เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะปฏิเสธการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี หลีกเลี่ยงการเผาเศษพืช ซึ่งเอื้อต่อการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน  ส่งผลให้ดินสามารถตรึงและกักเก็บคาร์บอนได้ดียิ่งขึ้น จึงมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน แต่เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยกลับเติบโตอย่างเชื่องช้า สวนทางกับความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของตลาดโลกและความสนใจผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้วิถีเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยไม่เติบโตก็คือนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ยังขาดความสอดคล้องและต่อเนื่อง เช่น นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรโดยการซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาด ที่ส่งผลให้เกษตรกรอินทรีย์จำนวนมากกลับไปทำเกษตรเคมี รวมถึงการขาดแรงจูงใจที่จะทำให้เกษตรกรเคมีเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ อาทิ การขาดกลไกทางการเงินที่จะสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “ระยะเปลี่ยนผ่าน” ก่อนที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งล่าสุดโครงการวิจัย “แรงจูงใจทางการเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย” (Financial Incentives to Encourage Organic Farming in Thailand) ศึกษาพบว่ามีแรงจูงใจทางการเงินหลายอย่างที่มีศักยภาพในการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์

            โครงการวิจัย “แรงจูงใจทางการเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย” จัดทำโดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมกับ สหกรณ์กรีนเนท ภายใต้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) โดยมี สฤณี อาชวานันทกุล เป็นหัวหน้าโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้ก็เพื่อสำรวจแรงจูงใจทางการเงินที่เป็นไปได้ในการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย และทดสอบแรงจูงใจทางการเงินดังกล่าวกับชุมชน 2 แห่ง เพื่อหาวิธีบรรเทาอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ นั่นคือการขาดแรงจูงใจทางการเงินของเกษตรกร โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรกของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตต่อพื้นที่มีปริมาณต่ำ จนส่งผลให้เกษตรกรขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็นต่อการทำเกษตรอินทรีย์ และอาจจะเลิกลาการทำเกษตรอินทรีย์ไปในที่สุด

            ในการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมา คณะวิจัยพบว่าแรงจูงใจทางการเงินที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านมีทั้งหมด 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  1. โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นโครงการที่ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) พัฒนาขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยโดยความสมัครใจ  โดยองค์กรที่ให้การสนับสนุนสามารถนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต หรือ T-VER ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศไทย
  2. สินเชื่อเขียวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษกับเกษตรกรที่ปลูกผลผลิตปลอดภัย คือ คิดดอกเบี้ยในอัตราลูกค้ารายย่อยชั้นดีกับเกษตรกรรายบุคคล (MRR = 7%) และคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีกับเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล (MLR = 5%) และจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ปีละ 1% จากฐานดอกเบี้ยเดิม จนกระทั่งเหลืออัตราดอกเบี้ยปีละ 4% หากผู้กู้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้
  3. โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) ซึ่ง อบก.พัฒนาขึ้นในปี 2558 เพื่อเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) โดยองค์กรที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ LESS ได้ เนื่องจากเกษตรอินทรีย์มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย อบก.จะมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่องค์กรที่ทำโครงการ CSR ที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ทั้งนี้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการ LESS จะไม่สามารถนำไปซื้อขายได้
  4. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยองค์กรหรือภาคธุรกิจทำสัญญารับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ล่วงหน้าในปริมาณ ราคา ระยะเวลาที่ตกลงกันและชำระเงินให้แก่เกษตรกรอินทรีย์ล่วงหน้า
  5. เงินให้เปล่า หรือเงินสนับสนุนโดยตรงในระยะเปลี่ยนผ่านจากภาครัฐ

กลไกของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย

            ผลการสัมภาษณ์ฝั่งอุปสงค์ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแนวโน้มให้การสนับสนุนกลไกทางการเงินแก่เกษตรกรอินทรีย์ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 13 องค์กร คือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อบก. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อประเมินระดับความสนใจในการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในระยะเปลี่ยนผ่านพบว่า มี 6 องค์กรสนใจโครงการ T-VER (สนใจ 5 มีแนวโน้มจะสนใจ 1) เท่ากับความสนใจโครงการ LESS (สนใจ 4 มีแนวโน้มจะสนใจ 2) มี 3 องค์กรสนใจการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการให้เงินให้เปล่า/เงินสนับสนุน ส่วนเรื่องการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามี 2 องค์กรที่สนใจ

            สำหรับการสำรวจความสนใจฝั่งอุปทานคือเกษตรกรอินทรีย์และเกษตรกรเคมี คณะวิจัยได้ใช้เกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ ทำนาเคมี และที่ทำนาทั้งสองชนิดในจังหวัดมหาสารคามและนครปฐมเป็นกลุ่มตัวอย่าง  โดยในจังหวัดมหาสารคาม คณะวิจัยได้การจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับเกษตรกรอินทรีย์จำนวน 30 คน และสำรวจเกษตรกรเคมีผ่านแบบสอบถามจำนวน 50 คน ส่วนที่จังหวัดนครปฐม ได้จัดการสนทนากลุ่มกับเกษตรกรอินทรีย์จำนวน 10 คน และเกษตรกรเคมีจำนวน 20 คน รวมถึงสำรวจเกษตรกรเคมีผ่านแบบสอบถามจำนวน 30 คน

            ผลปรากฏว่ากลไกทางการเงินที่เกษตรกรให้ความสนใจมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ LESS, T-VER และเงินให้เปล่าหรือเงินสนับสนุนตามลำดับ โดยเกษตรกรอินทรีย์ส่วนใหญ่มองว่า กลไก LESS และ T-VER เป็นเสมือน “เงินโบนัส” ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเติมจากการทำเกษตรอินทรีย์ปกติ โดยเกษตรกรอินทรีย์มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำตามเงื่อนไขของ T-VER ได้ในระยะยาว ส่วน LESS เกษตรกรเสนอเพิ่มเติมว่านอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว องค์กรอาจทำกิจกรรม CSR ที่สนับสนุนการบริหารจัดการแปลงเกษตรและกระบวนการผลิตด้วย แต่ก็มีเกษตรกรบางส่วนที่กังวลว่าจะถูกองค์กรเอาเปรียบ

            ส่วนสาเหตุที่เกษตรกรอินทรีย์สนใจกลไกการให้เงินสนับสนุนเพราะเป็นกลไกที่เกษตรกรไม่ต้องเผชิญกับเงื่อนไขเรื่องปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ต่างจากกลไกการซื้อขายล่วงหน้า แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือหากภาครัฐให้เงินให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขก็อาจส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจที่จะทำเกษตรอินทรีย์ได้ สำหรับกลไกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น พบว่าได้รับความสนใจมากเป็นอันดับแรกจากกลุ่มเกษตรกรเคมีที่มีภาระหนี้สินสูง เนื่องจากสามารถช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้ ขณะที่เกษตรกรอินทรีย์ส่วนหนึ่งไม่ต้องการก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกลไกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นกลไกที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดจากกลุ่มเกษตรกร เพราะแม้เกษตรกรจะยินดีที่ได้รับเงินล่วงหน้า แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบผลผลิตในปริมาณและคุณภาพที่ตกลงกันไว้ได้

            อย่างไรก็ดี เมื่อคณะวิจัยใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากการสำรวจเกษตรกรและข้อมูลทุติยภูมิจากสหกรณ์กรีนเนท อบก. รวมถึงข้อมูลอ้างอิงจากผลงานวิจัยในอดีตเพื่อนำมาสร้างประวัติทางการเงินของเกษตรกรอินทรีย์และเกษตรกรเคมี จากนั้นได้สร้างแบบจำลองทางการเงินของแรงจูงใจทางการเงินทั้ง 5 รูปแบบ ทั้งแบบกรณีฐานและกรณีที่ดีที่สุด เพื่อประเมินเงื่อนไขหรือจำนวนเงินที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในแต่ละแรงจูงใจที่จะส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิของเกษตรกรมีค่าเป็นบวก และเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนของเกษตรกรพบว่า ไม่มีกลไกใดที่สามารถช่วยให้เกษตรกรมีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในแบบจำลองทางการเงินในกรณีฐาน และกระแสเงินสดสุทธิของเกษตรกรอินทรีย์จะเป็นบวกเมื่อได้รับความสนับสนุนอย่างดีมากในแต่ละแรงจูงใจทางการเงินตามแบบจำลองกรณีที่ดีที่สุดเท่านั้น เช่น ราคาขายคาร์บอนเครดิตต้องมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 606,405 และ 616,676 บาทต่อตันคาร์บอนเครดิตในมหาสารคามและนครปฐมตามลำดับ หรือราคาข้าวอินทรีย์ที่จำหน่ายก็ต้องมีราคาสูงกว่าราคาข้าวอินทรีย์ในตลาด 247% ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรอินทรย์มีขนาดการถือครองพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก คือ 5 ไร่ในนครปฐมและ 11 ไร่ในมหาสารคาม แต่มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนคงที่คือเดือนละ 6,600 บาทต่อครัวเรือน

            จากผลการวิจัย คณะวิจัยมีข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ 4 ประการคือ ประการแรกการจะทำให้กลไก T-VER และ LESS เป็นไปอย่างเหมาะสม เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้พื้นที่การเกษตรอินทรีย์มีขนาดใหญ่อย่างตํ่า 1,000 ไร่ เพื่อให้มีปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากพอต่อความต้องการซื้อขององค์กรที่มีเป้าหมายในการชดเชยปริมาณคาร์บอน และควรศึกษาการตรวจวัดปริมาณอินทรีย์วัตถุในดินระยะยาว เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากการทำเกษตรอินทรีย์จะมีแนวโน้วเพิ่มขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น นอกจากนี้การเจรจาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER และ LESS ควรจะเป็นการเจรจาซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (over-the-counter)  เพื่อให้ได้ราคาสูงกว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการอื่นๆ ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่นที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการที่มีลักษณะคล้ายกันนี้มีราคาสูงถึง 30,000 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

            ประการที่สอง แม้ผลการวิจัยจะชี้ให้เห็นว่ายังไม่มีแรงจูงใจทางการเงินใดที่เป็น “ยาวิเศษ” ที่จะสามารถทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ในทันที แต่แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติคือ การรวมแรงจูงใจทางการเงินหลายๆ รูปแบบเข้าด้วยกัน และอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม เช่น ภาครัฐอาจสนับสนุนเงินทุนสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ในระยะแรก จากนั้นองค์กรเอกชนอาจสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมผ่านกลไก LESS หรือทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกร ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็อาจให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำควบคู่ไปด้วย

            ประการที่สาม ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ โดยอาจใช้แนวทางเดียวกับต่างประเทศ (สหภาพยุโรป) ที่เน้นสนับสนุนเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไป มากกว่าที่จะเลือกสนับสนุนอย่างจำเพาะเจาะจงเป็นรายโครงการ อีกทั้งควรกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุนที่เข้าใจง่าย เช่น การให้เงินสนับสนุนต่อพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรเลือกเองได้ว่าจะปลูกพืชชนิดใด โดยอัตราการสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่จะปลูก

            ประการสุดท้าย ควรมีเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่สามารถช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงของเกษตรกร เช่น การประกันดัชนีสภาพอากาศ เพราะจะช่วยสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรที่มักต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนนานัปการ