บทความแปลเกี่ยวกับระบบการเงินดิจิทัลของประเทศฟินเเลนด์ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของบล็อคเชน (Blockchain) ต่อผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (อ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่)

 


การยืนยันตัวตน (self-identification) ถือเป็นเรื่องยากลำบากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ เมื่อไม่มีข้อมูลยืนยันจากภาครัฐว่าตนเป็นใคร มาจากไหน หรือเคยมีสถานะอาชีพอะไร การสร้างชีวิตใหม่ที่มั่นคงในสังคมต่างแดนก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิและบริการทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเปิดบัญชีหรือสมัครบัตรเครดิต

ประเทศฟินแลนด์ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่มีจำนวนผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้หันมาใช้เทคโนโลยีบันทึกข้อมูลสมัยใหม่อย่างบล็อคเชนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

กว่าสองปีแล้วที่สำนักตรวจคนเข้าเมืองประเทศฟินแลนด์ (the Finnish Immigration Service) ได้จัดโครงการแจกจ่ายบัตร Mastercard แบบเติมเงิน (prepaid mastercard) หรือบัตรเดบิตรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพ MONI จากเมืองเฮลซิงกิ มอบให้กับผู้ลี้ภัยจำนวนหลายพันคน โดยตัวบัตรได้เชื่อมต่อผู้ถือบัตรเข้ากับฐานประวัติและบัญชีธุรกรรมดิจิทัลที่สร้างขึ้นใหม่ในบล็อคเชน จึงไม่จำเป็นต้องใช้ประวัติข้อมูลบัญชีธนาคารเก่ามายืนยันตัวตน

 


บล็อคเชนเป็นเทคโนโลยีระบบบัญชีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบกระจายศูนย์​ ไม่มีองค์กรส่วนกลางควบคุม แรกเริ่มถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ (digital currency) หรือที่เรียกกันติดหูว่า บิทคอยน์ (bitcoin) หัวใจหลักในการทำงานของบล็อคเชนอยู่ที่ระบบซอฟท์แวร์ที่ทำหน้าที่บันทึกธุรกรรม “ทุกรายการ” พร้อมทั้งเข้ารหัสแบบถาวรลงบนเครือข่ายเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์แบบ peer-to-peer จากหลายแห่งมุมโลก จึงไม่ต้องมีการกำกับจากองค์กรตัวกลาง ทั้งนี้บุคคลใดก็ตามสามารถตรวจเช็คบันทึกดังกล่าวเมื่อไหร่ก็ได้

 

ขั้นตอนการทำงานของบล็อคเชน (คลิ๊กที่รูปเพื่อขยายภาพ)


เทคโนโลยีนี้เป็นความหวังใหม่ที่อาจเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นต้องมีสถาบันทางการเงินมาควบคุมแล้ว ยังมีความปลอดภัยสูง ไม่สามารถทุจริตหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้รับการบันทึก และสามารถเปิดดูบัญชีธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วอีกด้วย แม้แต่สหประชาชาติ (the United Nations) เองก็กำลังมองหาทางใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมาบันทึกประวัติข้อมูลและยืนยันตัวตนของผู้คนหลายล้านคนที่ไม่มีเอกสารยืนยันจากภาครัฐ

การมีบัตรเครดิต MONI ช่วยบรรเทาอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้ลี้ภัยในประเทศฟินเเลนด์ได้เป็นอย่างมาก เพราะบัญชีการเงินของ MONI สามารถใช้งานได้เหมือนกับบัญชีธนาคารทั่วไป ผู้ลี้ภัยสามารถซื้อของหรือชำระบิลผ่านบัตรเดบิตได้ (ที่ประเทศฟินเเลนด์ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้บัตรจ่ายชำระสินค้าบริการแทนเงินสด) แถมยังรับค่าจ้างหรือเงินเดือนผ่านการโอนเข้าบัญชีได้อีกด้วย ทำให้การหางานทำสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ทุกข้อมูลธุรกรรมในบัญชีของพวกเขาถูกบันทึกในฐานข้อมูลสาธารณะที่ทุจริตหรือแก้ไขได้ยาก สำนักงานฯสามารถตรวจสอบบัญชีของผู้ถือบัตรเมื่อไหร่ก็ได้

“อุปสรรคสำหรับผู้ลี้ภัยในการเปิดบัญชีธนาคารและการจ้างงานในต่างประเทศคือการไม่มีข้อมูลทางการที่แน่ชัดมายืนยันตัวตน แต่ตอนนี้เราพบทางออกให้กับพวกเขาแล้ว”  — Jouko Salonen ผู้อำนวยการสำนักตรวจคนเข้าเมืองประเทศฟินแลนด์

แม้ว่าบริษัท MONI จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนที่แตกต่างกับที่ธนาคารทั่วไปในการเปิดบัญชี แต่สำหรับผู้ใช้บัตร มันก็เหมือนบัตรเดบิตทั่วไปที่สามารถชำระเงินผ่านช่องทาง Mastercard นั่นเอง โดยบริษัทจะเป็นฝ่ายจัดการขั้นตอนการทำธุรกรรมทั้งในบล็อคเชนและระหว่างสถาบันการเงินให้กับลูกค้า

ปัจจุบัน บริการบัตร MONI ยังเปิดให้บริการแค่สำหรับผู้ลี้ภัยและอาสาสมัครทดสอบผลิตภัณฑ์ในฟินแลนด์เท่านั้น อย่างไรก็ดี บริษัทมีแผนจะเปิดให้ผู้บริโภคทั่วไปในยุโรปสมัครเร็วๆนี้ โดยจะเก็บค่าบริการเดือนละสองยูโร พร้อมกับค่าธรรมเนียมอีกเล็กน้อยทุกครั้งที่ลูกค้าชำระเงินผ่านบัตรหรือโอนเงินไปต่างประเทศ

Antti Pennanen ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ MONI เปรียบบล็อคเชนเหมือนกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในสมัยแรกเริ่มที่ตอนนั้นน้อยคนจะเข้าถึงได้ เพราะต้องใช้อุปกรณ์เทคนิคยุ่งยาก เทคโนโลยีของ MONI จึงเป็นเหมือมโมเดมที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น

Antti บอกว่าชื่อเสียงของ MONI กำลังได้รับการพูดถึงในหมู่ผู้ลี้ภัยไปทั่วยุโรป เขาคาดว่าจำนวนกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ลี้ภัยจะเพิ่มขึ้นอีกมากทันทีที่บริษัทสามารถเปิดให้บริการในประเทศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีและสอดคล้องกับเจตจำนงค์ของบริษัทที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการจากระบบการเงินในปัจจุบัน “เป้าหมายหลักของเราคือการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion) โดยเฉพาะกลุ่มคนในประเทศกำลังพัฒนา”

 

Antti Pennanen ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ MONI

 

ที่มาของบทความ: Orcutt, M. (2017). How Blockchain is kickstarting the financial lives of refugees. MIT Technology Review

ข้อมูลอ้างอิง:

  • สฤณี อาชวานันทกุล. (2016). รู้จักบล็อคเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม. Thaipublica
  • รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2017). รู้จัก Blockchain ฉบับเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ฟังยังเข้าใจ. The Momentum