เมื่อเกือบสองเดือนก่อนคงไม่มีใครไม่ได้ยินเรื่องการปลิดชีวิตกอริลล่าชื่อ “ฮารัมเบ”ในสวนสัตว์เมืองซินซิเนติ เพราะกลัวว่ามันจะทำอันตรายเด็กน้อยที่พลัดตกลงไปในกรงของมัน ข่าวนี้สร้างความเศร้า เสียใจ และสะเทือนใจให้กับคนที่ได้รับรู้ รวมถึงยังมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดทั้งบนสังคมออนไลน์และออฟไลน์
แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมโลกอย่าง “ฮารัมเบ” และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยให้คุณค่าแก่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ต่างจากมนุษย์เรา แต่ถ้าเราทราบว่ายังมีเพื่อนกอริลล่าของฮารัมเบอีกหลายชีวิตกำลังถูกคุกคาม เราจะรู้สึกอย่างไร และอยากจะช่วยเหลือหรือไม่
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society: WCS) ร่วมกับ Fauna & Flora International [1] รายงานผลการสำรวจประชากรกอริลล่า Grauer’s gorilla (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ eastern lowland gorilla) ว่าลดลงจาก 17,000 เหลือเพียง 3,800 ตัว ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อกอริลล่ารวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นคือการทำเหมืองแร่โคลแทน (coltan) ในท้องถิ่นแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในประเทศคองโกซึ่งเป็นแหล่งโคลแทนใหญ่ที่สุดและเป็นบ้านของ Grauer’s gorilla นอกจากจะทำลายที่อยู่อาศัยแล้ว การทำเหมืองแร่โคลแทนยังทำให้สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารแก่คนงานและเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดมืด ซึ่ง Grauer’s gorilla เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่นักล่าโปรดปราน ด้วยขนาดที่ใหญ่ อาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ทำให้ง่ายต่อการแกะรอย พวกมันจึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก
สิ่งที่น่าตกใจคือภัยคุกคามชีวิตกอริลล่านี้เชื่อมโยงกับชีวิตคนเมืองมากกว่าที่เราคิด….
หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าอุปกรณ์ที่เราใช้กันเป็นประจำอย่างโทรศัพท์มือถือมีส่วนประกอบที่สำคัญคือแร่โคลแทน ฉะนั้นความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิคส์ที่เพิ่มขึ้นจึงหมายถึงภัยคุกคามต่อสิ่งมีชิวิตสัตว์ป่า รวมถึงกอริลล่าที่ถูกล่ามากขึ้นด้วย การสำรวจในปี 2012 พบว่าในอังกฤษมีจำนวนโทรศัพท์ที่ผลิตเกินความต้องการและไม่ได้นำไปใช้ประมาณ 160 ล้านเครื่อง ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประมาณ 130 ล้านเครื่อง น่าคิดว่าเราเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่กันบ่อยแค่ไหนและทำอย่างไรกับเครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว [2]
นักเคลื่อนไหวและเครือข่ายผู้บริโภคไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นนี้ และได้ผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แสดงความรับผิดชอบด้วยการตรวจสอบและรับรองว่าการผลิตสินค้า ตลอดจนการได้มาซึ่งแร่โคลแทนไม่สร้างภัยคุกคามต่อธรรมชาติ ความพยายามนี้ส่งผลให้เกิดกฎหมาย (Dodd-Frank act 2010) ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาตรวจสอบและแสดงหลักฐานแหล่งที่มาของแร่หายากที่บริษัทใช้ พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่ประเทศคองโก
แร่หายาก 4 ชนิดที่ถูกกำหนดให้ผ่านการตรวจสอบที่มาที่ไป ได้แก่ ทองคำ ดีบุก ทังสเตน และโคลแทน (โคลแทนใช้ผลิตแทนทาเลียม) ซึ่งแร่เหล่านี้ ถูกเรียกว่า ‘conflict minerals’ สะท้อนวิธีการได้มาที่สร้างความขัดแย้งทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลัง
นอกจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับกอริลล่าและสิ่งมีชีวิตอื่นแล้ว การทำเหมืองแร่ท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงอีกด้วย เพราะแร่หายากเป็นวัตถุที่มีขนาดเล็กแต่กลับมีมูลค่ามหาศาล จึงนำไปสู่การต่อสู้เพื่อครอบครองที่ดิน การทำเหมืองแบบไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัย สภาพแวดล้อมการทำงานที่เลวร้าย การใช้แรงงานเด็กและการกดค่าแรง ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย นอกจากนี้การจัดการที่ไม่ได้มาตรฐานยังก่อให้เกิดมลพิษจากสารปรอทอีกด้วย ที่สำคัญมีรายงานว่า เม็ดเงินจากการค้าแร่เหล่านี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในประเทศคองโก อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศยากจนแล้ว แม้อุตสาหกรรมเหมืองจะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากมาย แต่ก็เป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชน ทำให้ชาวบ้านยินดีเสี่ยงชีวิตเข้าสู่การทำเหมืองและหล่อเลี้ยงให้อุตสาหกรรมนี้คงอยู่ต่อไป
การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่เรียกตัวเองว่าโทรศัพท์ที่เป็นธรรม หรือ “Fairphone” จึงเป็นเรื่องน่ายินดีจากฝั่งธุรกิจ และเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง โดยบริษัทซึ่งมีพันธกิจหลักในการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปลอด ‘conflict minerals’ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 หลังจากประสบความสำเร็จในโครงการรณรงค์ที่มีเป้าหมายเพื่อการผลิตโทรศัพท์มือถือที่เป็นธรรมเครื่องแรกของโลก การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบถือเป็นแก่นในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทเลยก็ว่าได้ โดยบริษัทตั้งต้นด้วยการนำผลิตภัณฑ์มาเป็นจุดศูนย์กลางและพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ ของโทรศัพท์ว่ามาจากที่ใดบ้าง จากนั้นก็เข้าไปปรับปรุงและสร้างการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน
“FairPhone’s mission is to develop a seriously cool smartphone that is designed and produced with minimal harm to people and planet.”
ในปี 2013 บริษัทวางจำหน่ายโทรศัพท์รุ่นแรก ‘Fairphone’ ที่รับรองการได้มาของดีบุกและแทนทาเลียมว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามหรือความขัดแย้งที่คองโก บริษัทได้ร่วมมือกับองค์กรที่ดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ Conflict-Free Tin Initiative (CFTI) ที่ดำเนินงานส่งเสริมการค้าดีบุกอย่างรับผิดชอบ และ โครงการ Solutions for Hope ที่ขับเคลื่อนเรื่องการทำเหมืองโคลแทน พัฒนาระบบติดตามผลิตภัณฑ์แบบ “bagging and tagging” ซึ่งตรวจสอบและติดป้ายแสดงที่มาที่ไปของดีบุกและแทนทาเลียมในทุกขั้นตอนที่มีการส่งต่อ ตั้งแต่ต้นทางเรื่อยมาจนถึงโรงงานผลิตของบริษัท โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกของ Fairphone แม้ว่าจะยังไม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมอย่างสมบูรณ์แบบตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการพัฒนา การดำเนินงานของบริษัทได้เข้าไปแทรกแซงและสร้างการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือก่อให้เกิดการคำนึงถึงคุณค่าของคนและสังคมเป็นอันดับแรก [3]
Fairphone มุ่งมั่นจัดการกับแร่หายากที่ยังมีปัญหาอีก 2 ชนิดที่เหลือ คือ ทองคำและทังสเตน เมื่อต้นปี 2016 บริษัทประกาศว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาและบังคับใช้มาตรฐาน fairtrade ทองคำ และทองคำที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในโทรศัพท์ของ Fairphone ผ่านมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งมาตรฐานนี้ช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานในเหมือง และสร้างผลทางตรงต่อการพัฒนาชุมชนของคนงานเหมืองท้องถิ่น [4] และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง Fairphone ประสบความสำเร็จในการจัดการทังสเตน แร่ลำดับสุดท้ายในรายชื่อ ‘conflict minerals’ โดยร่วมมือกับบริษัทหลอมแร่จากออสเตรียและบริษัทเหมืองจากรวันดาในการปรับปรุงการจัดการและสภาพการทำงานในเหมืองให้มีความเป็นธรรมและรับผิดชอบ ก่อนที่ Fairphone จะนำทังสเตนจากโรงงานที่รวันดามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ [5] และสินค้ารุ่นใหม่ของบริษัท ‘Fairphone 2’ นับเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกที่ปราศจากส่วนประกอบจากแร่หายากที่มีปัญหา โดยที่ conflict minerals ทั้ง 4 ชนิด ได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทั้งที่คองโกและประเทศแหล่งผลิตเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ Fairphone ได้รับคะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งจากการจัดอันดับด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์จาก Rank a Brand [6] และ Ethical Consumer [7]
การกำกับจากภาครัฐและบรรยากาศในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Samsung ไม่อาจหยุดนิ่งได้ Apple แสดงจุดยืนว่าไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาการได้มาซึ่งแร่หายาก โดยสามารถผลักดันให้คู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับ conflict minerals ทั้งสิ้น 242 ราย (คิดเป็น 100% โดยคู่ค้าที่ไม่ยินดีเข้าร่วม Apple ได้ยกเลิกสัญญาไปทั้งสิ้น 35 ราย) เข้าร่วมในระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของแร่หายาก ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรภายนอกชื่อ Conflict-Free Sourcing Initiative (CFSI) บริษัทยอมรับว่าระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่ติดตามวัตถุดิบจากบาร์โค้ด ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ และระบบป้องกันภัย ยังไม่สามารถควบคุมการตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์ [8]
สำหรับ Samsung ได้ประกาศให้ความสำคัญกับการจัดหาแร่หายาก บริษัทแสดงจุดยืนว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา โดยระบุว่าอุตสาหกรรมเหมืองมักเป็นแหล่งรายได้หลักของชุมชนยากจน บริษัทไม่อาจตัดตัวเองออกจากปัญหาง่ายๆ เพียงแค่จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่น เพราะตระหนักว่าการกระทำเช่นนั้นยิ่งจะซ้ำเติมภัยคุกคามต่อชุมชนขึ้นไปอีก Samsung จึงไม่มีนโยบายยกเลิกสัญญากับคู่ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม แต่พร้อมเจรจาและสนับสนุนคู่ค้าให้ปรับปรุงวิธีปฏิบัติให้ได้ในที่สุด โดยบริษัทได้พัฒนาระบบติดตามของตัวเอง (Internal Trade Compliance System) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต นอกจากเข้าร่วมในโครงการ EICC’s Conflict Free Sourcing Program (CFSP) แล้ว บริษัทยังสนับสนุนให้คู่ค้าเข้าร่วมเช่นกัน แม้การตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบจะยังไม่สมบูรณ์ แต่บริษัทมองว่าในความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุแหล่งที่มาของแร่หายาก ระบบตรวจสอบย้อนกลับจึงเป็นสิ่งที่พอจะทำได้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น [9]
น่าติดตามต่อไปว่าอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตควรหันมาให้ความสำคัญคือจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ใหม่ได้หรือไม่ ส่วนพวกเราในฐานะผู้บริโภคก็ควรต้องกลับมาทบทวนว่าที่ผ่านมาเราใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ตลอดจนช่วยกันคิดว่าพลังผู้บริโภคจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง
————————————————————————————
แหล่งอ้างอิง
[1] http://www.reuters.com/article/us-africa-gorillas-idUSKCN0X30T2
[2] http://www.zmescience.com/ecology/environmental-issues/can-phone-recycling-help-save-the-eastern-african-gorilla/
[3] https://www.fairphone.com/2013/11/08/tin-and-tantalum-road-trip/
[4] https://www.fairphone.com/2016/01/27/how-we-got-fairtrade-certified-gold-in-the-fairphone-2-supply-chain/
[5] https://www.fairphone.com/2016/06/20/fairphone-2-good-vibrations-with-conflict-free-tungsten/
[6] http://rankabrand.org/electronics/Fairphone/page/1
[7] http://www.ethicalconsumer.org/buyersguides/phonebroadband/mobilephones.aspx
[8] http://www.digitaltrends.com/mobile/apple-conflict-minerals-are-now-all-audited/
[9] https://news.samsung.com/global/samsung-electronics-supports-a-responsible-approach-to-mineral-sourcing