commodity-trading-advisory-india

ตัวอย่างสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่มาของรูป: goo.gl/Jix7Of)

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity price) หลายประเภทไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำมัน ถ่านหิน สินค้าทางการเกษตร (non-food agriculture) เริ่มอ่อนตัวลงมาเรื่อยๆ แบบไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ทำให้ผู้บริหารบริษัทบางแห่งต่างพากันเริ่มยิ้มแย้มน้ำตาไหล พร้อมกับเอามือตบไหล่ตัวเองและบอกว่า “ยินดีด้วยนะ ซูเปอร์ไซเคิลของสินค้าโภคภัณฑ์ได้จบลงเเล้ว ต่อไปนี้ต้นทุนการผลิตของเราก็จะลดลงและมั่นคงมากขี้น” แต่แล้ว McKinsey บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลก กลับเผยแพร่บทความออกมาเสยหน้าทำลายความหวังของพวกเขาลง เมื่อบริษัทออกมาบอกว่าเจ้าซูเปอร์ไซเคิลนี้ยังไม่ตาย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่สูงหรือผันผวนมากขึ้นไปอีก

ซูเปอร์ไซเคิล (super-cycle) คือ อะไร

สำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการนักลงทุนหรือแวดวงการเงิน ท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยินคำศัพท์นี้ ซูเปอร์ไซเคิล หรือ K-wave มีที่มาจากทฤษฎีของ Nikolai Kondratiev นักเศรษฐศาสตร์ชาวโซเวียต ผู้เชื่อว่าการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจนั้นมีพฤติกรรมเป็นแบบแนวคลื่น คือ มีช่วงขาขึ้น ที่ระบบเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง (upswing) และมีช่วงขาลง ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพเศรษฐกิจถดถอยลง (downswing ) โดยรอบหนึ่งจะมีระยะเวลาประมาณ 40-60 ปีด้วยกัน Kondratiev ค้นพบวัฏจักรนี้จากการที่เขาสังเกตเห็นการขยับตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรกรรมในประเทศยุโรป ที่มีลักษณะเป็นแนวคลื่นขึ้นลงประมาณทุกๆ 50 ปี

kondratieff_wave

ตัวอย่างซูเปอร์ไซเคิลของสภาพเศรษฐกิจโดยรวม กับปัจจัยด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (ที่มาของรูป goo.gl/7BiaWz)

จริงๆ แล้ว ทฤษฎีนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านว่า ไม่สามารถเชื่อถือ หรือใช้ในการคาดการณ์ (forecast) ได้ เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก คือ (1) ความไม่ลงร่องลงรอยของสภาพทางเศรษฐกิจบางช่วงตามหลักของทฤษฎี (2) ตัวทฤษฎีคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจโดยอ้างอิงเพียงเหตุการณ์ในอดีต โดยที่ไม่มีหลักฐานทางสถิติมาสนับสนุนเพียงพอ และ (3) ความไม่แน่นอนของระยะเวลาของรอบคลื่น เพราะนักเศรษฐศาสตร์บางท่านอย่าง Kuznets หรือ Juglar มองว่าวัฏจักรมีระยะสั้นกว่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีนักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินหลายแห่ง ทั้ง Bloomberg, McKinsey และ The Economist ที่ใช้คำว่าซูเปอร์ไซเคิลในการวิเคราะห์และอธิบายสภาพเศรษฐกิจหรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อมีความผันผวนหรือมีราคาสูงขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน แต่อาจจะไม่ได้อ้างอิงกับระยะเวลาตามทฤษฎีของ Kondratiev อย่างที่ได้อธิบายเอาไว้

ดังนั้น คำว่า ซูเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity price super-cycle) ในที่นี้ จึงหมายถึง ช่วงระยะที่ราคาของสินค้าฯพุ่งสูงขึ้นมากกว่าปกติติดต่อกันเป็นเวลายาวนานหลายๆ ปี ซึ่งบางคนมักเรียกปรากฏการณ์นี้ ว่า commodity boom

ซูเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไร

screen-shot-2016-11-09-at-10-11-40-pm

กราฟแสดงราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 – 2013 จาก McKinsey

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เราได้ประสบกับซูเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าฯมาแล้วหลายครั้ง เช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กับ 2 และช่วงวิกฤตน้ำมัน แต่หลังจากปี 1983 เป็นต้นมา ราคาสินค้าฯก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อปี 2000 ที่ราคาดีดตัวกลับมาอีกครั้งและทะยานขึ้นไปทำสถิติสูงระดับเดียวกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปลายปี 2010 สาเหตุของการขยับตัวครั้งนี้มาจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่กำลังโตในหลายประเทศ เช่น จีนและอินเดีย โดยเฉพาะประเทศจีน การเจริญเติบโตของสภาพเศรษฐกิจในประเทศจีน ส่งผลให้ทรัพยากรประเภทเหล็กแร่และพลังงานถ่านหินจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างเพื่อขยายเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ตลาดก็มีความกังวลว่าในอนาคตจะมีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ จึงส่งผลให้มีการตีราคาสินค้าฯสูงขึ้น ต่อมาในปี 2012 สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลง เมื่ออัตราการเติบโตของประเทศจีนชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาสินค้าฯลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลต่อธุรกิจบริษัทอย่างไร

เนื่องจากทรัพยากรเป็นปัจจัยสำคัญต่อกระบวนการผลิตในทุกๆ ธุรกิจ ราคาของทรัพยากรฯจึงมีผลกระทบต่อต้นทุนของปัจจัยการผลิต หากราคาของทรัพยากรฯแพงขึ้น ต้นทุนปัจจัยการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค และกำไรของบริษัทในที่สุด ดังนั้น สำหรับบริษัทแล้ว การที่ราคาสินค้าฯพุ่งสูงหรือผันผวนมากขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงทั้งในด้านกำไรและความยั่งยืนทางธุรกิจ

การที่ราคาสินค้าฯ มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีต่อนักธุรกิจ แต่ทำไมบริษัท McKinsey กลับออกมาทำลายความฝันของพวกเขา โดยการบอกว่าราคาสินค้าฯอาจจะกลับมาพุ่งสูงและผันผวนกว่าเดิม

ทำไมราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะกลับมาสูงหรือผันผวนขึ้นไปอีก

งานวิจัยของ McKinsey Global Institute ชี้ว่า ตัวเเปรที่จะผลักดันให้ราคาสินค้าฯสูงขึ้น มีด้วยกันทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ (1) การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์ ที่ส่งผลให้การจัดหาทรัพยากรยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน เรายังขาด (2) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของฝั่งผู้จัดหาทรัพยากร (technological supply-side innovations) และ (3) การพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตของผู้ใช้ทรัพยากร เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเชิงภูมิศาสตร์ในข้อแรก ทั้งสามปัจจัยนี้ล้วนส่งผลต่อราคาสินค้าฯในแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรพลังงาน แร่โลหะ หรือ อาหาร

พลังงาน
screen-shot-2016-11-17-at-12-05-44-pm

กราฟแสดงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทพลังงาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 – 2013

ถึงแม้ว่า ราคาน้ำมันและก๊าซลดลงมามาก หลังจากที่โลกผ่านพ้นวิกฤตราคาน้ำมัน (oil shock) ในช่วงปี 1970 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ราคาทรัพยากรพลังงานกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน (อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้) อีกสาเหตุคือ ความยากลำบากในการจัดหาทรัพยากร เมื่อปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรในแหล่งปัจจุบันเริ่มถดถอยลง การหาแหล่งทรัพยากรใหม่นับวันก็มีแต่จะยากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีการย้ายธุรกิจไปเสาะหาแหล่งน้ำมันใต้ทะเลลึก (deepwater oil) หรือ ทรายน้ำมัน (tar sands) เพื่อขยายแหล่งผลิตแล้วก็ตาม การผลิตเชื้อเพลิงน้ำมันจากแหล่งเหล่านั้นก็มีต้นทุนที่สูงอยู่ดี ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและมาตรการในการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการดำเนินงาน

แร่โลหะ
screen-shot-2016-11-17-at-12-06-16-pm

กราฟแสดงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทแร่โลหะ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 – 2013

ตัวแปรหลักที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มแร่โลหะในช่วงปี 2001-2011 นั้น มาจากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์​ในการจัดหาทรัพยากรเช่นเดียวกับสินค้าฯประเภทพลังงาน เมื่อแหล่งผลิตมีปริมาณทรัพยากรร่อยหรอลง การจัดหาทรัพยากรก็ยากมากขึ้น อย่างบริษัทเหมืองทองในทวีปแอฟริกา ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันต้องขุดลึกลงไปกว่าแต่ก่อนหลายกิโลเมตรเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ทองในปริมาณที่อาจจะน้อยกว่าอดีตด้วยซ้ำ ผนวกกับความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทเหมืองแร่ต้องขยายกำลังการผลิตในแหล่งเหมืองเดิม และเสาะหาแหล่งผลิตใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้นทุนทางปัจจัยการผลิตและความเสี่ยงในกิจกรรมดังกล่าวนับวันก็มีแต่จะสูงขึ้น

อาหาร
screen-shot-2016-11-17-at-12-05-26-pm

กราฟแสดงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอาหาร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 – 2013

แม้ว่าความต้องการทรัพยากรอาหารของตลาดจะเพิ่มขึ้นตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 แต่เนื่องจากผลผลิตที่มากพอทำให้ราคาสินค้าในช่วงนั้นมีราคาถูก แต่ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา อัตราการผลิตเริ่มช้าลง ในขณะที่ความต้องการกลับเพิ่มขึ้นไม่หยุด โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกา ส่งผลให้ราคาสินค้าฯประเภทอาหารขยับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว รายงานสถาบันชี้แจงว่า สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราการผลิตช้าลงนั้น มาจากปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ ส่วนหนึ่ง คือ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ยอดผลผลิตลดลง อีกส่วนหนึ่งคือ การสูญเสียหน้าดินและพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสม จากการปนเปื้อนของมลพิษ การสะสมของเกลือในดิน และการขยายพื้นที่เมือง ที่ทำให้โลกสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรอย่างน้อยๆ ปีละ 20 พันล้านตารางเมตร

ดังนั้น สถาบัน McKinsey จึงสรุปว่า หากเรายังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆในการจัดหาทรัพยากร และปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อรับมือกับปัญหาเชิงภูมิศาสตร์เหล่านี้ ซูเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าฯ (ราคาพุ่งสูง) ก็คงจะถีบตัวขึ้นไปอีกในอนาคตอยู่ดี

ในทางกลับกัน นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญบางท่านไม่เห็นด้วยกับคำพยากรณ์ของ McKinsey พวกเขามองว่า ซูเปอร์ไซเคิลอันล่าสุดได้จบลงแล้ว เช่น Leonid Bershidsky คอลัมนิสต์ของ Bloomberg View บอกว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ราคาเฉลี่ยของสินค้าฯทุกประเภทมีท่าทีที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประเทศจีนเติบโตช้าลง ทำให้ราคาทรัพยากรแร่โลหะและพลังงานที่เคยขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดเริ่มอ่อนตัว อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการเติบโตของตลาดพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน ผนวกกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วก็ส่งเสริมให้ราคาน้ำมันลดลง สำหรับราคาสินค้าฯประเภทเกษตรกรรมที่ต่ำลงนั้น Leonid สันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าฯเกษตรกรรมลดลงตามไปด้วย

view-commodities-1

กราฟแสดงราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 – 2015 จาก Bloomberg

จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจยังคงมีหลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปัจจุบัน บ้างบอกว่าซูเปอร์ไซเคิลสินค้ายังไม่จบ บ้างบอกว่ามันครบรอบวัฏจักรไปแล้ว บ้างก็มองว่าไซเคิลลูกใหม่กำลังจะเริ่มแล้วด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าใครจะมองอย่างไรก็ไม่มีถูกหรือผิด เพราะอย่างที่กล่าวไปในตอนเเรกว่า ทฤษฎีซูเปอร์ไซเคิลเป็นทฤษฎีที่ศึกษาการเจริญเติบโตของราคาสินค้าฯจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีหลักทางสถิติจริงๆ มาสนับสนุน และขึ้นอยู่กับขอบเขตมุมมองของผู้วิเคราะห์ แต่สิ่งที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษาและสถาบันการเงินชื่อดังทั้งสองแห่ง คือ การที่ทั้งสองฝ่ายชี้ให้เห็นถึงปัจจัยรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าฯมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) คือ ความเสี่ยงใหม่ของภาคธุรกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจที่ McKinsey ชี้ให้เห็น คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาด้านความยั่งยืนที่โลกให้ความสนใจมากที่สุด เริ่มสร้างผลกระทบต่อสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทแล้ว เช่น สินค้าทางการเกษตรทั้งอาหารและอื่นๆ เป็นต้น และปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่บรรเทาลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกได้เพิ่มขึ้นเกินระดับที่นักวิทยาศาสตร์ห้ามไว้เสียแล้ว (400 ppm) จึงไม่น่าจะใช่เรื่องเกินจริงที่จะสรุปว่า ผลกระทบจากปัญหานี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาจากภัยธรรมชาติก็อาจจะมีความถี่ในการเกิดขึ้นสูงและยากที่จะคาดเดามากขึ้นตามไปด้วย

21c9df91-b27f-47f9-9113-111c065c8767

ปัญหาภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ที่มาของรูป goo.gl/GpPpCC)

ดังนั้นไม่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดจะลดลงหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ภาคธุรกิจทั่วทุกมุมโลกไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นปัจจัยความเสี่ยงสำคัญทางธุรกิจที่ส่งผลต่อกระบวนการผลิตและราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากบริษัทที่ไม่มีกลยุทธ์ในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวน่าจะเสียเปรียบทางธุรกิจในภายภาคหน้า

ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์ของ Leonid ก็ชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ผนวกกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เน้นพลังงานหมุนเวียน สามารถลดความเสี่ยงของราคาสินค้าฯลงได้ เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนยังไม่ประสบความขาดแคลนเหมือนทรัพยากรน้ำมัน นอกจากนี้ สินค้าฯที่ผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนอาจจะมีราคาที่ถูกกว่าในอนาคตเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นของพลังงานฟอสซิล ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของบริษัท McKinsey ที่ว่า หากภาคธุรกิจต้องการจะลดความเสี่ยงทางธุรกิจจากราคาสินค้าฯ บริษัทจะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรมากขึ้น การหันมาใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืนจึงอาจจะช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับวันยิ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จัดหายากและมีความผันผวนทางราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักธุรกิจจะหันมายอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการเปลี่ยนเเปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะสามารถสร้างผลกระทบต่อผลกำไรของบริษัทได้ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยแสดงผลลัพธ์ต่อธุรกิจอย่างชัดเจนเลย มีแต่เพียงองค์กรเอนจีโอเท่านั้นที่แหกปากตะโกนเตือนตลอดจนคอแดง แต่ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจและบริษัทแนวหน้าทั้งหลายก็เริ่มเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมมิใช่ประเด็นที่ตั้งอยู่แยกกับการทำธุรกิจอีกต่อไป การวางกลยุทธ์บริษัทที่คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญต่อความมั่นคงและความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต

ด้านนักลงทุนเองก็อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อบริษัทที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอ (portfolio) ของตนเสียใหม่ เพราะบริษัทที่ยังคงดื้อดึงไม่คิดจะปรับตัวอาจจะกำลังแบกรับความเสี่ยงมากกว่าที่บริษัทเองจะรับรู้ได้ก็ได้

 

ข้อมูลอ้างอิง
บทความและรายงานวิจัยเกี่ยวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จาก McKinsey
บทความเกี่ยวกับซุปเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จาก Bloomberg
บทความเกี่ยวกับซุปเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จาก Forbes
รายงานวิจัยเกี่ยวกับซุปเปอร์ไซเคิลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จาก UN/DESA
ฐานข้อมูลดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของ McKinsey
บทความเกี่ยวกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทะลุเกิน 400 ppm
นิยามสั้นๆของคลื่น Kondratiev (Kondratieff) จาก Investopia
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลื่น Kondratiev