่าได้ในอนาคต ซึ่งก็ไกลออกจากเป้าหมายของโครงการ และให้ผลลัพธ์  “คืบคลาน” ออกไปเรื่อย ๆ แม้ว่าอาจจะไม่เกี่ยวกับสิ่งที่โครงการทำ ดังนั้นการประเมินโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ SROI สูง ๆ จึงอาจทำให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง (overclaim) ดังตัวอย่างข้างต้น หรือการกล่าวอ้างต่ำกว่าความจริง (underclaim) กับผลลัพธ์บางตัวที่อาจส่งผลให้ SROI ออกมาน้อยหรือติดลบ การประเมินโดยมีอคติจึงทำให้ผลที่ได้ไม่จริงและเอามาช่วยปรับปรุงการทำงานได้ยาก

ภาพถ่ายโดย Mikael Blomkvist

หลังจากประเมิน

  • การสื่อสารผล – หลังจากผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนในการหาค่า SROI แล้ว เราก็จะได้ค่า SROI ออกมา 1 ตัว เช่น SROI 1:1.5 ซึ่งการที่ยึดตัวเลขดังกล่าวเพียงตัวเดียวในการตัดสินปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการหรือกิจการนั้น ๆ เป็นความเสี่ยงอย่างมากที่เราจะละเลยรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญของโครงการไป เช่น ใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลลัพธ์ทางสังคมที่พวกเขาสร้างคืออะไร ตัวชี้วัดที่ใช้คืออะไร ใช้เงินลงทุนไปเท่าไร สมมติฐานที่ใช้คืออะไร ฯลฯ ผู้ประเมินจึงควรแสดงที่มา สมมติฐานต่าง ๆ อธิบายเส้นทางและกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและแสดงแหล่งอ้างอิงของข้อมูลเพื่อแสดงความโปร่งใส การแสดง SROI เลขเดียวโดด ๆ ไม่ได้บอกอะไรเรามากนักเกี่ยวกับโครงการนั้น ยิ่งเราไม่ตั้งใจหรือไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยรายละเอียดปลีกย่อยที่อยู่เบื้องหลังผล SROI ก็ยิ่งทำให้ตัวเลขลอย ๆ ของ SROI ขาดความน่าเชื่อถือ รายงาน SROI ที่ดี นอกจากจะบอกตัวเลขข้างต้นที่แสดงความคุ้มค่าแล้ว ก็ควรอธิบายว่าผลลัพธ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไรและเพราะอะไร และผู้ทำโครงการจะปรับปรุง พัฒนากิจกรรม การแทรกแซง หรือทำซ้ำสิ่งที่ช่วยสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างไร เพราะผลการประเมินที่ดี นอกจากจะถูกต้อง ใกล้เคียงกับความจริง และโปร่งใสแล้ว ยังควรช่วยในการพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย
  • การเปรียบเทียบค่า SROI – ตัวเลขความคุ้มค่าของ SROI อาจจะเหมาะกับการเปรียบเทียบกับองค์กรของตัวเองต่างช่วงเวลาหรือเปรียบเทียบกับโครงการที่ต้องการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมแบบเดียวกันที่มีบริบทใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์หากเปรียบเทียบข้ามองค์กร หรือโครงการที่แตกต่างกันมาก เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเป้าหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตัวชี้วัด สมมติฐานและรายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบจำนวนมากมายที่กว่าจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลข SROI ไม่เหมือนกันเลย เช่น ระหว่างโครงการด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยที่ได้ SROI 1: 2 กับโครงการป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดที่มี SROI 1:0.2 เพราะหากองค์กรของเรามีพันธกิจด้านสาธารณสุข เราก็คงไม่เปลี่ยนไปทำเรื่องการศึกษาของเด็กปฐมวัย แม้ SROI จะสูงกว่า หรือหากองค์กรของเราทำงานหลายด้าน และเล็งเห็นว่าการแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดมีความเร่งด่วนกว่า เพราะคนกำลังเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมาก แม้ SROI ของโครงการนี้จะน้อยกว่า แต่เราเองคงเลือกทำโครงการโรคระบาดก่อนการศึกษา เป็นต้น หรือหากเรามีพันธกิจที่ต้องทำงานกับประชากรในระดับมหภาค โครงการโรคระบาดมีแผนที่จะเข้าถึงคนจำนวน 100,000 คนใน 5 ปี ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเลือกทำมากกว่าการทำงานกับเด็กปฐมวัยเพียง 88 คนในช่วงเวลา 2 ปี เป็นต้น ดังนั้นการแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดที่สำคัญของโครงการ หรือ “ไส้ใน” ของการคำนวณ SROI จึงเป็นสิ่งสำคัญ และการเปรียบเทียบโครงการโดยใช้แต่ค่า SROI จึงไม่มีประโยชน์นัก โดยเฉพาะการที่เราไม่มีข้อมูลเพียงพอด้วยซ้ำว่าค่า SROI เฉลี่ยมาตรฐานของประเด็นสังคมหรือสิ่งแวดล้อมแต่ละเรื่องควรเป็นเท่าไรแน่

 

การรู้ทัน SROI ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนประเมิน ระหว่างที่ลงมือเก็บข้อมูล วิเคราะห์และคำนวณ ไปจนถึงการใช้และสื่อสารผลที่ได้  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ประโยชน์สูงสุดจากการประเมิน และได้ความ “คุ้มค่า” จากการประเมินที่ต้องอาศัยการเตรียมการที่มีความซับซ้อนและใช้ทรัพยากรมากมายทั้งเงิน เวลาและคน รวมถึงสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้ในทุก ๆ ส่วน โดยไม่เน้นเพ่งดูแค่ค่า SROI สุดท้ายที่บอกเราแค่เพียงส่วนเล็ก ๆ ของคุณค่าที่โครงการหรือองค์กรนั้นสร้างขึ้นเท่านั้น

[1] หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน

อ้างอิง:

Alomoto, W., Niñerola, A. & Pié, L. Social Impact Assessment: A Systematic Review of Literature. Soc Indic Res 161, 225–250 (2022). https://doi.org/10.1007/s11205-021-02809-1

Arvidon, Malin and Lyon, Fergus and McKay, Stephen and Moro, Domenico (2010) The ambitions and challenges of SROI (social return on investment). Working Paper. University of Birmingham, Birmingham, UK.

Muyambi, K, Gurd, Bruce, L, Martinez, M, Walker-Jeffreys, P, Vallury, S, Beach & Dennis (2017), ‘Issues in using social return on investment as an evaluation tool’, Evaluation Journal of Australasia, vol. 17, no. 3, pp. 32–39.

Nielsen, JGLueg, RVan Liempd, D. (2021) Challenges and boundaries in implementing social return on investment: An inquiry into its situational appropriatenessNonprofit Management and Leadership.; 31413– 435https://doi.org/10.1002/nml.21439

Social Value UK. (2016) SROI: Myths and Challenges.

สฤณี อาชวานันทกุล และคณะ. (2560). องค์ความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมสําหรับกิจการเพื่อสังคมและกรณีศึกษานําร่อง. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)