จากบทความในตอนแรก นอกจากการสังเกตก้าวเล็กๆ ในการระดมทุนของ Varthana ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เริ่มต้นธุรกิจแล้วและเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทกำลังเตรียมระดมทุนในช่วงที่ 2 (Serie B Round) ความหลากหลายในด้านการลงทุนเพื่อสังคมในอินเดียก็ยังสามารถพบได้ในงาน Sankalp Unconventional Summit
เปิดโลกในงาน Sankalp Unconventional Summit
Sankalp Unconventional Summit คือ งานสัมมนาด้านการลงทุนเพื่อสังคม (Impact Investing) ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและของเอเชีย งานจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปีที่มุมไบ เมืองสำคัญด้านธุรกิจและการเงิน ที่นี่มีนักลงทุนเพื่อสังคมและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน งาน Sankalp จัดโดย Intellecap ซึ่งให้บริการวาณิชธนกิจ (Investment Banking) รวมถึงให้คำปรึกษาและความรู้กับธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลกเพื่อมุ่งแก้ปัญหาในตลาด BOP แม้ว่า Intellecap จะก่อตั้งในซานฟรานซิสโก แต่บริษัทถือว่าอินเดียเป็นตลาดที่สำคัญมาก ที่ผ่านมา Intellecap เชื่อมโยงธุรกิจเพื่อสังคมจำนวน 400 แห่งเข้ากับนักลงทุนกว่า 300 คนและที่ปรึกษาทางธุรกิจกว่า 160 คน ผ่านงาน Sankalp ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดประจำปี และมีกิจกรรมย่อย (Chapter) ที่จัดอยู่สม่ำเสมอตลอดปีทั่วเมืองใหญ่ในอินเดีย
ภายในงานที่จัดขึ้น 2 วัน เป้าหมายหลักของคนที่เข้าร่วมงาน Sankalp คือ การสร้างเครือข่าย (Networking) และทำความรู้จักกับคนในแวดวง โดยผู้ประกอบการมีโอกาสได้พบนักลงทุนจำนวนมาก เพราะมีไม่บ่อยนักที่กองทุนเพื่อสังคมชั้นนำทั้งของอินเดียและของสหรัฐอเมริกาจะมารวมตัวกันในที่เดียว เช่น Aavishkaar จากอินเดียที่เป็นหนึ่งในกองทุนรุ่นบุกเบิกตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน หรือ Acumen Fund, Omidyar Network, Bamboo Finance, Unitus, Grey Ghost Venture และอื่นๆ นักลงทุนเองก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคลใหม่ๆ ที่เริ่มสนใจในธุรกิจเพื่อสังคมและอยากรู้ถึงความแตกต่างในการลงทุน หนึ่งในวิทยากรของ Sankalp ในปีนี้ คือ คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion ได้เป็นตัวแทนภูมิภาคอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการลงทุนเพื่อสังคมในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นอกเหนือไปจากการสัมมนาที่เน้นเรื่องเทรนด์การลงทุนเพื่อสังคม และโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแล้ว Sankalp ยังมีการประกวดธุรกิจเพื่อสังคมที่แตกต่างจากการประกวดที่อื่นคือ ธุรกิจที่เข้าประกวดต้องเป็นแบบแสวงหากำไร และมีเป้าหมายชัดเจนในการแก้ไขปัญหาสังคม ดำเนินการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และเน้นลูกค้าในตลาด BOP ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีกว่า หรือช่วยผู้ผลิตในตลาด BOP เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพหรือเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับตลาด โดยแบ่งธุรกิจเป็น 5 ประเภทอย่างชัดเจน คือ การเกษตรและธุรกิจชนบท พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด การศึกษาและการฝึกอาชีพ สุขภาพ น้ำและสุขอนามัย (sanitation) เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา และมี 2 รางวัลพิเศษคือ การหุงต้มโดยใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งในแต่ละประเภทจะมีผู้ชนะและได้รับเงินรางวัล โดยในบางประเภทอาจจะมีนักลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมด้านนั้นๆ เสนอเงินรางวัลเพิ่มเติมให้ภายในงาน นอกจากการยกย่องผลงานของธุรกิจเพื่อสังคม
ภายในงานยังมีการแจกรางวัลจาก Villgro ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมอื่น (enabler) ในด้านองค์ความรู้ การสร้างศักยภาพการบ่มเพาะผู้ประกอบการ Villgro สรรหาและยกย่ององค์กรที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคมใน 5 ประเภทคือ ศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ กิจการที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยม กองทุนเพื่อสังคม สถาบันการศึกษาที่ทำงานโครงการหรืองานวิจัยด้านธุรกิจเพื่อสังคม และสื่อที่เผยแพร่เรื่องธุรกิจเพื่อสังคม
สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างในงาน Sankalp ที่อินเดียกับงานสัมมนาหรือด้านกิจการเพื่อสังคมในบ้านเรา คือ ไม่มีใครถกเถียงกันเรื่องนิยามของธุรกิจเพื่อสังคมอีกแล้ว ธุรกิจที่เข้าร่วมและนักลงทุนเองมีความชัดเจนว่าเป้าหมายของพวกเขาคืออะไร ธุรกิจจะสร้างผลกระทบอะไร อาจจะเป็นเพราะปัญหาสังคมในแต่ละเรื่องที่นั่นมีความชัดเจน ผู้คนหลายล้านคนไม่มีส้วม ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ไม่ได้รับการศึกษา เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี บริการทางการเงิน และการรักษาพยาบาล ซึ่งถ้าธุรกิจเพื่อสังคมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จะมีผลกระทบชัดเจน ธุรกิจเพื่อสังคมที่นั่นค่อนข้างคุ้นเคยกับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment) และนักลงทุนเพื่อสังคมเองก็มีความชัดเจนว่าพวกเขาต้องการเห็นข้อมูลการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมก่อนที่จะพิจารณาการให้ทุนเสมอ ภายในงานไม่มีการพูดถึงความร่วมมือและการขอแรงสนับสนุนใดจากภาครัฐ เพราะธุรกิจเพื่อสังคมในอินเดียเริ่มมีโครงสร้างชัดเจนด้านการลงทุน การสนับสนุน การสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการในช่วงประมาณปี ค.ศ.2005 โดยการริเริ่มทั้งหมดเกิดจากภาคเอกชนและ NGOs รัฐไม่ได้มีบทบาทอะไรที่ชัดเจนนัก ธุรกิจเพื่อสังคมเองจึงไม่ได้มีรูปแบบทางกฎหมายแยกเฉพาะหรือได้ประโยชน์มากกว่าทางนโยบายหรือทางภาษี
ถึงผู้ประกอบการเพื่อสังคมในอินเดียจะมีอุปสรรคในการทำงานไม่น้อยไปกว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมในส่วนอื่นของโลก แต่พวกเขาก็มีโอกาสที่ดีในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการทำงานในตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก มีโอกาสในการขยายตัวได้ง่าย ตลาดมีปัญหาสังคมจำนวนมหาศาลที่จะเปลี่ยนให้เป็นผลกระทบทางสังคมทางบวกได้ พวกเขาสามารถเข้าร่วมโครงการกับองค์กรสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมอื่น (enabler) ที่มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับการบ่มเพาะจากกิจการเพื่อสังคมอย่าง Dasra, Villgro และ UnLtd. เมื่อต้องการระดมทุนก็มีนักลงทุนทั้งแบบบุคคลและสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งที่ลงทุนเพื่อสังคมโดยเฉพาะและนักลงทุนกระแสหลักที่มองว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างกำไรเช่นกัน เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมเองก็ประสานงานกันใกล้ชิด แม้ว่าจะอยู่กันคนละอุตสาหกรรมแต่ก็มีการช่วยเหลือ เชื่อมโยง พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ มีสื่อที่รายงานถึงความสำเร็จ การเรียนรู้ของธุรกิจเพื่อสังคมโดยเฉพาะ และมีสถาบันการศึกษาที่ทำงานวิจัยหรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมหลายแห่ง ความพร้อมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นแต่เป็นการพัฒนามาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลากว่าสิบปี นอกจากนี้การที่ไม่มีกฎเกณฑ์ในการจำกัดการให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมแก่ “ธุรกิจเพื่อสังคม” โดยเฉพาะ เช่น กฎเรื่องการต้องจำกัดการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นหรือการกันสัดส่วนกำไรทางการเงินเพื่อนำกลับไปลงทุนธุรกิจหรือชุมชน ก็ช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนเพื่อสังคมแบบแสวงหากำไรหรือนักลงทุนกระแสหลักเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม 2 ประเภทที่นักลงทุนเพื่อสังคมในอินเดียให้ความสนใจสูงที่สุดคือ ด้านสุขภาพและด้านพลังงานทางเลือกซึ่งต้องการเงินทุนสูงมากในการเริ่มต้น การเปิดตลาดธุรกิจเพื่อสังคมให้มีความเสรีเหมือนธุรกิจทั่วไปจึงทำให้ตลาดเติบโตได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดผู้ที่สนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ประกอบการ นักลงทุนหรือผู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุน ในงาน Sankalp นักลงทุนเพื่อสังคมจากญี่ปุ่นก็มาร่วมสังเกตการณ์ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมของธุรกิจเพื่อสังคมที่นี่ และเลือกวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practices) นำไปใช้ต่อ และถึงแม้ว่าอินเดียจะเป็นตลาดใหญ่มากก็ตาม กองทุนเพื่อสังคมและองค์กรสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมอื่นจากอินเดียก็เริ่มที่จะมองหาโอกาสต่อไปในภูมิภาคอื่น ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่กองทุนเพื่อสังคมอย่าง Aavishkaar, Intellecap และ Unitus กำลังให้ความสนใจ
ไม่แน่ว่า อีกไม่กี่ปีจากนี้ เราอาจจะได้เห็นบรรยากาศการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจเพื่อสังคมแบบอินเดียแผ่มาถึงใกล้บ้านเราก็เป็นได้