interface1

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ Interface ในฐานะหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่า ‘ยั่งยืน’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่บางคนอาจไม่ทราบว่า Interface เป็นบรรษัทข้ามชาติที่เป็นผู้นำด้านการผลิตพรมแบบแผ่น (Modular Carpet) อันดับหนึ่งของโลก โดยในปี ค.ศ. 2014 Interface มีรายได้ราว 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ พนักงาน 3,500 คน ใน 110 ประเทศทั่วโลก

ชื่อเสียงด้านความยั่งยืนเริ่มต้นจากการพลิกวิสัยทัศน์องค์กรโดยเรย์ แอนเดอร์สัน (Ray Anderson) อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface ที่ยอมรับว่าครั้งหนึ่งเขาเป็นนักธุรกิจแบบสุดโต่ง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1994 เขาถูกตั้งคำถามโดยลูกค้าว่า “Interface ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง?”

ray_photo_01

เรย์ แอนเดอร์สัน อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface ภาพจาก http://www.raycandersonfoundation.org/assets/images/parallax/ray_photo_01.jpg

เขาไม่มีคำตอบ แต่ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนถึงจุดยืนของบริษัท กอปรกับแรงบันดาลใจจากหนังสือ The Ecology of Commerce โดยพอล ฮอว์เคน (Paul Hawken) ที่กล่าวว่าธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นสถาบันเดียวในโลกที่มีพลังอำนาจเพียงพอที่จะเปลี่ยนโลกได้ ในปีนั้นเองที่เรย์ตัดสินใจประกาศเป้าหมายสำคัญคือ Mission Zero ที่ตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2020 Interface จะต้องไม่มีผลกระทบภายนอกด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม

ภารกิจที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ความมุ่งมั่นของเรย์ได้เป็นแรงผลักดันให้องค์กรเริ่ม ‘ปีน’ ขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความยั่งยืนอย่างไม่ย่อท้อ และเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2014 นี้เองที่ Interface ได้ประกาศว่าโรงงานที่ Scherpenzeel ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ประสบความสำเร็จสามเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยโรงงานใช้ไฟฟ้า 100% จากพลังงานหมุนเวียน มีน้ำเสียและขยะเป็นศูนย์ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของบริษัท Interface และเป็นตัวอย่างสำคัญที่ยืนยันถึงความเป็นไปได้ของความยั่งยืน

เมื่อต้นเดือนกันยายน ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานดังกล่าว แม้โดยผิวเผินแล้วหน้าตาของโรงงาน Interface จะไม่ต่างจากอุตสาหกรรมทั่วไป แต่หลังจากได้ฟังการนำเสนอก็ทราบว่า ความเขียวของ Interface ได้ซ่อนอยู่ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงความพยายามปิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยการนำกลับมารีไซเคิล และที่สำคัญ Interface ไม่มีฝ่ายความยั่งยืนในบริษัท เพราะทุกส่วนงานมีความตระหนักในเรื่องความยั่งยืน ผ่านการอบรม พูดคุยทำความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ขององค์กร

สร้างนวัตกรรมจากการวิเคราะห์วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์

พรมอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่สำหรับประเทศทางตอนเหนือในภูมิภาคยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา พรมกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นแทบทุกอาคารในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่บ้าน มหาวิทยาลัย และที่ทำงาน

น้อยคนที่จะนึกออกว่าพรมเหล่านั้นมีความ ‘ไม่เขียว’ อย่างไรบ้าง

พรมขาดความเขียวตั้งแต่วัตถุดิบเพราะวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตพรม เช่น ไนลอน โพลิเอสเตอร์ และอคริลิค ต่างก็เป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมไปถึงวัสดุรองหลังพรม (Backing) สีย้อม และกาว ที่นอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีอันตรายต่อสุขภาพเพราะวัสดุเหล่านั้นจะปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds: VOCs) ที่ทำให้บางคนเกิดอาการแพ้ พรมส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานไม่ถึง 10 ปี แต่หลังจากที่ถูกขนไปยังหลุมฝังกลบ พรมเหล่านั้นอาจใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายศตวรรษ

หลังจากประกาศ Mission Zero สิ่งแรกๆ ที่ Interface ทำคือการวิเคราะห์วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์โดยใช้ระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเกณฑ์ เพื่อค้นหาว่ากิจกรรม ขั้นตอน หรือวัตถุดิบใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด  จากการวิเคราะห์ดังกล่าว Interface ก็พบว่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ของพรมมาจากไนลอน ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 45 ตลอดชีวิตผลิตภัณฑ์ ในขณะที่กิจกรรมและวัตถุดิบอื่นๆ คิดเป็นราวร้อยละ 10

Interface ตอบรับกับความท้าทายดังกล่าวโดยใช้ 3 ทางเลือกคือ 1) ลดการใช้ไนลอนในการผลิต 2) พัฒนาไนลอนให้มีส่วนประกอบจากการรีไซเคิลมากขึ้น และ 3) คิดค้นนวัตกรรมในการผลิตไนลอนรูปแบบใหม่ ทั้ง 3 ทางเลือก นำไปสู่การปฏิบัติในฝ่ายวิจัยและพัฒนา ก่อนจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายจริงในตลาดคือ

  • Microtuft ที่ใช้การออกแบบเพื่อลดการใช้ไนลอนลงถึงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ยังสามารถคงคุณภาพของพรม และอายุของการใช้งานไว้เช่นเดิม สินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก โดยจำหน่ายไปแล้วกว่า 11 ล้านตารางเมตร
  • Biosfera I พรมรุ่นแรกของโลกที่ผลิตจากไนลอนรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์จากพรม แหหรือเครื่องมือประมงที่หมดอายุการใช้งาน โดย Interface ได้ร่วมมือกับ Zoological Society of London เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานจากชุมชนประมงในประเทศกำลังพัฒนาเป็นเครือข่ายชื่อว่า Net-Works เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวประมงสามารถขายเครื่องมือประมงเพื่อนำกลับมารีไซเคิลเป็นไนลอน  ตั้งแต่เริ่มจำหน่ายในปี ค.ศ. 2011 Biosfera I มียอดขายอยู่ที่ราว 780,000 ตารางเมตร
  • Fotosfera นวัตกรรมจากการใช้วัตถุดิบใหม่เพื่อผลิตไนลอนจากน้ำมันเมล็ดละหุ่ง (Castor Bean) ร้อยละ 63 ละหุ่งยังเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ในอากาศร้อนและดินทรายซึ่งยากที่จะใช้ทำการเกษตรชนิดอื่น โดยจำเป็นต้องรดน้ำทุกๆ 25 วันเท่านั้น อินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกละหุ่งมากที่สุดในโลก และพืชชนิดนี้เองที่เป็นรายได้เสริมให้กับชาวอินเดีย โดยไม่เบียดบังพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร

BeansInterface20295a

เมล็ดละหุ่ง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพรม Fotosfera ภาพจาก http://www.archello.com/en/product/fotosfera

ทั้งสามผลิตภัณฑ์นับเป็นนวัตกรรมในการผลิตพรมที่นอกจากจะลดรอยเท้าภายในกระบวนการแล้ว ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมนอกองค์กรได้ด้วยการสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบรรลุ Mission Zero เท่านั้น เพราะ Interface ยังพยายามลด ‘ของเสีย’ ที่เกิดขึ้นในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อีกด้วย

ลดขยะแบบนอกกรอบ

            ปัญหาสำคัญนอกจากวัตถุดิบที่นำมาผลิตพรมคือ ‘ของเสีย’ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่ง Interface ได้แก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีการตัดแบบเหนือเสียงที่ใช้ในองค์กรนาซ่ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ในการตัดแบ่งพรมโดยมีเศษพรมลดลงถึงร้อยละ 80 หรือราวปีละ 310 ตัน

Interface ยังปรับปรุงการขนส่งพรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่ความพยายามลดการขนส่งข้ามทวีป เช่น พรมที่ผลิตขึ้นในยุโรปร้อยละ 99 จะถูกจำหน่ายในยุโรป พร้อมกับจัดการขนส่งให้รถบรรทุกมีปริมาณบรรจุไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 เพื่อประหยัดต้นทุนและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Biomimicry Tactile

 Tactiles นวัตกรรมการติดตั้งพรมที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากปัญหาของเสียในโรงงานและการขนส่ง Interface ยังประยุกต์ใช้แนวคิดชีวลอกเลียน (biomimicry) มาใช้ในการออกแบบนวัตกรรมอย่าง Tactiles ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิ้งจกที่ปีนบนผนังได้โดยใช้ขนเล็กๆ นับล้านที่เท้า Tactiles ระบบการติดตั้งพรมรูปแบบใหม่ที่เชื่อมต่อพรมแต่ละแผ่นด้วยพลาสติกใสขนาดเล็กโดยไม่จำเป็นต้องยึดพรมกับพื้นห้องตามวิถีการปูพรมแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 90 Tactiles ยังช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เกิดจากกาวในการติดตั้งแบบทั่วไปอีกด้วย

random design2

 Random Design ดีไซน์พรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

อีกแนวคิดที่น่าสนใจของการประยุกต์ใช้แนวคิดชีวลอกเลียนคือ Random Design ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพื้นดินที่ปกคลุมด้วยใบไม้ตามธรรมชาติซึ่งแม้จะไม่ได้รับการจัดเรียงก็ยังคงมีความสวยงาม Random Design คือพรมที่ออกแบบมาว่าจะวางในรูปแบบใดก็ได้โดยไม่ต้องสนใจเรื่องทิศทางหรือสี การออกแบบดังกล่าวช่วยลดพรมที่สูญเสียในกระบวนการปูพื้นห้องเหลือเพียง 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่การใช้พรมผืนใหญ่เพื่อปูพื้นห้อง จะมีเศษพรมเหลือทิ้งเฉลี่ยถึง 12 เปอร์เซ็นต์

Interface ยังพัฒนานวัตกรรมเพื่อปิดวงจรผลิตภัณฑ์ กล่าวคือการนำพรมที่หมดอายุการใช้งานมาเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบและกลับเข้าสู่การผลิตพรมผืนใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน Interface ได้เริ่มระบบ ReEntry 2.0 ที่สามารถดำเนินการได้โดยมีฐานการรีไซเคิลที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี กระบวนการรีไซเคิลของ Interface ยังเผชิญความท้าทายในการจัดหาพรมเก่าเพื่อนำมารีไซเคิล เนื่องจากระบบดังกล่าวจำเป็นต้องใช้พรม Interface ซึ่งมีการออกแบบที่แตกต่างจากพรมแบรนด์อื่นมารีไซเคิลเท่านั้น

แม้ว่าเรย์ แอนเดอร์สันจะเสียชีวิตไปเมื่อปลายปี ค.ศ. 2011 แต่จะเห็นว่าความทะเยอทะยานในการขึ้นสู่ยอดเขาแห่งความยั่งยืนได้ถูกสืบทอดต่อพนักงานของ Interface เพื่อบรรลุ Mission Zero ภายในปี ค.ศ. 2020 และหลายคนคาดว่า Interface จะประกาศก้าวต่อไปจาก ‘ไม่สร้างผลกระทบ’ สู่ธุรกิจที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนกับมูลค่าขององค์กร

            ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าความพยายามลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือลดของเสียภายใน Interface จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับองค์กรได้อย่างไร ตามแนวคิดดั้งเดิม มูลค่าขององค์กรสามารถคำนวณได้จากกระแสเงินสดสุทธิที่ไหลเข้าสู่องค์กรในอนาคตโดยคิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งอาจยังไม่ได้รวมมูลค่าเพิ่มจากความยั่งยืน เพราะบางคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบภายนอก (externalities)

เมื่อปี ค.ศ. 2003 Stuart Hart และ Mark Milstein ได้เสนอแนวคิด ‘มูลค่าที่ยั่งยืน’ โดยพล็อตกลยุทธ์บนสองแกนคือ ภายนอก-ภายใน และ ปัจจุบัน-อนาคต โดยได้แบ่งกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • การป้องกันมลภาวะ (Pollution Prevention) คือการลดของเสียและการปลดปล่อยมลภาวะขององค์กร โดยจะช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนขององค์กร
  • การดูแลผลิตภัณฑ์ (Product Stewardship) คือการนำข้อคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินงาน โดยจะสร้างชื่อเสียงทางบวกและความชอบธรรมให้กับองค์กร
  • การใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) คือการพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรอย่างยั่งยืนในอนาคต เป็นการสนับสนุนนวัตกรรม รวมทั้งช่วยสร้างแบรนด์ขององค์กร
  • วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน (Sustainability Vision) คือการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยจะสร้างโอกาสเติบโตของบริษัทในอนาคต

Creating Value

   กลยุทธ์สร้างมูลค่าจากความยั่งยืน อ้างอิงจาก Hart and Mark (2003)

จากทั้ง 4 กลยุทธ์ จะเห็นว่า Interface ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวเพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับองค์กร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าหรือเป็นการประชาสัมพันธ์ แม้ว่า Interface จะไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวาในระยะสั้นเช่นเดียวกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม แต่ข้อพิสูจน์มูลค่าของความยั่งยืนใน Interface คือการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์สู่ความยั่งยืน ยอดขายพรมของ Interface ก็เพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราวสองเท่า

Interface จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญของนักธุรกิจที่ยังคงตั้งคำถามถึงมูลค่าเพิ่มจากกลยุทธ์ที่ยั่งยืน รวมทั้งทำลายกรอบความเชื่อที่ว่าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบปิโตรเคมีอย่างพรมไม่มีทางยั่งยืนได้ และยังเป็นบทเรียนสำคัญว่าความยั่งยืนสร้างได้ แต่ต้องมีความทุ่มเทที่จะสร้างอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

เอกสารประกอบการเขียน

Hart, Stuart L., and Mark B. Milstein. “Creating sustainable value.” The Academy of Management Executive 17.2 (2003): 56-67.

Interface Co.,ltd. “Let’s be clear.” retrieved: http://www.interfaceflor.nl/webapp/wcs/stores/media/Lets%20Be%20Clear_EN.pdf