หากย้อนกลับไปสามสิบปีก่อน หลายๆพื้นที่ทางภาคเหนือจะเต็มไปด้วยเนินเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่แม้แต่ต้นเดียว อันเป็นผลพวงจากการทำสัมปทานป่าไม้ มีเพียงผืนดินสีแดงเปลือย สลับกับตอไม้ที่ใหญ่เกินกว่าจะขุดออกได้ ปัจจุบันสภาพพื้นที่ดังกล่าวถูกทดแทนด้วยโครงการปลูกป่าซึ่งเป็นที่นิยมมาก ทั้งขององค์กรภาครัฐและเอกชน โครงการปลูกป่าเหล่านี้มีทั้งโครงการที่เน้นฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำตามธรรมชาติจริงๆ และโครงการที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะต้นสนและสัก แต่รวมๆแล้วก็ทำให้พื้นที่เชิงเขาทางภาคเหนือเขียวขึ้นมาก และป่าก็กลายเป็นระบบนิเวศที่คนไทยรักมากเป็นอันดับต้นๆ

ต่างจากในพื้นที่ราบภาคกลาง ที่ระบบนิเวศอีกประเภทหนึ่งกลับไม่เคยได้รับการเหลียวแล ไม่ว่าจะเป็นในอดีตหรือปัจจุบัน ระบบนิเวศนั้นคือระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

© อายุวัต เจียรวัฒนกนก © อายุวัต เจียรวัฒนกนก

อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ได้ให้คำนิยามพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) เอาไว้ว่า “เป็นพื้นที่บึง หนองน้ำ พรุ หรือแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำนิ่งหรือน้ำไหล น้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่ง ในส่วนที่ความลึกของน้ำทะเลไม่เกิน 6 เมตรในช่วงน้ำลง”

ในเมืองไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่มีมากเป็นพิเศษในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำที่เราอาจเห็นกันจนคุ้นตาก็คือกอกก กอหญ้า กอธูปฤาษี แม้กระทั่งไมยราพยักษ์ ที่เป็นพืชต่างถิ่นแต่สามารถกระจายตัวไปตามพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในมุมมองของคนทั่วไปรวมถึงนายทุนมองว่า พื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่รอการเข้ามาของโรงงาน หมู่บ้านจัดสรร ถนนไฮเวย์สายใหม่ หรืออะไรก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้นในนามของความเจริญ โดยอาจลืมหรือไม่ทราบว่า การมีอยู่ของพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างไร้ความหมาย และการดัดแปลงหรือทำให้ระบบนิเวศนี้หายไปก็จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์หรือธุรกิจในระยะยาว

© วรพจน์ บุญความดี © วรพจน์ บุญความดี

                เมื่อพูดถึงคุณค่าของระบบนิเวศ เรามักคำนึงถึงสิ่งที่เรียกว่า นิเวศบริการ (Ecological service) หรือประโยชน์ที่เราได้รับจากระบบนิเวศทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) บริการด้านการควบคุม (Regulating services) บริการด้านวัฒนธรรม (Cultural services) และบริการด้านการสนับสนุน (Supporting services)

โดยพื้นที่ชุ่มน้ำที่คนส่วนมากเห็นว่าเป็นเพียงพื้นที่รกร้าง กลับเป็นระบบนิเวศที่ครอบคลุมนิเวศบริการครบทั้ง 4 ประเภท ดังนี้

1)      บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต

นิเวศบริการด้านนี้ครอบคลุมถึงการบริการวัตถุดิบจำพวกต่างๆ เช่น น้ำ อาหาร แร่ธาตุ พืชและสัตว์ ซึ่งแน่นอนว่าพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่การเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ไปจนถึงการเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยพืช ผัก สัตว์น้ำนานาชนิด

2)      บริการด้านการควบคุม

พื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลของน้ำในระบบนิเวศ โดยเฉพาะการควบคุมกระแสน้ำหลาก จึงช่วยบรรเทาอุทกภัยและลดความจำเป็นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ใช้ควบคุมอุทกภัยลงไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ชุ่มน้ำยังมีประสิทธิภาพในการกรองและบำบัดน้ำเสีย ผ่านการดักจับโลหะและอินทรียสาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรม

3)      บริการด้านวัฒนธรรม

นอกเหนือไปจากคุณค่าทางจิตวิญญาณที่แม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำมีต่อมนุษย์ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว พื้นที่ชุ่มน้ำยังมีคุณค่าในด้านการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และเพื่อกิจกรรมยามว่างหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น การดูนก ตกปลา ว่ายน้ำฯลฯ

4)      บริการด้านการสนับสนุน

คือนิเวศบริการที่ช่วยสนับสนุนการดำรงอยู่ของบริการอื่นๆ เช่น เป็นแหล่งธาตุอาหารของระบบการผลิตขั้นต้น การทำให้เกิดวัฏจักรของอาหาร และการเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์วัยอ่อน ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถให้บริการทั้งหลายเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนน้ำและแร่ธาตุจากดินและน้ำสู่พืช พืชสู่อากาศ อากาศสู่ฝน และกลับสู่แหล่งน้ำและดินอีกครั้ง ไปจนถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่จะเติบโตไปเป็นแหล่งอาหารตามนิเวศบริการด้านการเป็นแหล่งผลิต

© วรพจน์ บุญความดี © วรพจน์ บุญความดี

ถึงเราจะทราบดีว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าและความสำคัญมากแค่ไหนในระบบนิเวศ แต่หากคุณค่านั้นไม่ได้รับการดัดแปลงให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย อย่างเช่นที่บางคนเคยยกตัวอย่างง่ายๆ เอาไว้ว่า “ลองจินตนาการดูว่าหากวันหนึ่งฝนหยุดตกอย่างถาวร เราต้องใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลแค่ไหนในการผลิตน้ำฝน ซึ่งเป็นนิเวศบริการขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่ง แต่เราแทบจะหลงลืมคุณค่าที่แท้จริงของมันไป การประเมินคุณค่าของนิเวศบริการผ่านการเปรียบเทียบเป็นมูลค่าทางธุรกิจจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้สังคมและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศมากยิ่งขึ้น” ก็เป็นการยากที่จะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ได้ในระยะยาว

การประเมินคุณค่าของระบบนิเวศ ไม่เพียงช่วยทำให้เรามองเห็นถึงมูลค่าแฝงของระบบนิเวศ ที่มักไม่ได้รับการรวบรวมเข้าไปในการคำนวณมูลค่าทางธุรกิจแล้ว แต่ยังช่วยทำให้เรามองเห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในธรรมชาติได้ง่ายยิ่งขึ้น และสามารถวางแผนการจัดการได้อย่างรอบคอบ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว รวมถึงลดต้นทุนสำหรับภาคธุรกิจเพราะได้รับบริการจากระบบนิเวศที่ดีได้อีกด้วย

ปัจจุบันถึงแม้จะมีวิธีการประเมินมูลค่าทางธุรกิจของระบบนิเวศอยู่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคความพึงพอใจ (Revealed Preference Techniques) วิธียึดต้นทุนเป็นหลัก (Cost-based Approaches) วิธีประเมินสภาพความพึงพอใจ (Stated Preference Approaches) และวิธีถ่ายโอนมูลค่า (Value or Benefit Transfer) แต่ในเมืองไทยก็ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย

© วรพจน์ บุญความดี © วรพจน์ บุญความดี

 การมองเห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำและสะท้อนมันออกมาในรูปแบบของตัวเงิน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงโครงการที่ส่งผลกระทบในด้านลบหลายๆ อย่างได้ อาทิ ไม่ต้องสูญเสียรายได้และค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ จากการที่โรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร และถนนของเราได้ถมและปิดกั้นทางน้ำหลากตามธรรมชาติ หรือสูญเสียทรัพยากรทั้งเงินและแรงงานอย่างต่อเนื่องทุกวันเพื่อขับไล่นกที่ไล่เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด เพราะสนามบินไปตั้งอยู่กลางพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ การตระหนักถึงมูลค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำยังช่วยให้สังคมเกิดความรักและเข้าใจถึงความสำคัญของระบบนิเวศประเภทนี้ ในระดับเดียวกันกับที่เรามีต่อระบบนิเวศป่าไม้

ก็หวังว่าการศึกษาวิจัยและข้อกำหนดทางกฎหมายที่ชัดเจนจะช่วยเติมเต็มช่องโหว่ในส่วนนี้ได้